“มทร. ล้านนา” โชว์งานวิจัยพันธุ์แตงกวา พริกลูกผสม-ฟักทอง ตอบโจทย์คนรักผัก

“เชื้อพันธุกรรมพืช” นับเป็นต้นทุนสำคัญของการพัฒนาพันธุ์พืช หากสามารถรวบรวมและครอบครองพันธุกรรมพืชได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มจุดแข็งและสร้างโอกาสทางการค้าได้มากเท่านั้น นักวิจัยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมพืชที่มีจำนวนมากและหลากหลายชนิดได้ตามที่ต้องการแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในปริมาณสูงอีกด้วย

หน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมพืช

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร. ล้านนา) เล็งเห็นประโยชน์ของการรวบรวมพันธุกรรมพืช จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์พันธุกรรมพืช” ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ของพืชผักและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ต่อมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดตั้ง “หน่วยบริการจัดการเชื้อพันธุกรรมพืชวงศ์แตง” โดยดำเนินการ 6 ระยะ ระหว่าง พ.ศ. 2550-2565 โดยเก็บรวบรวม ประเมินลักษณะพันธุกรรม ขยายพันธุ์ และให้บริการเชื้อพันธุกรรมพืชแก่ผู้สนใจที่จะนำเชื้อพันธุกรรมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการวิจัย และการพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์

แปลงทดสอบสายพันธุ์แตงกวาลูกผสม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สามารถรวบรวมเชื้อพันธุกรรมผักวงศ์แตงจากภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ แตงกวา จำนวน 246 สายพันธุ์ ฟักทอง จำนวน 408 สายพันธุ์ และมะระ จำนวน 60 สายพันธุ์ เก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมผักวงศ์แตงในระยะสั้น ภายในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส สำหรับถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ในการวิจัยและอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ข้อมูลลักษณะเศรษฐกิจบันทึกไว้ในฐานข้อมูลพันธุกรรมแตงกวา ในเว็บไซต์ www.biotec.or.th/germplasm

ที่ผ่านมา หน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมพืชของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ขึ้นทะเบียนพันธุ์แตงกวา 8 สายพันธุ์ และพันธุ์ลูกผสม 5 พันธุ์ ที่มีศักยภาพให้ผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 และคุ้มครองพันธุ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ แตงกวา 8 สายพันธุ์ และพันธุ์ลูกผสม 5 พันธุ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560 และให้ใช้ได้จนถึง วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2572

โชว์งานวิจัยพันธุ์แตงกวา
ลักษณะเด่นของแตงกวาล้านนาแต่ละสายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังขึ้นทะเบียนพันธุ์ฟักทอง 1-7 และ 8-18 สายพันธุ์ ที่มีศักยภาพให้ผลผลิตและคุณภาพการบริโภคสูง ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557 และ วันที่  6 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และคุ้มครองพันธุ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่สายพันธุ์ทองล้านนา 1-7 เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 ให้ใช้ได้จนถึง วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2574

ขณะเดียวกัน มทร. ล้านนา ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์พริก ร่วมกับ สำนักงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือชื่อเดิม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2562 โดยการรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพริก ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์สืบทอด (Heirloom seed) จากแหล่งต่างๆ จากนั้นประเมินและคัดเลือกสายพันธุ์จนสามารถขึ้นทะเบียนพันธุ์ “พริกคีรีราษฎร์” จำนวน 8 พันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 วันที่ 28 มีนาคม 2555 และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 และให้ใช้ได้จนถึง วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2570

พริกคีรีราษฎร์ หนึ่งในผลงานเด่นของ มทร. ล้านนา

“พริกพันธุ์คีรีราษฎร์” มีต้นกำเนิดมาจากสายพันธุ์พริกกะเหรี่ยงในพื้นที่ตำบลคีรีราษฎร์ จังหวัดตาก ซึ่งโดยทั่วไปพริกชนิดนี้จะให้ผลผลิตเพียง 200-300 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น เมื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เป็นสายพันธุ์พริกลูกผสมเปิด ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม สามารถให้ผลผลิตสูงถึง 1.5 ตัน ต่อไร่ เป็นที่ต้องการของเกษตรกรและตลาดทั่วไป ปัจจุบัน ทีมนักวิจัย มทร. ล้านนา ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์พริกคีรีราษฎร์ส่งคืนให้ชุมชน นำไปปลูกและผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายเป็นพริกพันธุ์การค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

โครงการวิจัยเหล่านี้ นอกจากได้เมล็ดพันธุ์พืชคุณภาพดีแล้ว การผลิตพืชดังกล่าวยังได้รับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ (Organic Thailand) รหัสรับรอง TAS 5237 พื้นที่ 30.5 ไร่ 17 ชนิดพืช ของ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตั้งแต่ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน และการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ มกท. ภายใต้ IFOAM Accreditation Programme รหัสรับรอง 040457OC พื้นที่ 30.5 ไร่ 17 ชนิดพืช ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 ถึงปัจจุบัน

มุ่งปรับปรุงพันธุ์พืชตอบโจทย์ตลาด

ผศ.ดร. จานุลักษณ์ ขนบดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร ลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า การปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นศิลป์ (ART) และวิทยาศาสตร์ (science) ที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงพันธุกรรม การสืบทอดลักษณะของพืช ตั้งแต่ ปี 2548 ถึงปัจจุบัน สวทช. สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตร ลําปาง จัดทําโครงการ การสร้างประชากรพื้นฐานและสายพันธุ์แตงกวาให้ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างและไวรัส โดยนําเชื้อพันธุกรรมแตงกวาทุกสายพันธุ์มาผสมรวมเพื่อรวมยีน (pool gene) และปลูกทดสอบในแปลง คัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะต้านทานโรคราน้ำค้างและโรคไวรัส พันธุ์ที่มีลักษณะทางพืชสวนที่ดีนําไปปรับปรุงพันธุ์ต่อ จนได้พันธุ์ที่มีศักยภาพเป็นพันธุ์การค้า

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร ลำปาง ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของแตงกวาที่ต้านทานและไม่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง โดยใช้เทคนิคดีเอ็นเอเครื่องหมายและศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างแหล่งพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคราน้ำค้างและพันธุ์ที่ไม่ต้านทานต่อโรค จนได้แตงกวา สายพันธุ์แท้ 8 สายพันธุ์ และพันธุ์ลูกผสม 5 พันธุ์ ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน ร้อยละ 30 และต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง โดยมีการขอขึ้นทะเบียน และคุ้มครองพันธุ์ จากกรมวิชาการเกษตร และสามารถถ่ายทอดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร หรือภาคเอกชน ในการนําไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

แปลงปลูกแตงกวาพันธุ์ล้านนา

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร ลำปาง ยังได้ศึกษาวิจัย เรื่อง “พันธุ์ฟักทอง ที่มีสารพฤกษเคมีเพิ่มมูลค่า ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารสุขภาพ” โดยได้แรงบันดาลใจมาจากผลผลิตฟักทองสายพันธุ์ไทยมีราคาตํ่า คนไทยหันไปบริโภคฟักทองญี่ปุ่นกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าฟักทองญี่ปุ่นนั้นมีสารอาหารทางโภชนาการที่ดีกว่า

ทางสถาบันฯ จึงได้รวบรวมสายพันธุ์ฟักทองไทยนำมาศึกษาวิจัยจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาผสมพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ใหม่กว่า 13 สายพันธุ์ โดยมี 3 สายพันธุ์ ที่มีความโดดเด่น ได้แก่ PK11, PK14 และ PK17 คือ ผลผลิตลูกฟักทองที่ได้มีขนาดกลาง 3-5 กิโลกรัม ต่อลูก เนื้อมีสีเหลืองสวย ไม่เปลี่ยนสีเมื่อผ่านความร้อน เนื้อมีความแน่น เหนียว เมล็ดใหญ่และจำนวนมากต่อลูก เนื้อและเมล็ดฟักทองที่ได้มีสารพฤกษเคมีที่มีปริมาณสูง เช่น ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ สารพรีไบโอติก วิตาวินเอ เบต้าแคโรทีน ไฟเบอร์ โฟเลต และโอเมกา 3 และ 6 สูง ทั้งเนื้อและเมล็ดสามารถนำไปแปรรูปอาหารได้หลากหลาย เหมาะกับผู้รักสุขภาพ แม้จะผ่านความร้อนแต่สารพฤกษเคมีหรือสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็ยังคงมีอยู่สูง รสหวานธรรมชาติเป็นนํ้าตาลที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที เมื่อนำไปประกอบอาหารก็ไม่จำเป็นต้องเติมนํ้าตาลในปริมาณมาก นอกจากนี้ ยังนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาทิ คุกกี้ฟักทอง เนย และแยมทาขนมปัง ขนมปังรสฟักทองเนื้อนุ่ม ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับรางวัล Gold Award สาขางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561

เมล็ดพันธุ์ฟักทอง

ผักไทยขายดี ในตลาดคู่ค้า FTA    

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าพืชผักของประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตและความพร้อมด้านการแข่งขันในตลาดโลกได้ดี ทางกรมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีตรงตามความต้องการของตลาด ทุกวันนี้ ทั่วโลกต่างสนใจบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยจากโควิด-19 จึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรไทย ที่จะพัฒนาสินค้าให้สนองความต้องการตลาด และใช้แต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ ในการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก

ประเทศไทย นับเป็นผู้ส่งออกสินค้าผักสดแช่เย็นแช่แข็งและผักแห้งเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 14 ของโลก ในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าผักไปประเทศ FTA รวม 94 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน ร้อยละ 66 ของการส่งออกสินค้าผักทั้งหมดของไทย)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ปัจจุบัน ไทยได้เปิดตลาดส่งออกผัก ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ชิลี เปรู และอาเซียน 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา และบรูไน ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นคู่ค้าหลัก อันดับ 1 (สัดส่วน ร้อยละ 36) ในการส่งออก พืชตระกูลถั่วแช่แข็ง รองลงมาคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม (สัดส่วน ร้อยละ 22) สินค้าส่งออกสำคัญ คือ หอม กระเทียมสด พริกสด ส่วนคู่ค้า อันดับ 3 คือ ฮ่องกง (สัดส่วน ร้อยละ 4) สินค้าส่งออกสำคัญคือ ผักแช่แข็ง  ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งให้ไทยแล้ว

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกผักฯ ของไทยในปี 2562 กับปี 2535 ก่อนที่ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับอาเซียน พบว่าการส่งออกผักฯ ของไทยสู่ตลาดโลกขยายตัว ร้อยละ 332 และหากพิจารณารายตลาด พบว่าตั้งแต่ความตกลง FTA แต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ มูลค่าการส่งออกผักฯ ไปตลาดส่งออกสำคัญที่เป็นคู่ FTA เติบโตอย่างน่าพอใจในหลายตลาด อาทิ อาเซียน ขยายตัว ร้อยละ 947 เกาหลีใต้ ขยายตัว ร้อยละ 756 จีน ขยายตัว ร้อยละ 9,313 และญี่ปุ่น ขยายตัว ร้อยละ 23 เป็นต้น