ทุเรียนเมืองตรัง หอม เหนียว หวาน มัน สวรรค์แห่งผลไม้เมืองร้อน

เกษตรกรอำเภอรัษฎา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ลองกอง มังคุด และทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน เป็นสวนหลังบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือน เหลือจากการบริโภคก็นำไปขายในตลาดชุมชน บางรายปลูกมากก็จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปจำหน่าย

การเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ คุณมานิตย์ สุวรรณรัตน์ เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนจนประสบความสำเร็จในจังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารา อยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเขาไพร ตัดสินใจปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางพารา ทั้งหมด 17 ไร่ หันมาปลูกทุเรียน ได้รับผลผลิตดี มีคุณภาพ ขายได้ราคาสูง สามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกยางพารา ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความสนใจหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น จึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน

คุณมานิตย์ สุวรรณรัตน์ เกษตรกรที่สร้างแรงจูงใจในการปลูกทุเรียนจนประสบความสำเร็จ

สำนักงานเกษตรอำเภอรัษฎา จึงดำเนินการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพ ชื่อกลุ่มทุเรียนเมืองพระยา วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการปลูกทุเรียน การดูแลรักษา ด้านการตลาด การลงแขกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมกลุ่ม จำนวน 30 ราย

ลักษณะเด่นของทุเรียนอำเภอรัษฎา มีคุณภาพ เกรด A คือ หนามเล็ก เปลือกบาง เนื้อแห้ง รสชาติหอม หวาน เหนียว  มัน

การปลูกทุเรียนของกลุ่มเน้นหลักธรรมชาติในการดูแลรักษา ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ น้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์สลับปุ๋ยเคมีเพื่อปรับสภาพดิน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

เนื่องจากพื้นที่ปลูกทุเรียนตั้งอยู่ที่ตำบลเขาไพร และตำบลหนองบัว เป็นพื้นที่ราบสูงอยู่ใกล้เทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำทำให้น้ำที่เกษตรกรนำมาใช้เพื่อการเกษตรมีความสะอาด เพราะไม่ผ่านแหล่งชุมชน

 

การบริหารจัดการแปลง
ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่

การเตรียมดิน คุณมานิตย์ สุวรรณรัตน์ แนะนำให้เตรียมดินไถตากดิน หว่านโดโลไมท์ หว่านปอเทือง ไถกลบ

การปลูกพื้นที่เนินสูง ระยะปลูก 9×9 เมตร วางระบบน้ำโดยวางท่อเมนระหว่างแถว และมีท่อซอยไปหาลำต้น โดยทุเรียนเริ่มปลูกถึง 3 ปี ใช้สปริงเกลอร์ 1 หัว/ต้น การพรางแสง ใช้ตาข่ายพรางแสง หรือปลูกกล้วยเพื่อพรางแสง ตัด แต่งรากต้นพันธุ์ที่คดงอก่อนปลูก ขุดหลุมปลูกและวางต้นพันธุ์ให้ลึกประมาณครึ่งถุง นำดินมากลบให้เสมอปากถุง ปลูกต้นพันธุ์ห่างจากหัวสปริงเกลอร์ 90 เซนติเมตร

การปลูกที่ราบ ระยะปลูก 9X9 เมตร สร้างเนินดินแบบหลังเต่า ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน (ความสูงเนิน 0.75-1 เมตร หลังดินยุบตัว) วางระบบน้ำ พรางแสง ปลูกต้นพันธุ์บนเนินให้ลึกประมาณครึ่งถุง

ปีที่ 1 การให้น้ำ ให้ทุกวันในปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง แต่อย่าให้ดินแฉะ

การให้ปุ๋ย ปุ๋ยหมัก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อัตราการใส่ 5-10 กิโลกรัม/ต้น

ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอเดือนละ 1 ครั้ง อัตราการใส่ 1 ช้อนโต๊ะ/ต้น หว่านปุ๋ยห่างจากโคนต้น 1 คืบ ในทุเรียน 1-2 เดือน และเมื่อทุเรียนเริ่มสร้างทรงพุ่มให้หว่านปุ๋ยให้กระจายรอบนอกทรงพุ่ม ให้น้ำปริมาณเล็กน้อยหลังใส่ปุ๋ย ระวังอย่าให้น้ำไหลชะล้างปุ๋ย

การจัดการโรคแมลงศัตรูพืช สำรวจแมลงอย่างสม่ำเสมอ แมลงปีกแข็ง ใช้วิธีจับทำลายในตอนกลางคืน เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น

เทคนิคการเสริมรากให้ต้นทุเรียนแข็งแรง

ปีที่ 2 การให้น้ำ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อนจัดให้น้ำทุกวัน อากาศปกติให้วันเว้นวัน การให้ปุ๋ย ปุ๋ยหมัก 2 ครั้ง/ปี ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ ครึ่งกิโลกรัม/ต้น รอบทรงพุ่มทุก 45 วัน ให้น้ำปริมาณเล็กน้อยหลังใส่ปุ๋ย

โรคแมลงศัตรูพืช เพลี้ยไฟพบระยะยอดอ่อน เพลี้ยไก่แจ้พบระยะใบเพลาด ทำให้ใบหยิกงอ ใช้เชื้อ        บิวเวอเรีย น้ำส้มควันไม้ หรือสารเคมีในการกำจัด

ปีที่ 3 การให้น้ำ เหมือนปีที่ 2 การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยหมัก 2 ครั้ง/ปี ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ อัตรา 1.5-2 กิโลกรัม/ต้น ทุก 2 เดือน

โรคแมลงศัตรูพืช เพลี้ยไฟ ไรแดง และเพลี้ยไก่แจ้

ปีที่ 4 การให้น้ำ เหมือนปีที่ 2 การให้ปุ๋ย ปุ๋ยหมัก 2 ครั้ง/ปี ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 2 ครั้ง/ปี

ครั้งที่ 1 กันยายน อัตรา 3 กิโลกรัม/ต้น ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน อัตรา 3 กิโลกรัม/ต้น สูตร 8-24-24 อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ในระยะหางแย้ สูตร 13-13-21 อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ใส่ในระยะหลังดอกบาน 45 วัน และก่อนเก็บเกี่ยว 45 วัน อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง

โรคแมลงศัตรูพืช เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยไก่แจ้ โรครากเน่า โคนเน่า กำจัดโดยถากบริเวณโคนและใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า หรือยาป้องกันเชื้อรา

 

วิธีการคัดเลือกต้นพันธุ์

คุณมานิตย์ แนะนำให้เลือกกิ่งกระโดงมาปลูก เพราะมีลำต้นตรง มีกิ่งรอบทิศ

การขยายพันธุ์ (ปลูกต้นตอในแปลง)

เลือกยอดจากต้นพันธุ์ อายุ 10 ปีขึ้นไป

นำมาเสียบข้างเมื่อต้นตอมีอายุ 1.5-2 ปี (ไม่เกิน 3 ปี)

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่เกษตรร่วมสนับสนุน

ผลผลิต และรายได้/ไร่

คุณมานิตย์ เล่าให้ฟังว่า ทุเรียนของกลุ่มมีลักษณะเด่นคือมีกลิ่นหอม เหนียว หวาน มัน เนื้อแห้ง และเปลือกบาง เนื้อมีความเนียน นุ่ม น้ำหนักเฉลี่ยต่อผล 2-6 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 2,500 กิโลกรัม/ไร่   เก็บเกี่ยวผลผลิตต้นเดือนกรกฎาคม

การตลาด กลุ่มจะลงแขกกันเก็บเกี่ยวทุเรียน และรวบรวมผลผลิตไปส่งพ่อค้าคนกลางเพื่อส่งออก

สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ อำเภอรัษฎา และช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยไม่ต้องจ้างคนเก็บเกี่ยว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2564