“มะละกอ พืชเศรษฐกิจ สร้างเงิน สร้างอาชีพ”

เกษตรกรนิยมปลูกมะละกอเป็นพืชเดี่ยว และปลูกในลักษณะสวนผสมผสาน บนเนื้อที่ปลูกเฉลี่ย รายละ 5-25 ไร่ เกษตรกรกว่า 60% นิยมปลูกมะละกอพันธุ์แขกดำ รองลงมาคือ พันธุ์แขกนวล 18% พันธุ์ฮอลแลนด์ (ปลักไม้ลาย) 8% และพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นมะละกอที่กลายพันธุ์มาจากมะละกอพันธุ์แขกดำเป็นหลัก และพันธุ์ต่างประเทศ เช่น พันธุ์ฮาวาย พันธุ์เรดเลดี้ และพันธุ์พื้นเมืองไทย

การปลูกมะละกอแบบไม่ยกร่อง ช่วงก่อนให้ผลผลิต มีต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 1,123 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน เมื่อมะละกอให้ผลผลิตแล้ว จะมีต้นทุนการผลิตประมาณ 990 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน แต่ละภาคมีต้นทุนการผลิตไม่แตกต่างกันมากนัก และภาคใต้มีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างพันธุ์ที่ปลูกพบว่า พันธุ์ฮอลแลนด์ (ปลักไม้ลาย) เกษตรกรใช้ต้นทุนสูงกว่าพันธุ์แขกดำ กว่า 50% เพราะราคาต้นพันธุ์สูงกว่า และการดูแลรักษาดีกว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามที่พ่อค้าต้องการ

ส่วนการปลูกมะละกอแบบยกร่อง มีต้นทุนก่อนให้ผลผลิตเกือบ 2,000 บาท ไร่ ต่อเดือน และกว่า 1,700 บาท ต่อไร่ ต่อเดือน หลังให้ผลผลิตแล้ว เมื่อคำนวณออกมาเป็นต้นทุนต่อกิโลกรัมทั้งแบบยกร่องและไม่ยกร่องแล้ว มีต้นทุนไม่เกิน 2 บาท ทั้งนี้ในกรณีที่ผลผลิตไม่เสียหายจากโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน

ด้านตลาดในภาพรวม ราคาจำหน่ายที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ คือ 5 บาท ต่อกิโลกรัม มะละกอฮอลแลนด์ (ปลักไม้ลาย) ผลสุกเป็นพันธุ์ที่ขายได้ราคาสูงที่สุด เฉลี่ยสำหรับคุณภาพดีที่สุด ขายได้ 12.4 บาท กิโลกรัม รองลงมาคือ พันธุ์แขกดำผลสุก คุณภาพดีที่สุด 8.7 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับพันธุ์แขกนวล ซึ่งส่วนใหญ่ขายเป็นผลดิบ และมะละกอผลสุก ส่งโรงงาน 4.2 บาท ต่อกิโลกรัม ราคามะละกอจะปรับตัวสูงประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน   ช่วงภาวะราคาตกต่ำประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม ซึ่งเป็นระยะที่มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก แต่โรงงานแปรรูปไม่รับซื้อ เพราะไม่ใช่ช่วงที่จะผลิตสินค้า ส่วนมะละกอผลดิบ มีราคาปานกลางช่วงต้นปี ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่มีราคาดี ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และอยู่ในภาวะราคาตกต่ำ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม  โดยทั่วไปเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกมะละกอเพื่อขายตลาดสดมากกว่าป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เพราะไม่มีข้อจำกัดมากนัก โดยมีสัดส่วนการขายผลสุกเข้าโรงงานเพียง 16% ในการปลูกมะละกอสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรต้องการปลูกมะละกอส่งโรงงาน ต้องมีพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ไม่ห่างจากโรงงานเกิน 200 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับปลูกมะละกอได้หลายรุ่น เพื่อเก็บผลผลิตได้มากกว่า 3 ตัน ต่อครั้ง

หากคำนวณความเสี่ยงในการลงทุนปลูกมะละกอ หากพิจารณาจากต้นทุนการผลิต นับได้ว่ามะละกอมีต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น และมีโอกาสทำกำไรค่อนข้างสูง หากสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวนได้ จุดเด่นประการต่อมาคือ มะละกอปลูกดูแลง่าย ใช้วิธีการหยอดเมล็ดและเพาะกล้าย้ายปลูก โดยปลูกในลักษณะพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกผสมผสานก็ได้ ขายผลผลิตได้ทั้งผลดิบและผลสุก ด้านตลาดโรงงานอุตสาหกรรม ต้องการใช้มะละกอเป็นวัตถุดิบแปรรูปในหลายลักษณะ เช่น อบแห้ง และ Fruit cocktail บรรจุกระป๋อง นอกจากนี้ มะละกอเป็นพืชอายุสั้น จากวันที่เพาะเมล็ดจนถึงเริ่มเก็บเกี่ยว ใช้ระยะเวลาปลูกดูแลเพียงแค่ 9 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ต่อเนื่องหลายเดือน

จุดเสี่ยงสำคัญของการปลูกมะละกอคือ อ่อนแอต่อโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน เปรียบเหมือน “โรคเอดส์มะละกอ” อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้พันธุ์มะละกอคุณภาพดีและวิธีเขตกรรม นับเป็นทางเลือกที่ช่วยป้องกันได้ โรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถใช้สารเคมีในการควบคุมโรคได้

การควบคุม “เพลี้ยอ่อน” ซึ่งเป็นแมลงพาหะ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะแปลงปลูกมะละกอของเกษตรกรมักมีขนาดเล็ก ล้อมรอบด้วยไม้ผลหรือพืชอื่นๆ ที่เป็นแหล่งอยู่อาศัย เพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่เป็นโรคเชื้อไวรัสจะติดอยู่กับส่วนปาก แมลง เมื่อเพลี้ยอ่อนย้ายไปดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่ไม่เป็นโรค ก็จะถ่ายเชื้อไวรัส การถ่ายทอดโรคนี้ใช้เวลาสั้นมาก เมื่อต้นมะละกอได้รับเชื้อไวรัส ประมาณ 15-30 วินาที ก็จะแสดงอาการของโรคทันที

ที่ผ่านมา เกษตรกรนิยมใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ฉีดพ่นที่แปลงปลูกก่อนที่จะปลูกมะละกอ และฉีดสารเคมีป้องกันเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของไวรัส และคอยหมั่นตรวจดูเพลี้ยอ่อน เมื่อเจอโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวนบนต้นมะละกอเพียงไม่กี่ต้น จะฉีดพ่นสารเคมีประเภทโพลคลอราซ+พิโคลนาโซน+สารโปร-พลัส No.1 เพื่อช่วยให้ต้นมะละกอฟื้นตัวได้