ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
“จำปาดะ” เป็นไม้ผลที่มีกลิ่นหอมหวานเฉพาะตัว เติบโตได้ดีในท้องถิ่นภาคใต้ พบได้ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดสตูล สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ฯลฯ ชาวบ้านนิยมปลูกไว้รับประทานและจำหน่ายผลสืบทอดกันมานานกว่าร้อยปี ปัจจุบัน จำปาดะ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวจังหวัดสตูลและสงขลา โดยนิยมปลูกต้นจำปาดะผสมผสานกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ทุกส่วนของต้นจำปาดะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ผล แปรรูปเป็นอาหารคาว หวาน เปลือกต้น ทำปุ๋ยชีวภาพได้ ไม้จำปาดะใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ไม้สอย นอกจากนี้ ใบและเนื้อไม้จำปาดะ ยังใช้ทำสีย้อมผ้าได้ ฯลฯ
“จำปาดะ” เป็นพืชป่า
จําปาดะ จัดอยู่ในวงศ์ (Family) Moraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus integer (Thunb.) Merr. มีชื่อสามัญว่า Champedak ชาวใต้เรียกสั้นๆ ว่า “จําดะ” เป็นพืชป่าที่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปในป่าแถบภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และพม่า
จำปาดะ เป็นไม้ยืนต้นลักษณะคล้ายขนุน แต่มีขนาดผลเล็กกว่า ลำต้นสีน้ำตาลและมักมีจุดสีขาวตลอดทั้งต้น ใบและผลของจําปาดะคล้ายขนุน ใบจะมีปุยขนสั้นๆ หากจับดูจะรู้สึกระคายมือ ผลมีลักษณะรูปทรงยาวบ้างสั้นบ้างขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ผลดิบเปลือกแข็ง มียางสีขาวขุ่นแทรกซึมอยู่ตามเปลือก ผลสุกเปลือกนิ่มและมียางน้อยลง เนื้อยวงเหลว รสหวานแหลม มีกลิ่นหอมมากกว่าขนุน สีผิวเปลือกเมื่อแก่ใกล้จะสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีรสชาติหวานหอม และหวานแหลม จำปาดะในแต่ละยวงมีเมล็ด 1 เมล็ด ทั้งนี้ยวงจำปาดะมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีเหลืองทอง เหลืองอ่อน เหลืองอมส้ม
การปลูก จําปาดะ
จำปาดะเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทราย ที่มีอินทรียวัตถุสูง มีความชุ่มชื้นปริมาณการกระจายของฝนควรกระจายสม่ำเสมอตลอดปี โดยทั่วไปนิยมปลูกต้นจำปาดะในระยะห่าง 8-10 x 8-10 เมตร เฉลี่ยไร่ละ 16-25 ต้น จะให้ผลผลิต ประมาณ 150-200 ผล/ต้น ต้นจำปาดะส่วนใหญ่ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม ติดผลในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน โดยใช้วิธีสังเกต ผลสุกจึงค่อยเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขาย
จำปาดะเป็นพืชสารพัดประโยชน์
จำปาดะใช้บริโภคสด ยวงเนื้อสดๆ รสหวานจัด ลักษณะเนื้อเละเหนียว กลิ่นหอมแรง เมล็ดจำปาดะนําไปต้มรับประทานหรือเป็นวัตถุดิบผสมในแกงไตปลา หรือแปรรูปเป็นอาหารคาวหวาน เช่น จําปาดะทอด โดยยวงเนื้อของจําปาดะพร้อมเมล็ดนํามาชุบแป้งทอดคล้ายกล้วยแขก
นอกจากนี้ จำปาดะมีสรรพคุณด้านสมุนไพร จําปาดะมีเส้นใยแบบละลายน้ำ ใช้ขับไขมันและสารพิษออกจากร่างกายได้ และยังมีเบต้าแคโรทีนและน้ำตาลสูง เนื้อผลอ่อนมีรสฝาด แก้อาการท้องเสีย ผลสุกมีสรรพคุณบํารุงกําลัง และเป็นยาระบาย ส่วนเมล็ดจำปาดะ ช่วยบำรุงร่างกายและขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด แก่น เปลือก และซังของจําปาดะ
จุดอ่อนด้านการตลาด
จําปาดะ ส่วนใหญ่ขายในตลาดท้องถิ่นตามฤดูกาลระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ในอดีตชาวบ้านขายจำปาดะผลละ 10-15 บาท แต่ในปัจจุบันราคาขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท หรือประมาณลูกละ 60-120 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดฤดูกาล โดยทั่วไปชาวบ้านจะเก็บผลผลิตออกขายเองในตลาดท้องถิ่น 40% ขายผ่านพ่อค้าคนกลาง 60% ผลผลิตส่วนใหญ่ 98% ที่เข้าสู่ตลาดจำหน่ายในลักษณะผลสด มีแค่ 2% ที่นำจำปาดะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น จําปาดะทอด จําปาดะกวน ฯลฯ
สภาพปัญหาในปัจจุบัน เมื่อถึงฤดูออกผล มีจำปาดะเข้าตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ประการต่อมา กลุ่มผู้บริโภคจำปาดะมีจำนวนลดลง เนื่องจากเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญ ไม่เห็นคุณค่าของจำปาดะ กลุ่มเกษตรกรตัดโค่นต้นจำปาดะเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
วช. ส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่ม “จำปาดะ” อย่างยั่งยืน
ดร. สุวรรณี พรหมศิริ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โทร. 086-749-4961 เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากจำปาดะอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนพื้นที่ ในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ โดยนำงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบพึ่งพาตนเองให้กับชุมชนวิสาหกิจบ้านควนโดน จังหวัดสตูล และชุมชนวิสาหกิจบ้านสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมุ่งวางระบบการจัดการและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปพืชเกษตรท้องถิ่น : จำปาดะ เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากจำปาดะอย่างยั่งยืน สู่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดสตูลและสงขลา
ปัจจุบัน จำปาดะ เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสตูล เพราะมีความโดดเด่นในด้านรสชาติหวานแหลมอร่อย เนื้อแน่น เมล็ดเล็ก มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 1,260 ไร่ อำเภอควนโดน มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ประมาณ 600 ไร่ เป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย เติบโตได้ดีและทนต่อความแห้งแล้ง ปัจจุบัน จังหวัดสตูล มีการจดทะเบียนจำปาดะพันธุ์พื้นเมืองแล้ว 6 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ขวัญสตูล, ทองเกษตร, วังทอง, ดอกโดน, น้ำดอกไม้, พญาวัง ให้ผลผลิตระหว่างเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายนของทุกปี ราคาจำหน่ายจำปาดะในตลาดท้องถิ่น กิโลกรัมละ 50-60 บาท ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจัดฐานเรียนรู้เรื่องจำปาดะ ด้านการแปรรูปผลผลิต เช่น คุกกี้จำปาดะ ขนมหม้อแกงจำปาดะ เค้กจำปาดะ ฯลฯ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดต้นทุนเกษตรกรผู้ปลูกจำปาดะ
“ผู้เข้ารับการอบรมจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีรายได้หลักมากกว่า 10,000 บาท/เดือน การนำจำปาดะไปใช้ย้อมสีผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิม “ดาหลาปาเต๊ะ” สร้างรายได้หลักและรายได้เสริมไม่ต่ำกว่า 4,000-10,000 บาท/เดือน นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการอบรมการแปรรูปไม้จำปาดะ มีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายสินค้า เช่น เก้าอี้ไม้ ได้ตัวละ 1,200 บาท ม้านั่งยาว 8,000-12,000 บาท มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เข้าไปถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปจำปาดะเป็นผลิตภัณฑ์ขนมให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมุสลิมมะห์เบเกอรี่ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการขายขนมจำปาดะในช่วงเดือนรอมฎอนมากกว่า 100,000 บาท” ดร. สุวรรณี กล่าว
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน ณ กลุ่มแปรรูปจำปาดะเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร จังหวัดสงขลา โดยมี ดร. สุวรรณี พรหมศิริ หัวหน้าโครงการ นำเสนอผลการดำเนินงานภายใต้แผนงานจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์จากจำปาดะเพื่อสร้างให้เป็นพืชเศรษฐกิจอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นชุมชนอย่างยั่งยืน
ชี้ช่องรวย ด้วยผลิตภัณฑ์ขนม จาก “จำปาดะ”
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมุสลิมมะห์เบเกอรี่ ตั้งอยู่ เลขที่ 2/1 บ้านควนโดนใน มี นางวนิดา อุจิ หรือ กะฉ๊ะ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิก 35 คน ได้นำจำปาดะผลไม้ประจำถิ่นมาเป็นส่วนประกอบในการทำขนมที่มีรสชาติอร่อยน่ารับประทาน เช่น ขนมหม้อแกงจำปาดะ ขนมเค้กจำปาดะ สมูทตี้จำปาดะ เอแคลร์จำปาดะ ขนมโรลล์จำปาดะ และอีกหลากหลายที่มีจำปาดะเป็นส่วนประกอบในการทำขนม หากใครสนใจไอเดียสร้างอาชีพในลักษณะนี้ ขอแนะนำสินค้าขายดี ที่ใครๆ ก็นำไปทำได้ ไม่ยาก ยกตัวอย่าง เช่น
ขนมหม้อแกงเมล็ดจำปาดะ
ส่วนผสมประกอบด้วย
– ไข่เป็ด 10 ฟอง
– เมล็ดจำปาดะ 1 ถ้วย
– หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
– น้ำตาลปี๊บ 1 ถ้วยตวง
– เกลือ 1 ช้อนชา
– แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
– ใบเตย 5 ใบ
– หอมแดง 5 หัว
– น้ำมันพืช 1 ถ้วยตวง
วิธีทำ
1. ซอยหอมแดง เจียวให้เหลืองพักไว้ เอาน้ำมันเจียวไปทาถาดสำหรับอบขนม
2. เปิดเตาอบ เอาน้ำใส่ถาดสำหรับรองถาดอบขนม ประมาณ 1/2 ของถาด
3. ใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ด 10 ฟอง ขยำรวมกับน้ำตาลปี๊บ ใบเตย ให้เข้ากันกรองด้วยผ้าขาวบาง
4. นำหัวกะทิ 2.5 ถ้วยตวง ผสมกับแป้งข้าวเจ้าและเกลือใส่เครื่องปั่นรวมกับเมล็ดจำปาดะต้มสุกแล้ว เทผสมกับส่วนผสมในขั้นตอนที่ 3 ตีให้ส่วนผสมเข้ากัน
5. ตักส่วนผสมที่ได้ใส่ลงในถาดที่ทาด้วยน้ำมันหอมเจียวไว้และอบในเตาขณะที่ยังร้อนๆ
6. นำเข้าเตาอบ ที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส จนขนมหม้อแกงสุก
เค้กจำปาดะ
ส่วนผสมประกอบด้วย
– แป้งเค้ก 500 กรัม
– น้ำตาลทราย 600 กรัม
– เบคกิ้งโซดา 1.5 ช้อนโต๊ะ
– เกลือ 0.5 ช้อนชา
– ผงฟู 1.5 ช้อนโต๊ะ
– น้ำมันพืช 500 กรัม
– นม 200 กรัม
– ไข่ไก่ เบอร์ 0 จำนวน 5 ฟอง
– เนื้อจำปาดะ 500 กรัม
– น้ำสะอาด 100 กรัม
วิธีทำ
1. นำเนื้อจำปาดะปั่นผสมกับไข่และน้ำสะอาดจนได้เนื้อละเอียด
2. แป้งเค้ก น้ำตาลทราย เบคกิ้งโซดา เกลือ ผงฟู ผสมตีด้วยความเร็วต่ำสุด เพื่อไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วค่อยๆ เร่งความเร็วจนถึงระดับสูงสุด ตีนาน 3 นาที ปิดเครื่อง
3. นำทั้งสองส่วนมาผสมรวมกัน ตีต่อด้วยความเร็วต่ำสุดพอเข้ากัน
4. เทใส่พิมพ์รองด้วยกระดาษไข นำไปอบที่ไฟบน-ล่าง 170 และ 39-45 องศาเซลเซียส จนเนื้อเค้กสุก
กาปงจำปาดะ
ส่วนผสมประกอบด้วย
– เนื้อจำปาดะ 100 กรัม
– แป้งข้าวเจ้า 200 กรัม
– กะทิ 500 มิลลิลิตร (ใช้หัวและหางกะทิผสมกัน)
– น้ำตาลทรายขาว 240 กรัม
– ผงฟู 5 กรัม
– ยีสต์ 2 ช้อนชา
– มะพร้าวทึนทึกขูด 200 กรัม และ
– เกลือสำหรับคลุกกับมะพร้าวทึนทึก โรยหน้าขนม
วิธีทำ
1. ผสมแป้งข้าวเจ้ากับผงฟู ร่อนสลับกันไปมา 2 ครั้ง ทำหลุมตรงกลาง ใส่ยีสต์และน้ำตาลพักไว้
2. นำเนื้อจำปาดะไปปั่นรวมกับกะทิจนละเอียด ใส่หม้อตั้งไฟคนพออุ่น
3. นำส่วนผสมจากข้อ 2 เทผสมกับส่วนผสมในขั้นตอนที่ 1 ค่อยๆ ใช้ตะกร้อมือตีจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน พักไว้ 1 ชั่วโมง
4. นำถ้วยตะไล ใส่ลังถึงนึ่งจนร้อนแล้วตักส่วนผสมของนมที่พักไว้ ลงในถ้วยตะไล แล้วนำไปนึ่งต่ออีก 15 นาที จนสุก ตักออกจากถ้วย
5. นำมะพร้าวทึนทึกขูดฝอย ใส่ภาชนะนึ่ง 10 นาที จากนั้นนำมาคลุกกับเกลือ ไว้สำหรับโรยหน้าขนม
วุ้นกรอบจำปาดะ
ส่วนผสมประกอบด้วย
– เนื้อจำปาดะ 100 กรัม
– น้ำตาลทรายขาว 400 กรัม
– น้ำสะอาด 2 ถ้วยตวง (480 กรัม)
– ผงวุ้น 2 ช้อนโต๊ะ
– แป้งเท้ายายม่อม 2 ช้อนโต๊ะ
– เครื่องปั่นผสมอาหาร และตู้อบลมร้อน (ถ้าไม่มี สามารถใช้วิธีตากแดดแทนได้ )
วิธีทำ
1. นำเนื้อจำปาดะผสมกับน้ำสะอาด ปั่นให้ละเอียดด้วยเครื่องผสมอาหาร
2. ผสมเนื้อจำปาดะที่ได้กับผงวุ้นในหม้อ คนให้ผงวุ้นละลายก่อนนำขึ้นตั้งไฟกลาง สังเกตเมื่อส่วนผสมใส จึงค่อยใส่น้ำตาลทรายคนอย่างต่อเนื่องจนน้ำตาลทรายละลายหมด
3. เคี่ยวต่อจนสารละลายเหนียวหนืดขึ้น
4. แป้งเท้ายายม่อมละลายน้ำเล็กน้อย เทใส่ลงในหม้อเป็นสาย ใช้ทัพพีคนๆ ให้เข้ากัน พอแป้งสุกและส่วนผสมวุ้นเดือดอีกครั้ง ปิดไฟแล้วยกลงจากเตา
5. เทใส่พิมพ์ ขนาดกว้าง 7×7 นิ้ว ตั้งไว้จนแข็งตัว ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที
6. นำออกจากพิมพ์ ตัดเป็นชิ้นๆ ใส่ถาด แล้วนำเข้าตู้อบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือนำไปตากแดด ประมาณ 4 แดด หรือจนกว่าวุ้นจะแข็งตัว
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ.2562