อควาโปนิกส์ เทคโนโลยีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน

ในสมัยก่อน การปลูกพืชและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นการทำเกษตรเพื่อการดำรงชีวิต ภายในครัวเรือน แต่ทุกวันนี้ ธุรกิจการปลูกพืชและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีโอกาสทำกำไรได้ดี จึงเกิดผู้ประกอบการธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเพาะปลูกเชิงการค้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสร้างปัญหาน้ำเสียที่ระบายออกมาสู่สิ่งแวดล้อม

จึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น การปลูกพืชไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เรื่องการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการผสมผสานระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเทคโนโลยี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นที่มาของการเลี้ยงปลาแบบอควาโปนิกส์

“คนไทยคุ้นเคยกับระบบปลูกพืชแบบไร้ดินที่เรียกว่า ไฮโดรโปนิกส์ แต่หลายคนไม่รู้จัก ระบบอควาโปนิกส์ อันที่จริงแล้วทั้งไฮโดรโปนิกส์ และอควาโปนิกส์ เป็นรูปแบบการปลูกพืชที่ใกล้เคียงกัน “อควาโปนิกส์” มาจาก คำว่า Aquaculture ซึ่งเป็นการปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้น อควาโปนิกส์ จึงหมายถึง การรวมระบบของการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์น้ำเข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันทำได้โดยการเลี้ยงปลาแบบน้ำไหลเวียนร่วมกับการปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์” อาจารย์ดุสิต เอื้ออำนวย ภาควิชาผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าว

วิธีนี้ทำให้พืชได้รับสารอาหารที่เป็นของเสียจากบ่อปลา ประเภทธาตุอาหารหลัก เช่น ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงพืชตลอดระยะการเพาะปลูก เทคโนโลยีอควาโปนิกส์ แตกต่างกับระบบไฮโดรโปนิกส์ที่ใส่ปุ๋ยให้แก่พืช หลักการทำงานของวิธีอควาโปนิกส์ คือ เวลาเลี้ยงปลา มักมีของเสียจากปลา (เมื่อเลี้ยงไปนานๆ ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ) จึงนำน้ำเลี้ยงปลาซึ่งมีสารแอมโมเนีย (NH3) และของเสียที่ตกค้างในบ่อเลี้ยงปลาเมื่อนำมารดพืชผักจะถูกย่อยสลายกลายเป็นสารอาหารบำรุงพืชผักต่อไป

การบำบัดน้ำเสียของระบบอควาโปนิกส์

น้ำเสียจากการเลี้ยงปลาและสิ่งปฏิกูลจากการขับถ่ายของปลา ที่อยู่ในกลุ่มสารแอมโมเนีย อาทิ แอมโมเนีย (NH3) ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (F) ฯลฯ ถูกใช้เป็นปุ๋ยให้กับการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายน้ำ โดยรากพืชและจุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณรากพืช จะใช้สิ่งปฏิกูลของปลามาเป็นธาตุอาหาร บริเวณรากพืชจะมีแบคทีเรียบางชนิด เช่น Nitrifryting bacteria ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามบริเวณกรวดหินและรากพืช ทำหน้าที่เปลี่ยนสารประกอบแอมโมเนีย (NH3) ให้กลายเป็นสารประกอบพวกไนไตร์ต (NO-2) ไนเตรต (No-3) ตามลำดับ โดยพวกไนไตร์ต (NO-2) และไนเตรต (No-3) พืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ ทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงปลามีปริมาณแอมโมเนียลดลง (NH3) สามารถนำน้ำมาใช้ได้อีก

คุณนิพนธ์ จิตตำนาน นักวิทยาศาสตร์ ประจำภาควิชาเทคโนโลยีผลิตสัตว์และประมง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การปลูกพืชและเลี้ยงปลาระบบอควาโปนิกส์ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ บ่อปลากับแปลงปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเมือง หรือบริเวณพื้นที่จำกัด เช่น การทำสวนหลังบ้าน อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนในเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง การปลูกพืช-เลี้ยงปลาต้องสัมพันธ์กัน แต่ในต่างประเทศสามารถทำได้เพราะเป็นเขตเมืองหนาว ผักที่ปลูกมีราคาแพง เช่น ผักสลัด แต่คนไทยสามารถทำเองได้สำหรับปลูกผักกินเองในครัวเรือน โดยเฉพาะพืชผักสวนครัวหรือผักกินใบ เพราะมีไนเตรตสูง

หลักการทำงานของระบบนี้คือ เวลาเลี้ยงปลา มีน้ำเสียและของเสียจากปลา จึงนำน้ำเสียของปลามารดน้ำผัก พืชผักใช้ของเสียจากปลาเป็นปุ๋ยบำรุงต้น เป็นการบำบัดน้ำเสียให้กับปลา โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ ทั้งนี้ แนะนำการทำอควาโปนิกส์แบบ Grow Bed (GB) โดยให้บ่อปลาอยู่ต่ำสุด

อุปกรณ์ 

  1. ท่อ พีวีซี 13.5 นิ้ว
  2. ปั๊มน้ำ 600 วัตต์
  3. อ่างน้ำ ขนาดบรรจุ 2,500 ลูกบาศก์เมตร
  4. กระบะปลูกพืช 2 กระบะ
  5. หินกรวด ถ่าน
  6. ซาแรน

ขั้นตอนในการทำ

  1. เตรียมกระบะเพาะ โดยนำซาแรนวางล่างสุดของกระบะเพาะ จากนั้นนำหินกรวด ถ่านไม้ วางลงไป
  2. นำท่อ ขนาด 13.5 นิ้ว ยาว 1 เมตร และท่อรูปตัว L นำมาต่อกัน
  3. นำปั๊มน้ำเสียบ ต่อเข้ากับท่อทางน้ำเข้า
  4. เจาะท่อพ่นน้ำเป็นไซเรน ไว้รดน้ำต้นไม้
  5. นำไบโอบอลไว้อ่างน้ำล่างสุด ไว้สำหรับกรองน้ำ
  6. นำเมล็ดมาหว่านลงกระบะเพาะ นำปลามาปล่อย

 ข้อดีของระบบอควาโปนิกส์

อควาโปนิกส์ เป็นศาสตร์การผสมผสานเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของการเลี้ยงปลาและการเพาะปลูกพืชผักแบบไม่ใช้ดิน สรุปข้อดีจากระบบอควาโปนิกส์ ได้ดังนี้

– ใช้น้ำน้อยลง เมื่อเทียบกับการเพาะปลูกพืชจากระบบปกติน้อยลงถึง 90%

– หมดปัญหาวัชพืช และปัญหาแมลงน้อยลง

– ไม่ต้องรดน้ำ

– ไม่ต้องใส่ปุ๋ย

– ไม่ต้องปักชำ ขุดดิน

– ลดต้นทุนจากการเพาะปลูก โดยเฉพาะค่าปุ๋ยสำหรับพืช เมื่อเทียบการซื้อปุ๋ยสำหรับปลูกพืชในระบบไฮโดรโปนิกส์ 1 กิโลกรัม ซึ่งมีราคาแพงกว่าการซื้ออาหารปลา 1 กิโลกรัม สำหรับใช้ในระบบอควาโปนิกส์

– ความคุ้มค่าในการทำเกษตรในระบบอควาโปนิกส์ เพราะได้ทั้งปลาและพืชผักเพื่อการบริโภคในเวลาเดียวกัน

– ระบบอควาโปนิกส์ช่วยในการเลี้ยงปลาควบคู่ปลูกผัก (ผักสวนครัว ผักออร์แกนิก ผักสลัด และผักสมุนไพร)

หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ คุณนิพนธ์ จิตตำนาน ภาควิชาผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โทรศัพท์ 02-329-8504, 02-329-8507 และ 02-329-8517

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2561

Update 09/09/2021