หางไหล และ หนอนตายหยาก กับการนำมาใช้กำจัดแมลง

หางไหล หรือ โล่ติ๊น ส่วนที่นำมาใช้กำจัดแมลงเป็นส่วนของรากอยู่ใต้ดิน มีส่วนประกอบของสาร โลติโนน หางไหล เป็นพืชเถาเนื้อแข็ง รูปร่างกลม สีน้ำตาลอมเทา ใบเป็นชนิดใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน กว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ สีเขียว ส่วนใบอ่อนมีสีแดง ออกดอกตามซอกใบ สีชมพู ผลเป็นฝักแบน มีรากยาวหยั่งลึก เฉลี่ยประมาณ 1 เมตร สีน้ำตาลอมแดง ขนาดใกล้เคียงกับแท่งดินสอดำ วิธีใช้ ควบคุมแมลง ทุบให้แตกตัดเป็นชิ้นแช่ในน้ำสะอาด อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 1 ปี๊บ แช่ไว้เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง จะได้น้ำสีขาวขุ่น กรองเอาแต่น้ำนำมาฉีดพ่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ หนอนเจาะถั่วฝักยาว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว และหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ข้อควรระวัง อย่าให้น้ำแช่หางไหลตกลงในบ่อปลา เพราะจะทำให้ปลาตายทั้งบ่อ

หนอนตายหยาก เป็นพืชหัว ประเภทล้มลุก มีรากหรือหัวอยู่ใต้ดิน รูปร่างคล้ายหัวกระชาย แต่มีขนาดใหญ่กว่า และจำนวนหัวต่อต้นมากกว่า มีสารสำคัญในกลุ่ม แอลคาลอยด์ ใช้กำจัดเห็บในโค กระบือ มีบทบาทในการยับยั้งการกินอาหารของหนอนกระทู้ผัก แต่ก่อนแม่บ้านจะนำหนอนตายหยากมาทุบ และทาลูบไล้ไว้ปากไหบรรจุปลาร้า ป้องกันแมลงวันมาวางไข่ วิธีใช้ทั่วไป นำหัวหนอนตายหยาก อัตรา 1 กิโลกรัม ทุบและหั่นเป็นชิ้น แช่ในน้ำสะอาด 20 ลิตร หรือ 1 ปี๊บ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วกรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นในแปลงพืชผัก หรือตัวสัตว์เลี้ยง กำจัดตัวเหลือบ

ตามรอยบรรพบุรุษของเราที่เคยปฏิบัติมา ซึ่งทางวิชาการรับรองแล้วว่า ใช้ประโยชน์ได้ดีและปลอดภัย