เผยแพร่ |
---|
จังหวัดจันทบุรีมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมในการเพาะปลูก จึงมีผลผลิตทางการเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีคุณภาพนานาชนิดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และที่เป็นต้องการของผู้บริโภค เช่น ทุเรียน เงาะ สละ เป็นต้น ประกอบกับจันทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้าม…พลาด ตามสโลแกน “สวนสวรรค์ร้อยพันธุ์ผลไม้ จ.จันทบุรี” ภายใต้แนวคิดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดจันทบุรีจึงถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการบูรณาการการท่องเที่ยวเข้ากับการเป็นศูนย์กลางผลไม้คุณภาพ ที่สามารถเพิ่มรายได้มาสู่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ โดยอาศัยการจัดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสำคัญ บนฐานอัตลักษณและวัฒนธรรมของทองถิ่นที่นําไปสูการยกระดับคุณคา และสร้างมูลคาเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดจันทบุรี แต่การดำเนินการที่ผ่านมายังประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของผลผลิตได้ ความไม่แน่นอนของจำนวนนักท่องเที่ยว ขาดการพัฒนาในด้านการให้บริการ และขาดการบริหารจัดการที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงสนับสนุนทุนวิจัยเรื่อง“การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดจันทบุรี” โดยมี ผศ.ธงชัย ศรีเบญจโชติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นผู้อำนวยการแผนงาน เพื่อศึกษาทั้งด้านอุปสงค์ ได้แก่ ความต้องการตลาดในมุมมองของนักท่องเที่ยวและบริษัทนำเที่ยว ควบคู่กับด้านอุปทาน ได้แก่ ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร และภาคีผู้เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การยกระดับการให้บริการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดจันทบุรี
จากการวิจัยทางด้านอุปสงค์ พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดจันทบุรีเพื่อรับประทานผลไม้ แต่รับรู้คุณค่าของการท่องเที่ยวต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ขณะที่ด้านอุปทานพบว่าศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในภาพรวมผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมการท่องเที่ยวกำหนดไว้ แต่มี 2 ด้านที่ต้องปรับปรุง คือ ศักยภาพการบริหารจัดการ และการให้บริการ โดยมีรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดจันทบุรีมี 3 รูปแบบ ได้แก่ การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม การจัดการพื้นที่ และการเรียนรู้วิถีเกษตร
แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดจันทบุรี พบว่ามีคุณค่า 6 ด้าน ได้แก่ ปอดตะวันออก เมืองผลไม้ ความหลากหลายทางธรรมชาติ ความเป็นกันเอง เรื่องราว/ความเป็นมา และการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งนำมาสร้างความแตกต่างของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดจันทบุรีกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอื่น ๆ โดยการออกแบบรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดจันทบุรี ชื่อว่า DEE Model ซึ่งเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น 3 โมเดล ได้แก่ 1. Design for Niche (สนุกดี) 2. Explore by Zoning (หลากหลายดี) 3. Enlighten from Experience (เรียนรู้ดี) และร่วมกันกำหนดมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดจันทบุรีขึ้น เพื่อให้การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดจันทบุรีเป็นไปในแนวทางเดียวกันและมีคุณค่าตามที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงมีศักยภาพพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ แตกต่างจากที่อื่น สร้างเรื่องราวที่เกิดจากความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ของเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรต้องเน้นให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี มีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดจันทบุรี ประสานและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาให้การจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนหนึ่งของผลผลิตที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ DEE Model คู่มือมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจันทบุรี และคู่มือการจัดทำบัญชีสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรประเภทสวนผลไม้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้นำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้นักวิจัย สกว.ยังได้นำเสนอ DEE Model ในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มทักษะเกษตรกรในการจัดทำแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยววิถีเกษตร โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี และมีความร่วมมือกับหลักสูตรการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดจันทบุรีในการจัดอบรมมัคคุเทศก์น้อย เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวปี 2560 และนำผลการวิจัยไปต่อยอดในกิจกรรม “พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อการท่องเที่ยว” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 1.2 ล้านบาท ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2561 ของจังหวัดจันทบุรี และเพื่อให้การท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีมีความโดดเด่น และสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี คณะผู้วิจัยจึงมีแผนในการทำวิจัยเพื่อศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวอัญมณีรูปแบบจันทบุรีต่อไป
จากนี้ไปเกษตรกรและนักวิจัยต้องมาคิดหาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการเตรียมวัตถุดิบ ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและการจัดระบบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ทั้งนี้ความแตกต่างของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดจันทบุรีจากจังหวัดอื่น ๆ อยู่ที่เสน่ห์ของสวนผลไม้ขนาดเล็กที่เกษตรกร ไม่ใช่ธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ อัธยาศัยไมตรีของเกษตรกร คุณภาพของผลผลิต ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจและบอกเล่ากันปากต่อปาก เราจึงต้องจัดการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน ไม่ต้องไปสู้กับทุนใหญ่ เพราะลูกค้าคนละกลุ่มกัน นอกจากนี้บุฟเฟ่ต์ผลไม้แล้วเรายังมีกิจกรรมชาวบ้านให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เช่น การผสมพันธุ์เกสรดอกสละ ทดลองสานใบระกำแบบหลังคามุงแฝก
จากการลงพื้นที่ติดตามงานวิจัยของ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการวิจัยมุ่งเป้า ณ ชุมชนรักเขาบายศรี ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ โดยมีนางนงลักษณ์ มณีรัตน์ ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมสวน พร้อมจัดบุฟเฟ่ต์ผลไม้ให้คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และนักวิจัย สกว. ได้ชิม กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้เพิ่งเริ่มออกผลผลิต จะออกเต็มที่และเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมสวนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ราคา 300 บาท/คน ปกตินักท่องเที่ยวมีทั้งคนไทยและต่างชาติ สำหรับนักท่องเที่ยวจีนนิยมบริโภคทุเรียนและมังคุด นอกจากนี้บุฟเฟ่ต์แล้วยังสามารถซื้อผลไม้กลับไปได้ โดยอิงราคากับตลาดกลางจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้ตนยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกับ สกว. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป เพราะการทำบุฟเฟ่ต์ผลไม้บางปีก็ไม่คุ้ม ถ้านักท่องเที่ยวมาเยอะก็จะเหนื่อยเพราะช่วยกันทำในครอบครัว
ด้านนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงการพัฒนา “จันทบุรี 4.0” ว่าจันทบุรีมีความโดดเด่นหลายด้านที่นับเป็นจุดเริ่มและปัจจัยพื้นฐานของความพร้อมที่จะผลักดันไปสู่การเป็นจังหวัด 4.0 โดยแนวทางการพัฒนาที่ควรจะไปด้วยกัน ได้แก่ เมืองเกษตร/เมืองแห่งผลไม้ และเมืองอัญมณี แม้ปัจจุบันทรัพยากรและวัตถุดิบจะร่อยหรอลงไปมาก แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือ ความรู้ความสามารถของชาวจันทบุรีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและมีประสบการณ์ยาวนานนับตั้งก่อร่างสร้างตัวจนใครก็สู้ไม่ได้ จึงต้องรักษามาตรฐานให้คงไว้ด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและการดำเนินการที่ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่อำนวยการให้การทำงานของส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินไปได้ตามระเบียบแบบแผน และปัญหาของชาวบ้านได้รับการแก้ไข สามารถดำรงชีพได้อย่างปกติสุข ดูแลให้เกิดความยุติธรรม ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ
“โชคดีที่จันทบุรีมีจุดแข็งแตกต่างจากจังหวัดที่สามารถพัฒนาโดยแนวทางธรรมชาติดั้งเดิมที่เรามีความเข้มแข็งอยู่มากในทุกภาคส่วน เกษตรกรมีความรู้ความสามารถและแสวงหาความรู้ตลอดเวลา โดยมีภาควิชาการช่วยเหลือสนับสนุน ต่อยอดจากภูมิปัญญาเดิมให้เกิดเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ทันที หรือพัฒนาอาชีพของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น”