4เขื่อนใหญ่น้ำทะลักหมื่นล้านลบ.ม. ชาวนาเฮ!กรมชลฯจ่อไฟเขียวทำนาปรัง7ล้านไร่

เศรษฐกิจไทยคึก ชาวนาได้เฮแน่ กรมชลประทานคาดน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยาสิ้นเดือนตุลาคมนี้พุ่งเป็น 10,000 ล้าน ลบ.ม. ระบุหากน้ำไหลผ่านนครสวรรค์เพิ่มเป็น 300 ลบ.ม./วินาที พร้อมยกระดับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา และบีบอัดด้วยประตูระบายน้ำปล่อยน้ำให้ชาวนาปลูกข้าวนาปี คาดแล้งหน้านี้ทำนาทั่วประเทศได้ประมาณ 7 ล้านไร่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า ทางกรมชลประทานได้ทำแบบจำลองถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยอิงจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกในแต่ละเดือนของปีนี้พบว่า ทั้ง 4 เขื่อนจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริงรวม 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 4,200 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เต็มความจุของเขื่อนที่ 1,060 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เต็มความจุของเขื่อนที่ 960 ล้านลบ.ม. ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ว่าจะมีพายุจากทะเลจีนใต้พัดเข้าสู่ภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือ 1 ลูก ในเดือนสิงหาคมนี้ และอีก 1 ลูกพัดเข้าภาคใต้ในเดือนตุลาคมศกนี้ และเรื่องนี้ อธิบดีกรมชลประทานได้รายงานต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว

ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อน หากมีน้ำใช้การได้จริงที่ 5,000 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เหมือนสิ้นเดือนตุลาคม 2558 ที่มีน้ำใช้การได้จริงอยู่ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม.เศษ ต้องระงับการปล่อยหรือจัดสรรน้ำเพื่อทำนาปรัง หากมีน้ำใช้การได้จริง 7,000 ล้าน ลบ.ม.ขึ้นไปจะดี พอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรได้ ฉะนั้นหากมีน้ำสิ้นเดือนตุลาคมศกนี้ถึงระดับ 10,000 ล้าน ลบ.ม. แผนการจัดสรรน้ำให้กับการทำนาปี ปีการผลิต 2560/2561 จะปลูกได้เร็วขึ้น ไม่ต้องออกข้อแนะนำเหมือนปีนี้ ที่จะให้ชาวนาลุ่มเจ้าพระยาเริ่มทำนาในเดือนกรกฎาคม 2559 จากปัญหาน้ำในเขื่อนทั้ง 4 แห่ง เหลือในขณะนี้ประมาณ 1,350 ล้าน ลบ.ม.

“น้ำในเขื่อนภูมิพลเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนนี้ เหลือใช้การได้จริง 2% หรือ 207 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์เหลือ 8% หรือ 744 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯเหลือ 20% หรือ 188 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยฯเหลือ 23% หรือ 203 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งเท่าเดิมที่วันละ 18 ล้าน ลบ.ม.”

ต่อประเด็นจะให้ชาวนาในลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่ได้อยู่ในเขตที่ลุ่มทำนาได้เมื่อใดนั้น ดร.ทองเปลวกล่าวว่า ต้นสัปดาห์ก่อนน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ที่ 170 ลบ.ม./วินาที หากไหลผ่าน 300 ลบ.ม./วินาที กรมชลฯจะใช้ระบบบีบอัดน้ำด้วยประตูระบายน้ำที่มีอยู่ให้สูงขึ้น รวมทั้งยกระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาให้สูงขึ้นด้วย เพื่อปล่อยน้ำให้กับชาวนาทำนา ซึ่งเหตุที่ทำได้เพราะไม่ต้องกังวลน้ำเค็มจะรุกไล่เข้าเขตภาคกลางตอนล่างแล้ว เนื่องจากมีฝนตกในบริเวณกว้างและสม่ำเสมอที่ช่วยผลักดันอยู่

“แผนการปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 ทั่วประเทศ รัฐมนตรีเกษตรฯได้กำหนดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ไว้ที่ 54.8 ล้านไร่ ส่วนการปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งหน้าทั่วประเทศจะมีประมาณ 7 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 4 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3 ล้านไร่ แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องรีบดำเนินการก่อนฤดูฝนจะหมดลงคือ การผันน้ำทางท่อของกรมชลประทานจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเติมลงอ่างบางพระ ที่ปริมาณน้ำเหลือน้อยมากเพียง 3%” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์