ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | ปิยพร วิสระพันธุ์ |
เผยแพร่ |
คุณสมร รัตนะชัย ไม่ใช่ชาวลพบุรีโดยกำเนิด แต่แต่งงานกับหนุ่มเมืองลิง เริ่มต้นชีวิตด้วยการรับจ้างและค้าขายทั่วไป สู้ชีวิตมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอค้าขายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ หรือรับจ้างทุกอย่าง เนื่องจากตัวคุณสมรเองไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเคยประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมอง และด้วยที่ไม่ได้เรียนหนังสือจึงไม่สามารถอ่านเขียนได้ ทำให้ไม่สามารถเลือกอาชีพได้มากนัก ประกอบกับต้องช่วยแม่เลี้ยงน้องอีก 3 คน ชีวิตที่ต้องดิ้นรนอยู่นิ่งไม่ได้จึงเริ่มขึ้น
“เมื่ออายุ 25 ได้แต่งงานมีครอบครัว สามีเป็นคนลพบุรี ทำอาชีพค้าขายอยู่ในตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง เมื่อแต่งงานแล้วก็ช่วยกันกับสามีทำการค้าขายผลไม้ในตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง โดยปกติจะวิ่งรับซื้อผลไม้จากสวน ตามฤดูกาลในจังหวัดต่างๆ เมื่อหมดผลไม้ตามฤดูกาลก็จะกลับไปทำเกษตรกับสามีที่จังหวัดลพบุรี ปลูกผักและรับซื้อพืชผักเพื่อมาขายที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง บางครั้งราคาพืชผักตกก็ขาดทุน ค้าขายแบบนี้อยู่ 4 ปี ก็เริ่มสังเกตเห็นลู่ทางการค้าขาย ว่าเขาค้าขายอะไรและช่วงไหน ที่ผัก ผลไม้ มีราคาดี”
คุณสมร บอกว่า ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตนเองได้ไปขายของที่ตลาดสี่มุมเมืองตามปกติ แต่ได้สะดุดตากับแผงขายมะละกอเจ้าหนึ่ง เห็นว่ามะละกอสายพันธุ์อะไร ทำไม มีรูปทรงและสีแตกต่างจากมะละกอทั่วไป จึงได้สอบถามและได้คำตอบกลับมาว่า “มะละกอลูกนี้ เป็นมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ ขายโลละ 48 บาท”
คุณสมร ตกใจมากที่มะละกอมีราคาถึง 48 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งในยุคสมัยนั้น มะละกอฮอลแลนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสมรสนใจปลูกมะละกอฮอลแลนด์ จึงได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมะละกอฮอลแลนด์มากขึ้น ด้วยความที่คุณสมรเป็นคนช่างสงสัย มีความใฝ่รู้ และมีความนอบน้อมเข้ากับผู้คนได้ง่าย ทุกครั้งที่คุณสมรไปรับผัก ผลไม้ จากจังหวัดอื่นๆ เพื่อที่จะนำไปขายต่อ ก็จะสังเกตความแตกต่างมะละกอฮอลแลนด์ที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ว่า รูปทรง สีเนื้อด้านใน และรสชาติ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
กระทั่งวันหนึ่ง คุณสมร ได้มีโอกาสไปสถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา ทำให้คุณสมรได้รู้จักมะละกอหลายสายพันธุ์มากขึ้น แต่คุณสมรก็ยังคงให้ความสนใจกับมะละกอสายพันธุ์ฮอลแลนด์มากที่สุด จึงตัดสินใจซื้อต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ 50 ต้น
คุณสมร บอกว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซื้อต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ ในราคาต้นละ 30 บาท เพื่อมาทดลองปลูก แต่ด้วยคุณสมรนั้นไม่มีพื้นที่ในการเพาะปลูก จึงขอปลูกในพื้นที่ไร่ของแม่สามี
คุณสมร ลองผิดลองถูกในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ ทั้งความรู้ที่ได้จากผู้อื่นและจากประสบการณ์ของตนเอง ผ่านไป 1 เดือน ต้นมะละกอฮอลแลนด์เริ่มโตขึ้น ทำให้มีกำลังใจในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์มากขึ้น จึงนำต้นกล้าจากสถานีวิจัยปากช่องมาปลูกเต็มพื้นที่ 1 ไร่ บนพื้นที่ของแม่สามี พอถึงช่วงผลผลิตออก ก็ได้คุณภาพดีตามที่ตนเองได้คาดหวังไว้ ทำให้คุณสมรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ อีกทั้งผลผลิตของคุณสมรค่อนข้างเป็นที่ต้องการของตลาด จึงนำกำไรบางส่วนมาเช่าพื้นที่ เพื่อปลูกมะละกอฮอลแลนด์เพิ่ม
ปัจจุบัน คุณสมร มีพื้นที่ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ของตนเอง จำนวน 63 ไร่
คุณสมร บอกว่า มะละกอฮอลแลนด์ของตนเองเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะมีจุดเด่นเฉพาะ ลักษณะเป็นทรงกระบอก รสชาติดี สีแดงสวย โดยไม่ใช้สารเร่งให้แดง เป็นเนื้อชั้นเดียว เนื้อแน่น กรอบ สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นโดยที่เนื้อยังคงแน่น กรอบ หวาน ซึ่งแตกต่างจากมะละกอฮอลแลนด์ทั่วไป ด้วยประสบการณ์ในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์กว่า 14 ปี ทำให้มีประสบการณ์ในการปลูกและวิธีการดูแลแตกต่างจากคนอื่น
คุณสมร อธิบายถึงหลักการในการปลูกมะละกอฮอลแลนด์ว่า เริ่มจากการเพาะต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ อัตราส่วนในการผสมดินปลูก ใช้ขี้วัว 30 เปอร์เซ็นต์ ดินดำ 70 เปอร์เซ็นต์ นำ 2 ส่วน มาผสมกัน และนำใส่ถุงเพาะ ขนาด 2×5 นิ้ว โดยใส่ดินครึ่งถุง และใส่เมล็ดมะละกอฮอลแลนด์ จำนวน 5 เมล็ด ต่อถุง จากนั้นใส่ดินที่ได้ผสมไว้จนเกือบถึงปากถุง และนำลงแปลงเพาะต้นกล้า ที่มีการให้น้ำผ่านสปริงเกลอร์ ด้านบนของแปลงเพาะต้นกล้ากางซาแรนไว้ เพื่อไม่ให้ต้นกล้าถูกแสงแดดโดยตรง ซาแรนที่เหมาะสมกับต้นกล้ามะละกอ ควรมีความหนา 70 เปอร์เซ็นต์ และ 90 เปอร์เซ็นต์ หากเพาะในช่วงฤดูร้อนก็จะใช้ซาแรนความหนา 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าช่วงในฤดูปกติที่ไม่ร้อนจนเกินไป ก็จะใช้ซาแรนความหนา 70 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนในการรดน้ำ จะรดน้ำต้นกล้า 3 เวลา ตอนเช้า 30 นาที เที่ยง 20 นาที และเย็น 10 นาที ในช่วง 10 วันแรกของการเพาะต้นกล้าต้องควบคุมให้กล้าทุกต้นโตให้พร้อมกัน ดังนั้น การรดน้ำในช่วง 10 วันแรกค่อนข้างสำคัญมาก
หลังจากลงเพาะต้นกล้า 15-18 วัน เริ่มเปิดซาแรนเพื่อให้ต้นกล้าคุ้นเคยกับแสงแดดและแข็งแรงมากขึ้น แต่ถ้าหากวันไหนอุณหภูมิมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ต้องปิดซาแรน เพราะแสงแดดที่แรงมากเกินไป อาจทำให้ต้นกล้าตายได้ เมื่อต้นกล้ามีอายุ 48-55 วัน ก็สามารถนำลงแปลงปลูกได้
การเตรียมดินสำหรับแปลงปลูก ใช้ปุ๋ยขี้วัวนมแล้วไถด้วยผาล 3 เพื่อพลิกหน้าดิน การใส่ปุ๋ยขี้วัวทำให้ดินบริเวณนั้นเป็นแหล่งอาหารของไส้เดือน และประโยชน์ของไส้เดือนทำให้พื้นที่บริเวณนั้นดินเกิดการร่วนซุยเหมาะสำหรับการเพาะปลูกมะละกอฮอลแลนด์อย่างมาก หลังจากนั้น ตากดินไว้ 1 เดือน ไถรอบ 2 โดยใช้ผาล 7 และตากดินไว้อีก 15 วัน จากนั้นยกร่อง โดยใช้ผาล 7 โอบดินขึ้นมาให้เป็นร่อง 2-3 รอบ จำนวนรอบในการยกร่องแล้วแต่สภาพดินของแต่ละพื้นที่ แต่ดินที่มะละกอชอบมากที่สุดคือ ดินดำ เพราะคุณสมบัติของดินดำจะอุ้มน้ำได้เป็นอย่างดี เมื่อยกร่องเสร็จแล้วเปิดสายน้ำหยดเป็นเวลา 1 คืน เพื่อให้ดินเกิดความชุ่มชื้นก่อนนำต้นกล้าลงแปลงปลูก
การนำต้นกล้าลงในแปลงปลูก จะเว้นระยะห่าง 2.10-2.40 เมตร ต่อ 1 ต้น
คุณสมร ให้เหตุผลว่า เมื่อต้นมะละกอโตขึ้น ใบของมะละกอแต่ละต้นจะช่วยกันบังแสงแดดที่จะส่องลงมาสู่ลำต้น ทำให้มะละกอเมื่อออกผลผลิตแล้วไม่ถูกแดดแรงมากจนเกินไป เพราะถ้าแดดแรงมากอาจทำให้สีของผลมะละกอไม่เสมอกัน
เมื่อนำต้นกล้าลงแปลงปลูกแล้ว ให้น้ำหยดต่อเป็นเวลา 1 คืน หลังจากนั้นรดน้ำวันเว้นวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นเพื่อเป็นการลดความร้อนให้กับต้นมะละกอ เป็นเวลา 20 วัน จากนั้นใส่ขี้วัวที่โคนต้น ต้นละ 1-2 กำมือ และเปลี่ยนการรดน้ำเป็น 2 วัน 1 ครั้ง เมื่อครบ 7 วัน ก็พรวนดินพูนโคนต้น เมื่อต้นมะละกอมีอายุ 70-75 วัน จะเริ่มออกเกสร ก็คัดแยกเพศโดยเอาแต่ดอกที่เป็นกะเทยไว้ หลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงติดลูก ก็ลิดแขนงที่ออกมาจากก้านมะละกอเพื่อไม่ให้แย่งสารอาหารกัน
คุณสมร มีหลักการปลูกมะละกอที่ต้องการประหยัดต้นทุนและใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด เมื่อถึงช่วงเร่งดอก จะใช้ขิงแก่ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 1 ลิตร ใบน้อยหน่า 1 ปี๊บ ต่อน้ำ 20 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 1 ลิตร เปลือกสะเดา 3-4 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ต้มให้เหลือน้ำ 1 ลิตร นำทั้ง 3 อย่าง ผสมกับน้ำ 200 ลิตร และน้ำหมักชีวภาพที่หมักไว้ อัตราส่วนนี้สามารถฉีดพ่น ได้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อป้องกันเพลี้ยไฟและไรแดง ใช้การฉีดพ่นทางใบเป็นเวลา 15 วัน สลับกับใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 15-15-15 และยังคงรดน้ำ 2 วัน ต่อ 1 ครั้ง ไปเรื่อยๆ หลังจาก 15 วัน ฉีดพ่นทางใบด้วยสารแคลเซียมโบรอน ทำแบบนี้ไปจนมะละกอหมดอายุในการเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 3 ปี
“ช่วงแรกอาจจะมีรายได้ที่ไม่มากนัก เพราะมีต้นทุนที่สูง แต่ปัจจุบันเราสามารถลดต้นทุนโดยใช้สารชีวภาพและเพาะต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์ได้เอง ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลักล้านต่อปี จากการจำหน่ายผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์และต้นกล้ามะละกอฮอลแลนด์”
สำหรับท่านใดที่สนใจ ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ ต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมร รัตนะชัย บ้านบ่อคู่ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ 087-915-4135, 086-124-7767 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก กูลสกิจ ฟาร์ม
…………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ.2563