แนะวิธีปราบ “ด้วงแรดมะพร้าว”

ด้วงแรดตัวเต็มวัย เป็น แมลงศัตรูพืชสำคัญของมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน ด้วงแรดมี 2 ชนิด คือ ด้วงแรดชนิดเล็ก และด้วงแรดชนิดใหญ่ ด้วงแรดชนิดเล็ก พบทั่วทุกภาคของประเทศไทยและพบบ่อยที่สุด สำหรับด้วงแรดชนิดใหญ่ มักพบไม่บ่อยนัก พบได้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปทางภาคใต้ของประเทศ จากการปลูกปาล์มน้ำมันแทนการปลูกมะพร้าวจำนวนมากในประเทศไทย การโค่นล้มต้นมะพร้าวหรือต้นปาล์มที่มีอายุมากและปลูกต้นปาล์มทดแทนใหม่ ทำให้มีแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดมากขึ้น จึงเข้าทำลายต้นปาล์มที่ปลูกใหม่และต้นมะพร้าว

โดยปกติ ด้วงแรดมะพร้าว ไม่สามารถระบาดได้ เหตุที่เกิดการระบาด อาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เกิดจากความละเลยของมนุษย์ที่ปล่อยให้มีแหล่งขยายพันธุ์จำนวนมาก ทำให้ด้วงแรดเพิ่มปริมาณมากจนเข้าทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย สาเหตุของการระบาดที่เกิดเองตามธรรมชาตินั้นน้อยมาก เช่น การเกิดวาตภัย พายุลมแรง ทำให้ต้นมะพร้าวและปาล์มน้ำมันล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ขนาดใหญ่ของด้วงแรดในเวลาต่อมา

การดูแลป้องกัน

ช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน และมีฝนตกในบางพื้นที่ เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวควรเฝ้าระวังด้วงแรดมะพร้าว สามารถพบได้ทั้งในระยะที่ต้นมะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว ให้สังเกตการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว จะพบตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด

กรณีถูกทำลายมาก ใบใหม่แคระแกร็น รอยแผลตรงบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด สำหรับด้วงแรดมะพร้าวในระยะตัวหนอน จะพบตามพื้นดินบริเวณกองปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ซึ่งตัวหนอนจะเจาะชอนไชกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้ยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต

หากพบการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว กรมวิชาเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ กรณีมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว หรือกองให้เป็นที่แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้งทันที

ส่วนลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย กรณีต้นมะพร้าวที่ถูกตัดแล้วยังสดอยู่ ให้นำมาทำกับดักล่อให้ด้วงแรดมะพร้าวมาวางไข่ โดยให้ตัดทอนออกเป็นท่อนสั้นๆ นำมาวางเรียงรวมกันไว้ให้เปลือกมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงแรดมะพร้าวจะวางไข่บริเวณที่ชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้น ให้เกษตรกรเผาทำลายท่อนกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว สำหรับตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วราดให้ทั่วตอ เพื่อป้องกันการวางไข่ได้

การใช้ชีววิธีในการกำจัด

เกษตรกรควรใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด ซึ่งเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของด้วงแรดมะพร้าว

ส่วนการใช้สารเคมีในต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ที่ยังไม่สูงมาก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว

หากระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลงสารไดอะซินอน 60% อีซี หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตร ต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้ง ในช่วงระบาด