“ศรีสะเกษ 84” หม่อนพันธุ์ดี ที่กรมหม่อนไหมแนะนำ

แปลงปลูกหม่อนศรีสะเกษ 84

หม่อน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากเกษตรกรจะต้องบริหารจัดการแปลงหม่อนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ใบหม่อนที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไหมแล้ว การเลือกใช้พันธุ์หม่อนพันธุ์ดีก็เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตได้ ปัจจุบันมีพันธุ์หม่อนที่เกษตรกรนิยมปลูกหลายพันธุ์ อาทิ พันธุ์สกลนคร พันธุ์บุรีรัมย์ 60 พันธุ์นครราชสีมา 60 พันธุ์ศรีสะเกษ 33 พันธุ์น้อย และพันธุ์คุณไพ เป็นต้น ล่าสุด ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ กรมหม่อนไหม ได้ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์หม่อนพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 1 พันธุ์ คือ พันธุ์ “ศรีสะเกษ 84” (ศก 84) และประกาศให้เป็นพันธุ์หม่อนแนะนำของกรมหม่อนไหม เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 นี้

คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม
คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม

คุณอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ ได้ใช้ระยะเวลาในการปรับปรุง พันธุ์หม่อนศรีสะเกษ 84 นานถึง 19 ปี ซึ่งหม่อนพันธุ์ใหม่นี้ เดิมชื่อ พันธุ์ SRCM9105-46 เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างหม่อนพันธุ์นครราชสีมา 60 เป็นแม่พันธุ์กับหม่อนพันธุ์ S1 เป็นพ่อพันธุ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ได้เมล็ดพันธุ์หม่อนจำนวนหนึ่งนำไปเพาะเมล็ดในถุงชำ จนได้ต้นกล้าหม่อน จำนวน 83 ต้น (พันธุ์) เมื่อต้นกล้าอายุได้ ประมาณ 3 เดือน นำลงปลูกในแปลงคัดเลือกพันธุ์ และผ่านขั้นตอนการเปรียบเทียบผลผลิตในเบื้องต้น โดยมีหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และพันธุ์นครราชสีมา 60 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบมาตรฐาน

ใบหม่อนศรีสะเกษ 84
ใบหม่อนศรีสะเกษ 84

นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบผลผลิตใบในท้องถิ่นต่างๆ 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ทั้งยังเปรียบเทียบผลผลิตใบหม่อนในแปลงเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ จังหวัดละ 2 แปลง พร้อมทดสอบความทนทานต่อโรคราสนิมหม่อนในสภาพแปลงปลูก ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคราสนิมอย่างรุนแรง มีการทดสอบคุณค่าทางอาหารในใบหม่อนโดยการเลี้ยงไหม วิเคราะห์คุณค่าทางอาหารในใบหม่อน และทดสอบการออกรากจากท่อนพันธุ์ด้วย ถือเป็นหม่อนอีกหนึ่งพันธุ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคราสนิมหม่อน และการให้ปริมาณผลผลิตใบต่อไร่สูง

หม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 84 มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตใบสูงถึง 1,740 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี ในพื้นที่ของเกษตรกรในเขตเกษตรอาศัยน้ำฝน  และสามารถนำไปเลี้ยงไหมได้ดีไม่แตกต่างจากหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 อีกทั้งยังทนทานต่อโรคราสนิมหม่อนดีกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ถึง 18.88% เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่จะนำพันธุ์ไปปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยยกระดับรายได้ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้

ทั้งนี้ หม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 84 เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคราสนิมในภาคเหนือ เช่น จังหวัดน่าน และภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร เป็นต้น แต่หม่อนพันธุ์นี้มีข้อจำกัดคือ ไม่ทนทานต่อโรครากเน่า หากจะขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ ควรใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือน ขึ้นไป จะมีเปอร์เซ็นต์รอดหลังปักชำสูง

หม่อนไหมสร้างงานทำเงินให้เกษตรกร
หม่อนไหมสร้างงานทำเงินให้เกษตรกร

อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าวอีกว่า     หม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 84 เป็นพันธุ์หม่อนที่มีคุณภาพใบใกล้เคียงกับหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 โดยใบหนาปานกลางและอ่อนนุ่ม จากผลวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารในใบหม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 84 พบว่า มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน 22 คาร์โบไฮเดรต 46.4% ไขมัน 3.5% เส้นใยหยาบ 11.5% และเปอร์เซ็นต์เถ้า 12.8% เมื่อนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน พบว่า ผลผลิตรังไหม ได้น้ำหนักเปลือกรัง 1 รัง อยู่ที่ 14.6 เซนติกรัม ให้เปอร์เซ็นต์เปลือกรัง 12.5% เปอร์เซ็นต์เลี้ยงรอดวัยอ่อน 89.5% เปอร์เซ็นต์เข้าทำรัง 96.4% และมีเปอร์เซ็นต์ดักแด้สมบูรณ์ 90.1%

ปัจจุบัน ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ มีแปลงพันธุ์หม่อนศรีสะเกษ 84 จำนวน 2 ไร่ และอยู่ระหว่างเร่งขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรองรับความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่จะนำพันธุ์ไปใช้ ซึ่งจากการขยายพันธุ์หม่อนศรีสะเกษ 84 จำนวน 20,000 ถุง ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ได้ประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้มีแมลงหวี่ขาวมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากท่อนพันธุ์หม่อน ทำให้ท่อนพันธุ์แห้งตายและเสียหายทั้งหมด ขณะนี้ศูนย์ได้ปรับปรุงเทคนิคการผลิตท่อนพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีการติดตาบนท่อนพันธุ์ ล็อตนี้มี จำนวน 15,000 ถุง ซึ่งคาดว่า ภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะสามารถแจกจ่ายกิ่งพันธุ์ให้กับเกษตรกรที่ต้องการนำไปปลูกได้ และปี 2560 คาดว่า จะผลิตกิ่งชำหม่อนพันธุ์นี้ได้ไม่น้อยกว่า 20,000 ถุง

เกษตรกรมีงานทำจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
เกษตรกรมีงานทำจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ขณะเดียวกันยังมีแหล่งขยายพันธุ์หม่อนศรีสะเกษ 84 ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ และที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา รวมพื้นที่ 2.5 ไร่ คาดว่า จะสามารถผลิตท่อนพันธุ์ป้อนให้กับเกษตรกรได้ ปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ท่อน

“เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มนำหม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 84 ไปปลูกแล้ว อาทิ เกษตรกรในอำเภอพะยุห์ และอำเภอภูสิงห์ ซึ่งเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจที่หม่อนศรีสะเกษ 84 แตกยอดดีและแตกยอดได้ทั้งปี ทำให้สามารถเก็บผลผลิตใบเลี้ยงไหมได้ตลอดปีด้วย  นอกจากนั้น ยังค่อนข้างทนแล้งดีกว่าหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

ผ้าไหมสวยๆ จากการปลูกหม่อน
ผ้าไหมสวยๆ จากการปลูกหม่อน

อย่างไรก็ตาม หากสนใจ “พันธุ์หม่อนศรีสะเกษ 84” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (045) 916-659 ในวันและเวลาราชการ