ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง จังหวัดระยอง แหล่งเรียนรู้สร้างอาชีพเกษตรตามพระราชดำริ

ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ก่อตั้งจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดระยองเป็นสภาพป่าที่ถูกทำลาย ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรและประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ รายได้ของเกษตรกรลดลงเพราะขาดความอุดมสมบูรณ์ของดินและแหล่งน้ำ ประกอบกับถูกอิทธิพลของนายทุนขยายเขตการเป็นเจ้าของที่ดินเพิ่มขึ้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ประมาณ 1,300 ไร่ เพื่อส่งน้ำมายังพื้นที่ และทรงแนะนำให้จัดเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตรและศิลปาชีพพิเศษแก่ราษฎร มีที่ตั้งศูนย์อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย เป้าหมายจำนวน 35 หมู่บ้าน 5 ตำบล ในอำเภอปลวกแดง และนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง รวมถึงพื้นที่อำเภออื่นๆ ในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ

ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ ดำเนินงานในลักษณะเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยกิจกรรมการเกษตรที่น่าสนใจ ได้แก่

1.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดระยอง (พืชสวน) ให้บริการความรู้ในการประกอบอาชีพการเกษตร ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเห็ด การกรีดยางพารา การผลิตน้ำส้มควันไม้ การพัฒนาสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ และการขยายพันธุ์พืช

2.สถานีพัฒนาที่ดินระยอง ได้มีการจัดฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และสารสกัดจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้ไล่แมลงศัตรูพืชแก่เกษตรกร

3.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ดำเนินงานด้านการศึกษา ทดสอบ/วิจัยพืชเศรษฐกิจและระบบการปลูกพืช ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยจัดทำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงพืชพลังงานทดแทน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เนื้อที่ 19 ไร่ แปลงพันธุ์ยางพารา เนื้อที่ 4 ไร่ รวมถึงการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ การผลิตและการใช้ปุ๋ยหมักแห้ง การผลิตและการใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ การส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ และด้านเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่

4.ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปลวกแดงจังหวัดระยอง สาธิตการเลี้ยงสัตว์แบบธรรมชาติ และการเลี้ยงสัตว์แบบอาหารสัตว์อินทรีย์ อาทิ การเลี้ยงโคแบบธรรมชาติ การเลี้ยงนกกระจอกเทศพันธุ์คอน้ำเงิน การเลี้ยงกวางพันธุ์ฟอลโล และการเลี้ยงแพะพันธุ์พื้นเมือง และจัดทำศูนย์เรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยกิจกรรมการสาธิตการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการปลูกพืชและการประมง มีการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงโค และแพะ รวมทั้งไก่พื้นเมือง ห่านจีน และเป็ดบาร์บารี จัดการฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและการสร้างเครือข่ายไก่พื้นเมืองการเลี้ยงเป็ด ไก่ รวมทั้งการเลี้ยงโคเนื้อและปลูกพืชอาหารสัตว์

Advertisement

5.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดระยอง มีความเชี่ยวชาญในการผลิตพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำเขาระโอก และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ รวมทั้งให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ สุขภาพสัตว์น้ำจืด และให้คำแนะนำปรึกษาด้านการวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมการเลี้ยงปลาดุกและปลากินพืช จัดการฝึกอบรมเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กบ ให้แก่เกษตรกร

6.ศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าวชลบุรี จัดทำแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ 10 ไร่ ถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ข้าว โรค แมลง ศัตรูข้าวและการป้องกันกำจัด วิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว

Advertisement

7.สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ระยอง เสริมสร้างทักษะความชำนาญในการจัดทำบัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรและผู้สนใจ และสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอาชีพ

8.โครงการชลประทานระยอง จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) ในพื้นที่ของตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานหมู่ที่ 1 บ้านแม่น้ำคู้ และกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานหมู่ที่ 2 บ้านหนองมะปริง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรได้นำความรู้ไปใช้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพอย่างดี โดยอันดับแรกคือ การปรับปรุงรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชให้ดีขึ้น รองลงมาคือ ปรับปรุงพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำเกษตรกรรมยั่งยืน และรวมกลุ่มในการจำหน่ายสินค้า โดยเกษตรกรที่ผ่านการอบรมยังมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลอื่นต่อไป เช่น การผลิตพืชอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก การทำนา การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่นำความรู้ไปปฏิบัติ เพื่อลดการใช้สารเคมีและผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง สามารถลดต้นทุนทางการเกษตรได้เฉลี่ยรายละ 8,900 บาทต่อปี และมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรบางส่วนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลง หรือไม่สามารถทำการเกษตรได้

ทั้งนี้ ภาครัฐโดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง จะเร่งจัดหาแหล่งน้ำสำรองและแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของศูนย์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการได้อย่างเต็มที่ต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ.2564

……………………….