“เทพสถิต สวนอินทผลัม” พัฒนาต่อยอด เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ช็อป ชิม ชิล ครบจบในสวนเดียว ที่ชัยภูมิ

หากพูดถึงผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง เจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งแบบทะเลทราย อย่าง อินทผลัม และได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อวงการผลไม้ในประเทศไทยได้ประมาณ กว่า 10 ปีแล้ว เกษตรกรมากมายต่างให้ความสนใจเนื่องจากเป็นพืชกระแสมาแรงในขณะนั้น อีกทั้งมีราคาที่หอมหวาน กิโลละไม่ต่ำกว่า 600-700 บาท นำไปสู่การสร้างรายได้ให้ผู้ปลูกเป็นอย่างดี ผู้ปลูกอินทผลัมในระยะแรกยังมีไม่มาก แต่เมื่อภายหลังตลาดเริ่มมีความชัดเจนขึ้นและมีราคาขายที่ไม่สู้ดีนัก จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรหลายรายต่างหันมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม จากแทนที่จะเป็นสวนอินทผลัมเพียงอย่างเดียว ก็ปรับปรุงทำให้เป็นสวนผสมผสาน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปในตัวเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า และเพิ่มฐานลูกค้าใหม่จากนักท่องเที่ยว

คุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือ พี่แจ็ค เจ้าของ เทพสถิต สวนอินทผลัม ตั้งอยู่เลขที่ 212 หมู่ที่ 12 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อดีตทำธุรกิจทัวร์ ผันตัวเองเป็นเกษตรกรทำสวนผสมผสานบนพื้นที่ 16 ไร่ โดยมีอินทผลัมเป็นพืชหลัก สร้างรายได้จำนวน 150 ต้น และปลูกไม้ผลผสมผสาน เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาให้ได้มีผลไม้นานาชนิดให้เลือกชิมกันตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนสายพันธุ์หายาก ฝรั่ง ลิ้นจี่ หรืออะโวกาโด สายพันธุ์แท้จากประเทศนิวซีแลนด์ รวมถึงมะม่วงยายกล่ำ ของดีเมืองนนท์ และอื่นๆ อีกมากมาย ก็มีครบจบที่สวนแห่งนี้ เรียกได้ว่านักท่องเที่ยวที่ได้แวะเวียนเข้ามาแล้วไม่ผิดหวัง ท่านจะได้ทั้งความหลากหลาย ได้ความผ่อนคลายสบายใจ ได้อิ่มท้อง และได้รูปถ่ายสวยๆ กลับไปอวดคนที่บ้านได้หลายใบอย่างแน่นอน

คุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือ พี่แจ็ค

ปลูกอินทผลัม 150 ต้น ควบคู่ทำสวนผสมผสาน
ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มช่องทางการตลาด

พี่แจ็ค เล่าว่า ที่เทพสถิต สวนอินทผลัม แห่งนี้ เริ่มปลูกอินทผลัมมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว เรื่องของราคาและสถานการณ์การตลาดขึ้นลงเป็นไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เจ้าของสวนอย่างตนจะทำได้ดีที่สุดคือการริเริ่มเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ที่จะทำอย่างไรไม่ให้สิ่งที่ตั้งใจทำมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี สูญเปล่าก็คือ การเพิ่มแนวคิดจากทำสวนเชิงเดี่ยวก็ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จัดสรรพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของสวนดั้งเดิมไว้คือ มีอินทผลัมเป็นพระเอกของสวน และมีผลไม้ชนิดอื่นๆ เป็นนางเอกควบคู่กันไป ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นทางรอดที่ดีสำหรับทุกสวนที่กำลังมีแนวคิดอยากจะพัฒนาสวนเพิ่มเติม และนอกเหนือจากการพัฒนาต่อยอดทำสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างยังดำเนินไปได้คือเรื่องของการทำสวนแบบลดต้นทุนให้ได้

คุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือ พี่แจ็ค

โดยที่สวนใช้ระยะเวลาลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ กว่าจะประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง ทั้งในเรื่องของการคัดสรรสายพันธุ์อินทผลัม รวมถึงผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่นำมาปลูกในสวนได้อย่างลงตัว จนสรุปได้ว่า อินทผลัมสายพันธุ์กินผลสดที่เหมาะสำหรับการนำมาปลูกในประเทศไทยที่สุด คือ สายพันธุ์บาฮี ซึ่งเปรียบได้เหมือนกับการปลูกทุเรียนหมอนทอง และนอกเหนือจากสายพันธุ์บาฮีแล้ว ภายในสวนยังมีสายพันธุ์อื่นๆ เช่น บาฮีแดง ซุคคารี่ อัมเอ็ดดาฮาน ฟาร์ด เป็นต้น ซึ่งเป็นการปลูกแบบเพาะเนื้อเยื่อทั้งหมด โดยสายพันธุ์บาฮี ต้นอายุ 7 ปี ให้ผลผลิตกว่า 130 กิโลกรัม ต่อต้น ราคาขายหน้าสวน ณ ปัจจุบัน กิโลกรัมละ 400 บาท และคาดการณ์ตลาดในอนาคตข้างหน้าราคาอาจจะลดลงมาอีก เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกที่มากขึ้น ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น นับเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนผลไม้ชนิดอื่นๆ เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการ ลดต้นทุนคือเรื่องสำคัญ

 

วิธีการปลูก

ระยะปลูกทั่วไป ประมาณ 8×8 เมตร หรือ 10×10 เมตร ตามความเหมาะสม หลังจากปลูกแล้วต้องให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะน้ำ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต้องให้สม่ำเสมอ โดยมีการคำนวณการให้น้ำตามอายุต้น หากอายุน้อยจะให้น้ำ ประมาณ 30-40 ลิตร ต่อวัน แต่หากต้นอายุมากขึ้นจะปรับเพิ่มปริมาณน้ำตามสัดส่วนที่เหมาะสม ในหน้าแล้งอินทผลัมจะต้องการน้ำ ประมาณ 150 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน และถ้าจะให้ดีกว่านี้ต้องให้น้ำถึงวันละ 200 ลิตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพพื้นดินของแต่ละที่ด้วย หากพื้นที่ปลูกเป็นดินเหนียวให้น้ำมากไปก็จะทำให้เกิดโคนเน่าได้

การให้ปุ๋ย ส่วนใหญ่จะเป็นสูตรปุ๋ยที่ผสมขึ้นมาเองจากประสบการณ์ที่ทดลองผิดลองถูก จนได้สูตรที่เหมาะกับของที่สวน เริ่มต้นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จจะเริ่มใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 เดือนละ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม แล้วเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนจะเริ่มใส่ปุ๋ยสะสมอาหาร สูตร 15-10-25 ปริมาณ 2 กิโลกรัม 1 รอบ สลับใส่กับสูตร 8-24-24 อีก 1 รอบ เพื่อเตรียมต้น ก่อนถึงช่วงออกดอก

สวนสะอาดเป็นระเบียบ ง่ายต่อการจัดการ

เมื่อเข้าสู่ช่วงออกดอก หรือเริ่มแทงจั่น จะใช้ปุ๋ยสูตร 10-10-25 ใส่ตามสถานการณ์ หรือ 10-15-25 ช่วงออกดอก แล้วเมื่อเห็นช่อดอกออกมาจำนวนที่ตั้งเป้าไว้แล้วสักประมาณ 15 ช่อ หรือออกมาได้ประมาณ 8-9 ช่อ จะเริ่มใช้สูตรข้างหน้าสูง ซึ่งสวนอื่นจะไม่นิยมใช้สูตรตัวหน้าสูงในช่วงนี้ แต่ที่สวนได้มีการทดลองมาแล้วว่าได้ผล จึงมีความมั่นใจที่จะใช้สูตร 21-10-21 เพื่อให้ช่อสมบูรณ์

และช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 120-130 วัน ถ้าขนาดของผล สีผล และความหวานได้ ก็จะใช้สูตร 15-10-25 คือสรุปแล้วปุ๋ยต้องใช้ทุกเดือนเหมือนเดิม เดือนละ 2 กิโลกรัม เท่ากับ 1 ปี พืชต้องได้กินปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 24 กิโลกรัม บวกกับปุ๋ยคอกขี้วัว ประมาณ 4 กระสอบ กระสอบละ 20 กิโลกรัม เริ่มใส่ช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเดือนกันยายน และใส่อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ตอนที่เริ่มแทงช่อดอก

ปัญหาโรคแมลง มีโรคทางใบนิดหน่อย เนื่องจากที่สวนจะไม่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรา และในส่วนของแมลงมีด้วงบ้างเล็กน้อย ซึ่งที่สวนจะกำจัดด้วยวิธีการสังเกตเห็นแล้วค่อยกำจัด และพยายามทำโคนต้นให้สะอาดเพื่อให้สะดวกในการจัดการ มองเห็นโรคและแมลงศัตรูพืชได้ง่าย

สวนสะอาดเป็นระเบียบ ง่ายต่อการจัดการ

“มือใหม่หัดปลูก” บริหารจัดการสวนให้อยู่รอด
ปัจจัยหลักคือองค์ความรู้ และการจัดการแรงงาน

เจ้าของบอกว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้ปลูกอินทผลัมรายเก่าถือว่ารอดตัวไป อยู่ในจุดที่ตลาดไปได้เรื่อยๆ มีลูกค้า หรือพ่อค้าแม่ค้าประจำแล้ว แต่สำหรับมือใหม่ที่กำลังปลูกก็ยังมีหวัง เริ่มต้นปลูก 50-70 ต้น ถือว่ากำลังดี ปลูกไม่เยอะ จัดการได้ง่าย ทำการตลาดก็ง่ายกว่ารายใหญ่ๆ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ปลูกอาจต้องอาศัยฝีมือในการบริหารจัดการสวนอย่างไรให้ได้ต้นทุนต่ำ เพื่อรับมือในสถานการณ์ที่ราคาไม่เป็นดั่งใจหวัง เพราะการปลูกถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ตายตัวแล้ว หรืออาจจะดัดแปลงนิดหน่อยก็ไม่ผิดสูตร แต่พอหลังจากผลผลิตออกมาแล้วเกษตรกรต้องประเมินและวิเคราะห์ศักยภาพตนเองแล้วว่ายังจะไปต่อได้ไหม และที่สำคัญผู้ปลูกต้องคำนวณตัวเลขออกมาให้ได้ว่า หลังปลูกได้ระยะหนึ่ง ผลผลิตที่ได้คุ้มกับต้นทุนและทำกำไรได้หรือไม่ สองคือ การเลือกสายพันธุ์มาปลูกให้ถูกต้องไม่หลงทาง หากเป็นพันธุ์กินผลสด ให้ดูแหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ แหล่งน้ำต้องเพียงพอ และสาม ทำการตลาดได้หรือไม่ หรือชุมชนตรงนั้นมีศักยภาพเป็นอย่างไร หากอยู่ที่ใกล้แหล่งชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวก็ค่อนข้างที่จะได้เปรียบขึ้นมานิดนึง และต้องประเมินตนเองด้วยว่ามีความชำนาญด้านการทำตลาดมากน้อยแค่ไหน หากไม่ชำนาญต้องเรียนรู้เพิ่มเพื่อรับมือ เพราะฉะนั้นการลดต้นทุนในการผลิตถือเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีปัจจัยเบื้องต้นดังนี้

เด็ดชิมได้เลย

1.สำคัญที่สุดคือด้านแรงงาน สวนไหนมีแรงงานดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ทั้งในด้านของการประหยัดต้นทุนแรงงานแทนที่ต้องใช้คนมาก แต่ถ้าหากแรงงานมีประสิทธิภาพ มีองค์ความรู้ก็ไม่ต้องมีหลายคนก็ได้

“ยกตัวอย่างสวนอินทผลัม 2 สวน ที่มีพื้นที่ปลูกเท่ากัน และปลูกสายพันธุ์เดียวกัน สวนที่ 1 ใช้แรงงานจัดการสวน 10 คน แต่สวนที่ 2 ใช้แรงงานจัดการสวนเพียง 5 คน ต้นทุนก็ไม่เท่ากันแล้ว ทั้งนี้ ก็เกิดได้จากการมีทรัพยากรแรงงานที่มีความรู้จึงสามารถใช้แรงงานที่น้อยกว่า และประสิทธิภาพที่มากกว่าเมื่อเทียบกับสวนที่มีแรงงานมากแต่แรงงานยังขาดองค์ความรู้”

และอีกข้อสำคัญคือ แรงงานทุกคนต้องมีวินัย ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย

เลี้ยงชันโรง สร้างระบบนิเวศภายในสวน

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือขั้นตอนการผสมเกสร ถ้าเกิดเราไม่มีวิธีจัดการบริหารที่ดี ลูกน้องไม่มีความรู้ ไม่ตั้งใจทำงานในขั้นตอนการผสมเกสรก็จะทำให้เห็นได้ชัดว่า บางครั้งการผสมเกสรชุดเดียวกัน ผสมพร้อมกันวันเดียวกัน แต่คนนึงผสมติดอีกคนผสมไม่ติด ก็ต้องมาดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะบางครั้งผสมแล้วไม่ติดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องของสภาพอากาศ ทิศทางของลม หรือเกิดจากการละเลยของคนงาน ที่ทำไปแค่ให้งานเสร็จแต่ไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาทีหลัง”

  1. เจ้าของสวนจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ประกอบด้วยอีกระดับหนึ่ง หากเจอแมลงศัตรูพืชจะป้องกันอย่างไร
  2. พยายามทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ทำงานซ้ำซ้อน

“ยกตัวอย่างวิธีการมัดช่อของที่สวน จะใช้ถุงขาวห่อชั้นใน ซึ่งวิธีนี้จะถือเป็นการทำงานซ้ำซ้อน เพราะเมื่อต้นสูงขึ้น ถ้าเราไปมัดที่ต้นเขาแบบเดิมๆ ที่เคยทำมา ลูกที่ร่วงลงมาจะไปตุงที่ก้นถุงแล้วจะทำให้เน่า พอเกิดการเน่าเราก็ต้องเอาคนขึ้นไปคายออก แล้วเอาผลเน่าลงมา นี่คือทำงานซ้ำซ้อนล่ะ ผมเลยคิดวิธีว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งการใช้ถุงมัดช่อก็เพื่อป้องกันแมลงวันทอง แล้วถ้าลองเปลี่ยนวิธีมัดแบบทิ้งไว้ให้มีช่องว่างพอที่ลูกร่วงจะตกลงพื้นเองได้จะดีไหม ผมก็เลยไปนั่งสังเกตดูว่าแมลงวันทองสามารถบินแนวดิ่งขึ้นไปได้ไหม ผลปรากฏว่าแมลงวันทองเข้าไปไม่ได้ เราก็เลยมัดวิธีนี้ จากขึ้นบนทำให้เน่าเสียเนี่ยเขาร่วงลงพื้นเลยเราก็แค่บริหารจัดการที่โคนต้นอย่างเดียว แทนที่จะต้องขึ้นไปเก็บข้างบน ก็น่าจะเป็นอีกวิธีนึงที่ช่วยลดต้นทุนได้”

  1. การพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง และที่สวนเลือกที่จะพัฒนาทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นับเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง ทำให้สถานการณ์ภายในสวนดีขึ้นมาก ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากที่ตนเคยประกอบธุรกิจทัวร์มาก่อน แล้วตกผลึกได้ว่าที่ผ่านมาโดยมากอินทผลัมจะทำแบบเชิงเดี่ยว แต่ในเมื่อที่สวนของเราได้เปรียบเรื่องสถานที่ มีพื้นที่รอบข้างเป็นธรรมชาติที่สวยงาม และอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวดังอย่างทุ่งดอกกระเจียว จึงคิดว่าหากลองเพิ่มศักยภาพตรงนี้ก็น่าจะไปได้สวย และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับมือใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นปลูกก็ยังพอมีหวัง เริ่มต้นปลูกน้อยๆ สามารถอยู่ได้หากแม้ในสถานการณ์ที่ราคาลดมาเหลือ กิโลกรัมละ 100-200 บาท ก็ยังอยู่ได้สบาย คืนทุนตั้งแต่ 2 ปีแรกที่ให้ผลผลิต ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นผลผลิตต้องได้ผลดีด้วย

พี่แจ็ค และภรรยา (พี่แป้ง)

“เทพสถิต สวนอินทผลัม”
พร้อมเปิดบริการนักท่องเที่ยว
ช็อป ชิม ชิล ตลอดทั้งปี

“สำหรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของที่สวน ณ ตอนนี้ที่สวนค่อนข้างที่จะมีความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะพยายามจัดการให้มีผลผลิตออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมตลอดทั้งปีสลับหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน ที่สวนจะทำให้ลิ้นจี่และมะม่วงยายกล่ำไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยวก่อน ส่วนอินทผลัมจะเริ่มให้ผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม และเมื่อหมดฤดูกาลของอินทผลัม ก็ยังมีผลไม้อีกนานาชนิดไว้รองรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี”

สอบถามรายละเอียด สั่งซื้ออินทผลัมคุณภาพได้ที่ คุณภีมพัฒน์ ภาณุพลเพชรรัตน์ หรือ คุณแจ็ค โทรศัพท์ 081-874-5788 หรือดูกิจกรรมต่างๆ ในสวนได้ที่ fb:เทพสถิต สวนอินทผลัมเพจ