สาวพังงา ปลูกสะตอ เป็นพืชแซมในสวนไม้ผล เก็บขายออนไลน์อย่างเดียว สร้างรายได้วันละหมื่น

สะตอ อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ สะตอเป็นพืชผักยืนต้นที่ชาวภาคใต้ส่วนใหญ่นิยมปลูกไว้เป็นรั้วกั้นเขต หรือปลูกเป็นพืชแซมไว้ตามหัวไร่ปลายนาบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าพืชที่ปลูกแซม ปลูกแบบไม่ได้ตั้งใจปลูกอย่างสะตอนี่แหละคือพืชที่สร้างรายได้ดีอย่างไม่ทันตั้งตัว

คุณปาจรีย์ สว่างศรี หรือ พี่ปลา เกษตรกรสาวผู้สร้างรายได้จากการขายสะตอออนไลน์กว่าวันละหมื่น อยู่ที่บ้านเลขที่ 42 บ้านปากเหล หมู่ที่ 2 ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากเรียนจบได้เข้าทำงานที่ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพังงา (สนพ. พังงา) ทำอยู่ได้ระยะหนึ่งก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องออกจากงานเพื่อกลับมาดูแลพ่อแม่ที่อายุมาก และมีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง โดยพื้นฐานครอบครัวพี่ปลาเป็นเกษตรกรมาก่อน คุณพ่อคุณแม่เป็นเกษตรกรทำสวนยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และทำสวนไม้ผล เงาะ มังคุด ทุเรียน มีปลูกสะตอไว้เป็นพืชแซมในสวน และปลูกตามหัวไร่ปลายสวนอยู่บ้าง แต่ช่วงหลังต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งบ่อย ต้นไม้ยืนต้นตาย จึงจำเป็นต้องลดพื้นที่การปลูกไม้ผลให้น้อยลง แล้วหันมาดูแลสะตอให้มากขึ้น เพราะสะตอเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่ายและสร้างรายได้ดี

คุณปาจรีย์ สว่างศรี หรือพี่ปลา

ปลูกสะตอ เป็นพืชแซมในสวนไม้ผล 5 ไร่
เก็บขายสร้างรายได้ วันละ 2
,000-2,500 ฝัก

พี่ปลา เล่าว่า ที่บ้านมีพื้นที่ทำสวนทั้งหมด 42 ไร่ ปลูกสะตอเป็นพืชแซม 5 ไร่ โดยตอนแรกตั้งใจจะปลูกไว้กินเอง แต่พอนานไปต้นที่ปลูกไว้เริ่มโต ก็มีการนำมาเพาะขยายพันธุ์เพิ่ม ปลูกไปเรื่อยๆ ปลูกมังคุดสลับกับสะตอ เพราะต้นมังคุดขนาดต้นจะไม่สูงมาก ส่วนสะตอต้นจะสูง สามารถปลูกแซมกันได้ดี แบ่งปลูกสะตอเป็น 2 พันธุ์ คือ

สะตอข้าว เตรียมจัดส่ง
  1. สะตอข้าว ที่ได้รับพันธุ์มาจากศูนย์ทดลอง ตั้งแต่ปี 2529 มีจุดเด่นที่รสชาติขมน้อย ถูกใจคนภาคกลาง และภาคอื่นๆ ที่ไม่ชินกับสะตอที่มีกลิ่นฉุนจัด แต่เมล็ดจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก
  2. สะตอดาน มีจุดเด่นที่เมล็ดใหญ่ ฝักใหญ่ และมีกลิ่นฉุน คนใต้จะนิยมมากกว่าสะตอข้าว ซึ่งสะตอของแต่ละภาคก็จะมีรสชาติที่ไม่เหมือนกันอีก อย่างที่สุโขทัย ก็มีการปลูกสะตอ แต่ผลผลิตจะไม่ค่อยติด และขนาดเมล็ดจะเล็ก ไม่เหมือนกับสะตอของใต้ แต่สะตอที่ปลูกที่ภาคใต้รสชาติก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกที่ สะตอที่พังงารสจะค่อนข้างจัด กลิ่นฉุน สัมผัสตอนเคี้ยวไม่เหมือนที่อื่น ขนาดที่ว่าคนชุมพรยังต้องมารับสะตอพังงาไปขาย
สะตอดาน เมล็ดใหญ่ ฝักใหญ่

วิธีการปลูก

สะตอ ถือเป็นพืชที่ปลูกและดูแลง่าย สร้างรายได้ดี แต่ก็ต้องดูว่าหากปีไหนแล้งมาก สะตอก็ออกน้อย ปีไหนสภาพอากาศดี ฝนดี น้ำดี สะตอก็ออกมาก

การเตรียมดิน …ไม่ต้องมีการไถเตรียมดินใดๆ ลักษณะดินที่สวนเป็นดินดำร่วน ขุดหลุมลึก 50×50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ เพราะหาง่ายในท้องถิ่น

การปลูก …ใช้เมล็ดปลูก เพราะเจริญเติบโตได้ดี แต่ต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ฝักใหญ่ เมล็ดโต และสมบูรณ์มาปลูก 1 หลุม หยอด 3 เมล็ด ฝังลงไปให้ลึกหน่อย หลังจากปลูกเสร็จไม่ต้องดูแลอะไรมาก ถ้า 3 เมล็ด ที่ปลูกไปขึ้นมาทั้งหมด ให้เลือกต้นที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียง 1 ต้น

คุณพ่อ ผู้บุกเบิกสวนสะตอ

การดูแลรดน้ำ …ส่วนใหญ่สะตอจะนิยมปลูกในช่วงหน้าฝนอยู่แล้ว คือช่วงเดือนพฤษภาคม ฉะนั้น ช่วง 3-4 เดือนแรก ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ให้ฝนดูแลไป ต้นก็จะโตเอง แต่ถ้าหน้าแล้งเทคนิคการให้น้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญมากเช่นกัน น้ำห้ามขาด ต้องรดเช้า-เย็น วันเว้นวันไปเลย สะตอเป็นประเภทที่ติดดอกแล้วจะร่วงเร็วมาก ถ้าขาดน้ำดอกจะร่วง  ภาษาใต้เรียกว่า หย่อนโหม่ง เพราะดูแลให้น้ำไม่สม่ำเสมอ เพราะช่วงสำคัญที่สุดคือ ช่วงตอนที่ผสมดอกกับตอนติดช่อ ส่วนเทคนิคการผสมดอกให้ติดและผลผลิตดกคือ การเลี้ยงผึ้งไว้ในสวน ให้ผึ้งช่วยผสมดอก ผึ้งช่วยทำให้การติดได้มาก

ปุ๋ย …ใส่ขี้หมู 3 กระสอบ ต่อ 1 ต้น ตั้งไว้ห่างจากโคน ประมาณ 2 เมตร ปล่อยให้ฝนตกจะชะละลายไปเอง พืชก็จะค่อยๆ ดูดซึมไปใช้ พยายามใส่ปุ๋ยอย่าให้ขาด ใส่ทุกๆ 4 เดือนครั้ง อย่างสม่ำเสมอ เพราะจะมาเร่งใส่ปุ๋ยตอนฝักใกล้ออกจะไม่ได้ผลแล้ว ปีนั้นฝักจะไม่สวยเลย

โรคแมลง …ที่ปลูกเป็นสะตอสวนไม่ใช่สะตอป่า ฉะนั้น การรบกวนของหนอนและแมลงยังมีน้อย แต่ถ้าเป็นสะตอที่อยู่ในเขตป่าหรือเขตการอนุรักษ์ โอกาสที่เจอศัตรูพืชจะมาก ถือเป็นพืชที่ดูแลง่ายเรื่องโรคแมลง ยิ่งสะตอต้นฤดูส่วนใหญ่จะไม่มีหนอน แต่ถ้าเป็นสะตอปลายฤดูจะมีหนอนเยอะ แต่ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อน

ระยะการเก็บเกี่ยว …สะตอ ใช้เวลาปลูก 5-6 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลด้วย แต่ของที่สวนใช้เวลาปลูกกว่า 6 ปี หลังจากนั้น สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอด นับมาตั้งแต่สมัยพ่อปลูก ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน 2563 ก็เป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว ก็ยังสามารถเก็บได้และให้ผลผลิตดก อยู่ที่ 1 ต้น เก็บได้ประมาณ 700-1,000 ฝัก 10 ฝัก เท่ากับ 1 กิโลกรัม ผลผลิตออกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน-เดือนกรกฎาคม ผลผลิตจะออกไวกว่าที่อื่น

ราคา …สะตอ ถือเป็นพืชที่มีความผันผวนทางราคาต่ำมาก ช่วงออกใหม่ๆ ราคาฝักละ 10 บาท มาถึงช่วงกลางฤดูราคาจะเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ เหลือฝักละ 5-6 บาท แต่ที่พังงาจะโชคดีตรงที่ผักผลไม้รวมถึงสะตอจะออกก่อนจังหวัดอื่น เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี เพราะฉะนั้นเราจะมีโอกาสทางการตลาดที่มากกว่าที่อื่น พอของที่อื่นเริ่มออก ของเราก็ขายจะหมดแล้ว ราคาผลผลิตก็จะดีไปด้วย

คุณแม่ กับพวงสะตอสีสันสวยงาม

ต้นทุน และรายได้

ต้นทุน …มีแค่ค่าขี้หมู กระสอบละ 50 บาท ใส่ต้นละ 3 กระสอบ เป็นเงิน 150 บาท ใส่ปีละ 4 ครั้ง ตกต้นละ 600 บาทต่อปี ขายสะตอ 100 ฝัก ได้ทุนคืน ที่เหลือคือไรทั้งหมด

รายได้ …ก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ขายได้วันละ 2,000-2,500 ฝัก แต่พอช่วงโควิด-19 มา ยอดขายตกลงไปบ้างเล็กน้อยแต่ยังไม่มีผลกระทบอะไรมากมาย เพราะมีลูกค้าประจำที่เป็นแม่ค้ารับไปขายต่ออยู่หลายเจ้า ถ้าเป็นแม่ค้าประจำ ซื้อมากๆ จะขายส่ง ฝักละประมาณ 4.50 บาท แบบแกะเมล็ดก็มีขาย ราคากิโลกรัมละ 350 บาท

ตลาด …หลักๆ ทำขายผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว ขายผ่านช่องทางนี้ตั้งแต่ยังไม่ค่อยมีคนขายของออนไลน์ จนกระทั่งตอนนี้มีคู่แข่งเยอะแล้วก็ยังขายได้ดี บางวันต้องตอบลูกค้าเกือบสว่าง เพราะยึดหลักสำคัญของการขายของคือ การซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ห้ามเอาของไม่ดีให้ลูกค้าเด็ดขาด ถึงแม้จะสอยมาแล้วเจอฝักอ่อนก็ต้องตัดใจทิ้ง เมื่อสามารถสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้าได้ วันหลังเขาจะกลายมาเป็นลูกค้าประจำเอง และต้องเอาใจลูกค้าที่มีเข้ามาทุกรูปแบบ เพราะลูกค้าเราก็มีหลายรูปแบบ

  1. ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรด้วยกัน
  2. ลูกค้าที่เป็นคนใต้ไปอยู่ต่างถิ่น ซื้อไปทำกับข้าวกินเอง
  3. แม่ค้าประจำที่รับไปขายต่อ สั่งซื้อทีละมากๆ ก็จะมีการลดราคาให้ เหลือฝักละประมาณ 4.50 บาท 3-4 วัน สั่ง 1 ครั้ง ถือเป็นการให้แม่ค้าช่วยกระจายสินค้าไปในตัวด้วย
  4. ลูกค้าที่เป็นเจ้าของร้านอาหาร เพราะจังหวัดพังงาอย่างที่ทราบกันว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว และร้านอาหารแต่ละร้านจะต้องมีเมนูเด็ด คือ สะตอผัดกุ้งอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองแห่งผลไม้เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อผลไม้ชนิดอื่นเห็นสะตอก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านอยู่แล้ว เพราะเป็นของขึ้นชื่อ ทำให้เรามีช่องทางการตลาดเพิ่มมาอีกทาง
  5. ลูกค้าจากต่างแดนประเทศเพื่อนบ้านก็มี
สะตอข้าว ปลูกมากเอาใจตลาดภาคกลาง

ปลูกสะตอ มีข้อดีอะไรบ้าง

  1. สะตอ ถือเป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี
  2. ประหยัดพื้นที่ สามารถปลูกแซมกับไม้ผลชนิดอื่นได้
  3. โรคแมลงมีน้อย ต้นทุนการจัดการต่ำ
  4. เป็นผู้หญิงก็สามารถทำได้ และมีเวลาได้ดูแลพ่อกับแม่ สร้างความสุข ความสบายใจให้กับตัวเองได้อีกด้วย พี่ปลากล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อเบอร์โทร. 092-474-0375 หรือสนใจสั่งสะตอได้ที่ เฟซบุ๊ก : ปาจรีย์ สว่างศรี

สะตอข้าว แกะเมล็ด
เก็บสดๆ จากสวน

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่