ชาวบ้านหัวถิน สงขลา ปลูกแคนตาลูปขาย รายได้ดีกว่าทำนา

แคนตาลูปเป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและกว้างมากขึ้น สิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตหลายคนสนใจพืชชนิดนี้เพราะราคาขายน่าพอใจ ตลาดซื้อ-ขายแคนตาลูปมีความชัดเจนมากกว่าเมล่อนเพราะผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ทว่าพืชชนิดนี้มีข้อจำกัดการปลูกส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มเกษตรกรเดิมที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ ส่วนรายใหม่ที่ยังขาดความรู้ทั้งด้านผลิตและการตลาด จึงยังไม่กล้าที่จะเข้ามาเป็นผู้ผลิตเต็มตัว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคให้ความสนใจปรับพื้นที่จากทำนา ทำไร่ แล้วเปลี่ยนมาปลูกแคนตาลูปกันมากขึ้นทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เพราะเป็นพืชระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนเร็วแล้วมีรายได้ดีกว่า

คุณสมิตานันท์ มะโน หรือ คุณปู บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 4 บ้านหัวถิน ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ (091) 810-2776 ก็เช่นเดียวกันที่ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาบางส่วนมาปลูกแคนตาลูปเนื่องจากประสบปัญหาราคาข้าว โดยคุณปูเลือกทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานคือปลูกข้าว และผักชนิดต่างๆ สลับไป-มาหมุนเวียน แล้วทดลองปลูกแคนตาลูปบริเวณขอบคันนาก่อน ได้ผลดีมีคุณภาพ ทำให้ต้องขยายพื้นที่ปลูกทดแทนพื้นที่นา แล้วปรับวิธีปลูกจากแบบหยอดเมล็ดมาเป็นแบบใช้ผ้าพลาสติก ช่วยลดแรงงาน ลดปัญหาวัชพืช ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ จำหน่ายทั้งแบบปลีกและส่ง สร้างรายได้เป็นอย่างดี

คุณวราภรณ์ เกื้อคลัง เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอระโนด (ซ้าย) เข้าเยี่ยมชมแปลงปลูกของ คุณสมิตานันท์ มะโน (ขวา)

คุณปูใช้พื้นที่ปลูกแคนตาลูปจำนวนรวม 4 ไร่ เดิมปลูกแบบหยอดเมล็ด แต่ต้องคอยหมั่นกำจัดวัชพืชออก เพราะมิเช่นนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่ทำให้ผลผลิตด้อยลง ขณะเดียวกัน เมื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นจะมาคอยกำจัดวัชพืชก็คงไม่ไหวเพราะต้องเสียเวลา จึงเปลี่ยนวิธีด้วยการใช้พลาสติกคลุม ซึ่งไปเห็นวิธีปลูกแตงโมก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางเดียวกัน แม้จะต้องลงทุนเพิ่ม แต่ข้อดีของการใช้พลาสติกคลุมจะช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน ป้องกันการเกิดวัชพืช ช่วยให้พืชได้รับปุ๋ยที่ใส่อย่างเต็มที่ เพิ่มคุณภาพผลผลิตมีความสมบูรณ์มาก ลดความยุ่งยาก ทำให้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีก

ปรับไถหน้าดินเตรียมปลูกแคนตาลูป

วิธีปลูกเริ่มจากการปรับปรุงดินด้วยการไถกลบ 1 รอบ แล้วหว่านปุ๋ยคอก อย่างมูลแพะ มูลวัว มูลเป็ด สลับกันตามความเหมาะสมในอัตรา 1 ไร่ ต่อ 10 กระสอบ ให้ตากดินไว้ 7 วัน แล้วไถอีก 1 รอบ ทิ้งไว้ 3 วันจึงนำพลาสติกคลุมดินเจาะรูมาปู ขณะเดียวกัน แยกเพาะต้นกล้าไว้ในถาดเพาะประมาณ 10 วันจึงย้ายลงปลูกในแปลง

หลังจากนำต้นกล้าลงหลุม รดน้ำผ่านสายน้ำหยดใช้เวลา 15 นาที ต่อครั้ง ต่อร่อง เฉพาะช่วงเช้าเพื่อไม่ต้องการให้ดินแฉะมากอันเกิดเชื้อรา จากนั้นใส่ปุ๋ยหลังจากปลูก 15 วันใช้ปุ๋ยค้างคาวเม็ดละลายน้ำอัตรา 2 กระสอบ หรือ 50 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตรพ่นฮอร์โมนทางใบในช่วง 7 วันแรก เมื่ออายุ 20 วันเริ่มมีดอกจะใช้ฮอร์โมนไข่ที่หมักไว้เองในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อเร่งให้ดอกโตและสร้างผลพร้อมเพิ่มความหวาน

เริ่มปลูกแคนตาลูปริมคันนาก่อน

หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ดอกจะเปลี่ยนเป็นผลอ่อน ก็ใช้ฮอร์โมนไข่ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน แล้วอีก 15 วันให้ใส่ปุ๋ยมูลค้างคาวอีกรอบ โดยวิธีนี้ทำไปเรื่อยจนอายุครบ 60 วันจึงเริ่มเก็บผลผลิต ทั้งนี้ ก่อนเก็บผลผลิตต้องหยุดการให้น้ำล่วงหน้า 10 วัน แนวทางนี้ทำให้ผลผลิตแคนตาลูปของคุณปูมีคุณภาพทั้งขนาด รสชาติ พร้อมกับยังได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอีก

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศทำให้คุณปูปลูกแคนตาลูปเพียงปีละครั้งในช่วงราวเดือนธันวาคมแล้วเก็บผลผลิตราวเดือนมีนาคม หลังจากหมดสิ้นฤดูแคนตาลูปแล้ว จะพักหน้าดินประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมปลูกพืชผักอย่างอื่นสลับ ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ข้าวโพดหวาน และอื่นๆ ตามที่ตลาดต้องการ

คลุมพลาสติกเพื่อลดปัญหาวัชพืช พืชได้รับปุ๋ยเต็มที่ ลดการใช้แรงงาน

แม้พลาสติกจะช่วยลดปัญหาวัชพืชลงได้ แต่ยังเจอปัญหาจากโรค/แมลงศัตรู โดยเฉพาะหนอนและแมลงสีส้ม ซึ่งป้องกันโดยใช้น้ำหมักสะเดาที่ทำไว้ฉีดพ่นในช่วงก่อนแตกใบจริงหรือประมาณ 10 วันหลังปลูกในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร

คุณปูนับเป็นรายแรกที่นำร่องใช้พลาสติกคลุมดินปลูกแคนตาลูป ประโยชน์ของพลาสติกยังทำให้ขนาดน้ำหนักมีหลายรุ่นตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป จนถึง 2.5 กิโลกรัม ผลผลิตที่เก็บได้ทั้งหมดประมาณ 2 ตัน นับเป็นแคนตาลูปที่ได้คุณภาพมาก อย่างไรก็ตาม พลาสติกคลุมไม่เพียงใช้กับแคนตาลูปที่ปลูกได้ปีละครั้ง แต่ยังใช้ได้กับพืชอื่นๆ ที่ปลูกสลับหมุนเวียนจึงมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

คุณปูปลูกและจำหน่ายแคนตาลูปขายทั้งแบบส่งและปลีก โดยนำไปขายตามหน่วยงานราชการ และตลาดท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ยังมีออเดอร์ล่วงหน้าจากขาประจำอีก เธอชี้ว่าปลูกแคนตาลูปมีรายได้ดีกว่าทำนา เพราะราคาดี ตลาดยังต้องการ อีกทั้งปลูกไม่ยาก ใช้เวลาปลูกสั้น เก็บขายได้

หากมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวสงขลาอย่าลืมแวะสวนคุณปู ชิมแคนตาลูปอร่อยที่มีคุณภาพอีกแห่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ (091) 810-2776

แคนตาลูปพันธุ์ซันเลดี้ 227 กับซันเลดี้ 999
หนังสือรับรองมาตรฐานการทำเกษตร
สามีคุณปูระหว่างเก็บผลผลิต
แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพด