กลุ่มเกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ ปลูกต้นยางพารา แซมในไร่สับปะรด

กลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียน จัดตั้งเมื่อ วันที่ 20 ตุลาคม 2554 สมาชิกแรกตั้ง 47 คน สมาชิกปัจจุบัน 50 คน

ประธานกลุ่ม นายประกอบ บุญก่อเกื้อ ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ 63/1 หมู่ที่ 6 ตําบลทางเกวียน อําเภอแกลง จังหวัดระยอง

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม

1.โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร
สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียน มีอาชีพหลักคือ การปลูกสับปะรดผลสดจําหน่าย โดยกลุ่มเกษตรกรมีบทบาทสําคัญในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียน ร่วมกับสํานักงานเกษตรอําเภอแกลง ได้จัดทําโครงการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผลผลิตของสมาชิก ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์สําหรับบรรจุสับปะรดขายผลปลีก ขนาดบรรจุ 1 ผล และลัง ขนาดบรรจุ 4 ผล วางขายที่ร้านขายของฝากภายในจังหวัดระยอง และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อยกระดับสินค้าให้สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันได้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ให้กับสมาชิก

  1. โครงการเกษตรผสมผสาน (ปลูกต้นยางพารา แซมในไร่สับปะรด)
    อาชีพหลักของสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียน คือการปลูกสับปะรดผลสดจําหน่าย ซึ่งเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาจทําให้เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพและรายได้ ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรฯ จึงจัดทําโครงการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกต้นยางพาราแซมไปในแปลงปลูกสับปะรด ซึ่งในรอบการปลูกสับปะรด 9 รอบ จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงจะเปลี่ยนต้นพันธุ์สับปะรดใหม่ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ปลูกสับปะรด 9 รอบ ต้นยางพาราที่ปลูกแซมลงไปก็จะเติบโตพอที่จะสามารถกรีดได้ ทําให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง และต้นยางพารายังช่วยให้ร่มเงาแก่แปลงสับปะรดได้อีกด้วย

ความสามารถในการบริหาร และการจัดการของสถาบัน

กลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียน จังหวัดระยอง มีโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการ 7 คน เจ้าหน้าที่ตําแหน่งพนักงานบัญชี 9 คน ผู้ตรวจสอบกิจการ 2 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่และให้ความช่วยเหลือสมาชิกได้เป็นอย่างดี มีความเสียสละ อดทน และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนากลุ่มให้เจริญก้าวหน้า ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรฯ มีทุนดําเนินงาน 2,303,206.45 บาท ทุนเรือนหุ้น 241,000 บาท ทุนสํารอง 505,750 บาท การดําเนินธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรฯ มี 2 ประเภท คือ ธุรกิจสินเชื่อ จํานวน 1,775,000 บาท และธุรกิจรวบรวมผลิตผลทางการเกษตรจากสมาชิก (สับปะรดผลสด) จํานวน 5,605,346.46 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเกษตรกรฯ

กลุ่มเกษตรกรฯ มีการจัดทําแผนดําเนินงานประจําปี และแผนธุรกิจ โดยกําหนดและขอมติผ่านที่ประชุมใหญ่สามัญเป็นประจําทุกปี และมีการแจ้งแผนให้สมาชิกรับทราบ โดยมีการระดมความคิด ปัญหา อุปสรรค จากสมาชิก และนําผลการดําเนินงานในปีก่อนมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแผนการดําเนินงานประจําปี และแผนธุรกิจในปีถัดไปซึ่งกลุ่มสามารถดําเนินงานได้ตามแผนที่กําหนดไว้

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

กลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียน จังหวัดระยอง มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมใหญ่ เฉลี่ยร้อยละ 64.94

คณะกรรมการเข้าร่วมประชุม เฉลี่ยร้อยละ 43.83 สมาชิก มีส่วนร่วมในการทําธุรกิจกับกลุ่มเกษตรกรฯ เฉลี่ยร้อยละ 76.73 และมีส่วนร่วมในการทํากิจกรรมต่างๆ กับกลุ่มเกษตรกร เฉลี่ยร้อยละ 64.78 โดยสมาชิกมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ และข้อตกลงของกลุ่มเกษตรกรฯ อย่างเคร่งครัด มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลุ่ม และการลงความเห็นต่างๆ อาทิ การเลือกตั้ง การจัดสรรผลประโยชน์ การจัดทําแผนงานประจําปีและแผนธุรกิจการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ความสําคัญและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มเกษตรกรฯ รวมถึงได้รับการพัฒนาและส่งเสริมในการเพาะปลูกสับปะรดอย่างเพียงพอและทั่วถึง ทําให้สมาชิกสามารถผลิตสับปะรดได้อย่างมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของโรงงาน และได้ราคาผลผลิตสูงขึ้น

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

กลุ่มเกษตรกรฯ ปลูกสับปะรดทางเกวียน จังหวัดระยอง ดําเนินธุรกิจ 2 ประเภท โดยมีปริมาณธุรกิจรวมทั้งสิ้น 7,380,346.46 บาท ปริมาณธุรกิจ 3 ปี ย้อนหลังของกลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความผันผวนของราคาสับปะรดไม่ได้ส่งผลต่อการดําเนินธุรกิจของกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มจะได้รับโควต้าและกําหนดราคาล่วงหน้าจากโรงงานแล้ว กลุ่มเกษตรกรฯ มีกําไรสุทธิ 158,090.14 บาท และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิกในอัตรา ร้อยละ 90 จํานวน 26,142.00 บาท และจ่ายเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนของธุรกิจ จํานวน 15,449 บาท จากผลการดําเนินงาน 3 ปี ที่ผ่านมา มีความมั่นคงและมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการระดมหุ้นจากสมาชิกเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนภายในกลุ่ม และทุนเรือนหุ้นมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงมีทุนดําเนินงานเพียงพอต่อการดําเนินธุรกิจของกลุ่ม

กลุ่มเกษตรกรฯ มีที่ดินของกลุ่มเอง มีอาคาร สํานักงานเพื่ออํานวยความสะดวกและให้บริการสมาชิก และใช้เป็นสถานที่สําหรับการประชุมสมาชิก และมีรถกระบะสําหรับให้บริการบรรทุกสินค้า/ผลผลิตให้แก่สมาชิก และมีโต๊ะ เก้าอี้ พัดลม และอุปกรณ์ต่างๆ ในการจัดงานให้สมาชิกสามารถยืมใช้งานได้

การทํากิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มเกษตรกรฯ ร่วมทํากิจกรรมสาธารณประโยชน์กับชุมชนในโอกาสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ มีกิจกรรมพัฒนาชุมชน ทําความสะอาด และปรับปรุงภูมิทัศน์ในเทศกาลและโอกาสสําคัญต่างๆ สนับสนุนกิจกรรมและร่วมทําบุญกับวัดในชุมชน โดยกลุ่มใช้กิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนในชุมชน

กลุ่มเกษตรกรฯ ให้ความสําคัญต่อการทํากิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มทําอาชีพเกษตรกรรม และต้องการมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ร่วมกันปลูกต้นไม้ภายในชุมชน และป่าชายเลน เนื่องในการปรับปรุงภูมิทัศน์โอกาสสําคัญต่างๆ

  1. กลุ่มเกษตรกรฯ ได้จัดสรรกําไรสุทธิไว้เป็นเงินสวัสดิการเพื่อดูแลสมาชิกและครอบครัวสมาชิก ได้แก่ ร่วมทําบุญและช่วยเหลืองานศพของสมาชิกและครอบครัว มอบทุนการศึกษาแก่บุตรของสมาชิก จัดให้มีการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะในการปลูกสับปะรดแก่สมาชิก และจัดให้มีเครื่องแบบแก่คณะกรรมการดําเนินการ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่