“แก้วมังกรอบแห้ง” โอท็อปดัง เมืองแพร่ ปลูกดูแลง่าย ขายดี ถูกใจคนรักสุขภาพ

แก้วมังกร (Dragon fruit) ไม้ผลรสอร่อย มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกากลาง เข้ามาในประเทศเวียดนามและแพร่หลายในประเทศไทย แก้วมังกร จัดอยู่ในวงศ์ Cactaceae เป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นกระบองเพชรหรือตะบองเพชร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hyloceveusundatus (Haw) Britt. Rose

ความมหัศจรรย์ของเจ้าแก้วมังกรก็คือ ไม่มีใบ แต่มีดอกออกผล เนื้อแก้วมังกรมีสารชนิดหนึ่งชื่อ มิวซิเอจ (Muciage) เป็นสารที่ช่วยดูดซับน้ำตาลกลูโคส ช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ต้องการลดน้ำหนัก มีสรรพคุณทางยาช่วยบรรเทาอาการโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น

แก้วมังกรปลูกไม่ยาก ปลูกไม่ถึงปีก็ได้ผลผลิต ใช้พื้นที่ก็น้อย ดูแลง่าย ขยายพันธุ์ง่าย ปลูกเชิงการค้า สร้างรายได้ดี ต้นทุนต่ำ ลงทุนเพียงครั้งเดียว เก็บผลผลิตได้นาน 15-20 ปี ถ้าดูแลจัดการดี จังหวัดแพร่ เป็นแหล่งหนึ่งที่มีการปลูกแก้วมังกรกันอย่างแพร่หลายในอำเภอเมืองแพร่ หนองม่วงไข่ เด่นชัย วังชิ้น และอำเภอลอง โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นับเป็นต้นแบบของการปลูกแก้วมังกรแบบแปลงใหญ่

พื้นที่ตำบลบ้านถิ่น ผลิตแก้วมังกรผลสดและแปรรูปส่งขายในประเทศและส่งออก สร้างรายได้ก้อนโตเข้าสู่จังหวัดในแต่ละปี มีการพัฒนาต่อยอด เป็นสินค้าหลักภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดเมืองต้นแบบสุขภาวะผู้สูงวัย เนื่องจากแก้วมังกรเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ที่กลุ่มผู้รักสุขภาพนิยมรับประทานสด เพราะมีรสหวาน เส้นใยมาก และแคลอรีต่ำ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เกิดขึ้นจากเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายในรูปแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรสมาชิก 94 ราย พื้นที่รวม 840 ไร่ ส่วนใหญ่ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) แล้ว เมื่อต้นปี 2561 พัฒนาเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการอบรมให้ความรู้ไปแล้วหลายเรื่อง ได้แก่ ความรู้ด้านกายภาพของแก้วมังกร โรคและแมลง การเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ การผลิตสารชีวภัณฑ์ (ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย สมุนไพร และฮอร์โมนไข่) สนับสนุนวัสดุการผลิตสารชีวภัณฑ์และสารกับดักแมลง

ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น นับเป็นต้นแบบการผลิตแก้วมังกรระบบเกษตรอินทรีย์ มีการบริหารจัดการกลุ่มด้วยระบบที่เข้มแข็ง ทั้งด้านการบริหารเงินทุน การเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาการผลิตของเกษตรกรจากหน่วยงานภาครัฐ การช่วยเหลือกิจกรรมของกลุ่มร่วมกัน

ต้นแก้วมังกรจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 2 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 15,600-18,000 บาท ต่อไร่ เกษตรกรมีรายได้จากการผลิต 26,000-36,000 บาท ต่อไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 10,400-18,000 บาท ต่อไร่  มีช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม

ผลผลิตของทางกลุ่ม จะมีพ่อค้ามารับซื้อในพื้นที่ ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 13-18 บาท ต่อกิโลกรัม ผลผลิตส่วนใหญ่ขายในรูปผลสด โดยร้อยละ 55 ขายส่งตลาดในประเทศ ได้แก่ ตลาดไทยเจริญ จังหวัดพิษณุโลก ตลาดภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี ตลาดภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ร้อยละ 25 จำหน่ายผลสดในตลาดต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ส่วนร้อยละ 5 ขายปลีกให้ผู้บริโภคในชุมชน และร้อยละ 15 นำไปแปรรูปเป็นแก้วมังกรอบแห้งจำหน่ายให้แก่ บริษัท คันนาโกรเซอรีส์ จำกัด และบริษัท นานาฟรุ๊ตแอนด์ฟู้ดส์ โปรดักส์ เชียงใหม่

การปลูกแก้วมังกร  

คุณบันเทิง ถิ่นฐาน กำนันตำบลบ้านถิ่น และเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น เป็นหนึ่งในแปลงต้นแบบแก้วมังกรระบบเกษตรอินทรีย์ โดยตั้งอยู่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ (081) 951-0680 เดิมทีกำนันเคยปลูกมะม่วงมาก่อน แต่เนื่องจากมะม่วงมีปัญหาด้านโรคและแมลง ต้องลงทุนห่อผล ใช้เวลาและแรงงานก็มาก จึงหันมาทดลองปลูกแก้วมังกร เนื่องจากมีแรงจูงใจคือ แก้วมังกรปลูกดูแลง่าย ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน ผลผลิตไม่ต้องห่อ

กำนันบันเทิงเริ่มปลูกแก้วมังกรเมื่อปี 2547 จำนวน 200 ต้น โดยนำกิ่งพันธุ์มาจากบ้านห้วยม้า อำเภอเมืองแพร่ หลังปรับสภาพดินแล้วขุดหลุม นำเสาปูนขนาด 4 นิ้ว สูง 2 เมตร ลงต้นแก้วมังกร 1 ต้น ต่อ 1 เสาปูน เท่านั้น ปลูกระยะห่าง 2×3 เมตร ด้านบนนำเหล็กเส้นมาเสียบบนปลายเสาและใช้ยางนอกรถจักรยานยนต์วางไว้ มัดติดกับเสาเหล็ก เป็นอันเสร็จสิ้น เพียงแต่รอวันที่แก้วมังกรจะเจริญเติบโต

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การปลูกแก้วมังกรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กำนันบันเทิง พบว่า หากปลูกแก้วมังกรในพื้นที่ดินลูกรัง เนื้อดินโปร่ง น้ำไม่ขัง มีธาตุเหล็กอยู่ ต้นแก้วมังกรจะมีการเจริญเติบโตที่ดี  กำนันบันเทิง ปลูกแก้วมังกร 2 สายพันธุ์ คือ แก้วมังกรเนื้อสีแดง เป็นพันธุ์แดงสยาม กลีบเลี้ยงบนผลจะถี่ เป็นพันธุ์ของเวียดนาม และพันธุ์กลีบบัว กลีบเลี้ยงจะห่างเป็นพันธุ์จากไต้หวัน ต่างกันที่กลีบเลี้ยงบนผล กับอีกสายพันธุ์เป็นเนื้อสีขาวจากเวียดนาม แต่ที่สวนแห่งนี้จะปลูกแก้วมังกรเนื้อสีแดงเป็นส่วนใหญ่

เทคนิคการตัดแต่งกิ่งแก้วมังกรเป็นหัวใจหลัก

การดูแลแก้วมังกรทำได้ไม่ยาก หลังเก็บผลผลิตรุ่นสุดท้ายหมดแล้ว จากจำนวน 6 รุ่น ราวๆ เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ก็จะทำการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นแก้วมังกรมีการออกดอกให้ผลดีมีคุณภาพ

กำนันบันเทิง ตัดแต่งกิ่งต้นแก้วมังกรที่มีอายุเกิน 2 ปีขึ้นไป โดยตัดแต่งกิ่งทุกปี แต่จะยึดหลักตัดแต่งกิ่งที่ 50% ตัดห่างจากโคนกิ่ง เลือกดูกิ่งที่มีมดเข้าทำลาย กิ่งที่ทับซ้อน กิ่งที่มีสีเทาเหลือง กิ่งด้านล่าง โดยจะเน้นการฟันจากด้านล่างย้อนขึ้นบน เพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ต้องพิจารณาด้วยตัวเองว่ากิ่งใดเหมาะสมหรือควรจะตัดทิ้ง บางปีก็จะมีการสับราก เพื่อให้แก้วมังกรแตกรากฝอยใหม่

หลังการตัดแต่งกิ่งแล้ว ตัดหญ้ารอบๆ โคนต้นให้โล่งเตียน จากนั้นใส่ปุ๋ยหมัก (ที่ใช้วัตถุดิบจำพวกแกลบ ซังข้าวโพด มูลวัว มูลไก่ ที่มีในท้องถิ่น และใช้ พด.1 เป็นจุลินทรีย์ช่วยเร่งให้เกิดปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ) ใส่อัตราต้นละ 1 ถัง และฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ (ผลิตจากผลไม้และแก้วมังกร) อัตรา 1 แก้ว ต่อน้ำ 200 ลิตร จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยหมักและฉีดพ่นอีกครั้ง ช่วงเตรียมการออกดอก  นับเวลาตั้งแต่ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยหมักแล้ว เวลาล่วงไป 6 เดือน แก้วมังกรก็จะเริ่มออกดอกในเดือนพฤษภาคม

การให้น้ำ

สระที่ขุดขึ้นเอง และหากน้ำไม่พอใช้ก็จะสูบน้ำขึ้นมาจากสระแก้มลิงของหมู่บ้าน ซึ่งสร้างขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกับประปาภูเขา มีการทดน้ำมาเป็นทอดๆ ระยะทาง 3 กิโลเมตร

โรคและแมลง

สวนแห่งนี้จะใช้สารชีวภัณฑ์ในการดูแลป้องกันโรคและแมลงที่มารบกวนคือ ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) กำจัดเชื้อโรคที่สำคัญคือ ราสนิม และใช้บิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) กำจัดแมลง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

การเก็บผลผลิตแก้วมังกร กำนันบันเทิง จะเริ่มตัดผลที่มีสีแดงเสียก่อน เริ่มเก็บผลมาตั้งแต่กรกฎาคม ผลผลิตจะทยอยออกมาเรื่อยๆ รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 6 เป็นเวลา 5 เดือน เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน จะเก็บผลผลิตได้มากที่สุด ทางกลุ่มมีการคัดขนาดผลแก้วมังกร มีการใช้เทคโนโลยีเครื่องคัดขนาดของผลตามน้ำหนัก และมีห้องเย็นเก็บรักษาผลสด เก็บไว้ได้นาน หากได้ราคาที่ต่ำกว่ากำหนดก็จะเก็บไว้ในห้องเย็น

ลักษณะเด่นของแก้วมังกรบ้านถิ่น

กำนันบันเทิง บอกว่า แก้วมังกรบ้านถิ่น มีจุดเด่นคือ รสชาติหวาน เนื้อนิ่ม เปลือกบาง ถ้านำไปขายในท้องถิ่นหรือในตัวเมืองแพร่ ผู้ซื้อจะยอมรับหากแก้วมังกรนั้นนำมาจากบ้านถิ่น เพราะมีชื่อเสียงทางด้านชีวภาพอยู่แล้ว ที่ผ่านมา มีพ่อค้าแม่ค้าจากหลายแห่งเข้ามาซื้อถึงบ้านถิ่น โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิต ทั้งจากตลาดในจังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ อุดรธานี สุรินทร์ และส่งไกลไปถึง สปป.ลาว

การแปรรูปแก้วมังกร

ในปี 2559 เกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกแก้วมังกรกันมากขึ้น ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่นจึงสนใจแปรรูปผลผลิตสดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยไปศึกษาดูงานเรื่องการอบแห้งที่จังหวัดลำพูน โดยสั่งซื้อตู้อบมา 5 ตู้ ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เลย แต่ได้ตัวแทนขายมาให้คำแนะนำ จนประสบความสำเร็จในการแปรรูปแก้วมังกรอบแห้ง

การแปรรูปผลสดจะใช้เฉพาะแก้วมังกรเนื้อสีแดงเท่านั้น เพราะแก้วมังกรเนื้อสีแดง พันธุ์แดงสยาม เมื่อแปรรูปอบแห้งแล้ว เนื้อจะสวย นุ่ม มีรสหวาน กลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนแก้วมังกรเนื้อสีขาวจะออกรสเปรี้ยวนิดๆ และมีสีขุ่น ไม่สวย การแปรรูปอบแห้งจะดำเนินการทุกวัน วันละ 1 รอบ เท่านั้น เดินเครื่องตู้อบทั้ง 5 ตู้ ต้องใช้เวลาทั้งไล่ความชื้นและเข้าตู้อบถึง 8 ชั่วโมง แต่ละวันใช้แก้วมังกรผลสด 400 กิโลกรัม เมื่อครบเวลาอบแห้งจะเหลือเนื้อเพียง 35 กิโลกรัม เท่านั้น

สำหรับขั้นตอนการแปรรูปนั้น หลังจากได้แก้วมังกรผลสดมาแล้ว จะนำมาปอกเปลือก ฝานเนื้อเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปเรียงบนตะแกรง เข้าตู้อบ ใช้พลังงานความร้อนจากอินฟราเรด เมื่อครบกำหนดเวลาก็จะบรรจุใส่ถุงพลาสติก 3 ขนาด ตามน้ำหนัก คือ 150 กรัม จำหน่ายถุงละ 200 บาท ขนาด 70 กรัม ถุงละ 100 บาท และขนาด 50 กรัม ถุงละ 50 บาท

ปัจจุบัน ทางกลุ่มสามารถพัฒนาตลาดแก้วมังกรได้อย่างเข้มแข็ง สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง โดยตั้งราคาตามต้นทุนทั้งปลีกและส่ง เจาะหาตลาดจนมีผู้ซื้อที่ชัดเจน รวมทั้งทาง Online และ Offline ภายใต้แบรนด์ Bantin กลายเป็นสินค้าโอท็อปที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่น และได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ ทำให้ชุมชนบ้านถิ่นได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมไทลื้อของภาคเหนือตอนบน 2 (แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย)