เผยแพร่ |
---|
หากใครสนใจอยากปลูกทุเรียน เพื่อเป็นไม้ผลประจำบ้าน หรือปลูกเชิงการค้า ควรเรียนรู้เรื่องศัพท์ที่เกษตรกรชาวสวนนิยมเรียกทุเรียนในช่วงต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการปลูกดูแลต้นทุเรียนกับเกษตรกร รวมทั้งพูดคุยกับพ่อค้าขายทุเรียนได้อย่างรู้เรื่อง
หางแย้…เป็นลูกทุเรียน ลูกเล็กที่ผ่านการผสมแล้ว 1 วัน กลีบดอกร่วง ทำให้ลูกเล็กมีปลายเกสรตัวเมียยาว มองเห็นเป็นหางแย้

หางทุเรียน…เป็นทุเรียนรุ่นเล็กที่มีอยู่บนต้น กระจายทั่วต้น ไม่สามารถจัดเกรดได้
เต่าเผา…ทุเรียนที่มีเนื้อตาย (แห้งสีน้ำตาล) บางส่วน เนื้อไม่หุ้มเมล็ด เนื่องจากขาดน้ำ
เนื้อแกนกระเบื้อง…ทุเรียนที่มีเนื้อแข็งเป็นแกน เมื่อสุกยังแข็ง รับประทานไม่ได้ หรืออาจมีปะปนกับเนื้อนิ่ม เวลาเคี้ยวมีอาการกรุบกรับ

ปลิง…รอยต่อระหว่างก้านขั้วที่ติดกับกิ่ง และก้านขั้วที่ติดกับผล เวลาสุกส่วนนี้จะแยกตัวหลุดจากกัน เรียกว่าปลิงหลุด
สุกในปลิง…ทุเรียนที่เก็บแก่จัด โดยใช้วิธีการฟังเสียง พูหลวมมากแล้วจึงตัดลงมา (โดยเฉพาะทุเรียนนนท์) ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 วัน หรือไม่เกิน 3 วัน ปลิงยังไม่หลุด จึงจำเป็นที่ทุเรียนสวนต้องใช้ใบตองหุ้มปลิงไว้ให้สุกขณะปลิงยังอยู่ หากสุกแล้วปลิงหลุด แสดงว่าทุเรียนเก็บมาหลายวัน หรือทุเรียนร่วง ราคาจะตกทันที

เมล็ดตายหรือเมล็ดลีบ…เมล็ดไม่มีการพัฒนา จึงมีแต่เนื้อที่พัฒนามาจากขั้วของเมล็ด จะพบมากในทุเรียนพันธุ์อีลีบ พันธุ์หลงลับแล พบปานกลางในพันธุ์ชะนี หมอนทอง เป็นต้น
เมล็ดเต็มหรือเมล็ดโต…เมล็ดมีการพัฒนา โดยสมบูรณ์หลังจากการผสมเกสรแล้ว
เนื้อไม่หุ้มเมล็ด…ทุเรียนที่มีการสร้างเนื้อน้อย เนื่องจากเป็นช่วงขาดน้ำ หรือเนื้อน้อยเนื่องจากเป็นลักษณะประจำพันธุ์อยู่แล้ว ทำให้เห็นเมล็ดโตมาก มักพบในพันธุ์กระดุมในระยะขาดน้ำ
ไส้ซึม…ทุเรียนที่มีน้ำซึมเข้าไปในผล โดยน้ำจะออกจากไส้กลางซึ่งเป็นจุดรวมของท่อน้ำและท่ออาหาร ถ้ามีน้ำมากจะเห็นเป็นเหงื่อที่ผนังพูด้านใน ส่วนที่ไม่พึงประสงค์ เนื้อเละ กลิ่นฉุน ไม่น่ารับประทาน
กลิ่นสาบ…กลิ่นเริ่มแรกของทุเรียนใกล้สุก และจะเริ่มมีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น

สุกห่าม…ทุเรียนสุกในระยะแรก กลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อแข็งหรืออ่อนนุ่ม ไม่เลอะมือ

สุกพอดี…ระยะที่มีกลิ่นฉุน เนื้อนุ่มพอดี สำหรับคนที่ชอบรับประทานทุเรียนนิ่ม

สุกงอม/ทุเรียนปลาร้า…เป็นทุเรียนที่สุกงอมมาก เนื้อเละ มีกลิ่นฉุน เนื้อมีสีเหลืองคล้ำ รสชาติหอม