น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปักธงความสำเร็จ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว มุ่งสู่เส้นชัยเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน

นับเป็นเวลา 90 วัน ของปฏิบัติการ ‘สร้างความมั่นคงทางอาหาร’ ในสถานการณ์ ‘โควิด’ ซึ่ง ‘กรมการพัฒนาชุมชน’ (พช.) ริเริ่มผลักดันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กระทั่งเสร็จสิ้นภารกิจด้วยความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทั่วประเทศเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ผ่านการเพาะเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าสู่ผืนแผ่นดินซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกของประเทศ ไม่เพียงจากภาวะโรคระบาด หากแต่รวมถึงวิกฤตภัยแล้งซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาประพฤติปฏิบัติร่วมกับส่วนราชการ องค์การปกครองท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายรวมถึงองค์กรทางศาสนา แม้ตัวเลข 12 ล้านครัวเรือน (ไม่รวมในเขต กทม.) คือเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทายในระยะเวลา 90 วัน ทว่า ในวันนี้ได้เกิดขึ้นจริงด้วยกลยุทธ์และความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ส่งสัญญาณถึงการเข้าใกล้เส้นชัย “เศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงและชุมชนพึ่งตนเอง” อันป็นหมุดหมายความสำเร็จสูงสุดของ พช

‘ผู้นำทำก่อน’ จากก้าวแรกสู่เส้นชัย 12 ล้านครัวเรือน. 12,601,491 ครัวเรือน คือจำนวนที่ร่วมปลูกผักสวนครัว จากเป้าหมาย 12,977,039 ครัวเรือน คิดเป็น 97.11% (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563)ไม่เพียงสะท้อนความสำเร็จอย่างรวดเร็วในเชิงปริมาณเท่านั้น หากแต่ยังพิสูจน์ผลลัพธ์ที่น่าพอใจยิ่งจากการดำเนินรอยตาม ‘โก่งธนู โมเดล’ ที่ พช. ได้ส่งพัฒนากรจากทั่วประเทศ ลงพื้นที่ศึกษาโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำร่องไว้ในพื้นที่ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี มาขยายผลเพื่อความยั่งยืนจนเกิดปฏิบัติการทั่วประเทศในที่สุด โดยมีถึง 18 จังหวัดที่มีการปลูกผักครบถ้วน 100% จากเหนือจรดใต้ ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ตาก อุบลราชธานี พัทลุง สุโขทัย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สกลนคร ชัยภูมิ ตราด บึงกาฬ เพชรบุรี มุกดาหาร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม และ ภูเก็ต นับเป็น 90 วันที่เสมือนการจุดพลุเบิกฤกษ์ให้ผู้คนในประเทศหันกลับมาปลูกผักสวนครัวมากขึ้น อันจะเป็นรากฐานเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตอันใกล้ 

ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น ตั้งแต่ 15 วันแรกหลังคิกออฟ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลยุทธ์สำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในวันนี้ คือ ‘ผู้นำ ต้องทำก่อน’ ซึ่ง สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี พช. เป็นต้นแบบในการเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้เป็น ‘แปลงผักสวนครัว’ ปลูกพืชนานาชนิด ทั้งคะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง กะเพรา สะระแหน่ และอีกมากมาย ก่อนส่งไม้ต่อให้รองอธิบดี พัฒนากรจังหวัด และข้าราชการ แล้วขยายสู่ท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ หอการค้าจังหวัด นายก อบจ. เทศมนตรี ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อีกทั้งผู้นำทุกกลุ่ม จนถึงชุมชนและชาวบ้าน

 “ปัจจัยความสำเร็จของทุกจังหวัด เริ่มต้นที่พ่อเมืองซึ่งต่างลงสวนด้วยตัวเอง เป็นตัวอย่างให้ผู้อยู่ใต้ปกครอง ทั้งระดับอำเภอ ตำบล จนถึงชุมชนหมู่บ้าน ในจวนผู้ว่าฯ หรือบ้านพักนายอำเภอ มีแปลงผักภายในบ้าน แล้วค่อยกระจายสู่ชุมชนและครัวเรือนซึ่งการปลูกผักสวนครัวในบ้าน นอกจากได้อาหารที่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นกิจกรรมครอบครัว สีสันของพืชผักแต่ละชนิด ทำให้สุขภาพจิตดี ร่างกายแข็งแรง และเก็บไปทำอาหารก็อร่อย” อธิบดี พช. กล่าว 

นับล้าน ‘เมล็ดพันธุ์’ ผลลัพธ์แห่งการผนึกความร่วมมือ ไม่เพียงความสำเร็จในจำนวนครัวเรือนที่ร่วมกันปลูกผักสวนครัวทั่วประเทศ หากแต่ปฏิบัติการนี้ ยังสะท้อนถึงความสำเร็จในด้านการผนึกความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่มี พช. เป็นผู้ประสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้มาซึ่ง ‘เมล็ดพันธุ์’ โดยภาคเอกชน สถานศึกษา รวมถึงวัดวาอารามต่างพร้อมใจกันสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ชั้นนำของประเทศไทย อย่าง บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ศรแดง’ ซึ่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักกว่า 1 แสนซอง, บริษัท เจียไต๋ จำกัด มอบเมล็ดพันธุ์กว่า 5 แสนซอง, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ มอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว รวมถึงกลุ่มโอทอปของแต่ละจังหวัด ที่กระจายเมล็ดพันธุ์ไปสู่ครัวเรือนทั่วประเทศ พร้อมด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่ลงขันช่วยซื้อเมล็ดพันธุ์ในแต่ละจังหวัด โดยแม่บ้านสมาชิกกองทุนฯ เป็นหัวขบวน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับเมล็ดพันธุ์ผักจาก พช. และประทานต่อให้แก่วัดทั่วประเทศ ทั้งยังอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่ดินวัดปลูกผักสวนครัว ซึ่งทางคณะสงฆ์ก็ตื่นตัวเปิดพื้นที่วัดในการปลูกพืชผักสวนครัวและช่วยรณรงค์ให้ญาติโยมปลูกพืชผักสวนครัวทุกครัวเรือนด้วย

Advertisement

 จากความร่วมมือเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาของปฏิบัติการนี้ นอกจากไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆ ในด้านการจัดหาเมล็ดพันธุ์แม้แต่เพียงบาทเดียว ยังเป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงการผสานความร่วมแรงร่วมใจในภารกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ พช. มุ่งมั่นจนสัมฤทธิ์ผลในวันนี้

 นอกจากนี้ ยังได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับเมล็ดพันธุ์ผักจาก พช. และประทานต่อให้แก่วัดทั่วประเทศ ทั้งยังอนุญาตให้ประชาชนใช้พื้นที่ดินวัดปลูกผักสวนครัว ซึ่งทางคณะสงฆ์ก็ตื่นตัวเปิดพื้นที่วัดในการปลูกพืชผักสวนครัวและช่วยรณรงค์ให้ญาติโยมปลูกพืชผักสวนครัวทุกครัวเรือนด้วย

 จากความร่วมมือเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาของปฏิบัติการนี้ นอกจากไม่ต้องใช้งบประมาณใดๆ ในด้านการจัดหาเมล็ดพันธุ์แม้แต่เพียงบาทเดียว ยังเป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงการผสานความร่วมแรงร่วมใจในภารกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ พช. มุ่งมั่นจนสัมฤทธิ์ผลในวันนี้ 

‘ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก’ เกือบ 3 หมื่นสมาชิก 42 ประเทศ พื้นที่สีเขียว ในโลกออนไลน์ นอกเหนือจากการลงแปลงผักในรั้วบ้าน ตลอด 90 วันของปฏิบัติการ ยังสร้างความตื่นตัวแก่ประชาชนทุกภูมิภาค ก่อเกิดสังคมออนไลน์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคการปลูกผักอย่างคึกคักผ่านเฟซบุ๊ก ‘ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช.” ซึ่งมีสมาชิกกว่า 30,000 คนในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งคนไทยทั่วประเทศ ขยายสู่คนไทยในต่างแดนจาก 42 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

 อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ สื่อต่างชาติได้ให้ความสนใจกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารในวิถีไทย โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค (NHK) ที่ลงพื้นที่ถ่ายทำรายการในจังหวัดที่ปลูกผักได้ 100% อีกทั้งปรากฏในเว็บไซต์ข่าว The Japan Agricultural News ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นปลูกผักสวนครัวมากขึ้นอีกด้วย

 ‘ไม่ใช่แค่ 90 วัน แต่ต้องยั่งยืนถาวร’ ภารกิจที่ต้อง ‘ไปต่อ’ แม้ภาพความสำเร็จจากปฏิบัติการ 90 วันจะฉายขึ้นอย่างแจ่มชัด ทว่า พช. ยังเดินหน้าสู่ความ ‘ยั่งยืน’ ต่อไป โดยมองการณ์ไกลถึงเป้าหมายในระยะยาว “ไม่ใช่แค่ 90 วัน แต่ต้องทำให้ยั่งยืนถาวร ทำให้ 12 ล้านครัวเรือนมีพืชผักสวนครัวมากชนิดเพื่อบริโภคได้ตลอดปี และขยายผลดูแลชุมชน ด้วยการเอื้อเฟื้อ แจกจ่าย ช่วยเหลือครัวเรือนที่พื้นที่น้อย นอกจากจะปลูกผักครบทุกครัวเรือนแล้ว จำนวนพืชผักจะต้องมากขึ้น ปลูกหลากหลายชนิดมากขึ้น ลดรายจ่ายได้มากขึ้นและประชาชนสามารถมีรายได้จากการปลูกผัก ซึ่งผมมีแนวคิดว่าจะจัดให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์ในชุมชน ส่วนระยะยาวอาจจะต้องเชิญชวนให้แต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้าน แต่ละตำบล รวมตัวกันนำผลิตผลจากครัวเรือนให้กลายเป็นความมั่นคงทางด้านอาหารประจำอำเภอ ประจำจังหวัด และในเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พช. หวังว่าการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารประจำครัวเรือน จะนำไปสู่การรวมกลุ่มเพื่อนำผลิตผลมารวมกัน เกิดการแปรรูปหรือส่งขายในจำนวนมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าอีกมากมายมหาศาล” อธิบดี พช. กล่าว พร้อมย้ำว่า ‘เพียงจุดเล็กๆ ของการปลูกผักสวนครัว นำมาซึ่งประโยชน์มากมาย หากครัวเรือนทั่วไทยร่วมใจปลูกผักสวนครัว เท่ากับเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ต่อให้มีวิกฤตอื่นใดเข้ามา คนไทยก็ไม่มีวันอด’ 

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จของปฏิบัติการปลูกผักสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ริเริ่ม ขับเคลื่อนและผลักดันโดยกรมการพัฒนาชุมชนจนขยายผลสู่ความหวังอีกมากมายในวันพรุ่งนี้