ต้นลาน ต้นลูกฆ่าแม่ พืชตระกูลปาล์ม ลูกกินได้ ต้นใช้ทำครก ใบใช้มุงหลังคา

ปัจจุบัน เมืองไทยมีอาณาจักรต้นลาน อยู่ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่นี่มีต้นลานขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จัดเป็นป่าลานในธรรมชาติผืนเดียวและผืนสุดท้ายของประเทศ

อุทยานแห่งชาติทับลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือ มีเนื้อที่ประมาณ 1,397,375ไร่ หรือ 2,235 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย วังน้ำเขียว ครบุรี เสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลาน ซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้ง หุบผา หน้าผา น้ำตก

ในอดีตป่าลานที่อุดมสมบูรณ์มีขึ้นอยู่กระจายทั่วๆ ไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมามีการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม จึงทำให้ป่าลานถูกบุกรุกทำลายลงไปมาก จนปัจจุบันคงเหลือป่าลานแห่งสุดท้าย คือ บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จังหวัดปราจีนบุรี

การตรวจสอบสภาพป่าลานเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2517 ของ นายประดิษฐ์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ สมัยนั้น พบว่ามีป่าลานขนาดใหญ่ แต่ก็เริ่มมีการบุกรุกป่า ทำให้ประชากรของลานลดลง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าลานไว้ จึงได้จัดตั้งป่าลานพื้นที่ 36,250 ไร่ หรือ 58 ตารางกิโลเมตร เป็นวนาอุทยาน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518

ป่ารอบๆ วนอุทยานทับลานมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับเป็นต้นน้ำสำคัญของประเทศ จึงได้มีการผนวกป่ารอบๆ วนอุทยาน พร้อมกับยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2523 ด้วยเหตุนี้เอง ป่าลานจึงได้รับความคุ้มครอง และอยู่รอดมาให้ผู้คนได้ศึกษาเรียนรู้จนถึงปัจจุบัน

ลาน พืชตระกูลปาล์ม

ลาน เป็นไม้วงศ์ปาล์ม ญาติของลานที่คุ้นเคยกันดีก็มีมะพร้าว หวาย ตาลโตนด ตาว จาก ทั้งนี้ ต้นลานจัดอยู่ในกลุ่มของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีถิ่นมีกำเนิดอยู่ในอเมริกาและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยส่วนใหญ่แล้วต้นลานมักจะขึ้นที่ที่มีอากาศชื้นเย็นและมีฝนตกมาก มีความทนทานต่อภัยธรรมชาติได้ดี ต้นเล็กแม้ว่าจะถูกไฟไม้แต่ก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เนื่องจากมีรากที่ลึกมาก

ลานในโลกนี้มี 6 ชนิด แต่พบในเมืองไทย 3 ชนิด ได้แก่

ลานพรุ…มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha utan Lam. มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงฟิลิปปินส์ และรวมไปถึงทางตอนเหนือของออสเตรเลียและประเทศไทย พบมากในแถบภาคใต้แถวๆ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่และพังงา ปาล์มชนิดนี้มักขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่ชุ่มน้ำ มีลักษณะของลำต้นที่สูงคล้ายกับต้นตาล โดยมีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดของลำต้นไม่รวมกาบใบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40-60 เซนติเมตร และมักขึ้นรวมกันเป็นจำนวนมากในที่ราบท้องทุ่ง แม้ในบริเวณที่มีน้ำขัง

ลานป่า หรือ ลานทุ่ง…มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha lecomtei Beec. สามารถพบได้ในประเทศไทยและเวียดนาม จัดเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของไทย โดยพบได้มากที่ปราจีนบุรี ขอนแก่น และสระบุรี และยังพบได้ทั่วไปในจังหวัดลพบุรี ตาก นครปฐม และพิษณุโลก และต้นลานป่านี้จะมีขนาดใหญ่ไม่เท่าลานวัด โดยมีความสูงประมาณ 15 เมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นไม่รวบกาบใบประมาณ 45-75 เซนติเมตร

ลานวัด…มีชื่ออื่นๆ อีกคือ ลานบ้าน และลานหมื่นเถิดเทิง…มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Corypha umbraculifera เป็นปาล์มชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกาและอินเดีย และยังเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกาอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยจะไม่พบตามธรรมชาติ แต่มักมีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ปลูกไว้ในบริเวณวัด เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง

การใช้ประโยชน์จากต้นลาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น รวมทั้งสัตว์ป่านานาชนิด เมื่อมีการอนุรักษ์ต้นลาน ไม้ชนิดอื่นก็พลอยอยู่รอดปลอดภัย เมื่อมีต้นไม้ สายน้ำสำคัญ อย่างแม่น้ำมูลที่ไหลไปยังพื้นที่อีสานและแม่น้ำบางปะกง ที่ไหลผ่านภาคตะวันออก จึงมีหลักประกันว่า ยังคงจะมีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนไปอีกนาน

หากใครใช้ถนนจากกบินทร์บุรีไปนครราชสีมา ช่วงอำเภอนาดี จะพบเห็นต้นลานขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ไม่เว้นท้องไร่ทุ่งนาของชาวบ้าน บางช่วงเห็นดอกบานไสว ด้วยเหตุนี้กระมัง นักจัดสวนได้นำลานลงปลูกตามรีสอร์ต รวมทั้งสถานที่ราชการ ทรงต้นและลีลาใบของลาน สวยไม่น้อยไปกว่าปาล์มประดับชนิดอื่น แต่ใครที่สนใจปลูกต้องมีพื้นที่ให้เขาได้แผ่ใบ เพราะใบมีขนาดใหญ่ เคยวัดกันได้กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร

ช่วงที่ประชากรของต้นลานมีมากๆ เขาใช้ประโยชน์จากต้นลานเช่นกัน เริ่มจากตัดต้นมาทำเป็นที่นั่งเล่นแทนเก้าอี้ เศษเหลือก็ใช้ทำเชื้อเพลิง ใครมีฝีมือหน่อยก็ทำครก สาก ต้นอ่อนใช้เลี้ยงด้วง

ใบลาน ในสมัยโบราณ นิยมใช้จารึกตัวอักษรเพื่อบันทึกคำสอนของพุทธศาสนา เขาใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานจากนั้นใช้ยางรักทา ยางรักจะแทรกอยู่ในตัวหนังสือ ทำให้มองเป็นสีดำ สามารถอ่านเป็นตัวหนังสือได้ ถึงแม้จะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีการเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ใบลานแก่ ใช้มุงหลังคา ก้านใบยังพบว่า มีการนำมาทำพื้นกระท่อมและฝาผนัง สำหรับที่อยู่อาศัยได้ดี

กระดูกลาน คือส่วนที่อยู่ใกล้กับบริเวณหนามแหลม มีความแข็งและเหนียวมากกว่าก้านใบ นำมาทำคันกลดพระธุดงค์ รวมทั้งทำขอบตะกร้า ขอบกระด้ง และทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ท้องถิ่นภาคใต้ นำยอดลานพรุมาฉีกเป็นใบ แล้วสางออกเป็นเส้นๆ ปั่นเป็นเส้นยาวคล้ายกับด้าย จากนั้นนำไปใช้ทอเป็นแผ่น เรียกกันว่า “ห่งอวน” หรือ “หางอวน” สำหรับต่อปลายอวน ใช้เป็นถุงจับกุ้ง สานถุงใส่เกลือ ซองใส่ยาฉุน ซองแว่นตา และอื่นๆ

ลักษณะพฤกษศาสตร์

ดอกของลาน ออกเป็นช่อใหญ่คล้ายรูปพีระมิดตรงส่วนยอดของลำต้น มีความยาวประมาณ 6 เมตร ก้านชูช่อดอกสั้นหรือไม่มี ส่วนแกนช่อดอกยาวประมาณ 6 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 35 เซนติเมตร โดยแกนช่อดอกจะมีถึง 30 ก้าน แขนงของก้านช่อดอกย่อยมีถึง 40 ก้าน ในแต่ละก้านจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร ในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกลานอยู่เป็นจำนวนมากเป็นล้านๆ ดอก โดยดอกจะมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม นับตั้งแต่เมื่อเริ่มออกช่อดอกและบานกลายเป็นผลสำหรับกิน ใช้เวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป

ผลลาน มีลักษณะกลมรี สีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำ ส่วนเนื้อในของผลจะคล้ายกับลูกจากหรือลูกชิด สามารถนำมากินได้ ผลลานหากยังอ่อนอยู่เนื้อมีน้อย ส่วนใหญ่จะมีน้ำในผล ขณะเดียวกันหากแก่เกินไปเนื้อก็จะแข็ง ผลลานจะทะยอยแก่ตั้งแต่โคนช่อดอกไปยังปลายช่อดอก

ในต่างจังหวัด มักนำผลลานมากินเป็นผลไม้ จะให้ความรู้สึกเหมือนกินเนื้อมะพร้าวอ่อน ลูกจาก และตาว แต่ต้องระวัง หากกินมาก เนื้อของผลจะไปขยายในท้อง ทำให้อึดอัดและอาจจะอาเจียนได้  ในทางยา เปลือกลานใช้เป็นยาระบาย ใบลานเผาไฟใช้เป็นยาดับพิษ แก้อักเสบ รากใช้ฝนแก้ร้อน ขับเหงื่อ

วงจรชีวิตของลาน มีอายุตั้งแต่ 20-80 ปี หมายถึงตั้งแต่เมล็ดงอกจนกระทั่งออกดอกและติดผล หลังติดผล ต้นลานก็จะตาย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันว่า “ลานลูกฆ่าแม่”

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีประชากรของต้นลานขึ้นอยู่จำนวนมาก โดยธรรมชาติ เมื่อลานออกดอก ติดผล เมื่อผลแก่ก็จะร่วงลงดิน กระจายไปรอบๆ ต้น ยามใดที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม เมล็ดก็จะงอกต้นใหม่ขึ้นมา ปริมาณการงอกและเติบโตเป็นต้นใหญ่ของลานมีไม่มากนัก ลองคิดดูผลลานมีมากกว่าล้านผลใน 1 ต้น หากเปอร์เซ็นต์การงอกและอยู่ได้ของต้นสูง คงเห็นต้นลานมากกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่า เป็นต้นไม้ที่ลูกฆ่าแม่ แต่ก็เป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ถึงแม้ต้นแม่จะตาย แต่ก็ตายเพื่อเกิด คือให้ลูกได้เกิดและเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่นั่นเอง

 

วันพฤหัสที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564