หนุ่มอยุธยา เพาะเห็ดตับเต่า ขาย พืชพื้นถิ่น ตามฤดูกาล สร้างรายได้

ในพื้นที่ ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลระบุในเอกสารหลายแห่ง ว่าเป็นพื้นที่ที่มีเห็ดตับเต่าขึ้นมากที่สุด

คุณดนัย ภาคีฉาย หนุ่มกรุงเก่าโดยกำเนิด เรียนจบทางด้านการตลาด ก่อนจะทำงานดูแลระบบคลังสินค้าไม่ไกลจากบ้านมากนัก ทุกๆ วัน คุณดนัยจะไปทำงานที่บริษัท และกลับบ้านในเวลาเย็น คุณดนัยอยู่กับแม่เพียง 2 คน ดังนั้น การดูแลแม่และทุกๆ สิ่งที่แม่ทำ คือ หน้าที่ของคุณดนัย

คุณดนัย ภาคีฉาย และ คุณแม่สนอง ภาคีฉาย

คุณดนัย อาศัยอยู่กับแม่ คือ คุณสนอง ภาคีฉาย ที่หมู่ 6 ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลายปีแล้ว ที่คุณดนัยมีรายได้สองทาง เป็นรายได้จากการทำงานประจำ และอีกทางคือ การเพาะเห็ดตับเต่าขาย

เห็ดตับเต่าตูม
เห็ดตับเต่าตูม รอการจำหน่าย

เห็ดตับเต่า
เห็ดตับเต่า

“ผมไม่อยากเรียกว่าเพาะ เพราะเห็ดตับเต่าเป็นพืชพื้นถิ่นที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่บังเอิญว่า เห็ดตับเต่า ขึ้นในที่ดินของเรา และเรามีเทคนิคที่ช่วยทำให้เห็ดตับเต่าขึ้นได้ดี สามารถเก็บขายได้เป็นกอบเป็นกำ”

อดีตคุณดนัยบอกว่า ไม่มีใครรู้ว่าเห็ดชนิดนี้กินได้หรือไม่ จนกระทั่งมีคนทางภาคอีสานมารับซื้อ เริ่มขายได้ ก็รู้ว่ารับประทานได้และหายาก เมื่อถึงฤดูกาลที่เห็ดออกตามธรรมชาติ ชาวบ้านก็เก็บขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ เป็นรายได้เสริมในทุกปี และเป็นรายได้เสริมที่ได้มาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ของแต่ละปี ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น

เห็ดตับเต่าที่เตรียมจำหน่าย

ช่วงที่ฝนเริ่มตกหนัก ราวเดือนกันยายนเป็นต้นไป น้ำจะท่วมขึ้นมาบนพื้นที่ที่มีต้นโสนอยู่ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลสามเรือนจะรอให้น้ำลดลงจนแห้ง ประมาณต้นเดือนมกราคม เมื่อน้ำแห้งลงสนิท เกษตรกรจะเข้าตัดต้นโสนที่แก่ออกทั้งหมด ให้เหลือพื้นที่โล่ง อาจเหลือเมล็ดโสนที่หล่นตามพื้นดินบ้าง ก็จะเป็นเมล็ดพันธุ์ทำให้เกิดต้นโสนขึ้นมาอีก

ในช่วงนี้ คุณดนัย บอกว่า พื้นที่ของบ้านที่มีต้นโสนและเห็ดตับเต่าขึ้น ซึ่งปรับแต่งพื้นที่ให้โล่งแล้ว คุณดนัยและแม่ได้วางระบบสปริงเกลอร์ระยะห่าง 1.20 เมตร รดน้ำให้ชุ่ม ต้นโสนจะเจริญเติบโตขึ้นมาเอง ระหว่างนี้ต้นโสนจะเริ่มค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับวัชพืช เกษตรกรจะรอให้ต้นโสนสูงประมาณ 2 เมตร จากนั้นเข้ากำจัดวัชพืชด้วยการถอน ไม่สามารถใช้สารกำจัดแมลงใดๆ ได้ เพราะเห็ดตับเต่าเป็นพืชที่ไวต่อสาร หากมีสารเคมีมากระทบ จะไม่เจริญเติบโต

คุณแม่สนอง ภาคีฉาย ที่งานวันเห็ดตับเต่า เมื่อหลายปีก่อน

คุณดนัย ต้องการดูแลให้ระบบสปริงเกลอร์ใช้งานได้นาน จึงถอดหัวสปริงเกลอร์ออกในช่วงที่น้ำท่วม เมื่อน้ำลด จึงนำหัวสปริงเกลอร์มาต่อเข้าที่เดิมก่อนจะเริ่มใช้งาน นอกจากนี้ ยังใช้แรงงานเดินรดน้ำด้วยสายยาง ในจุดที่ระบบสปริงเกลอร์เข้าไม่ถึง

หลังจากถางพื้นที่จนโล่งแล้ว ควรรดน้ำทุกวัน เพื่อให้ดินมีความชื้น แต่ถ้ามีฝนตกบ้างอาจจะเว้นระยะการรดน้ำ 2-3 วัน ต่อครั้ง ส่วนวัชพืชก็ควรดูแลไม่ให้ขึ้นรก ควรกำจัดออกอย่างสม่ำเสมอ หากปล่อยไว้จะแย่งอาหารของเห็ด ทำให้ได้ปริมาณเห็ดตับเต่าน้อย

เมนูผัดกะเพราเห็ดตับเต่า
การหมักน้ำเชื้อ ใส่ถังปิดฝา

เมื่อต้นโสนสูงประมาณ 2 เมตร จะเริ่มมองเห็นเห็ดตับเต่า ระหว่างนี้ดูแลด้วยการรดน้ำ กำจัดวัชพืช และคอยระวังแมลงที่จะมาทำลายต้นโสน หากปล่อยทิ้งไว้ให้กัดกินต้นโสนเสียหาย จะส่งผลต่อเห็ดตับเต่าที่เจริญเติบโตด้วย

คุณดนัย บอกว่า ในอดีตไม่พบโรคหรือแมลง แต่ปัจจุบันมีหนอนเข้ามาทำลายต้นโสนจำนวนมาก วิธีกำจัดของเกษตรกรคือ การจับหนอนออกจากแปลงเพียงวิธีเดียว

นอกจากนี้ โสนที่เจริญเติบโตขึ้นมา ควรถอนทิ้งบ้าง เพื่อให้มีช่องว่างระหว่างต้นให้แสงส่องถึงเห็ดตับเต่า จะช่วยให้เห็ดตับเต่าเจริญเติบโตได้ดี

คลองย่อย แยกจากคลองใหญ่ ใกล้บ้าน

เมื่อเห็ดชุดแรกเจริญเติบโตขึ้น คุณดนัยและแม่จะไม่เก็บเห็ดตับเต่าชุดแรกจำหน่าย ปล่อยให้เห็ดตับเต่าบานแล้วเก็บมาหมักกับน้ำ ทำเป็นน้ำเชื้อสำหรับใช้บำรุง เพื่อเพิ่มปริมาณเห็ดตับเต่า ซึ่งการหมักใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ บางสูตรหมักเห็ดตับเต่ากับเหล้าขาว หมักไว้ 1 สัปดาห์ แล้วนำไปรดให้ทั่วดงโสน จะช่วยเพิ่มปริมาณเห็ดตับเต่าได้เช่นกัน

คุณดนัย บอกว่า บางบ้านนำน้ำหมักเห็ดตับเต่าไปจำหน่าย มีคนมาซื้อไปเป็นหัวเชื้อเห็ดตับเต่า บ้างก็ขึ้นดี บ้างก็ไม่ขึ้น

เดินท่อสปริงเกลอร์ในแปลง

“โดยปกติจะเก็บเห็ดตับเต่าที่ตูมขายเท่านั้น เมื่อเห็ดตับเต่าบานจะขายไม่ได้ ทำให้มีช่วงระยะเวลาของการขายเห็ดตับเต่าที่น้อย ราคาจึงสูง แต่ระยะหลังเริ่มมีคนมารับซื้อเห็ดตับเต่าบานไปทำหัวเชื้อ ทำลูกบอลเห็ด เอาไว้ไปปลูก ซึ่งผมไม่รู้ว่านำไปปลูกแล้วจะขึ้นหรือไม่ขึ้นอย่างไร แต่ก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถขายเห็ดตับเต่าที่บานแล้วได้ราคา จากเดิมที่เก็บไปทำน้ำหมักได้เพียงอย่างเดียว”

ในการเก็บเห็ดตับเต่าแต่ละครั้งได้มากถึงวันละ 40-50 กิโลกรัม ช่วงที่เห็ดเจริญเติบโตได้ดี เก็บได้มาก 80-90 กิโลกรัมต่อวัน เห็ดตับเต่าที่เก็บจำหน่ายได้จะเริ่มเก็บในปริมาณน้อยไปถึงมาก และค่อยๆ ลดจำนวนลง ในระยะเวลา 3-4 เดือน ที่เห็ดตับเต่าให้ผลผลิตเท่านั้น

ต่อท่อเข้าแปลง
วางระบบสปริงเกลอร์ในแปลงโสน

ราคาจำหน่ายต่ำสุด อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท และเคยขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาท เมื่อคิดมูลค่าของการจำหน่ายเห็ดตับเต่าในช่วงฤดูกาล ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมที่ดีมากทีเดียว

การจำหน่าย จำหน่ายผ่านพ่อค้าที่มารับซื้อบริเวณใกล้เคียง ไม่ต้องกังวลว่าจะขายไม่ได้ เพราะพ่อค้าจากภาคอีสานมารอรับซื้อจำนวนมากในทุกฤดูกาล

โสนสูงพอ รอเห็ดตับเต่าแทงขึ้นมา

ทุกปี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะจัดงานวันเห็ดตับเต่าขึ้น มีพ่อค้าแม่ค้าซึ่งเป็นเกษตรกรโดยตรงจากตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน นำเห็ดตับเต่าไปจำหน่ายภายในงาน มีการประกวดเห็ดตับเต่า ซึ่งแปลงเห็ดตับเต่าของคุณดนัยเคยได้รับรางวัลมาแล้ว

แม้ว่าจะเป็นพืชท้องถิ่นที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่ก็เป็นพืชชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้มาก แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้เห็นว่าสร้างรายได้ได้เสมอ

ทุ่งโสน ที่เห็ดตับเต่าขึ้น
บ่อน้ำ มีโสนขึ้นรอบ
มุมแปลงโสน
เห็ดตับเต่าที่บานแล้ว

 

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2564