ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
---|---|
เผยแพร่ |
การพัฒนาปรับปรุงดินให้มีคุณภาพควรมีการบูรณาการหลายอย่าง ฉะนั้น จึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการดินด้วยการใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ตัวเอง โดยพิจารณาและปรับตามผลวิเคราะห์ดิน มีการประยุกต์ปรับใช้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อาทิ การปรับปรุงดินที่เป็นกรดโดยการใช้โดโลไมท์ ใช้ปุ๋ยสดหว่านแล้วกลบ การใช้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร
แล้วยังเพิ่มคุณภาพดินด้วยปุ๋ยหมัก/น้ำหมัก ได้มาจากผลไม้สุก 4 ชนิด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฟักทอง และสับปะรด ผสมกับเปลือกกุ้ง เปลือกไข่นกกระทา โดยมีอัตราผสม ได้แก่ ถ้าใช้น้ำในปริมาณ 150 ลิตร ให้ใช้ผลไม้อย่างน้อยชนิดละ 5 กิโลกรัม ใส่สารซุปเปอร์ พด. 2 ใส่กากน้ำตาล 10 ลิตร เติมน้ำพอสมควรอย่าให้ล้น แล้วถ้าใส่ยาคูลท์ด้วยยิ่งดี อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้กับพืชแต่ละชนิดจะมีอัตราการผสมไม่เท่ากัน อย่างถ้าน้ำหมัก 1 ลิตร กับน้ำ 10 ลิตร ใช้กับพืช ไม้ผล แต่ถ้าเป็นพืชผักใบสวนครัวควรผสมในอัตรา 1 ต่อ 20
นอกจากนั้น ยังมีการปลูกพืชสมุนไพรหลายชนิดที่สำคัญ เพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรคแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน แล้วยังต่อยอดด้วยการนำสารจากสมุนไพรเหล่านั้นมาผลิตเป็นสารป้องกันและไล่แมลง แล้วยังมีการก่อสร้างโรงอบสมุนไพรพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย
เครื่องมือสำคัญที่ช่วยทำให้การทำสวนผสมผสานตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเห็นผลจริงอย่างเป็นรูปธรรมคือ การจัดทำบัญชีครัวเรือน ทั้งนี้ ผลดีของการทำบัญชีครัวเรือนจะช่วยเป็นเครื่องมือในการควบคุมทิศทางการใช้จ่าย ทำให้ทราบว่าควรกำหนดรายจ่ายให้สอดคล้องกับรายรับ เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บ และควรบริหารเงินอย่างไรเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด