มารู้จักแมลงศัตรูที่สำคัญของมะปราง-มะยงชิด พร้อมธีป้องกันและกำจัด อย่างผู้เชี่ยวชาญ

1.เพลี้ยไฟ (Thrips)

รูปร่างลักษณะ

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก มีลำตัวยาว 1-2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนสีเหลือง ตัวแก่สีน้ำตาลปนเหลืองปีกมีขนเป็นแผง เพลี้ยไฟมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

ลักษณะการทำลาย

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเจาะและดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตาใบ ช่อดอก โดยเฉพาะฐานรองดอกและขั้วของผลอ่อน ทำให้เซลล์บริเวณนั้นถูกทำลาย นอกจากนี้ยังพบว่าใบแตกใหม่แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็กๆ สำหรับใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เพลี้ยไฟจะทำลายตามขอบใบ ใบม้วนงอ ปลายใบไหม้ ส่วนยอดแห้งไม่แทงช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผลหรือติลผลน้อยและเจริญเติบโตเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์

 

การป้องกันกำจัด

หากระบาดไม่มากใช้กรรไกรตัดส่วนที่แมลงทำลายไปเผาทำลาย ซึ่งโดยปกติแมลงพวกนี้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม การใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ได้แก่ สารคาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล เช่น เซฟวิน 85 อัตรา 45 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร นอกจากนี้มีการใช้แมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟ ได้แก่ แมงมุม แมลงช้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการควบคุมแบบชีววิธี

 

2.เพลี้ยจักจั่น (Hopper)

รูปร่างลักษณะ

เพลี้ยจักจั่นมะปรางส่วนหัวจะโตและป้าน ลำตัวเรียวแหลมมาทางด้านหาง ลำตัวสีเทาปนดำหรือสีน้ำตาลปนเทา เคลื่อนไหวได้รวดเร็วเพราะมีขาคู่หลังที่แข็งแรง

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยจักจั่นจะทำลายใบอ่อน ยอดอ่อนและช่อดอก ซึ่งช่วงระยะที่ทำความเสียหายแก่มะปรางมากที่สุดจะเป็นช่วงระยะที่มะปรางกำลังออกดอก โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกทำให้ช่อดอกแห้ง ดอกร่วงติดผลน้อยหรือไม่ติดผลเลย ในระหว่างการดูดกินน้ำเลี้ยงจะถ่ายสารที่มีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ ซึ่งมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบทำให้เกิดการแพร่ระบาดของราดำ ซึ่งทำให้พื้นที่ใบถูกทำลายและส่งผลทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง นอกจากนี้ยังทำให้ใบบิดโค้งงอ ส่วนของใบมีอาการปลายใบแห้ง

การป้องกันกำจัด

ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง พ่นในระยะก่อนมะปรางออกดอก และเริ่มแทงช่อดอกอีกครั้งเมื่อดอกบานแล้วไม่ควรพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงอีก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงที่มาช่วยผสมเกสร และควรหมั่นตรวจดูช่อดอกมะปรางอย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบควรมีการพ่นสารเคมีอีก 1-2 ครั้งหลังวจากมะปรางติดผลแล้ว สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ได้แก่ สารคาร์บาริล เช่น เซฟวิน 85% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเฟอร์มาวิน เช่น แอมนุช อัตรา 10 มิลลิมิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 

3.แมลงค่อมทอง (Leaf eating weevil)

รูปร่างลักษณะ

ตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวงขนาดกลางมีเส้นแบ่งกลางหัว อก และปีกชัดเจน ส่วนหัวสั้นทู่ยื่นตรงไม่หุ้มเข้าใต้อก เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย แมลงค่อมจะอยู่เป็นคู่หรือรวมเป็นกลุ่ม เมื่อต้นมะปรางได้รับความกระทบกระเทือนแมลงค่อมทองจะทิ้งตัวลงสู่พื้น

ลักษณะการทำลาย

ตัวเต็มวัยสามารถทำลายพืชหลายชนิดทั้งมะปรางและมะม่วง โดยจะกัดกินใบพืชในช่วงแตกใบอ่อน ลักษณะใบที่ถูกทำลายใบมีลักษณะเว้าๆ แหว่งๆ ถ้ารุนแรงจะเหลือแค่ก้านใบ

การป้องกันกำจัด

1.ตัวเต็มวัยของแมลงค่อมทองมีจุดอ่อน คือ ชอบทิ้งตัวเมื่อได้รับความกระทบกระเทือน ควรใช้สวิงรออยู่ใต้กิ่งหรือใบ เมื่อเขย่ากิ่งของต้นมะปรางแมลงค่อมทองจะตกในสวิง จากนั้นนำแมลงไปทำลาย

2.ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงฉีดพ่นในช่วงระยะที่มะปรางแตกใบอ่อน หรือการระบาดของแมลงค่อมทอง ได้แก่ สารคาร์บาริล เช่น เซฟวิน 85% WP อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

4.แมลงวันทอง (Fruit fly)

รูปร่างลักษณะ

ตัวเต็มวัยเป็นแมลงวันปีใสมีขนาดลำตัวยาว 0.8 เซนติเมตร มีลักษณะเด่น คือ สีเหลืองสดที่ส่วนอกและส่วนท้อง เพศเมียจะมีอวัยวะวางไข่เรียวแหลม

ลักษณะการทำลาย

แมลงวันทองวางไข่ที่ผลมะปรางในช่วงผลใกล้สุกจนถึงผลสุกสีเหลือง ทำให้ภายในผลมีหนอนเข้าทำลาย ผลเน่าและร่วงหล่นในที่สุด

การป้องกันกำจัด

1.เก็บผลที่ถูกแมลงวันทองทำลายมาเผาทำลายหรือขุดหลุมฝัง

2.การใช้สารล่อแมลงวันทอง เช่น สารเมทธิลยูจีนอลผสมผสานฆ่าแมลง เช่น อะบาแมกตินในอัตราส่วน 1:1 โดยหยอดสารล่อและสารป้องกันกำจัดแมลงลงบนสำลีแล้วใส่ในกับดักและเติมสารดังกล่าวทุกๆ เดือน โดยใช้กับดัก 5-10 จุดต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยวางกลางทรงพุ่มของมะปราง

3.การห่อผล ใช้ถุงกระดาษสีขาวห่อผลมะปราง ขณะผลยังเล็กอยู่

 

5.ด้วงงวงกัดใบมะปราง (Leaf cutting weevil)

รูปร่างลักษณะ

เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1.2-1.5 มิลลิเมตร งวงยาวมากเกือบเท่าครึ่งหนึ่งของลำตัว หัวและอกสีส้ม ตากลมใหญ่สีดำ ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ปีกแข็งสีน้ำตาลปนขาว

ลักษณะการทำลาย

แมลงชนิดนี้จะกัดเฉพาะใบอ่อนเท่านั้น โดยตัวเมียจะวางไข่ด้านบนของใบอ่อน เมื่อไข่เสร็จจะกัดใบห่างจากขั่วใบประมาณ 1-2 เซนติเมตร เหลือแต่โคนใบทำให้ใบอ่อนส่วนที่มีไข่ติดอยู่ร่วงลงบนพื้นดิน

การป้องกันกำจัด

1.เก็บใบอ่อนที่ถูกด้วงงวงกัดร่วงหล่นตามโคนต้นเอาไปเผาทำลาย เพื่อทำลายไข่และตัวอ่อน

2.ในระยะที่มะปรางเริ่มแตกใบอ่อน ใช้สารเคมีพวกคาร์บาริล ได้แก่ เซฟวิน 85% WP อัตรา 45-80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

6.ด้วงเจาะลำต้นมะปราง (Stem boring beetle)

รูปร่างลักษณะ

เป็นด้วงหนวดยาวสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หนวดยาวสีน้ำตาล ลำตัวมีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดลำตัวเล็กกว่าเพศผู้

ลักษณะการทำลาย

ตัวหนอนของแมลงชนิดนี้จะเจาะลำต้นหรือกิ่งมะปราง ทำให้ต้นมะปรางชะงักการเจริญเติบโตตัวเมียหลังผสมพันธุ์จะวางไข่ตามรอยแผลหรือตามเปลือกที่แตก เมื่อไข่ฟักออกเป็นหนอนเริ่มใช้ปากเจาะไชเข้าไปในลำต้นบริเวณที่กัดกินทำลายท่อน้ำท่ออาหาร ทำให้ลำต้นมะปรางอ่อนแกและชะงักการเจริญเติบโตมีผลทำให้ไม่มีการแตกใบอ่อนชุดใหม่ ใบแก่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงหล่นทำให้ต้นมะปรางตายอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

1.กิ่งที่ถูกหนอนทำลาย ควรตัดไปเผาไฟทำลาย

2.เมื่อพบตัวแก่ซึ่งเป็นด้วงปีกแข็งควรจับและเผาทำลาย

3.ต้นที่ถูกแมลงทำลายจนตาย ควรรีบโค่นต้นมะปรางแล้วเลื่อยเป็นท่อนสั้นๆ เผาทำลาย

4.ระยะที่พบหนอนเริ่มทำลายให้แกะเปลือกออกแล้วพ่นสารเคมีชนิดดูดซึม

5.ทาหรือฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงชนิดดูดซึมที่โคนต้นจากพื้นดินจนถึงระดับความสูง 2 เมตร เดือนละครั้ง

 

7.เพลี้ยหอย (Scale insects)

รูปร่างลักษณะ

เพลี้ยหอยมีชีวิตความเป็นอยู่และสืบพันธุ์คล้ายกับเพลี้ยแป้ง ตัวแก่จะปกคลุมด้วยวัตถุแข็งเหนียวเกราะป้องกันตัวเพลี้ยหอย ภายในคล้ายสะเก็ดสีขาว เพลี้ยหอยตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยหอยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอดใบช่อดอก และผลอ่อนของมะปราง เพลี้ยหอยจะเกาะเป็นกลุ่มๆ ทำให้ผลเป็นรอยยุบเล็กน้อย ถ้ามีการทำลายมากจะทำให้มะปรางชะงักการเจริญเติบโต และผลมะปรางเจริญเติบโตผิดปกติ ผิวไม่สวยไม่น่ารับประทาน

การป้องกัน

1.ถ้าพบไม่มากควรตัดผลทิ้งและเผาทำลาย

2.ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงชนิดดูดซึมในช่วงที่มีการระบาด ได้แก่ คาร์บาริล

 

เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท