ผลิตกล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า ให้ได้ผลผลิตดี เป็นที่ต้องการของตลาด

แปลงกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ของคุณคมกฤช

กล้วยเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ อีกทั้งปลูกแล้วยังดูแลรักษาง่าย สามารถให้ผลผลิตเร็ว พร้อมกับเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งตลาดค้าขายยังมีความคล่องตัวสูงทั้งภายในประเทศและส่งออก ฉะนั้น กล้วยจึงเป็นไม้ผลที่เกษตรกรควรพิจารณาปลูกเป็นการค้าในลักษณะพืชหลักหรือแซมพืชอื่นเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

ทางด้านเศรษฐกิจกล้วยที่มีความสำคัญแล้วสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นหลักคือกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอม จึงทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ของประเทศนิยมปลูกกล้วยทั้งสองชนิดกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ คุณภาพกล้วยจะต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ แต่หากพื้นที่ใดพบข้อจำกัดการปลูกก็จะมีการปรับปรุงแก้ไขพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภูมิประเทศ แม้จะพบกับปัญหา/อุปสรรคนานัปการก็ตาม

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านยังพัฒนาแนวคิดในเชิงการตลาดด้วยการรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านการปลูกเพื่อให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ นำมาสู่รายได้จำนวนมาก

คุณคมกฤช สุขกุล กับผลผลิตกล้วยในสวน

การสัมมนา “กล้วยหอมทอง-กล้วยน้ำว้า” ปลูกกินเองได้ ปลูกขายทำเงิน ช่วงแรกเป็นเนื้อหาการบรรยายในประเด็น “ผลิตกล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า ให้ได้ผลผลิตดี เป็นที่ต้องการของตลาด” โดยท่านผู้อ่านจะได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับประสบการณ์การปลูกกล้วย การดูแลรักษา รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวส่งขายจากทีมวิทยากรที่มากด้วยประสบการณ์ตรง ได้แก่

คุณคมกฤช สุขกุล นักส่งเสริม นักวิชาการ และนักการตลาด ทั้งยังปลูกกล้วยน้ำว้าทางภาคอีสาน

คุณสมยศ คำเพ็ง เกษตรกรรุ่นใหม่ กับเทคนิคง่ายๆ เพื่อทำกล้วยหอมทองส่งขายต่างประเทศ

อาจารย์พัชนี ตุษยะเดช เจ้าของแปลงกล้วยน้ำว้ายักษ์

คุณวิไล ประกอบบุญกุล ปลูกกล้วยหอมที่ปทุมธานีมานานกว่า 30 ปี

โดยมี อาจารย์ถวิล สุวรรณมณี ดำเนินรายการ

สำหรับวิทยากรท่านแรกคือ คุณคมกฤช สุขกุล เป็นผู้ที่ทำเกษตรกรรมแบบปลูกพืชผสมผสานแล้วประสบความสำเร็จอย่างดี รวมถึงกล้วยพันธุ์ที่ปลูกคือ น้ำว้าปากช่อง 50 ขณะเดียวกัน ได้นำข้อมูลจริงมาถ่ายทอด แล้วส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่พัฒนาการปลูกกล้วยเพื่อให้มีคุณภาพอย่างสมบูรณ์เต็มที่

ทำไมคุณคมกฤชจึงเลือกปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์ปากช่อง 50 เพราะเขามองว่ากล้วยน้ำว้าเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออก ปัจจุบัน ผลผลิตกล้วยน้ำว้ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของการบริโภค อีกทั้งตลาดมีความต้องการกล้วยเพิ่มขึ้นทุกปี

กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 (เนื้อเยื่อ)

คุณคมกฤช กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานสัมมนาในคราวนี้และยินดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์จากการที่ได้ไปส่งเสริมการปลูกกล้วยน้ำว้าในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง คือทางจังหวัดอำนาจเจริญ ตลอดจนบางส่วนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

ต้องบอกก่อนว่าตัวเองเริ่มต้นเรื่องกล้วยจากการมีข้อมูลที่น้อยมาก เนื่องจากเรียนจบด้านประมง แต่มีความจำเป็นต้องเข้ามาทำงานเรื่องผลไม้ แต่อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่ปัญหาถ้าให้ความใส่ใจเต็มที่ ไปพร้อมกับการศึกษาหาความรู้ ตลอดจนไปอบรมหลายแห่ง แม้กระทั่งที่ศูนย์วิจัยปากช่อง

การไว้หน่อในสวนกล้วยของคุณคมกฤช

สำหรับพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญที่ได้เข้าไปดูแลเป็นสวนของกลุ่มเอกชน โดยพยายามผลักดันให้ชาวบ้านมีแนวคิดใหม่ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตพืช เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ ยังต้องการให้ชาวบ้านหันมาสนใจปลูกกล้วยแทนพืชไร่บางชนิดเพราะนับวันพืชไร่จะประสบปัญหาด้านราคาอย่างต่อเนื่อง

อาจเป็นเพราะความเคยชินที่ชาวบ้านมักทำเกษตรกรรมแบบเดิมด้วยการปลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการดูแลบำรุงต้นจึงทำให้ประสบปัญหาความเสียหาย อีกทั้งยังต้องการปลูกฝังแนวคิดเพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง จนถึงวันนี้ชาวบ้านสามารถทำได้แล้ว

พอได้เข้าไปช่วยก็จะแนะนำวิธีปลูก เทคนิคการปลูก การดูแล การเก็บผลผลิตที่ถูกต้อง รวมถึงช่วยวางแผนการตลาดด้วย ทั้งนี้ ในระยะแรกดูเหมือนชาวบ้านยังขาดความเชื่อมั่นและไม่มั่นใจสักเท่าไร กระทั่งพอผ่านไปช่วงหนึ่งมีชาวบ้านที่ร่วมมือประสบความสำเร็จตามแนวทางที่แนะนำ จากนั้นจึงมีชาวบ้านต่างทยอยเข้ามาร่วมกลุ่มกันเพิ่มมากขึ้น

แปลงกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ของคุณคมกฤช

แต่ต้องบอกก่อนว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ได้จำนวนกล้วยตามมาตรฐาน 14-15 หวี ต่อเครือ เพราะบางรายก็ได้จำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับความสามารถของชาวบ้าน แต่สิ่งที่มุ่งเน้นคือความต้องการให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ให้ได้ทุกคน ด้วยตัวเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้น การที่เราแนะหลักคิดและเทคนิคแล้วให้ชาวบ้านใช้ภูมิปัญญาของตัวเองมาผสมกันจึงทำให้เกิดความสำเร็จได้อย่างดี

ระหว่างรอผลผลิตในสวนกล้วยของคุณคมกฤช สามารถปลูกไม้ล้มลุกในสวนสร้างรายได้ด้วย

สำหรับพันธุ์กล้วยที่นำมาใช้คือกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ซึ่งผลจากการทดลองปลูกชุดแรกปรากฏว่าเป็นไปด้วยดี ตั้งแต่เริ่มปลูก การดูแลในระยะ 6 เดือน การแทงหน่อและปลี ก็ได้ผลดีมากในจังหวัดอำนาจเจริญ

คุณคมกฤช กล่าวต่ออีกว่า สำหรับพื้นที่ทางภาคอีสานตอนใต้ที่ได้สำรวจตลาดกล้วย ไม่ว่าจะเป็นที่อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ พบว่ามีความต้องการกล้วยน้ำว้าอีกมากถึงสูง และสวนกล้วยที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวก็มีผลผลิตไม่พอเพียง เพราะบางส่วนยังต้องสั่งมาจากทางจังหวัดเลย

เครือประมาณ 10-12 หวี และแต่ละหวีประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม

ขณะเดียวกัน ที่เลยราคากล้วยหน้าสวนก็ขยับราคาไปถึงหวีละ 18 บาท เมื่อถึงมือพ่อค้าเป็นราคา 20 บาท ต่อหวี แล้วพ่อค้ารับไปส่งอีกต่อในราคาหวีละ 25 บาท จนไปถึงมือคนบริโภคจะเป็นราคาหวีละ 35-40 บาท

“สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเพราะถ้าปริมาณกล้วยมีน้อยเกินไปหรือขาดแคลนจะทำให้กล้วยทางเวียดนามและลาวเข้ามาในตลาดบ้านเรา เพราะขณะนี้พบเห็นแถวจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก ซึ่งพื้นที่แถบนั้นส่วนใหญ่แปรรูปกล้วยมะลิอ่อง แล้วตัวผมเองได้เดินทางไปดูที่แหล่งปลูกพบว่ายังปลูกแบบธรรมชาติ”

ดังนั้น ถ้าเขามีการปรับปรุงวิธีปลูกให้เป็นระบบอาจส่งผลกระทบกับกล้วยของบ้านเราอย่างแน่นอน ทั้งนี้ กล้วยที่มาจากเวียดนามและลาวจะซื้อ-ขายกันเป็นกิโลกรัม ตกราคากิโลกรัมละ 8 บาท โดยขายกันแบบยกเครือแล้วส่งผ่านเข้ามาทางชายแดนโดยปลอดภาษี

ด้วยเหตุนี้ในฐานะที่เป็นนักส่งเสริมจึงต้องการให้เกษตรกรมีการรวมตัวกัน ทั้งนี้ แต่ละรายอาจมีเนื้อที่เพียงรายละ 5-10 ไร่ก็พอ เพียงแต่ต้องการให้รวมตัวอย่างเข้มแข็ง

ท้ายนี้คุณคมกฤชฝากถึงเกษตรกรรายใหม่และเก่าในเรื่องการหาซื้อหน่อกล้วยว่า ต้องระวังการหลอกขายหน่อที่ไม่มีคุณภาพ เพราะไปคิดว่าราคาถูกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหน่อเหล่านั้นไม่ได้ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อมาก่อน แล้วเมื่อซื้อมาปลูกกว่าจะรู้ว่าถูกหลอกก็ต้องเสียเวลาไปหลายเดือน เสียเงินทองอีก พอปลูกไม่ได้ผลก็ไปโทษปัจจัยอย่างอื่น ซึ่งที่แท้จริงแล้วต้นเหตุมาจากหน่อที่ไม่มีคุณภาพนั่นเอง

สอบถามรายละเอียดการปลูก การดูแล หรือต้องการผลผลิต ตลอดจนพันธุ์กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ติดต่อคุณคมกฤช สุขกุล โทร. (093) 327-1949