‘เสน่ห์ แทนรอด’ เกษตรกรต้นแบบปลูกข้าวโพดสู้ภัยแล้ง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท

จากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งของเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูง ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการความช่วยเหลือด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้น ทนแล้ง ทดแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าว โดยพืชที่รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งมีความเหมาะสมปลูกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อาทิ ปอเทือง พืชตระกูลถั่วต่างๆ และข้าวโพด

นายเสน่ห์ แทนรอด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10 บ้านหัวเด่น อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เกษตรกรต้นแบบการปลูกข้าวโพดที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมของภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชัยนาทเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำเพียงพอที่จะเพาะปลูกข้าว เนื่องจากเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทมีการทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักที่สำคัญ จึงทำให้เกษตรกรมีความป็นอยู่ที่แย่ลง เนื่องจากขาดรายได้จากการทำนาไป ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีนโยบายการลดพื้นที่การทำนาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมกับส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นทนแล้งทดแทน

โดยในพื้นที่จังหวัดชัยนาท รัฐบาลได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเกษตรกรนัก เนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีความเชื่อมั่นจากรัฐบาลว่าการปลูกข้าวโพดจะสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรได้ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความชำนาญในการปลูกข้าวโพด และไม่คิดที่จะไปทำอาชีพอื่นหรือปลูกพืชชนิดอื่นแทนการทำนา จึงไม่กล้าที่จะเข้าร่วมโครงการในปีแรกๆ ซึ่งต่างกับตนที่เคยทำข้าวโพดมาบ้าง ก็มีความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดน่าจะเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีไม่แพ้ข้าวหากมีตลาดรองรับ

ประกอบกับการส่งเสริมของรัฐบาล โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจและวิธีการปลูกข้าวโพด อีกทั้งยังสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิตต่างๆ พร้อมกับหาตลาดให้กับเกษตรกรด้วยการจับมือกับภาคเอกชนหลายๆ บริษัท เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรโดยตรง ทำให้เกษตรกรขายข้าวโพดได้ราคาดีโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรอยู่ได้ซึ่งในปีแรกที่เข้าร่วมโครงการยอมรับว่ามีความมั่นใจในภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมตรงนี้ จึงได้เข้าร่วมโครงการ จากนั้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปีก็จะหันมาปลูกข้าวโพดแทนการปลูกข้าวนาปรัง จากเดิมเกษตรกรหลายๆ คนที่ไม่กล้าจะมาทำตรงนี้ ทำให้ในช่วงปีแรกๆ มีพื้นที่การปลูกข้าวโพดไม่กี่ร้อยไร่ แต่ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทได้หันมาปลูกข้าวโพดในช่วงฤดูแล้งแทนการปลูกข้าวกันมากขึ้นเป็นหลักพันไร่ ที่สำคัญมีตลาดรองรับโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้งที่ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าการปลูกข้าว

นายเสน่ห์ กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดให้มีคุณภาพขายได้ราคาดี หัวใจสำคัญอยู่ที่การเตรียมดิน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกและขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ข้าวโพดนั้นมีผลผลิตที่ดีหรือไม่ดี เนื่องจากการเตรียมดินก็เพื่อให้ดินมีความอ่อนตัว และสามารถห่อหุ้มเมล็ดข้าวโพดให้ขึ้นอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่การไถกลบดินและไถชักร่องตามดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ หรือประมาณ 10 วัน ตามความเหมาะสม และหากดินมีความร่วนซุยละเอียดดีเมื่อนำเมล็ดข้าวโพดมาปลูกก็จะทำให้ข้าวโพดตั้งตัวเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตดีตามมา อีกทั้งวิธีการให้น้ำก็น้อยและไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนเยอะเหมือนกับข้าว โดยรวมมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง

ปัจจุบัน นายเสน่ห์ มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ประมาณ 40 กว่าไร่ เป็นที่ของตนเอง 30 กว่าไร่ ที่เหลือเช่าพื้นที่ทำการเกษตร โดยแบ่งเป็นปลูกข้าวโพด 20 ไร่ ทำนา 13 ไร่ และปลูกอ้อยอีก 14 ไร่ โดยในช่วงนี้ที่เป็นช่วงแล้งของปี มีการปลูกข้าวโพดอยู่ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณปลายเดือนเมษายน และคาดว่าในปีนี้ผลผลิตจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากมีความชำนาญในการปลูกมากขึ้น ประกอบกับมีขั้นตอนการปลูก การดูแลตามหลักวิชาการที่ดี ตามคำแนะนำและส่งเสริมจากภาครัฐ กรมส่งเสริมการเกษตร และภาคเอกชนในฐานะตลาดรับซื้อทำให้สามารถผลิตข้าวโพดได้ตรงกับความต้องการของตลาด และขายได้ราคาดีจากความสำเร็จในการเป็นเกษตรกรรุ่นแรกๆ ที่หันมาปลูกข้าวโพดในจังหวัดชัยนาท ทำให้ปัจจุบันในพื้นที่ของนายเสน่ห์เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการผลิตข้าวโพดที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน