เรียนรู้เรื่อง “ไผ่อุตสาหกรรมทางเลือกใหม่” กับศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค

สวัสดีครับ พบกับผม ธนากร เที่ยงน้อย อีกครั้ง กูรูหลายวงการชี้เปรี้ยงตรงกันว่าหลังการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 วิถีชีวิตคนทั้งโลกจะเปลี่ยนไปไม่มียกเว้นแม้แต่พี่ไทยแลนด์แดนสยาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้หลายท่านต้องเปลี่ยนงานหรือบางท่านอาจจะตกงาน รายได้หดหายกันทั่วหน้า ดังนั้น ฉบับนี้ผมจึงอาสาหาเรื่องดีๆ มานำเสนอให้ท่านผู้อ่านที่สนใจกำลังมองหาอาชีพใหม่ อาชีพเสริมสร้างรายได้ ตามผมไปที่กาญจนบุรีกันเลยครับ

ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

ไผ่มีดีมากกว่าที่เรารู้จัก

หากพูดถึงไผ่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นพืชธรรมดาที่พบเห็นกันได้ทั่วไป แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าไผ่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 90 สกุล และ 1,000 ชนิด เฉพาะในประเทศไทย กรมป่าไม้รายงานโดยอ้างอิงจากสราวุธและคณะ ว่ามีไผ่จำนวน 80-100 ชนิด (species) สำนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รายงานว่า ไผ่มีความสำคัญต่อวิถีของชุมชนในแง่ของพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งความหลากหลายของไผ่ในแต่ละพื้นที่นอกจากจะผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติแล้วยังต้องผ่านการคัดเลือกโดยสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของชุมชนด้วย ทำให้ไผ่บางชนิดมีปริมาณที่น้อยลงหรือสูญหายไป จึงนับได้ว่าไผ่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ-สังคมต่อคนไทยในชนบท ทั้งในแง่ของอาหาร เพราะหน่อไผ่เป็นแหล่งอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการ เช่น เหล็กและสังกะสี เป็นต้น การใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยการจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ และสร้างที่อยู่อาศัย เป็นต้น การสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวในระดับท้องถิ่นจากจำหน่ายส่วนต่างๆ ของไผ่ก่อให้เกิดการสร้างงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บหาลำไผ่ การผลิตแปรรูปไม้ไผ่ และการขนส่งเครื่องแปรรูปต่างๆ พัฒนาเป็นสินค้าส่งออก ทำรายได้ให้แก่ประเทศ จนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรยกให้ “ไผ่” เป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) สำหรับบางพื้นที่ในประเทศไทย เนื่องจากไผ่มีคุณประโยชน์เพื่อบริโภคและใช้สอยอย่างหลากหลาย

คุณณัฐพล เทศนานัย หัวหน้ากองพัฒนาชนบท 1 สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน

“ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค” มุ่งพัฒนาคุณภาพสังคมด้วยการเกษตร

ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นศูนย์หนึ่งในหลายๆ ศูนย์ทั่วประเทศไทยของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนหรือที่หลายคนรู้จักในนาม พีดีเอ (PDA) สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นหน่วยงานเอกชนที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การวางแผนครอบครัวการสาธารณสุขมูลฐาน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์ การส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาศักยภาพของสตรีและเด็ก การสนับสนุนทุนการศึกษาทุกระดับ การพัฒนาแหล่งน้ำดื่ม-น้ำใช้และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ และการกระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบทเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนในชนบท ลดการย้ายถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวและองค์กรชุมชน ผ่านศูนย์พัฒนาประชากรสาขา รวมทั้งศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ จากผลงานเป็นที่ปรากฏชัดเจนทำให้สมาคมเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ นอกจากงานพัฒนาชนบทที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ได้ตระเวนไปพบปะและร่วมพัฒนากับชาวบ้านแล้ว ภายในศูนย์เองยังได้จัดให้เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ด้านการเกษตรอีกด้วย คุณณัฐพล เทศนานัย หัวหน้ากองพัฒนาชนบท 1 สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ผู้สร้างแปลงเรียนรู้เรื่องไผ่ของศูนย์ เล่าว่า “ภายในพื้นที่ของศูนย์ 155 ไร่ เราได้จัดสร้างเป็นแปลงเกษตรตัวอย่างสำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้ามาศึกษา เราได้จัดสร้างแปลงรวบรวมพันธุ์พืช อย่างมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ แปลงส้มโอ แปลงมะขามเปรี้ยวฝักยักษ์ และที่สำคัญคือเรามีแปลงรวบรวมพันธุ์ไผ่สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ร่วมกันกับศูนย์ เพราะเราเห็นถึงคุณค่าของไผ่ที่มีประโยชน์มากในชีวิตประจำวันของคนในชนบท เรารวบรวมพันธุ์ไผ่ไว้มากมายจนเป็นที่รู้จักของเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้และซื้อพันธุ์ไปจากเรา พันธุ์ไผ่ที่ศูนย์ปลูกไว้เป็นไผ่ที่ใช้เพื่อทำอาหารประมาณ 50 สายพันธุ์ และพันธุ์ไผ่ที่ใช้ในการก่อสร้างอีกเกือบ 50 สายพันธุ์ โดยรวมศูนย์มีพันธุ์ไผ่ปลูกเอาไว้เกือบ 100 สายพันธุ์ เช่น ไผ่เพื่ออาหารพันธุ์กิมซุง ไผ่หวาน ไผ่สำหรับก่อสร้าง เช่น ไผ่ซางหม่น ไผ่นวลราชินี ไผ่ตง ไผ่มันหมู”

ไผ่สายพันธุ์ต่างๆ ในแปลงรวบรวมของศูนย์

อบรมไผ่อุตสาหกรรม พืชทางเลือกใหม่ รวมผู้เชี่ยวชาญด้านไผ่

คุณณัฐพล ให้ข้อมูลว่า “ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยคจะเปิดอบรมในหลักสูตร ไผ่อุตสาหกรรมพืชทางเลือกใหม่ รุ่นที่ 1 ในระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2563 นี้ จุดเด่นของหลักสูตรการฝึกอบรมนี้หวังให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจว่าไผ่เป็นพืชทางเลือกสำหรับเกษตรกร การปลูกไผ่จะสามารถลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาทำไผ่เชิงการค้ามากขึ้น เพราะไผ่มีราคาดีพอสมควรสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ การอบรมครั้งนี้จะเน้นการให้ความรู้ว่าไผ่สายพันธุ์ใดเหมาะกับพื้นที่ปลูกแบบไหน นอกจากนั้น การอบรมครั้งนี้จะเน้นการให้ความรู้ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง เช่น การทำไบโอชาร์เพื่อใช้ปรับปรุงดินการแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การแปรรูปไผ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ การใช้ไผ่ในงานก่อสร้างแบบต่างๆ โดยจะมีวิทยากรที่เป็นมืออาชีพด้านไผ่ของประเทศไทย อย่างเช่น รองศาสตราจารย์ธัญพิสิษฐ์ พวงจิก ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประธานชมรมคนรักไผ่ จะมาให้ความรู้ด้านพันธุ์และความหลากหลายของไผ่ ตัวแทนจากบริษัท กอมังดี จำกัด บริษัทที่เน้นงานการออกแบบและตกแต่งภายใน และผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และเจ้าของ “ไร่ไผ่ดาวทอง” เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญการปลูกไผ่และผลิตเห็ดเยื่อไผ่ในแปลงปลูกไผ่”

คุณเจษฎา เตี่ยวย่อง หัวหน้าศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค

หวังให้เกษตรกรไทยเข้าใจเรื่องไผ่มากขึ้น

คุณณัฐพล ให้ข้อมูลต่ออีกว่า “การอบรมครั้งนี้เรามุ่งหวังให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจมาเข้าร่วมอบรมได้ความรู้ทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับไผ่ ทั้งเรื่องของพันธุ์ สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม การขยายพันธุ์ไผ่ ประโยชน์ของไผ่ในด้านต่างๆ ที่เรายังไม่รู้ ทั้งด้านการก่อสร้าง การแปรรูป การใช้พื้นที่ในสวนไผ่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด การตลาดของไผ่ ปลูกแล้วขายใคร ขายที่ไหน ราคาเป็นอย่างไร ดังนั้น หลักสูตรการอบรม ไผ่อุตสาหกรรมพืชทางเลือกใหม่ รุ่นที่ 1 ในระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2563 นี้จะเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ จะเป็นการอบรมที่ผู้เข้าร่วมอบรมได้รู้จริง เห็นจริง และได้ลงมือปฏิบัติจริงในแปลงรวบรวมพันธุ์ไผ่ของศูนย์ ผมจึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ คนที่สนใจไผ่ คนที่มองหาช่องทางสร้างอาชีพจากไผ่มาร่วมอบรมกับเราในครั้งนี้ครับ”

บรรยากาศในศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค

ที่พักและอาหารพร้อมต้อนรับ

ในส่วนของที่พักและความสะดวกสำหรับผู้เข้าร่วมอบรม คุณเจษฎา เตี่ยวย่อง หัวหน้าศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค กล่าวว่า “ศูนย์ของเราทำในเรื่องของที่พักในบรรยากาศรีสอร์ตท่ามกลางธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมการอบรม ไผ่อุตสาหกรรมพืชทางเลือกใหม่ จะได้พักในที่พักของเราที่บรรยากาศร่มรื่น ในช่วงเดือนธันวาคมอากาศที่ศูนย์กำลังเย็นสบาย มีอาหารบริการเพียบพร้อม ได้ความรู้เรื่องไผ่ ได้ลงมือปฏิบัติเรื่องไผ่ แล้วยังได้มาพักผ่อนในบรรยากาศดีๆ ในศูนย์ของเรา ถือเป็นกำไรหลายต่อสำหรับผู้ที่จะมาอบรม นอกจากนั้น ศูนย์ของเรายังมีพันธุ์ไผ่หลายสายพันธุ์เอาไว้จำหน่ายให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำกลับไปทดลองปลูก และยังมีพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ อีกหลากหลายให้เลือกซื้อ ใครสนใจรีบติดต่อสมัครกันเข้ามาได้เพราะเรารับสมัครจำนวนจำกัดครับ”

ใครสนใจอยากสอบถาม พูดคุยหรือสมัครเข้าร่วมอบรมไผ่อุตสาหกรรมพืชทางเลือกใหม่ ติดต่อกันไปได้ที่โทร. (081) 941-4903 ครับ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

 

เอกสารอ้างอิง

http://forprod.forest.go.th/forprod/techtransfer/document/.pdf

https://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/300

http://www.oae.go.th/view/1/TH-TH