เห็ดถั่งเช่าเขาคิชฌกูฏ สารสำคัญสูง เพาะเลี้ยงและแปรรูปได้ พร้อมจำหน่ายแล้ว

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี นอกจากผลิตบุคลากรทางด้านการเกษตรออกมารับใช้สังคมแล้ว ยังมีผลงานวิจัยเยี่ยมยอดมากมาย ยกตัวอย่าง การนำผลสำรองมาแปรรูปพร้อมดื่ม มีคนรับเทคโนโลยีไปบรรจุกระป๋อง จำหน่ายดีมาก

กล้วยไม้เหลืองจันทบูร เดิมหายจากป่า ต่อมาวิทยาเขตจันทบุรีศึกษาการขยายพันธุ์ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้ต้นจำนวนมาก กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นที่มาของงานรักษ์เหลืองจันท์ฯ ซึ่งจัดติดต่อกันมานาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของภาคตะวันออก คนทั่วไปรู้จักแวะเวียนไปชมงานจำนวนมาก ผู้ที่ศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์กล้วยไม้เหลืองจันทบูร คือ ผศ.ดร. สาโรจน์ ประเสริฐศิริวัฒน์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านไบโอ-เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี

ดร. อรวดี อานามวัฒน์

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ของ ผศ.ดร. สาโรจน์ ที่เอกชนรับไปทำต่อคือ การเพาะและแปรรูปเห็ดถั่งเช่า ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า มีสารสำคัญ “คอร์ไดเซปิน” ในปริมาณสูง โดยพบว่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในท้องตลาด เอกชนที่รับมาทำต่อคือ ฟาร์มเห็ดเขาคิชฌกูฏ โดย ดร. อรวดี อานามวัฒน์ ตั้งอยู่ เลขที่ 9/22 หมู่ที่ 10 ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี 22210

เนื่องจากงานวิจัยและการรับช่วงมาผลิต อยู่ในพื้นที่ใกล้กับรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ เพื่อเป็นสิริมงคล ผู้ผลิตจึงตั้งชื่อว่า “ถั่งเช่าเขาคิชฌกูฏ”

 

ถั่งเช่าสีทอง…คุณค่ามากล้น

ถั่งเช่า เป็นเห็ดที่มีสรรพคุณทางยา ซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น เห็ดถั่งเช่าทิเบต ถั่งเช่าจักจั่น ถั่งเช่าหิมะ และถั่งเช่าสีทอง

เดิมทีมีการเก็บเห็ดถั่งเช่าจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ต่อมาจึงเกิดการเพาะเลี้ยงขึ้น สารสำคัญที่ได้จากเห็ด จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพันธุ์ การดูแลรักษา รวมทั้งการแปรรูป

เห็ดถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มเห็ดเขาคิชฌกูฏ เป็นเห็ดถั่งเช่าสีทอง

ในตัวเห็ดถั่งเช่าสีทอง มีสารสำคัญอยู่มากมาย สารสำคัญต่างๆ มีฤทธิ์แตกต่างกันไป เช่น เสริมสมรรถภาพให้กับร่างกาย ต้านการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน ชะลอความแก่ ป้องกันการเสื่อมสภาพของตับ ไต และปอด

ในเอกสารของฟาร์มเห็ดเขาคิชฌกูฏ บอกคุณค่าสำคัญของสารคอร์ไดเซปิน (cordycepin) ซึ่งพบมากในเห็ดถั่งเช่าสีทองไว้ดังนี้

“สารคอร์ไดเซปินในเห็ดถั่งเช่า มีฤทธิ์บำรุงไต เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดและการทำงานของเม็ดเลือดขาว เพิ่มเมตาบอลิซึ่ม (metabolism) หรือการเผาผลาญ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่าย ฟื้นตัวเร็ว ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความชรา ช่วยเพิ่มพลังให้กระชุ่มกระชวย และปรับความสมดุลทางร่างกายของสุภาพสตรี”

 

งานวิจัยเด่น ได้รับการเผยแพร่สู่วงกว้าง

อาจารย์สมควร อานามวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการวิทยาเขตจันทบุรี เล่าว่า งานวิจัยของวิทยาเขตจันทบุรีถูกนำมาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง เรื่องของเห็ดถั่งเช่าก็เช่นกัน ดร. อรวดี อานามวัฒน์ ได้รับงานวิจัยจาก ผศ.ดร. สาโรจน์ ประเสริฐศิริวัฒน์ มาผลิตจริงจัง

จากขวาไปซ้าย ผศ. เสวก พงษ์สำราญ อดีตรองอธิการบดี มทร. ตะวันออก อาจารย์สมควร อานามวัฒน์ และอาจารย์เอมอร อานามวัฒน์

“เกษียณมา 13 ปีแล้ว อยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สิ่งใดรับใช้สังคมได้ก็จะทำ มาเพาะเห็ดด้วยความคิดที่ว่าคนเราต้องมีสุขภาพดี การจะมีสุขภาพที่ดีได้ต้องมีการจัดการ มีการบริโภคอาหารที่ดี การป้องกันตนเอง รักษาสุขภาพที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ทำให้คิดถึงการป่วย บางครั้งไม่มียารักษา ยานั้นมีผลข้างเคียง มาคิดถึงประเด็นนี้ มาใช้สมุนไพรเป็นทางเลือก ที่จะช่วยให้ปัญหาเช่นนี้สามารถแก้ไขได้ ก็เลยมาเพาะเห็ดถั่งเช่า เดิมเคยอยู่ที่วิทยาเขตจันทบุรี สถาบันมีศักยภาพ งานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ มีอาจารย์ ดร. สาโรจน์ เก่งทางด้านนี้ ท่านมีผลงานเพาะขยายกล้วยไม้เหลืองจันทบูร ได้ต้นจำนวนมาก ปล่อยคืนสู่ป่า เป็นการอนุรักษ์พืชพื้นบ้าน จึงขอให้ท่านช่วยเรื่องการเพาะเลี้ยงเห็ด โดยเฉพาะเห็ดถั่งเช่าที่มีผลดีต่อสุขภาพ เป็นเห็ดสำคัญช่วยป้องกันและรักษาโรคบางอย่างที่บางครั้งรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันไม่ได้ อย่างเรื่องของตับ ไต เห็ดถั่งเช่าสนับสนุนให้ตับ ไต ทำงานดี ทำให้เลือดหมุนเวียนดี เป็นเรื่องป้องกันและส่งเสริม”

อาจารย์สมควร เล่าและบอกต่ออีกว่า

“เรารับเทคโนโลยีมา มหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของชุมชน มหาวิทยาลัยวิจัยอยู่ 3 ปี ถึงจะได้เห็ดมีคุณภาพที่มีสารสำคัญสูง ทำให้เห็ดที่เพาะโดยฟาร์มเห็ดเขาคิชฌกูฏมีคุณภาพดี สารสำคัญคอร์ไดเซปินสูง ที่พบซึ่งตรวจโดยสถาบันอาหารที่มีชื่อเสียง พบ 6,000-7,000 พีพีเอ็ม…กิจการมีลูกสาวประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ ให้เข้าถึงวิชาการ ทำให้รู้ว่าเห็ดมีคุณภาพมีกระบวนการอย่างไร เพาะสำเร็จแล้ว เห็ดเป็นอาหารและยา มีแปรรูปเอาไปเป็นอาหารเสริม เมื่อก่อนวิทยาเขตจันทบุรีทำน้ำสำรองได้ผล ก็ทดลองนำเห็ดไปใส่ในน้ำสำรอง”

 

เพาะเลี้ยงในห้องปลอดเชื้อ

งานวิจัยการเพาะเห็ดถั่งเช่าสีทอง เริ่มเมื่อปี 2554 ใช้เวลา 3 ปี จึงประสบความสำเร็จ

ดร. อรวดี อานามวัฒน์ ลูกสาวของอาจารย์สมควร คือผู้ดูแลฟาร์มเห็ดและประสานงานทุกอย่าง

วันที่เข้าไปเยี่ยมชมงานเพาะเห็ด ดร. อรวดี ติดงานที่กรุงเทพฯ ผู้พาเยี่ยมชมคือ อาจารย์สมควร

แผนผังการผลิตเห็ดถั่งเช่า

งานเพาะเห็ดถั่งเช่าของฟาร์มแห่งนี้ เพาะในห้องที่ปรับอุณหภูมิ และอยู่ในสภาพปลอดเชื้อ ดังนั้น เวลาเข้าไปชมต้องสวมเสื้อของฟาร์มทับอีกทีหนึ่ง สวมหมวก พร้อมทั้งเปลี่ยนรองเท้า

ทุกขั้นตอนการผลิตปลอดเชื้อ

ทางฟาร์มเห็ดแนะนำขั้นตอนการเพาะเห็ดถั่งเช่า โดยเริ่มจากเตรียมอาหารเห็ดในขวด โดยที่อาหารหลักๆ คือธัญพืชจำพวกข้าวโพด ลูกเดือย เมื่อเตรียมเสร็จแล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ในหม้อนึ่งความดันไอ 15 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว ความร้อน 121 องศาเซลเซียส นาน 20 นาที

จากนั้นเขี่ยเชื้อเห็ดถั่งเช่าลงในขวด

แล้วย้ายสู่ห้องบ่ม

เชื้อเห็ดเริ่มเดิน

ช่วงอยู่ในห้องบ่มนี้ ใช้ผ้าสีดำคลุมขวดเห็ดให้อยู่ในความมืด เป็นเวลา 1 เดือน อุณหภูมิ 15-20 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงให้ขวดที่มีเชื้อเห็ดได้รับแสงอีก 40 วัน อุณหภูมิช่วงนี้ 25 องศาเซลเซียส

ในห้องบ่ม

ช่วงที่ขวดเชื้อเห็ดอยู่ในความมืด เชื้อเห็ดมีสีขาว เมื่อถูกแสง 2-3 วัน จึงเริ่มเป็นสีเหลือง จนกระทั่งเป็นสีเหลืองทองในที่สุด

รวมระยะเวลา ตั้งแต่เริ่มเขี่ยเชื้อจนนำมาใช้ประโยชน์ได้ ใช้เวลา 70 วัน

เห็ดถั่งเช่า พร้อมเก็บได้

เมื่อมีผลผลิตเห็ดแล้ว ทางฟาร์มนำมาอบและบด ซึ่งก็ทำในห้องที่ปลอดเชื้อเช่นกัน

ทางฟาร์มบอกว่า เห็ดน้ำหนัก 30 กิโลกรัม อบและบดแล้วจะเหลือน้ำหนักแห้ง 10 กิโลกรัม

ความละเอียดของเห็ดที่บดใกล้เคียงกับแป้ง คือ 250-260 เมช (mesh)

 

มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายแล้ว

ดร. อรวดี อานามวัฒน์ บอกว่า เดิมทำงานเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล จากนั้นมาทำฟาร์มเห็ด เพราะเห็นว่าน่าสนใจ

“ผลิตภัณฑ์ของฟาร์ม มีการแปรรูปได้มาตรฐาน ตอนนี้ได้ อย. แล้ว” ดร. อรวดี บอก

ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปขณะนี้มี ผงเห็ด ขนาดบรรจุ 50 กรัม จำหน่าย 1,300 บาท ขนาด 100 กรัม จำหน่าย 2,500 บาท

ผลิตภัณฑ์ของฟาร์ม

เห็ดถั่งเช่าผสมกาแฟ 10 ซอง จำหน่าย 250 บาท

เห็ดแคปซูล แบบเข้มข้น 10 เม็ด จำหน่าย 400 บาท

เห็ดแคปซูล แบบปกติ 10 เม็ด จำหน่าย 300 บาท

ผงเห็ดถั่งเช่า เมื่อชงในน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส จะละลายน้ำดี เพราะบดละเอียดมากถึง 250 เมช ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้สนใจงานเพาะเลี้ยง หรือซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อทางฟาร์มได้ตามที่อยู่ และโทรศัพท์ (039) 309-109, (085) 441-8687 คุณป้อม (086) 539-5899 คุณแป๋ว หรือที่ www.cordy-khaokhitchakut.com