อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกแรง ได้ตื่นเต้น ได้สนุกสนาน กับสวนวัยเกษียณ

เดือนกันยายนผ่านมาแล้วก็ผ่านไปทุกๆ ปี แต่สำหรับข้าราชการน้อยใหญ่ในเมืองไทย ทุกคนรู้กันดีว่าสิ่งที่จะไปพร้อมๆ กับการสิ้นสุดของเดือนกันยายนก็คือ ข้าราชการที่อายุถึง 60 ปี ต้องลาจากภาระการงานด้วยการเกษียณ ไม่ว่าตำแหน่งจะเล็กใหญ่ หน้าที่การงานจะสำคัญเพียงใด คำว่า “เกษียณ” ก็รอคอยข้าราชการและผู้ที่ทำงานให้รัฐทุกท่านอยู่ แต่ชีวิตหลังเกษียณจะดำเนินไปอย่างไรก็แล้วแต่การวางแผนและการปรับตัวของผู้เกษียณแต่ละท่าน

บทความชิ้นนี้จึงขอนำเสนอชีวิตหลังเกษียณของอดีตข้าราชการที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก รับใช้ประเทศและคนไทยมาทั่วทิศ

ตามไปดูว่าชีวิตหลังเกษียณของท่านจะเป็นอย่างไร

 

จุดเริ่มต้นกับ 38 ปีของชีวิตข้าราชการ

พาท่านมารู้จักกับ คุณสุพจน์ เที่ยงน้อย ข้าราชการบำนาญของกระทรวงมหาดไทย อดีตข้าราชการที่บุกเบิกงานในชนบทมาหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

คุณสุพจน์เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “หลังจากผมเรียนจบจากก่อสร้างอุเทนถวาย (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตภาคตะวันตก อุเทนถวาย) และวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ) ผมก็สอบบรรจุได้และเริ่มต้นรับราชการตั้งแต่อายุ 22 ปี ในตำแหน่งนายช่างโยธา ที่ศูนย์ประจวบคีรีขันธ์ กรมเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย จากจุดเริ่มในวันนั้นผมก็ได้ทำงานมาหลายตำแหน่งหลายพื้นที่ อย่างงานสนองพระราชดำริก็เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการพระราชประสงค์ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปบุกเบิกวางแผนสร้างถนนหนทางในช่วงปี พ.ศ.2521 ตั้งแต่ยังไม่มีถนน ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์ของ ตชด.เข้าไปในพื้นที่ เป็นอีกตำแหน่งที่ผมยังจำได้ดี”

 

ลุยทำงานมาแล้วทั่วประเทศ

คุณสุพจน์เล่าต่อไปว่า “ชีวิตข้าราชการของผมค่อนข้างโลดโผน ได้ออกไปลุยอยู่ตามจังหวัดห่างไกลมามากมายหลายพื้นที่และหลายตำแหน่ง เพราะสมัยก่อนข้าราชการยังมีน้อย ข้าราชการหนุ่มๆ ที่ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดผู้ใหญ่ เส้นสายไม่มีก็มักจะได้ออกไปลุยไปคลุกฝุ่นแถวภูธร ผมเคยรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโยธาพร้อมกับตำแหน่งหัวหน้าโครงการก่อสร้างทาง เพื่อความมั่นคงของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จังหวัดกาญจนบุรี ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคงกองทัพภาคที่ 3 เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโยธาที่พิษณุโลก หรือใต้สุดอย่างจังหวัดนราธิวาสผมก็ไปอยู่มาแล้ว

“หลังจากนั้นหาเวลาว่างไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วไปรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายควบคุมการก่อสร้างและซ่อมบำรุง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และลำพูน เคยดำรงตำแหน่งเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดนครสวรรค์ (รพช.จังหวัด) หลังจากยุบ รพช.ก็โอนย้ายมาประจำที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำพูนและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงสึนามิได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดก่อสร้างบ้านชั่วคราว และร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิภาคใต้ของไทย

ลำไยที่ให้ผลผลิตเป็นปีแรกต้องห่อผลกันค้างคาว

“เมื่ออายุมากขึ้นผมก็ขยับไปทำงานบริหาร มีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานฝึกอบรม (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคใต้ และกลับมารับตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ ที่จุดเริ่มต้นที่ผมเข้ารับราชการคือที่ ศูนย์ฯ ปภ.เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ (เดิมคือศูนย์ รพช.ประจวบคีรีขันธ์) ในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานฝึกอบรม (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) รับผิดชอบ 6 จังหวัดภาคตะวันตกและภาคกลาง และเกษียณมาเป็นข้าราชการบำนาญเมื่อปี 2554 สิ่งที่ข้าราชการตัวเล็กๆ อย่างผมภูมิใจคือ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นข้าราชการดีเด่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปี 2549 และได้รับพระราชทานเครื่องราชชั้นสายสะพายประถมาภรณ์มงกุฎไทยอีกด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจของผมและครอบครัวข้าราชการอย่างเรา” คุณสุพจน์เล่าถึงประสบการณ์อย่างออกรส

 

เกษตรกรเต็มตัว

คุณสุพจน์และภรรยาคือ คุณบุบผา เที่ยงน้อย เล่าว่า ก่อนจะเกษียณได้วางแผนมานานแล้วว่าอยากจะทำไร่ ทำสวน มีชีวิตสงบๆ อยู่ที่บ้าน จึงเริ่มเตรียมการมาก่อนหน้านี้

“ผมซื้อที่ดินใกล้บ้านเอาไว้ประมาณ 2 ไร่ แล้วปลูกไม้ผลหลายอย่างรวมกันไว้ เน้นที่มะม่วงซึ่งมีหลายพันธุ์ มะพร้าว กล้วย ลำไย มีที่ว่างตรงไหน ผมก็ซื้อต้นไม้ผลมาลงไว้ ทำมา 10 กว่าปีก่อนเกษียณ แต่ก็ไม่เคยได้ดูแลเพราะผมย้ายไปประจำที่ไหนก็เอาครอบครัวไปด้วย ช่วงนั้นยังประจำอยู่ที่อื่น ไม่ได้ย้ายกลับมาที่นี่ ก็ปล่อยให้เทวดาเลี้ยงต้นไม้พวกนี้ไปก่อน มาลงมือกับสวนนี้อย่างจริงจังก็ตอนหลังจากเกษียณนี่เอง”

มะม่วงที่ปลูกเอาไว้หลายพันธุ์

ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ คุณสุพจน์ปลูกมะม่วงไว้หลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์มหาชนก มะม่วงอกร่องพันธุ์เพชรพิรุณ มะม่วงแก้ว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีบ่อปลาเล็กๆ อีก 1 บ่อด้วย

 

ได้ออกแรง

คุณสุพจน์เล่าว่า “มีแรงงานหลักอยู่ 2 คนเพราะลูกชาย ลูกสาวทำงานต่างกันที่ต่างจังหวัด เมื่อมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว สิ่งแรกที่เรา 2 คน ตายายต้องทำก็คือ ออกแรง เรื่องแรกคือผมต้องมาออกแรงถากถาง ฟันป่าวัชพืชที่ขึ้นคลุมเต็มพื้นที่ แม้ว่าสวนจะมีพื้นที่แค่ 2 ไร่ แต่ปล่อยร้างมานานมีวัชพืชเต็มไปหมดทั้งพวกหญ้าและไม้ยืนต้น ผมกับแม่บ้านเลยต้องมาออกแรงจัดการวัชพืชกันทุกวันโดยที่ไม่จ้างคนงานมาทำ ต้องช่วยกันทำเกือบ 2 อาทิตย์ จึงปราบพวกวัชพืชยืนต้นได้หมด”

คุณสุพจน์บอกว่า เขาพยายามทำงานทุกอย่างในสวนเอง จะไม่จ้างคนงานมาทำนอกจากบางเรื่อง เช่น ฉีดฮอร์โมนมะม่วงที่ต้องจ้างมืออาชีพมาทำ

“ผมกับแม่บ้านพยายามทำเองทุกอย่าง เพราะคิดว่านี่คือการได้ออกแรง ได้ออกกำลังกันทั้งวัน โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินไปเข้าฟิตเนสที่ไหน เหงื่อท่วมกันทั้งวัน”

 

ได้ตื่นเต้น ได้สนุกสนาน

การทำสวนได้สร้างความตื่นเต้นและความสนุกสนานให้เกษตรกรมือใหม่ทั้ง 2 คน

“ไม้ผลที่เราปลูกไว้มีหลายอย่าง อย่างมะม่วงก็ต้องดูแลอย่างหนึ่ง ครบเวลาก็ต้องตัดแต่ง ใส่ปุ๋ย ราดสารบังคับให้ออกนอกฤดู พอออกลูกก็ต้องคอยมาห่อ ดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนลำไยที่ปลูกไว้หลายต้น แต่เหลือรอดแค่ 5 ต้น ก็ทำให้เราตื่นเต้นไม่น้อยกว่ามะม่วง เมื่อปลูกแล้วมันไม่มีลูก เพราะอากาศไม่หนาวพอ ผมก็ไปหาซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตมาราด บังคับให้ลำไยออกลูก แต่เพราะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่ค่อยมีการปลูกลำไย ไม่มีสารตัวนี้ขาย ผมจึงต้องดั้นด้นไปซื้อที่อื่น ครั้งแรกผมไปหาซื้อที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ดันจำชื่อสารผิดไปซื้อสารไทโอยูเรียมาก็ใช้ไม่ได้ ตัดสินใจลองใหม่ คราวนี้ไปหาซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตไกลถึงราชบุรี ที่ตื่นเต้นก็คือ เราอุตส่าห์ไปหาซื้อสารมา ราดสารไปแล้ว ลำไยของเราจะออกดอกไหม ราดสารไปแล้วลำไยของเราจะติดลูกเหมือนคำแนะนำทางวิชาการหรือเปล่า ตรงนี้ทำให้เราตื่นเต้นกันมาก”

คุณสุพจน์ คุณบุบผา เที่ยงน้อย ในวันที่เป็นเกษตรกรเต็มตัวกับลำไยลูกสวยและหลานชายดช.ธรรศอังกูร

นอกจากความตื่นเต้นแล้ว อาชีพเกษตรยังทำให้เกษตรกรมือใหม่ทั้ง 2 คนสนุกจนลืมความเหงาไปได้

“เวลาที่มะม่วงหรือลำไยออกลูก มักจะมีค้างคาวหรือแมลงมากวนจนลูกร่วง เราก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรกันดี สุดท้ายก็ไปซื้อถุงมาห่อผลมะม่วง ไปเอาตาข่ายมาเย็บเป็นถุงครอบช่อลำไยเอาไว้ ทั้งหมดเราคิดกันเอง ทำกันเองก็สนุกไปอีกแบบ ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันลุ้นว่ามันจะใช้ได้ผลหรือเปล่า”

 

ผลผลิตได้กิน ได้แจกจ่าย ได้ขาย

คุณสุพจน์บอกว่า การที่เกษตรกรมือใหม่ทั้ง 2 คน สามารถทำให้สวนแห่งนี้มีผลผลิตออกมาได้ ก็เพราะสวนแห่งนี้มีพื้นที่น้อยแค่เพียง 2 ไร่ จึงง่ายต่อการดูแลรักษา หากพื้นที่มากกว่านี้ 2 คน ตายายคงจะทำไม่ไหว ส่วนผลผลิตที่ได้จากสวนแห่งนี้ คุณสุพจน์บอกว่า

“จากพื้นที่ 2 ไร่ เรามีผลไม้กินทั้งปี ทั้งมะม่วง มะพร้าว ละมุด ชมพู่ ผลผลิตทั้งหมด เราเก็บเอาไว้ให้ลูกหลานได้กินกัน นอกจากนั้นก็จ่ายแจกให้กับญาติพี่น้อง บ้านใกล้เรือนเคียง หากยังเหลือเราก็ขาย อย่างมะม่วงมหาชนกนี่ขายดีมาก มีแม่ค้ามารับซื้อทุกปี มะม่วงแก้วก็ขายได้ มะพร้าวน้ำหอมก็ขายได้

“เราคิดทำสวนเพื่อให้ลืมความเหงา ทำสวนเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งมันก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เรื่องเงินจากการขายผลผลิตเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่สวนนี้ทำให้ใจ-กายเรามีความสุข คิดแค่นี้ก็พอแล้ว”

ผลผลิตมะม่วงมหาชนกจากสวนของคุณสุพจน์

นี่คือตัวอย่างการทำสวนของวัยเกษียณที่ไม่ได้มุ่งในเรื่องการทำกำไร แต่เน้นในเรื่องการสร้างสุขภาพกาย สุขภาพใจเป็นหลัก ใครที่เกษียณแล้วจะจำไปใช้ นำไปลองทำบ้างคงจะดี แต่คนที่ยังไม่ใกล้เกษียณจะเก็บเรื่องนี้เอาไว้พิจารณาบ้างก็ไม่ว่ากัน

 

เทคนิคการทำมะม่วงและลำไยนอกฤดู

สำหรับการดูแลมะม่วงและลำไยเพื่อให้มีผลผลิตนอกฤดูนั้น คุณสุพจน์และคุณบุบผาเล่าว่า

“วิธีการต่างๆ เราอ่านมาจากเอกสารคำแนะนำของทางราชการ ผสมกับวิธีแบบชาวบ้านในพื้นที่ที่นิยมทำกัน สรุปได้ว่า การผลิตมะม่วงนอกฤดูนั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้ก็คือ หลังจากเก็บมะม่วงในฤดูเสร็จเดือนเมษายนจะตัดแต่งกิ่ง เตรียมต้น เตรียมใบ โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ราดสารแพคโคฯ แล้วปล่อยไว้ 45 วัน ในช่วงนี้ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ หลัง 45 วันจะทำการดึงดอกโดยใช้ไทโอยูเรียฉีดพ่น ถ้าโชคไม่ดีเจอฝนช่วงนั้น ดอกออกไม่เยอะก็ต้องรอเปิดตาดอกอีกครั้ง 20 วัน หลังจากนี้เมื่อมะม่วงผลใหญ่ขนาดไข่ไก่จะต้องห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทองที่จะมาวางไข่ ส่วนสารเคมีกันรา กันแมลง เราจะพยายามไม่ใช้ผลผลิต ได้แค่ไหนเราก็เอาเท่านั้น”

ในส่วนขั้นตอนการทำลำไยนอกฤดู คุณสุพจน์บอกว่า “เราจะราดสารประมาณเดือนมิถุนายน โดยเลือกต้นที่สมบูรณ์และใบแก่เต็มที่กำจัดวัชพืชในทรงพุ่มแล้วหว่านสารโพแทสเซียมคลอเรต 100-120 กรัมต่อเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร รดน้ำให้ชื้นทุกวัน 3-5 วัน ให้น้ำเล็กน้อยเมื่อออกดอกและเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้นตามลำดับ เมื่อติดผลใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เมื่อผลใหญ่ประมาณหัวแม่มือควรมีการตัดแต่งช่อผลก่อนจะคลุมด้วยถุงตาข่ายป้องกันค้างคาว ผลผลิตลำไยจะเริ่มเก็บเกี่ยวประมาณ 22 สัปดาห์หลังติดผล หลังจากนั้นประมาณเดือนมีนาคมจะตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวโดยตัดกิ่งกลาง กิ่งแห้งตายหรือโรค แมลงทำลายแล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10-20 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยเคมี 15-15-15 อีก 1-2 กิโลกรัมต่อต้น”