กาแฟโป่งลึก-บางกลอย ชูจุดเด่น ปลูกแบบอินทรีย์

ไม่กี่ปีมานี้ คอกาแฟจำนวนไม่น้อยคงได้ลิ้มชิมรสกาแฟบ้านโป่งลึก-บางกลอย กันมาแล้ว ปลูกโดยชุมชนชาวกะหร่าง ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ใช้ชื่อแบรนด์ “HOEM” ซึ่งถ้าใครไปที่นั่นในช่วงฤดูผลไม้ นอกจากจะได้ดื่มกาแฟที่ปลูกแบบธรรมชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว ยังจะได้รับประทานทุเรียน กล้วย และเงาะ ไปด้วย และถ้ามีเวลาก็สามารถล่องแพไม้ไผ่ตามลำน้ำเพชรบุรี ชมวิถีชุมชนบ้านบางกลอย ชมการทอผ้าลายปกาเกอะญอ พร้อมทั้งเดินชมวิถีเกษตรผสมผสาน

พื้นที่บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย เป็นพื้นที่ต้นแบบการประยุกต์ตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ เน้นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหลากหลายมิติ เริ่มด้วยการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อทำการเกษตร

ปลูกกาแฟ ในสวนผลไม้

ปัจจุบัน มีพื้นที่ที่มีน้ำใช้ตลอดปี จำนวน 454 ไร่ และยังสามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนด้วย และเกษตรกรมีรายได้จากการทำการเกษตรและพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่โครงการส่งเสริม เช่น ทุเรียน กาแฟ

คุณผดุงศักดิ์ เบญจศีล

คุณผดุงศักดิ์ เบญจศีล หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบจังหวัดเพชรบุรี มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เล่าถึงโครงการส่งเสริมชาวกะหร่างที่บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าว่า ใน ปี 2562 มีสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกกาแฟเพิ่มเป็น 43 ราย จำนวน 7,540 ต้น ในพื้นที่ 85 ไร่ จากเดิมปลูกกันไม่กี่ราย โดยปลูกแซมกับไม้ผลชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน กล้วย และมะนาว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนกล้ากาแฟโรบัสต้า รายละ 100 ต้น

ขณะที่หลายหน่วยงานยังร่วมกันส่งเสริมให้ปลูก เช่น ทางการเกษตรอำเภอแก่งกระจานแจกต้นกล้า และทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และ ปตท. ก็สนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างเช่น พาไปศึกษาดูงาน และแนะนำเรื่องการปลูก การผลิต การแปรรูปและทำบรรจุภัณฑ์

เดิมนั้นผลผลิตกาแฟของเกษตรกร 5 ราย ซึ่งเป็นรายที่ปลูกก่อน จำนวน 1.2 ตัน นำไปขายให้กับพ่อค้ารับซื้อที่จังหวัดระนอง 1 ตัน ราคากิโลกรัมละ 100 บาท อย่างไรก็ตาม พบปัญหาคือ ระยะทางการขนส่งค่อนข้างไกล ดังนั้น จึงหันมาเน้นการแปรรูปขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในชุมชน รวมถึงการขายผ่านตลาดออนไลน์ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี

ขายให้ อเมซอน-ปตท.

สำหรับผลผลิต ในปี 2562 ได้ 1,500 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 300 กิโลกรัม ทั้งนี้ เป็นผลผลิตจากต้นเดิมที่มีอายุครบให้ผลแล้ว ส่วนในปี 2564-2565 จะมีผลผลิตเพิ่ม เนื่องจากต้นที่ปลูกเพิ่มใหม่มีอายุครบให้ผลผลิตแล้ว คาดว่าในปี 2564 จะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ ประมาณ 5 ตัน ซึ่งทางกลุ่มจะบริหารจัดการโดยเน้นแปรรูปเป็นกาแฟคั่วส่งขาย และบางส่วนจะจำหน่ายให้แก่กาแฟอเมซอนของ ปตท. ในส่วนรายได้ของกลุ่มกาแฟช่วงปี 2559-2560 รายได้กาแฟอยู่ที่ 60,000-70,000 บาท ปี 2561 อยู่ที่ 100,000 บาท และในปีนี้อยู่ที่ 150,000 บาท ซึ่งผลผลิตและรายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น

คุณผดุงศักดิ์ บอกว่า ในส่วนของการขยายพื้นที่ปลูกนั้น ทางสมาชิกได้ทำความเข้าใจร่วมกันว่า ให้พัฒนาแปลงเดิมที่มีอยู่ให้ได้คุณภาพดีที่สุดเสียก่อน ยังไม่ต้องปลูกเพิ่มมากขึ้น เพราะจะไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ผลผลิตจะไม่ได้คุณภาพ หากเมื่อสามารถบริหารจัดการต้นทุนเดิมดีแล้ว จึงค่อยขยับขยายในขั้นต่อไป

ทั้งนี้ กาแฟในพื้นที่ที่บ้านโป่งลึกและบางกลอย มีจุดเด่นคือ ปลูกในสภาพป่าธรรมชาติ มีการจัดการโดยชาวบ้านแบบวิถีอินทรีย์ ใช้น้ำหมักปุ๋ยอินทรีย์ ปลอดสารพิษ และมีการตรวจสอบจากทางกาแฟอเมซอนแล้ว พบว่า เป็นกาแฟที่มีคุณภาพรสชาติดี ซึ่งทางอเมซอนได้จัดหาบุคลากรที่มีความรู้มาให้คำแนะนำในการดูแลแปลง ตัดแต่งกิ่ง คัดผลผลิต และตากโดยลานยกพื้น

ขณะเดียวกันทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ก็ได้ให้มี อสพ. ในพื้นที่คอยติดตามสอบถาม หลังได้รับคำแนะนำแล้วชาวบ้านสามารถดูแลแปลงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการดูแลรักษาก็มีต้นทุนต่ำมาก เนื่องจากได้ปุ๋ยและน้ำพร้อมกันกับพืชหลัก แต่ต้นทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเก็บผลผลิต ซึ่งต้องเก็บแบบคุณภาพ

วิธีปลูกให้ได้ผลผลิตคุณภาพ

คุณผดุงศักดิ์ ให้ข้อมูลอีกว่า ในการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟนั้น ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกร เริ่มตั้งแต่

1. การเตรียมต้นพันธุ์ที่ดี หาพันธุ์ที่เหมาะสม ตลาดต้องการ

2. การเตรียมดิน ต้องดูค่าอาหารในดิน การบำรุงดินให้พร้อม เช่น การใช้ปุ๋ยหมัก ใช้ปุ๋ยชีวภาพ รองก้นหลุมก่อนปลูก

3. ระยะปลูก 4×4 เมตร ไร่ละ 100 ต้น และควรเริ่มปลูกต้นฤดูฝน
ส่วนการดูแล ควรรดน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง กำจัดวัชพืช และช่วยการแตกยอดแตกตาด้วยการโน้มกิ่ง และมีการแต่งกิ่งแก่ออกเพื่อให้ได้กิ่งใหม่ที่จะให้ผลผลิตสูงขึ้น คุณภาพดีขึ้น

 

สำหรับการเก็บเมล็ดกาแฟที่ดี ต้องเลือกเก็บลูกผลสีแดง หรือเรียกว่า ผลเชอรี่ เพราะจะให้รสชาติที่ดี ไม่มีรสเปรี้ยว และได้สารกาเฟอีนที่ครบถ้วน โดยทำตะแกรงตาข่ายผ้า ซึ่งมีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่าย รองรับผลที่เก็บให้ตกลงในตะแกรงนี้ ง่ายต่อผู้เก็บ

อีกทั้งการเก็บผลผลิตในแปลง ควรเป็นอุปกรณ์ที่เบา หาได้ง่าย ประหยัดต้นทุน เมื่อเก็บมาแล้วต้องนำมาแช่น้ำ เพื่อเลือกลูกที่ลอยน้ำเพื่อคัดออก (เป็นลูกที่ไม่สมบูรณ์) แยกไว้ต่างหาก เมื่อเลือกหมดให้ตักลูกที่จม ขึ้นตากบนแคร่ เกลี่ยให้บาง เลือกลูกที่มีเปลือกสีดำ ลูกที่เปลือกแตกออกให้หมด ยังคงเหลือแต่ลูกแดงสมบูรณ์

 

นอกจากนี้ ลานตากที่ดี ควรทำเป็นแคร่ยกสูง เนื่องจากช่วยระบายอากาศขณะตาก และควรกลับวันละ 4-5 รอบ ช่วยให้กาแฟแห้งเร็ว สม่ำเสมอ เพราะอากาศถ่ายเท หากตากกาแฟช่วงฝนตก ผลสดที่ตากอยู่ไม่เป็นไร แต่เมื่อเปลือกนอกแห้งแล้วห้ามโดนฝน ขั้นตอนตากหากทำไม่ดี ไม่ดูแล เมื่อนำไปสีเมล็ดกาแฟจะแตกหักและมีกลิ่นอับชื้น รายที่กาแฟเยอะส่งขายโรงงานส่วนใหญ่จะใช้ซาแรนปูที่พื้นแล้วตาก โดยใช้มือแมวในการเกลี่ยกลับเมล็ดให้แห้ง เมื่อแห้งสนิท ประมาณ 14-15 แดดจัด เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลดำ แล้วบ่มเก็บรอการจำหน่ายต่อไป

อีกทั้งเมื่อเลือกกาแฟเมล็ดเต็มมาตาก ควรตากแดดให้สม่ำเสมอ ในระหว่างวันต้องกลับ เพื่อให้กาแฟแห้งสม่ำเสมอ หากกาแฟแห้งไม่ดี เมื่อเอาไปสีอาจทำให้เมล็ดแตกหักและเกิดเชื้อราจากความชื้นที่อยู่ในเมล็ด พร้อมกันนี้ช่วงกลางคืนให้ใช้ซาแรนคลุมป้องกันน้ำค้าง

ดอกกาแฟ ทำเป็นชา

คุณมงคล ชัยรักษ์จงเจริญ เกษตรกรบ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งทำงานเป็นอาสาพัฒนา (อสพ.) มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เพชรบุรี เสริมว่า แต่ก่อนมีชาวบ้านปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าอยู่แล้ว 3-4 ราย ตอนนี้มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมฯ ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ 31 คน และได้พาไปศึกษาดูงานที่จังหวัดชุมพร เพื่อเก็บผลผลิตอย่างมีคุณภาพและได้เห็นไอเดียใหม่ๆ เพราะที่ทำอยู่นั้นชาวบ้านจะรูดเก็บ ทำให้ขายได้แค่ กิโลกรัมละ 60 บาท เท่านั้น ภายหลังไปดูงานเสร็จเกษตรกรก็นำมาแปรรูป ในช่วง 3 เดือน มีรายได้ประมาณ 45,000 บาท

สาเหตุที่ขายได้ราคาดี เพราะพอคั่วกาแฟเสร็จก็ขายให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ โดยทำเป็นกาแฟปั่น ขายแก้วละ 45 บาท ถ้าเป็นกาแฟสดธรรมดา ขายแก้วละ 25 บาท หรือถ้าเป็นกาแฟบดพร้อมชง ขายซองละ 12 บาท ใช้ชื่อ “HOEM” กาแฟโป่งลึก-บางกลอย นอกจากนี้ ยังนำดอกกาแฟมาแปรรูปเป็นชาด้วย โดยชาดอกกาแฟขาย 30 กรัม ราคา 150 บาท เป็นผลมาจากการไปศึกษาดูงานที่ชุมพร ขณะที่แต่ก่อนดอกกาแฟร่วงจะทำให้ผลติดเชื้อรา

 

ในส่วนเกษตรกรปลูกกาแฟรายใหม่ที่ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้าไปส่งเสริมนั้น ยังไม่ออกผลผลิต แต่ได้ไปส่งเสริมในเรื่องการดูแลรักษา เช่น การให้น้ำ การตกแต่งกิ่ง และการให้ปุ๋ยต่างๆ แต่ไม่สามารถใช้สารเคมีได้ เพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นที่ทำกินมานานแล้ว และในพื้นที่ 1 แปลง ชาวบ้านก็จะปลูกผลไม้หลายอย่างรวมๆ กัน หลังจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้ามาในพื้นที่ ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ

สนใจกาแฟโป่งลึก-บางกลอย ติดต่อสอบถามได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ HOEM กาแฟโป่งลึก-บางกลอย หรือ โทร. 081-178-4896 (คุณว้า)