ชะพลูใบหงิก เกิดจากอะไร

หลายคนชื่นชอบปลูก “ชะพลู” ไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อเป็นพืชอาหารและไม้ประดับสวน ระยะแรก ต้นชะพลูเจริญเติบโตเป็นปกติดี แต่จู่ๆ ต้นชะพลูกลับมีอาการใบหงิกเกิดขึ้นเกือบทั้งหมด โดยไม่ทราบสาเหตุ

หมอเกษตร ทองกวาว ให้คำตอบว่า อาการใบหงิกที่พบในชะพลูเกิดขึ้นได้จากการเข้าทำลายของแมลงศัตรู 2 ชนิด คือ เพลี้ยไฟ และ ไรขาว ซึ่งสามารถป้องกันและจำกัดแมลงศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิด ได้ไม่ยาก

เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก ชอบเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงที่บริเวณใต้ใบพืช การระบาดจะรุนแรงในช่วงแล้ง เข้าดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน และใบอ่อนของพืช ทำให้ต้นแคระแกร็น ใบห่อม้วนขึ้นด้านบน ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของพืชชนิดต่างๆ ลดลง

ช่วงหน้าแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แนวทางป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟคือ ใช้มือจุ่มลงในน้ำแล้วลูบที่บริเวณใต้ใบ หากมีแมลงขนาดเล็กสีน้ำตาลติดมือขึ้นมา แสดงว่าเพลี้ยไฟเริ่มระบาด แก้ไขโดยฉีดน้ำหรือพ่นน้ำให้ต้นชะพลู เพื่อเพิ่มความชื้นให้สูงขึ้น ฉีดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณใต้ใบ ในที่สุดเพลี้ยไฟก็จะบินหนีไปหากินที่อื่น

กรณีพบเพลี้ยไฟเพียงเล็กน้อยให้เด็ดทิ้งทั้งต้น และนำไปเผาทำลาย ป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟมากขึ้น หากเกิดการระบาดรุนแรง ให้ฉีดพ่นด้วย เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ให้ทั่วทรงพุ่ม โดยเฉพาะใต้ใบและให้งดใช้ก่อนเก็บผลผลิตอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ไรขาว

ไรขาว เป็นแมลงศัตรูพืชประเภท 8 ขา เช่นเดียวกับแมงมุม แต่มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น ไรขาวมักเข้าทำลายต้นพืชในช่วงที่มีฝนตกชุก อากาศชื้น ที่บริเวณตาดอกและยอดอ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตน้อยลง ลักษณะของการทำลาย จะทำให้ใบพืชเรียวแหลม ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง และยอดหงิกงอเป็นฝอย

การป้องกันและกำจัด เมื่อพบการระบาดยังไม่รุนแรง ให้เด็ดส่วนที่มีการระบาดเผาทำลายทิ้ง หากพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยกำมะถันผง มีผู้ผลิตจำหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ ไธโอวิท 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี หรืออิโคซัลฟ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60-80 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน การระบาดของไรขาวจะหมดไป และควรงดใช้สารดังกล่าวก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 สัปดาห์

ชะพลู กินอร่อย ดีต่อสุขภาพ

“ชะพลู” เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสืบต่อได้หลายปี ชอบพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ น้ำดี ดินดี ต้นชะพลูจะเจริญเติบโตได้ดีมาก ใบโต ยอดอวบอ้วน ชะพลูเป็นพรรณไม้ที่มีต้นตั้ง บางครั้งจะพบต้นแบบเถาเลื้อย ระบบรากหากินผิวดิน ถ้าเถาเลื้อยไปพบที่เหมาะ ก็จะออกรากตามข้อ และแตกต้นขึ้นใหม่ แพร่ขยายต้นไปเรื่อยๆ เมื่อต้องการจะย้ายที่ปลูก ก็สามารถถอนดึงต้นติดรากไปปลูกได้เลย

คนไทยนิยมใช้ ชะพลู เป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน เป็นผัก กินได้ทั้งใบสดและลวกให้สุกก็ได้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน นิยมใส่ปรุงแกงแค แกงขนุน แกงหัวปลี แกงเผ็ด แกงอ่อม แกงเอาะ แกงหอยขม ลวกกินกับตำมะม่วง น้ำพริกต่างๆ หั่นฝอยใส่ไข่เจียว ชุบแป้งทอด ภาคกลาง ใช้ห่อเมี่ยงคำ ภาคใต้ นิยมใช้ใบอ่อนมาแกงกะทิกุ้ง ปลา หอยบางชนิด เช่น หอยโข่ง หอยแครง ปรุงข้าวยำ ใบชะพลู

แกงคั่วปูใบชะพลู (ภาพ : มติชน )

นอกจากมีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ขับลม คลายกล้ามเนื้อ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และต้านเชื้อมาลาเรีย 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2563

………………………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354