ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural

สวัสดีครับ ยินดีที่ได้พบกันผ่านคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย กันเป็นประจำ ฉบับนี้มาอธิบายกันต่อในเรื่อง ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural ที่เคยอธิบายที่มาที่ไปเอาไว้เมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้ผมจะมาอธิบายกันต่อว่า ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural มีหลักการพื้นฐานและขอบเขตในตัวเองอย่างไร ตามไปดูครับ ว่าทำธุรกิจเกษตรแบบไหน จึงจะเป็นการเกษตรแบบบูติค

ร้านบ้านเนินหินดาดและสวนเกษตรผสมผสาน ของ คุณพิมพลอย สุขสุวรรณ ตัวอย่างระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค

หลักการพื้นฐานของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural

ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบไหนล่ะ ที่เรียกว่า ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค ทำอย่างไรจึงเป็นระบบการเกษตรแบบบูติค ผมรวบรวมความรู้ส่วนตัวทั้งจากงานวิจัย เช่น งานวิจัยเรื่อง เปิดฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว-ปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้มีฟาร์ม ระบบธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของประเทศไทยในปัจจุบัน (กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างในภาคตะวันตกของประเทศไทย) และจากการตระเวนระหกระเหเร่ร่อนทำข่าวเกษตรมาทั่วประเทศ เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ผมขออนุญาตให้คำจำกัดความเป็นหลักการพื้นฐานของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค ดังนี้ครับ

  1. 1. ต้องทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ (ร้านอาหาร ที่พัก รีสอร์ต จำหน่ายของที่ระลึก นำเที่ยว ฯลฯ) โดยมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลัก
  2. 2. ระบบการเกษตรแบบบูติค การเกษตรที่ทำควบคู่กับธุรกิจบริการนั้นจะต้องใช้ผลผลิต และ/หรือนำกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรนั้นๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจบริการด้วย เช่น ใช้แกะที่เลี้ยงเองมาให้นักท่องเที่ยวซื้อหญ้ามาป้อน ใช้เนื้อหมูที่เลี้ยงเองมาทำอาหารเสิร์ฟลูกค้าที่เข้ามาพักในรีสอร์ต ใช้ผักที่ปลูกเองมาเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารสำหรับผู้ที่เข้ามาพักในรีสอร์ต เป็นต้น
  3. 3. เจ้าของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติคมุ่งหวังผลกำไรจากทั้ง 2 กิจกรรม ทั้งกิจกรรมการเกษตรและการทำธุรกิจบริการ เช่น เลี้ยงแกะจำนวนมากเพื่อจำหน่ายและนำแกะบางส่วนที่มีมาโชว์ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชม เป็นต้น
ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโครงการฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน

ขอบเขตของระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค

ขอบเขตของระบบการเกษตรแบบบูติค มีขอบเขตบริบทตามรายละเอียด ดังนี้

  1. 1. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมกันกับการทำธุรกิจบริการ
  2. 2. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมหรือควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กในเมืองหรือจะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในชนบท หากมีการทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรควบคู่กับการทำธุรกิจบริการโดยมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลักจากทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อมๆ กัน ก็เป็นระบบการผลิตแบบบูติค
  3. 3. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมหรือควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ ไม่ว่าจำนวนกิจการการเกษตรจะมีจำนวนเท่าใด จำนวนกิจกรรมในธุรกิจบริการจะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม หากกิจกรรมธุรกิจการเกษตรและกิจกรรมการทำธุรกิจบริการเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกันและมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลักจากทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อมๆ กัน ก็เป็นระบบการผลิตแบบบูติค
  4. 4. กิจกรรมในธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเน้นเรื่องใด (ร้านอาหาร ที่พัก รีสอร์ต จำหน่ายของที่ระลึก นำเที่ยว ฯลฯ) จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมีการทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรควบคู่กับการทำธุรกิจบริการโดยมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไรเป็นหลักจากทั้ง 2 ธุรกิจ พร้อมๆ กัน
  5. 5. กิจกรรมธุรกิจการเกษตรและกิจกรรมการทำธุรกิจบริการ จะต้องส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกัน และเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจจากลูกค้าให้มาใช้บริการ
  6. 6. กิจกรรมในธุรกิจเกษตรจะเป็นกิจกรรมที่เน้นการผลิตปราศจากการปรุงแต่งให้สวยงาม หรือจะเป็นกิจกรรมในธุรกิจเกษตรที่เน้นการปรุงแต่ง สร้างสรรค์ให้สวยงาม ก็ถือว่าเป็นระบบการผลิตแบบบูติค หากกิจกรรมในธุรกิจเกษตรนั้นมีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมในธุรกิจบริการ
  7. 7. กิจกรรมในธุรกิจเกษตรจะใช้รูปแบบ วิธีการผลิตระบบใดก็ได้ แต่เน้นในเรื่องการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมุ่งหวังในเรื่องของผลกำไร
  8. 8. ทำกิจกรรมธุรกิจการเกษตรพร้อมหรือควบคู่กับการทำธุรกิจบริการ ที่ตอบสนองความต้องการของประชากรทุกวัย

หากมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งตรงตาม 8 ข้อ ด้านบน หรือหลายข้อรวมกัน ก็นับระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติคครับ

คุณวริทธิ์ กลมศิลา เจ้าของไร่องุ่นศิวริทธิ์ (SV. Vineyard) ตัวอย่างระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค

ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural
ใช่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรหรือไม่

ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีผู้ให้ไว้ เช่น

กรมการท่องเที่ยว (2552) ได้ให้คำจำกัดความ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นทางด้านการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมของชาวชนบท โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้มาทำให้เกิดประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชน และตัวเกษตรกร การท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะเป็นการอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

รำไพพรรณ แก้วสุริยะ (2544) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เกษตรกรรม สวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความสำเร็จ และเพลิดเพลินในการทำสวนเกษตร ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่บนพื้นฐานความรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่แห่งนั้น

กรมส่งเสริมการเกษตร (2548) กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตร คือการเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรม สวนเกษตร วนเกษตร สวนสมุนไพร ฟาร์มปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ สถานที่ราชการ ตลอดจนสถาบันการศึกษาที่มีงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตการเกษตรที่ทันสมัย ฯลฯ เพื่อชื่นชมความสวยงาม ความสำเร็จและความเพลิดเพลินในกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ บนพื้นฐานความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อมของสถานที่นั้น

นักศึกษามาเรียนรู้ที่โครงการฟาร์มเกษตรและอาหารปลอดภัย 1 ไร่ไม่ยากจน

โดยสรุป การท่องเที่ยวเชิงเกษตร หมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมของชาวชนบท โดยการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชน และตัวเกษตรกร นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลินในกิจกรรมทางการเกษตร และมีจิตสำนึกต่อการรักษาสภาพแวดล้อม (ณัฎฐพงษ์ ฉายแสงประทีป)

จะเห็นได้ว่า ความหมาย คำจำกัดความ ของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีความแตกต่างค่อนข้างมากจากการเกษตรแบบบูติค ทั้งเรื่องของสถานที่ ที่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรมักหมายถึงพื้นที่ในชนบท ในชุมชนต่างจังหวัด แต่การเกษตรแบบบูติคไม่จำกัดว่าจะทำที่ไหน การท่องเที่ยวเชิงเกษตรไม่ได้เน้นว่าจะต้องใช้กิจกรรมการเกษตรมาเป็นประโยชน์กับธุรกิจบริการ ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรบางสถานที่อาจจะซื้อผลผลิตเกษตรมาขายในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ได้ผลิตเองเหมือนคำจำกัดความของการเกษตรแบบบูติค

ดังนั้น การเกษตรแบบบูติคมีความแปลกแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของแนวคิดและการปฏิบัติ ระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค Boutique Agricultural เป็นสิ่งที่ผมอยากฝากเอาไว้ว่ายังมีระบบการผลิตทางการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว พบกับคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ได้ใหม่ในฉบับต่อไป สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิง
กรมการท่องเที่ยว. 2552. คู่มือการประเมินแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ, ม.ป.ท.

กรมส่งเสริมการเกษตร. 2548. คู่มือบริหารและจัดการการท่องเที่ยวเกษตร. กรุงเทพฯ, ม.ป.ท.

ณัฎฐพงษ์ ฉายแสงประทีป. 2557. รูปแบบและกระบวนการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงเกษตร.  วารสารวิชาการ Veridian E-Journal มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปะ ปีที่ 7 ฉ. 3 ก.ย.-ธ.ค. 2557

รำไพพรรณ แก้วสุริยะ. 2544. ท่องเที่ยวยั่งยืน (ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์) ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์. อนุสาร อสท., กรุงเทพฯ, พ.ย. 2544

ดร. เนตรนภา อินสลุด ใน http://www.ap.mju.ac.th/ap101/all%20lessons/Lesson/Chapter.pdf

คุณทนงศักดิ์ วิชัยชน เจ้าของคอกม้า Tall mountains ตัวอย่างระบบการผลิตทางการเกษตรแบบบูติค