ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เทคโนโลยีการจัดการน้ำอย่างประหยัดแบบเปียกสลับแห้ง เหมาะสำหรับพื้นที่นาในเขตชลประทานที่ควบคุมและระบายน้ำได้
ปัจจุบัน สถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วง เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และเกิดการขาดแคลนน้ำ ฉะนั้น เกษตรกรทำนาในเขตชลประทานที่ควบคุมและระบายน้ำได้ ควรจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งมีวิธีการดังนี้ เตรียมดินทำเทือกเพื่อเตรียมหว่านข้าว ติดตั้งท่อสังเกตระดับน้ำใต้ดิน (ท่อแกล้งข้าว) พื้นที่ละ 1-2 จุด โดยใช้ท่อพีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 25 เซนติเมตร เจาะรูด้วยสว่านเส้นผ่าศูนย์กลางหุนครึ่งถึงสองหุน 4-5 แถว รอบๆ ท่อ แต่ละรูห่างกัน 5 เซนติเมตร และฝังท่อในนาลึกประมาณ 20 เซนติเมตร ให้ปากท่อโผล่พ้นผิวดิน 5 เซนติเมตร ควักดินในท่อออกให้หมด หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว อัตราตามที่กรมการข้าวแนะนำ 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่
หลังจากนั้น ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้แห้ง เมื่อข้าวอายุประมาณ 10 วัน ให้พ่นสารคุมหรือสารกำจัดวัชพืช ตามชนิดของวัชพืชที่เกิดขึ้น สูบน้ำเข้าแปลงนา ครั้งที่ 1 หลังพ่นสารคุม-ฆ่าวัชพืช 2 วัน ที่ระดับครึ่งต้นข้าวเพื่อคุมวัชพืช ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 1 ด้วยสูตร 16-20-0 อัตรา ไร่ละ 30 กิโลกรัม (ดินเหนียว) หรือ สูตร 16-16-8 อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ (ดินทราย) เมื่อต้นข้าวอายุ 20-25 วัน หลังหว่าน แล้วปล่อยให้น้ำแห้งไปตามธรรมชาติ
สูบน้ำเข้าแปลงนา ครั้งที่ 2 ถ้าระดับน้ำในท่อลดต่ำลงเลยเขตรากข้าว (วัดจากท่อลึกลงไป 20 เซนติเมตร) ให้สูบน้ำเข้านา ระดับ 3-5 เซนติเมตร ขังไว้จนกระทั่งน้ำแห้ง เมื่อระดับน้ำในท่อลดลงต่ำเลยเขตรากข้าว ให้สูบน้ำเข้านา ในระดับ 3-5 เซนติเมตร ไปจนกระทั่งข้าวมีอายุ 45-50 วัน หลังหว่าน ใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 2 สูตร 46-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อข้าวมีอายุ 45-50 วัน หลังหว่าน ให้เพิ่มระดับน้ำ 5 เซนติเมตร รักษาระดับน้ำจนข้าวโน้มรวง หลังข้าวออกดอกแล้ว 15-20 วัน เก็บท่อสังเกตระดับน้ำใต้ดิน (ท่อแกล้งข้าว) ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้แห้ง เพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอและเก็บเกี่ยวได้สะดวก
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถาม ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่อยู่ใกล้บ้านท่าน
………………………..
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ – 15 ก.ย. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่