ยึด 3 หลักแนวคิด แนะเทคนิคปลูกข้าวตัดใบ ได้ผลผลิตเกินร้อย

ตัวอย่างข้าราชการเกษตรน้ำดีอย่าง คุณบุญส่ง จอมดวง เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรชำนาญงาน สำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ในวัย 40 ปี ที่ผู้เขียนได้ไปสัมผัสมา ถึงวิถีการใช้ชีวิตด้วยหัวใจเกษตร บนพื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน ตามหลักปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยสโลแกน “บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”

หัวหน้าเกษตร บุญส่ง จอมดวง ที่ชาวบ้านเรียกขานกันจนติดปาก เป็นคนที่เข้าถึงหัวใจเกษตรกรรากหญ้าอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านการเกษตรตามหลักทฤษฎีเชิงวิชาการ ในการแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการเรียนรู้ในชนบทเขตพื้นที่อำเภอพรานกระต่าย

หัวหน้าเกษตรบุญส่ง จอมดวง กับบทบาท “นักส่งเสริมการเกษตร” ให้ความรู้กับชาวบ้าน

เกษตรชำนาญงานอย่าง คุณบุญส่ง ได้ชื่อว่าเป็นบุคคล 3 ถิ่น คือ ถิ่นบ้านเกิดในวัยเด็ก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง จนถึงอายุ 15 ปี จากนั้นก็ไปศึกษาเล่าเรียนต่อยังถิ่นภูไทลุ่มน้ำโขง จังหวัดมุกดาหาร ผ่านไป 5 ปี ก็มาบรรจุเป็นเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรชำนาญงาน ในพื้นที่ตำบลพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันอายุงานผ่านไป 19 ปี

ทุกวันนี้อำเภอพรานกระต่าย จึงกลายเป็นถิ่นเมืองนอน และที่ทำงาน พร้อมที่จะสานฝันปักหลักเป็นถิ่นสุดท้ายบั้นปลายชีวิตของอนาคต

“และหวังใจเอาไว้ว่า ถิ่นสุดท้ายที่เราทำ ณ ศูนย์เรียนรู้ บนพื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน บ้านไร่ ‘ไฮ่ ฮัก เฮา’ (Hi Hug House) ณ ที่แห่งนี้ จะเกิดพลังกาย พลังใจ ปลูกฝังคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และก้าวเดินต่อไป พร้อมที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับผู้ที่ยังค้นหาตัวเองบนเส้นทางวิถีเกษตรแบบยั่งยืน”

หัวหน้าเกษตรบุญส่ง จอมดวง กับบทบาท “นักส่งเสริมการเกษตร” ให้ความรู้กับชาวบ้าน

เมื่อเราเป็นข้าราชการเกษตร หรือ “หัวหน้าเกษตร” ที่ชาวบ้านเรียกกัน ซึ่งเป็นคนต่างถิ่น จึงต้องหาที่ดินมีพื้นที่ทำเกษตรเป็นของตัวเอง เลยหาซื้อที่ดินไว้ 2 ไร่ 1 งาน ส่วนหนึ่งปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย อีกส่วนตั้งใจจะทำแปลงเกษตรทดลองเป็นตัวอย่าง จากที่เรามีความรู้เพียงแค่ในตำรา อบรมสอนชาวบ้านตามทฤษฎีในตำรา แล้วถอดตำรามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์บนพื้นที่จริงของตัวเอง ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง โดยยึดหลัก 3 อย่าง คือ “บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”

“บอกให้รู้” ในที่นี้หมายถึง บอกให้ชาวบ้านรู้ว่าทฤษฎีการทำนาทำอย่างไร การปลูกพืชไร่ พืชสวนเกษตรผสมผสานทำอย่างไร ปลูกพืชหลังนาแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้ผลทำอย่างไร เมื่อบอกชาวบ้านแล้วก็ต้องมาปฏิบัติ…

“ทำให้ดู” เป็นตัวอย่างบนพื้นที่แปลงเกษตรของตัวเอง ว่าเราบอกท่านแล้ว ก็กลับมาทำในพื้นที่ของตัวเองเช่นกัน ทำเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ผ่านการทดลองมาแล้ว และทำได้จริง จึงนำไปบอกท่านให้รู้

หัวหน้าเกษตรบุญส่ง จึงยกตัวอย่างทฤษฎีทดลองการทำนา โดยใช้พื้นที่ 1 งานเศษ ข้างๆ บ้านของตัวเอง เริ่มจากเตรียมแปลงนา โดยใช้รถไถพรวนดินเดิมๆ จากสภาพที่เสื่อมโทรม แล้วปั้นคันจนเป็นแปลงนา จากสภาพดินที่ไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านเรียกดินชนิดนี้ว่า “ดินก้ามแป้ง” หรือดินที่ไม่อุ้มน้ำนั่นเอง ไม่มีธาตุอินทรียวัตถุ

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ดินกลับมาฟื้นฟูสมบูรณ์ จึงทดลองปลูกข้าวไปก่อน ในครั้งแรก ปี 2557 โดยใช้ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ปีนั้นเก็บเกี่ยวข้าวได้ 13 ถัง ปีต่อมา ปีที่ 2 ปลูกใหม่ ได้ข้าว 15 ถัง ปีที่ 3 ได้ข้าว 19 ถัง และปีที่ 4 สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ถึง 21 ถัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี

เยาวชนตัวน้อยพร้อมลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกฝังสร้างพืชอาหารที่ทำให้เราเติบโต

แล้วหัวหน้าเกษตรบุญส่ง เขาทำอย่างไร ถึงได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี ก่อนปลูกข้าวเรารู้ปัญหาแล้วว่าสภาพดินเป็นเช่นไร เราควรจะเสริมอะไรเข้าไปในดิน (เบสิก) พื้นๆ คือ เราต้องใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้มีธาตุอาหาร เป็นหลักคิดเบื้องต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ในการแก้ปัญหาฟื้นฟูดิน ปีแรกเราอาจจะเห็นผลผลิตช้า แต่ความยั่งยืนจะส่งผลในระยะยาว ปีถัดๆ ไป…

การดำนาปลูกข้าวของหัวหน้าเกษตรบุญส่ง เริ่มต้นจากครอบครัวเล็กๆ สองสามีภรรยาคู่ใจ คุณ     ปรียารัตน์ จอมดวง พร้อมด้วยชาวบ้านจากพื้นที่ข้างเคียง ขอแรงมาช่วยกัน “ลงแขก” ดำนา เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมการลงแขกดำนา สร้างความสมัครสมานสามัคคีที่หาไม่มีอีกแล้วในชนบท

หัวหน้าเกษตรบุญส่ง และภรรยา คุณปรียารัตน์ จอมดวง กับฉากหลังการลงแขกดำนาโดยเพื่อนบ้านเรือนเคียง

เทคนิคตัดใบข้าว
เพื่อให้ “จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง”

เทคนิคอีกอย่างของหัวหน้าเกษตรบุญส่ง เมื่อลงแขกดำนาปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตชูใบไสว จึงใช้เทคนิควิธีตัดใบข้าว โดยใช้เครื่องตัดหญ้า เทคนิคที่ว่านี้เพื่อต้องการไม่ให้ข้าวเกิดโรค และที่สำคัญเป็นการตัดใบเพื่อให้ “จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง” ให้ส่องผ่านสู่ลำต้นข้าว ก็จะทำให้ต้นข้าวแข็งแรงเจริญเติบโตออกรวงงอกงามเพิ่มผลผลิตได้ดีขึ้นทุกๆ ปี

เมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าวหลังนา เราจะทำอย่างไรกับแปลงนา จึงไถกลบตอซังข้าว ปลูกพืชล้มลุก พืชหมุนเวียน ตระกูลถั่ว เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลิสง ฟักทอง เรียกว่าใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ไว้เก็บกิน แบ่งปันแจกจ่าย เหลือก็ขาย เป็นรายได้เสบียงกรัง เสร็จแล้วก็หว่านปอเทือง ทิ้งไว้ถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ก็ไถกลบ เป็นการหมักปุ๋ยพืชสดไปในตัว ก่อนที่ฝนจะมา ก็ได้เวลาลงแขกดำนาปลูกข้าวนาปีฤดูใหม่กันอีกรอบ นี่คือ หลักแนวคิดของการทำเกษตรแบบผสมผสานของข้าราชการอย่าง คุณบุญส่ง ที่ยึด 3 หลักแนวทาง คือ

“บอกให้รู้” เมื่อไปบอกบรรยายให้ชาวบ้านตามหลักทฤษฎี ในตำราที่เราได้ร่ำเรียนมาแล้ว เราก็ต้องกลับมา “ทำให้ดู” คือทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า เราทำจริงในแปลงจริงของเราเอง ส่วนชาวบ้านเกษตรกร จะทำตามหรือไม่ เราก็ทำให้ดูแล้ว ทำให้เห็นแล้ว

เมื่อข้าวตั้งตัวแข็งแรงให้ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันการเกิดโรคในต้นข้าว รากเน่า โคนเน่า

จากนั้นเราก็ “อยู่ให้เห็น” คืออาศัยอยู่ในพื้นที่ทำกิน กินนอนแบบชาวบ้าน อยู่อย่างพอเพียง ไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหราว่าเราเป็นข้าราชการในชุดเครื่องแบบจะต้องเหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป จึงอยากบอกให้รู้ไว้ว่า เราก็คือเกษตรกรติดดินเหมือนเช่นเดียวกับทุกๆ ท่าน

เป็นความภาคภูมิใจของหัวหน้าเกษตรบุญส่ง บนพื้นที่ 2 ไร่ กับอีก 1 งาน กับชื่อป้ายบ้านไร่ “ไฮ่ ฮัก เฮา” (Hi Hug House) หรือ “ไร่ รัก เรา” (เป็นภาษาคำเมืองภาคเหนือ) กับครอบครัวเล็กๆ 3 ชีวิต ที่แสนอบอุ่น ภรรยาและคุณแม่ที่ย้ายมาอยู่ด้วยกัน ณ พื้นที่แห่งนี้

และพร้อมที่จะรองรับเป็นศูนย์เรียนรู้ ในอุดมคติของข้าราชการเกษตรบุญส่ง ที่จัดสรรปันส่วนไว้อย่างลงตัวให้ได้ศึกษา จะมาเป็นครอบครัว หรือเป็นหมู่คณะ มีบ้านพักรับรองภายใต้ร่มเงาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามหลักปรัชญาป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงการปลูกป่า 5 ระดับ สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน และใต้ดิน บนข้อจำกัดพื้นที่อันน้อยนิดแต่สร้างความวิเศษเต็มเปี่ยมด้วยหัวใจเกษตร

น้องออร์แกน  ลงมือเกี่ยวข้าวจากพื้นที่จริง ได้ซึมซับถึงคุณค่ากว่าจะมาเป็นข้าวให้เราได้กินกัน

นอกจากมีป่า มีแปลงนา ปลูกข้าวไว้กินเองแล้ว ยังมีพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวในรูปแบบเกษตรผสมผสาน อาทิ พริกพื้นเมือง กล้วยไข่ประจำจังหวัดกำแพงเพชร ไผ่กิมซุง ปลูกเพียง 2 กอ เพื่อไว้กิน อีกทั้งมะเขือพวงพื้นบ้าน โหระพา กะเพรา ตะไคร้ บ่อปลาเล็กๆ เพื่อเลี้ยงปลาดุก กระชังเลี้ยงกบนา เป็นต้น เรียกว่ามีตลาดสดพืชผักอยู่รอบๆ โรงครัว ของบริเวณบ้าน เป็นการใช้สอยพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างครบวงจร และไม่ลืมที่จะแบ่งพื้นที่ไว้จัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อรับแขกที่แวะเวียนมาเยือนอีกด้วย

เรื่องของเกษตร เรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เช่นเดียวกับวิถีชีวิตคนเราเกิดมาเมื่อเรียนจบก็เข้าทำงาน ต้องเรียนรู้ในองค์กรที่เราทำงาน วิธีการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมในการทำงาน และการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน พอเราเริ่มมีลูกน้องก็ต้องเรียนรู้การเป็นผู้บังคับบัญชาที่จะใช้คนให้ถูกกับงาน

เช่นเดียวกับการทำเกษตร เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ กับปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้ได้ พบเจอกับโรคแมลงใหม่ๆ ในทุกสภาวะอากาศตลอดทั้งปี ทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว

ทิ้งท้ายด้วยคำคมของหัวหน้าเกษตรน้ำดี คุณบุญส่ง จอมดวง “ก่อนจะพัฒนาใครเขา เราต้องพัฒนาตัวเราเองก่อน” โดยยึด 3 หลักแนวคิด “บอกให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง…

ครอบครัวและลูกๆ หลานๆ ที่มาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ได้สัมผัสชีวิตจริงการดำนาปลูกข้าว

สอบถามข้อมูลข้าราชการเกษตรติดดิน ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านไร่ “ไฮ่ ฮัก เฮา” (Hi Hug House) คุณบุญส่ง จอมดวง เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรชำนาญงาน สำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 086-975-5842

จิตรกร บัวปลี ทีมข่าวเทคโนโลยีชาวบ้าน ลงพื้นที่พิสูจน์พืชอาหารกินได้ที่อยู่รายรอบตัว

……………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354