หนุ่มสถาปนิก สวมบทบาทเป็นเกษตรกรวันหยุด ปลูกสวนผสมผสาน สร้างรายได้ สร้างความสุขไม่เคยขาด

อาชีพเกษตรกรรม นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ค่อนข้างจะมีอิสระสูง ที่ไม่ว่าใครหากสนใจและมีความพยายามก็สามารถที่จะเป็นเกษตรกรได้ โดยที่ไม่ต้องแบ่งแยกการศึกษา ทุกคนสามารถเป็นได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหากเริ่มนับช่วงหลายปีหลังที่ผ่านมานี้ วงการเกษตรไทยถือเป็นอาชีพที่ผู้คนทุกแวดวงให้ความสนใจ จนกระทั่งยอมที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเป็นเกษตรกร หรือแม้กระทั่งมนุษย์เงินเดือนก็เต็มใจที่จะสะละเวลาอันมีค่าช่วงวันหยุดเพื่อที่จะมาเป็นเกษตรกร ด้วยเหตุผลและเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป

คุณวิสุทธิ์ อินทร์กลั่น อยู่บ้านเลขที่ 169 หมู่ที่ 2 ตำบลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ หนุ่มสถาปนิก ผู้ที่ชื่นชอบและสนใจในงานด้านการเกษตรเป็นชีวิตจิตใจ เขาพยายามใช้เวลาว่างที่มีอยู่อันน้อยนิดทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อที่จะได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก นั่นก็คือ ความฝันที่อยากจะมีสวนปลูกผักไว้กินเอง ในบริเวณพื้นที่ข้างบ้าน จนถึงปัจจุบันนี้เขาได้ทำความฝันของเขาให้เป็นจริงแล้ว มาดูกันว่าก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จ จะต้องเจอกับอุปสรรคอะไรมาบ้าง

คุณวิสุทธิ์ อินทร์กลั่น

คุณวิสุทธิ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรว่า ปัจจุบันตนประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกออกแบบคอนโดฯ อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่มีใจรักในการปลูกพืชปลูกผัก คลุกคลีกับดินกับทรายมาตั้งแต่สมัยเด็ก และมีการวางแผนอนาคตไว้ว่าจะทำอย่างไร ที่จะไม่ต้องให้พ่อออกไปทำงานรับจ้างข้างนอก จึงได้ลองศึกษาหาแนวทางในอินเตอร์เน็ตว่าจะพอมีอะไรให้พ่อได้ทำงานอยู่ที่บ้านได้บ้าง กระทั่งได้ไปพบกับข้อมูลทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดความสนใจ จึงได้ใช้เวลาศึกษารวบรวมความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจากอินเตอร์เน็ตเพื่อมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพ่อนำไปประยุกต์ใช้ทำสวนผสมผสานที่บ้าน จึงเป็นที่มาของสวนผสมลุงวอนถึงทุกวันนี้

เจ้าของสวนลุงวอนตัวจริง คุณพ่อและคุณแม่

ใช้ความรู้ด้านสถาปนิกจัดสรรพื้นที่
เพื่อสร้างจุดเด่นภายในสวน

เจ้าของบอกว่า ช่วงแรกตนและพ่อมีความคิดที่จะทำเกษตรเพียงเพื่อลดค่าจ่ายภายในครอบครัวก่อน แต่เมื่อเริ่มลงมือทำ และศึกษาลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็ได้เกิดไอเดียที่จะปรับพื้นที่บริเวณบ้านที่มีอยู่เกือบ 1 ไร่ มาปลูกผักไว้กินเองหน้าบ้าน บนพื้นที่เพียง 100 ตารางเมตร จากนั้นเริ่มมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกมะนาว ปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์เพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 20 วง และเริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ปลูกผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ทั้งปลา กบ และเขียด จนเต็มพื้นที่ 3 งานกว่าๆ ที่มีอยู่ ด้วยการนำความรู้ด้านสถาปนิกเข้ามาช่วยในการออกแบบจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ก็สามารถจัดสรรพื้นที่การทำเกษตรผสมผสานรอบบ้านได้อย่างลงตัว ดังนี้

  1. แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย และใช้พื้นที่ข้างบ้านเลี้ยงไก่ไข่ ปลูกมะเขือแซมไว้ที่ข้างๆ เล้าไก่
  2. พื้นที่งานที่ 2 จะเป็นในส่วนของการปลูกมะนาว ปลูกข้าว ปลูกพืชผักสวนครัวอีกเล็กๆ น้อยๆ ในวงบ่อซีเมนต์

    ปลูกพืชผักในวงบ่อซีเมนต์
  3. พื้นที่งานที่ 3 งานสุดท้าย จะจัดไว้บริเวณใกล้บ่อน้ำ เพราะที่สวนจะขุดบ่อน้ำให้อยู่กลางสวน แล้วปลูกผักไว้รอบๆ บ่อจำนวนครึ่งงาน ปลูกผลไม้ กล้วย อ้อย มะเขือ และไม้ประดับอีกครึ่งงาน โดยใช้หลักการเลี้ยงสัตว์น้ำไว้ตรงกลางของพื้นที่ เมื่อถึงเวลาถ่ายน้ำก็จะใช้น้ำตรงนี้มารดพืชผัก รดต้นไม้ได้เลย
เลี้ยงกบเลี้ยงเขียด

ซึ่งการที่ได้นำความรู้ด้านสถาปนิกเข้ามาช่วยตรงนี้ ส่งผลให้สวนลุงวอนมีจุดเด่นที่นอกจากจะสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ทุกตารางเมตรแล้ว ยังมีเรื่องของความสวยงามน่ามองเข้ามาเกี่ยวด้วย พิสูจน์ได้จากคนในพื้นที่ที่มักจะชอบเข้ามาขอชมที่สวน และชมว่าสวนสวยเป็นระเบียบ

 

แนะเทคนิคเป็นเกษตรกรวันหยุดอย่างไร
ให้ประสบความสำเร็จ แบบไม่เบียดเบียนงานประจำ

หากจะถามถึงเทคนิคการแบ่งเวลา รวมถึงการทำเกษตรอย่างไรให้ประสบผลสำเร็จ คุณวิสุทธิ์ แนะนำว่า ต้องทำให้กิจกรรมนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวให้ได้ แต่ไม่จำเป็นว่างานเกษตรต้องกลายมาเป็นงานสร้างรายได้หลัก แต่ต้องทำให้งานเกษตรเป็นงานที่รัก เป็นอะไรที่ขาดไปไม่ได้

“ยกตัวอย่าง ตนเองตอนนี้ก็จะใช้เวลาว่างแค่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ เดินทางกลับบ้านมาทำ ซึ่งความสม่ำเสมอก็ไม่มีอยู่แล้ว แต่ต้องคิดว่าในเมื่อเรายังไม่สามารถลงมาทำได้เต็มตัว ก็ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในครอบครัวทำ  ที่อย่างน้อยปลูกขายยังไม่ได้ ก็ยังสามารถปลูกไว้กินเองเพื่อลดรายจ่ายไปก่อน และงานที่เรารักก็สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยการที่รู้จักวางแผน แต่ในขณะเดียวกันคนถ่ายทอดทฤษฎีก็จำเป็นต้องมีความรู้ในด้านการปฏิบัติด้วย อย่างผมกับพ่อก็จะเริ่มต้นลองผิดลองถูกมาด้วยกัน จนมีองค์ความรู้ในระดับหนึ่ง”

แปลงปลูกผักต้นทุนต่ำ

ซึ่งผลงานที่เป็นที่น่าพอใจสำหรับเกษตรกรวันหยุดอย่างตน ก็จะเป็นในเรื่องของการผสมดินไว้ใช้เองในสวน และยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงด้วยสูตรผสมดินปลูกง่ายๆ ในอัตรา 1:1:1 ขี้วัว 1 ส่วน เศษหญ้า 1 ส่วน เศษฝาง 1 ส่วน แล้วนำมาหมักกันเป็นชั้นๆ ตามสูตรของวิศวกรรมแม่โจ้ หมักทิ้งไว้เพียง 2 เดือน หมั่นรดน้ำทุกวันก็สามารถนำไปใส่ในสวนพืชผักผลไม้ รวมถึง  ไม้ประดับได้แล้ว

ยกให้ กวางตุ้ง เป็นผักปลูกง่าย ดูแลง่าย
ได้ราคาดี เป็นอันดับต้นๆ ในสวน

คุณวิสุทธิ์ บอกว่า ตนยกให้ กว้างตุ้ง เป็นผักที่ชื่นชอบที่สุด เพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย แมลงไม่ค่อยรบกวน สร้างรายได้ดี และที่สวนสามารถกำหนดราคาขายได้เอง ในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 15-20 บาท ซึ่งสาเหตุที่สามารถกำหนดราคาได้เองส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตที่ปลอดสาร รวมถึงรูปทรงที่อวบ น่ากิน รสชาติหวาน กรอบ เป็นเอกลักษณ์

เทคนิคการปลูกกวางตุ้ง ให้ได้เก็บผลผลิตไว ใช้เวลาเพียง 28-30 วัน สามารถเก็บขายได้

ขั้นตอนการเตรียมดิน ส่วนผสมจะมีดินหมักจากมูลสัตว์และใบไม้ผสมกับดินบางส่วน จากนั้นขึ้นรูปแปลง แล้วนำฟางข้าว หรือเศษหญ้าที่ตัดภายในสวนมาคลุมดินทิ้งไว้ ประมาณ 1 สัปดาห์ จนดินที่ผสมหมักกันไว้ไม่มีความร้อน ถึงจะนำเบี้ยผักที่เพาะไว้มาลงแปลงปลูกได้

ระยะห่างในการปลูก ประมาณ 1 คืบ

ระบบน้ำ ใช้สายยางรดน้ำทุกเช้า รดแค่พอให้ชุ่ม

การบำรุงดูแล ใช้กากน้ำตาล และจุลินทรีย์มาเป็นหัวเชื้อผสมกับน้ำเปล่า ใส่ฝักบัวรด สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และเพิ่มเติมด้วยน้ำหมักรสจืด ใช้สำหรับเร่งการเจริญเติบโตของพืชใบด้วยสูตรดังนี้

สามารถใช้กับผักชนิดใดก็ได้ที่มีรสจืด เช่น เศษผักบุ้งที่เหลือจากการลิดใบ หรือจะเป็นใบหม่อนก็ได้ จากนั้นใช้กากน้ำตาล และน้ำตาลทรายแดง ปริมาณ 1 กิโลกรัม เทผสมลงไปในน้ำเปล่าพอท่วม หมักทิ้งไว้ 1 เดือน ก็สามารถนำมาใช้บำรุงพืชใบให้ออกมาสวยงาม โตเร็ว 28-30 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ถือว่าไวมากเมื่อเทียบกับสวนอื่นที่ต้องใช้เวลานานกว่านี้อีกหลายวัน

ปริมาณผลผลิต ในแต่ละรอบการปลูก 1 แปลง ขนาดความกว้าง 1×2 เมตร จะได้ผลผลิตเฉลี่ยที่ประมาณ 10 กิโลกรัม

รายได้ ปลูกกว้างตุ้ง 1 แปลง ขนาดพื้นที่ 1×2 เมตร รายได้เฉลี่ยประมาณ 400-500 บาท ต่อแปลง 1 รอบการปลูก ใน 1 เดือน หากนับเฉพาะรายได้จากการขายผักอย่างเดียว ได้ประมาณ 3,000-4,000 บาท ยังไม่รวมกับมะเขือ ที่เก็บเป็นรายสัปดาห์ คิดเป็นรายได้รวมพื้นที่ทั้งหมด 3 งาน สามารถสร้างรายได้ประมาณ 7,000-8,000 บาท ต่อเดือน นับเป็นรายได้เสริมที่สร้างเงินดีไม่น้อย และเป็นการช่วยลดค่าจ่ายในครอบครัว จากที่เมื่อก่อนเคยซื้อกับข้าว ซื้อผัก รายจ่ายส่วนตรงนี้ก็ลดลง เมื่อรายจ่ายน้อยลง พืชผักที่ปลูกไว้เหลือกินก็นำไปขายสร้างรายได้ต่อได้ กลายเป็นการสร้างรายได้ อย่างเรามีเงินเดือน แต่พ่อกับแม่ไม่มีเงินเดือน ท่านก็มีรายได้ตรงนี้เข้ามาเพิ่ม มาเก็บไว้ซื้ออุปกรณ์หรือทำอะไรที่ท่านอยากทำได้

ไอเดียปลูกผักมีหลากหลาย

ฝากถึงเกษตรกร

“แต่ก่อนผมก็เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ เพียง 100 ตารางวา ในการทำเกษตร ก็คือ อยากจะแนะนำพี่ๆ น้องๆ ที่อยากทำว่า ให้ลงมือทำเลย เพราะว่าการที่เราศึกษาเยอะแล้วเราไม่ลงมือทำ คอยแต่จะอ้างว่าไม่มีเวลาบ้าง ไม่มีที่บ้าง ไม่มีแหล่งน้ำบ้าง ก็จะไม่ได้ทำสักที อย่างผมตอนเริ่มทำครั้งแรกพื้นที่ก็ไม่มาก แหล่งน้ำก็ไม่มี รวมถึงข้อจำกัดเรื่องเวลาการทำงาน เพราะมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ ผมยังทำได้เลย เพราะฉะนั้นใครอยากทำอะไร ให้เริ่มลงมือทำเลย ระหว่างทางอาจเจอปัญหาบ้าง ก็ให้ค่อยๆ แก้ไปทีละปัญหา แล้วทุกอย่างจะผ่านไปได้อย่างผมทุกวันนี้” คุณวิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจแวะเข้าชมสวนผสมลุงวอน ติดต่อที่ เบอร์โทร. 089-011-6092

สวนสวยงามเป็นระเบียบ

แปลงปลูกผักต้นทุนต่ำ                                                                                                                                                                                                                                                                                    เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2563