ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เกาะช้าง สร้างไอเดียเพื่อเกษตรกรพึ่งตัวเอง ทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกทุเรียน “ห่มดิน”

โคนต้นทุเรียนที่ห่มดิน

 

แรกทีเดียวตั้งใจจะเขียนเฉพาะเจาะจงถึง “สวนคีรีบัญชร” ที่อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ของ คุณมานพ  ทองศรีสมบูรณ์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเกาะช้าง ซึ่งเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบของการนำหลักธรรมชาติ “การห่มดิน” มาดูแลสวนทุเรียนให้ผลผลิตปลอดสารเคมี 100% แต่เมื่อได้พูดคุยถึงแนวความคิดไอเดียสร้างสรรค์ เป้าหมายของการทำงานในสถานะของ ผู้จัดการ ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาเกาะช้างแล้ว มีเรื่องราวดีๆ ที่ ผู้จัดการคนนี้ทำอยู่และมุ่งมั่นที่จะทำ เพื่อสร้างคุณค่าให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีมีประโยชน์ต่อเกษตรกรและสังคม จึงเปลี่ยนใจยกเรื่องราวที่น่าสนใจหลายๆ เรื่องของคุณมานพมาแชร์ความคิดออกไปให้กว้างขวางน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

คุณมานพ ทองศรีสมบูรณ์

สวนคีรีบัญชร เกษตรอินทรีย์ ปลูกทุเรียน “ห่มดิน”

คุณมานพ เล่าว่าซื้อสวนทุเรียนที่เกาะช้างมาตอนนั้น 8-9 ปีมาแล้ว สภาพเดิมๆ เสื่อมโทรมมาก เป็นทุเรียนอายุ 50 ปี มีจำนวน 50 ต้น มีหนอนเจาะลำต้น ดูแล้วจะไม่รอด จึงเริ่มเรียนรู้ฟื้นฟูสภาพดิน ต้นทุเรียนเพื่อที่จะรักษาต้นทุเรียนเก่าไว้ให้ได้มาโดยตลอด เมื่อปี 2559 นี้เอง ได้ทดลองนำ “วิธีห่มดิน” เป็นวิธีธรรมชาติมาฟื้นฟู ตามคำแนะนำจาก คุณเดชากิตต์ พูลเกษม และไปดูงานที่จังหวัดชุมพร เห็นว่าใช้ได้ผลดีจึงนำมาทดลองใช้กับสวนทุเรียนเมื่อกลางปีที่แล้ว

การห่มดิน คือ ทำให้จุลินทรีย์เติบโตเป็นปุ๋ยธรรมชาติง่ายๆ เริ่มจาก

  1. การนำขี้ช้างมาหมักทำปุ๋ยจุลินทรีย์ นำมาใส่เป็นปุ๋ยโคนต้นแล้วใช้ฟาง เปลือกมะพร้าว มาปิดคลุมดินไว้ เมื่อให้น้ำตามปกติหรือมีฝนตก ดินจะชุ่มชื้น มีไส้เดือน กิ้งกือ ช่วยทำให้ดินเป็นปุ๋ย รากงอกเจริญเติบโตได้ดี
  2. ส่วนต้นทุเรียนจะปล่อยให้ตะไคร่น้ำเกาะเต็มต้นตามธรรมชาติเพราะฝนตก ด้วยอากาศชุ่มชื้น จึงคิดนำต้นพริกไทยมาเกาะบนต้นทุเรียน ตามที่ไปดูงานที่ชุมพรมา ปรากฏว่าผ่านมา 8-9 เดือน เติบโตดีมาก ให้เมล็ดดก สามารถเก็บไปตากแห้งจำหน่ายเป็นรายได้เสริมให้กับสวนทุเรียนได้
กาบมะพร้าวห่มดินโคนต้นทุเรียน

คุณมานพ เล่าต่อว่า การห่มดินยังอยู่ในช่วงที่ทดลองทำ จะช่วยลดต้นทุนและช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่น เพราะใช้ปุ๋ยขี้ช้างจากปางช้างบนเกาะ มีถึง 7 แห่ง ใช้มาทำปุ๋ยหมักราดจุลินทรีย์ทิ้งไว้ 15 วัน ทำไว้ 50 ตัน ไว้ใช้ใส่โคนทุเรียนรอบๆ ต้น ต้นละ 3-4 กิโลกรัม ปิดด้วยเปลือกหรือกาบมะพร้าว หาได้ง่ายบนเกาะช้าง เดิมเจ้าของเผาหรือทิ้งทำลาย รับซื้อมาทำปุ๋ยและใช้ห่มดินช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้

โคนต้นทุเรียนที่ห่มดิน

หากเกษตรกรชาวสวนบนเกาะช้างมีเองนำไปใช้ในสวนได้ไม่ต้องสิ้นเปลือง ปล่อยให้ทุเรียนเติบโตในสภาพป่าด้วยวิธีธรรมชาติป่า เพราะจริงๆ ทุเรียนคือไม้ป่า ส่วนการนำพริกไทยมาเกาะต้นทุเรียนมั่นใจว่าต้องเติบโตดี เพราะเดิมมีสปอร์ของกล้วยไม้พื้นเมือง “แส้พระอินทร์” มาเกาะเจริญเติบโตตามธรรมชาติแล้ว นำไปแยกกอขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงไว้ได้จำนวนมาก 300-400 กอ สำหรับพื้นที่ว่างๆ ในสวนสามารถปลูกกล้วย บลูเบอร์รี่ ปะปนอยู่กับสวนทุเรียนสร้างรายได้ได้เช่นกัน

“หากการทดลองห่มดินประสบความสำเร็จ ยินดีจะเป็นต้นแบบเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งหนึ่งของเกาะช้าง ณ ปัจจุบัน ชาวสวนทุเรียนบนเกาะช้างยังไม่ยอมรับวิธีการห่มดิน กลัวโรครากเน่า โคนเน่า จะทำโคนต้นทุเรียนโล่งเตียน ไม่มีใครกล้าห่มดิน แต่สวนคีรีบัญชรทำ เพราะต้องการทดลองเพื่อให้เป็นสวนอินทรีย์100% ถ้าทำได้เกษตรกรชาวสวนและผู้บริโภคจะปลอดภัยจากสารพิษ เดือนเมษายนทุเรียนมีผลเก็บเกี่ยวได้จะเป็นทุเรียนอินทรีย์อย่างแท้จริง เตรียมจำหน่ายเป็นผลพร้อมบริโภคและแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นทุเรียนกวน ไอศกรีมทุเรียน” คุณมานพ กล่าว

 

ไอเดียสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าจากกะปิ ทุเรียนชะนีเกาะช้างสู่ไอศกรีมทุเรียนชะนีเกาะช้าง

คุณมานพ เจ้าของสวนคีรีบัญชร บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด วัย 50 ปี ด้วยพื้นเพครอบครัวเป็นชาวสวน บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ก็ทำงานที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และย้ายมาทำงานสาขาที่อำเภอเขาสมิง และสาขาอำเภอเกาะช้างในปัจจุบัน ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ในธนาคารได้สัมผัสกับเกษตรกรชาวสวน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องมากู้หนี้ยืมสิน จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจให้เกษตรกร ชาวสวน ชาวประมง หรือชาวบ้านทั่วๆ ไป มีวิธีการที่จะอยู่อย่างเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม ที่ผ่านมาได้ค้นหาเอกลักษณ์ของดีจังหวัดตราด และได้ส่งเสริมต่อยอดอาชีพชาวบ้านให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น (เรื่องราวนี้เทคโนโลยีชาวบ้านได้เคยนำเสนอไปแล้ว ทั้งเรื่องกะปิเกาะช้าง และทุเรียนชะนีเกาะช้าง)

กะปิเกาะช้าง เพิ่มมูลค่า

ตัวอย่าง ปี 2554 เป็น ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาเขาสมิง ได้ส่งเสริมให้ผลิตกะปิเกาะช้างในรูปของแพ็กเกจจิ้งซองสุญญากาศ ขนาด 25 กรัม เพื่อพกพาเป็นของฝากไปต่างประเทศ เพิ่มมูลค่ากะปิเกาะช้างจากกิโลกรัมละ 100-150 บาท เป็น 400 บาท

ปี 2555 ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สนับสนุนให้มีการประมูลทุเรียนชะนีเกาะช้าง ทำให้ทุเรียนชะนีเกาะช้าง กิโลกรัมละ 40-50 บาท ราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น กิโลกรัมละ 90-100 บาท และล่าสุด ปี 2559-2560 ร่วมมือกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตราด ซื้อทุเรียนชะนีเกาะช้างคุณภาพจากชาวสวนได้ราคาเพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 150-250 บาท ส่งถึงบ้าน

ต้นทุเรียนชะนีเกาะช้าง อายุ 40-50 ปี

เกาะช้าง เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียง ด้านตะวันตกมีหาดทรายสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำรายได้สูง ขณะที่ด้านตะวันออกสภาพดินดี อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านพื้นเพเป็นชาวสวน มีสวนมะพร้าว ส้มโอ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง เปรียบเสมือนเป็นครัวของเกาะช้างเ แต่ชาวบ้านกลับมีรายได้น้อยมากประมาณปีละ 120,000 บาท บางรายต้องกู้หนี้ยืมสิน

ขณะที่ราคาที่ดินกลับแพงขึ้นเรื่อยๆ เกรงว่าในอนาคตชาวบ้านที่ทำสวนจะถอดใจขายที่ดิน จึงพยายามที่จะหาวิธีรักษาอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านไว้ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตผลเพื่อให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ปีละ 200,000-300,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นอาชีพประมง ที่แปรรูป กะปิเกาะช้าง หรือ ทุเรียนชะนีเกาะช้าง ที่ได้รับการตอบรับดีมาก ต่อไป ปี 2560 คือการพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่าทุเรียนชะนีเกาะช้าง เป็นทุเรียนกวน ไอศกรีมทุเรียนชะนีเกาะช้าง และการเปิดตัวโครงการใหม่ “โครงการตลาดประชารัฐเพื่อชุมชน” สร้างแบรนด์พืชผักสวนครัวเกาะช้างที่เป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ 100% สู่ตลาดผู้บริโภค” คุณมานพ กล่าวถึงไอเดีย

แส้พระอินทร์ ปลูกไว้สวยงาม

ไอศกรีมทุเรียน ทุเรียนกวนชะนีเกาะช้าง สร้างมูลค่าเพิ่มและมีกินตลอดปี

คุณมานพ กล่าวถึงแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุเรียนอินทรีย์ชะนีเกาะช้างว่า ปัญหาทุเรียนบนเกาะช้างต้นสูงเก็บลำบาก หาแรงงานยาก หากไม่ให้เหมาล่วงหน้าช่วงที่ได้ราคาดี เช่น กิโลกรัมละ 80-90 บาท เมื่อชาวสวนจะเก็บไว้ตัดเองจะต้องรับความเสี่ยง ตอนนั้นทุเรียนอาจจะมีปริมาณมาก ไม่ได้ราคาสูงตามที่เหมา หากชาวสวนตัดทุเรียนเองให้แก่จัด 90% เนื้อทุเรียนจะเนียน อร่อย ถ้าแช่แข็งไว้ สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าจำหน่ายได้ทั้งปี โดยการสร้างแบรนด์ของทุเรียนชะนีเกาะช้าง เช่น ทำไอศกรีม ทุเรียนกวน หรืออาจจะทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์ จะได้รสชาติอร่อย และที่สำคัญเป็นทุเรียนอินทรีย์ 100%

“งานเทศกาลผลไม้และของดีเกาะช้าง ปีนี้จัดช่วงระยะเวลายาว ระหว่าง วันที่ 15 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2560 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้ซื้อหา ลิ้มลองรสชาติทุเรียนชะนีเกาะช้างอย่างจุใจ ทั้งผลสดๆ และแปรรูปทุเรียนกวน จะมีการเปิดตลาดไอศกรีมทุเรียนชะนีเกาะช้างเป็นครั้งแรก งานนี้สามารถเลือกซื้อสินค้าของดีอื่นๆ ของเกาะช้างได้ เช่น อาหารทะเลแปรรูป กะปิ น้ำปลา น้ำเคย ผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปของเกาะช้าง รวมทั้งพืชผักปลอดสารพิษ” คุณมานพ กล่าว

 

โครงการตลาดประชารัฐเพื่อชุมชน ส่งเสริมการผลิต การตลาด

คุณมานพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้เปิด “โครงการตลาดประชารัฐเพื่อชุมชน” ที่บริเวณด้านข้างของที่ทำการ ธ.ก.ส. สาขาเกาะช้าง หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง ด้านฝั่งตะวันตกของเกาะเป็นเส้นทางผ่านไปแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลของเกาะช้าง เพื่อเปิดพื้นที่สนับสนุนส่งเสริมพัฒนาทางด้านการตลาดกับเกษตรกร การสร้างอาชีพเสริม อาชีพใหม่ๆ กับเกษตรกร รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากการสอนให้ปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย รวมทั้งการนำของดีในพื้นที่เกาะช้างมาพัฒนาให้ได้คุณภาพมาตรฐานและนำมาจำหน่ายในพื้นที่ตลาดประชารัฐเพื่อชุมชนแห่งนี้ ให้กับประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว อาทิ ผักปลอดสารพิษ ผลไม้ ข้าวสาร ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูป อาหารทะเล กะปิ น้ำปลา สินค้าโอท็อป

งานเทศกาล
ขยายพันธุ์พริกไทย เตรียมไปปลูก
ผักปลอดสารพิษ ในถุง-ตะกร้า

“ได้เปิดสอนให้ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เกษตรกรภูมิปัญญาในจังหวัดตราดให้คำแนะนำปลูกมะนาว มะกรูด พริกขี้หนู มะเขือยาว มะเขือเทศ กระเจี๊ยบ กระวาน ผักบุ้ง การปลูกจะใช้วิธีปลูกผักในถุง ในตะกร้า แบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแบบอย่างไปปฏิบัติในครัวเรือนและบริการลูกค้าที่พักโฮมสเตย์ของชาวบ้าน หรือนำมาฝากขายข้างๆ ตลาดประชารัฐจะมีร้านอาหารบริเวณใกล้เคียงนำไปปรุงอาหารสดๆ บริการลูกค้า โครงการต่อไปจะเปิดอบรมกลุ่มผู้สูงอายุทำน้ำปั่นผักเพื่อสุขภาพที่ปลอดภัย 100% ให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้บริโภคผักที่ปลอดสารพิษและรู้จักที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง การส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมดังกล่าว เป้าหมายคือ การสร้างสุขภาพที่ดี ทั้งกาย ใจ ให้กับลูกค้าของ ธ.ก.ส. มีอยู่ 800 ราย รวมกับชาวบ้านบนเกาะช้าง จากนั้นการเงินรายได้จะตามมาเอง เพราะเชื่อว่าทุกคนมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว” ผู้จัดการ มานพ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามข้อมูล คุณมานพ ทองศรีสมบูรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเกาะช้าง โทร. (089) 939-4308