จาก “โค้ชสอนออนไลน์” สู่เกษตรกรปลูกพืชผสมผสาน ปลูกกล้วย-มะละกอยักษ์ ผลผลิตไม่พอขาย

หลายท่านคงคุ้นเคยหรือเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วกับคำว่า “เกษตรสร้างชาติ” ซึ่งความหมายของคำว่าเกษตรสร้างชาติในความหมายของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าหากจะให้เอ่ยจริงๆ แล้วการทำเกษตรกรรมไม่ว่าจะทำมากหรือทำน้อย ก็นับได้ว่าเป็นการสร้างชาติ สร้างชีวิต และสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ฉบับนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอ เกษตรกรตัวอย่างในยุคโควิด-19 ที่พลิกชีวิตจากโค้ชสอนออนไลน์สู่การเป็นเกษตรกร ให้เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังท้อแท้ให้ลุกขึ้นมาฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปพร้อมกัน

เกษตรปันสุข ปันน้ำใจ

คุณชัยธวัช คำแสงดี หรือ พี่ยุ้ย อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 6 บ้านภูเงิน ตำบลภูเงิน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ อดีตโค้ชสอนออนไลน์ เกี่ยวกับธุรกิจสุขภาพและความงาม ผันตัวมาเป็นเกษตรกรในยุคโควิด-19 ใช้เทคนิคการวางแผนจัดการระบบ จัดการผืนที่ก่อนปลูก รวมถึงการนำความรู้ทางด้านออนไลน์มาใช้ในการสร้างตลาด จนประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เดือนละหลายหมื่นบาทต่อเดือน

พันธุ์แขกนวล ศรีสะเกษ ลูกใหญ่ยักษ์ ใช้ตำส้มตำกรอบอร่อย หากจะกินผลสุกต้องกินช่วงที่สีเหลืองแต้มนิดหน่อย รสชาติหวานกำลังดี

พี่ยุ้ย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำอาชีพเป็นโค้ชสอนออนไลน์มาก่อน แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รอบแรก ส่งผลทำให้อาชีพประจำที่ทำอยู่ต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถเดินทางไปสอนข้ามจังหวัดได้ จึงเป็นเหตุผลให้ได้กลับมาคิดต่อว่า ในขณะที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายต้องมีทุกวัน และก็ไม่รู้อนาคตว่าเมื่อไหร่สถานการณ์โรคระบาดจะจบลง จึงได้เริ่มต้นจากการวางแผนประหยัดรายจ่าย คือการประหยัดต้นทุนค่าอาหาร หากสามารถผลิตอาหารกินเองได้ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนไปได้ส่วนหนึ่ง ด้วยการเริ่มต้นปลูกผักสวนครัวไว้บริเวณหลังบ้านเป็นแปลงเล็กๆ แต่พอได้ลงมือทำและได้คลุกคลีอยู่กับการเกษตรตรงนี้ ทำให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของพืชผักที่ปลูกเองกับมือ ก็เริ่มเกิดเป็นความผูกพันจนกลายเป็นความรักในการทำเกษตร สู่การต่อยอดหาความรู้จากยูทูป เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาการทำเกษตรให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

เกษตรปันสุข ปันน้ำใจ

 

วางแผนการปลูกอย่างเป็นขั้นตอน
ไม่ต้องมีเงินลงทุนมาก ก็สำเร็จได้

เจ้าของบอกว่า ตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตรบนพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ โดยมีการวางแผนจัดการพื้นที่ทำเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างรายได้ไว้ทั้งหมด 3 โซน ดังนี้

พืชอายุสั้นสร้างรายได้เป็นรายวัน

โซนที่ 1 แบ่งปลูกพืชอายุสั้นทำเงินเร็ว เพราะในช่วงแรกยังมีเงินทุนไม่มากจึงต้องใช้วิธีต่อยอดค่อยๆ เก็บหอมรอมริบ โดยในระยะ 5 เดือนแรกเริ่มปลูกพืชอายุสั้นบนพื้นที่เพียง 1 ไร่ เพื่อสร้างรายได้เป็นรายวัน เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู ข้าวโพดนมสด และพืชผักสวนครัวอีกหลายชนิดสลับหมุนเวียนกันไป เพื่อที่จะหารายได้ต่อยอดไปปลูกพืชระยะกลาง

กล้วยไข่ปลูกง่าย ขายคล่อง

โซนที่ 2 แบ่งปลูกพืชระยะกลาง นำเงินเก็บจากการขายพืชผักอายุสั้นมาต่อยอด โดยเน้นปลูกกล้วยและมะละกอเป็นพืชสร้างรายได้หลัก ในส่วนของกล้วยจะปลูกทั้งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยเล็บมือนาง และในส่วนของมะละกอ จะเลือกปลูกทั้งสายพันธุ์กินสุกและดิบ เช่น พันธุ์ฮอลแลนด์ ศรีสะเกษ กินสุก เนื้อแน่น หวานอร่อย และพันธุ์แขกนวล ศรีสะเกษ ลูกใหญ่ยักษ์ ใช้ตำส้มตำกรอบอร่อย หากจะกินผลสุกต้องกินช่วงที่สีเหลืองแต้มนิดหน่อย รสชาติหวานกำลังดี ซึ่งนับได้ว่าผลผลิตของที่สวนทั้งกล้วยและมะละกอเป็นที่ถูกอกถูกใจของแม่ค้า ผลิตไม่พอขาย และเป็นผลไม้ทำเงินของสวนในการนำมาต่อยอดซื้อต้นไม้นำเข้าต้นไม้แปลก เพื่อนำไปปลูกป่าในระยาวเป็นโซนที่ 3

การผสมปุ๋ยใช้เอง

โซนที่ 3 แบ่งปลูกพืชระยะยาว เน้นปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้ยางนา กันเกรา เป็นต้น และนอกจากนี้ ยังมีไม้ป่าอีกมากมายปลูกผสมผสานกันไป ด้วยแนวคิดที่อยากทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่ามีต้นไม้นานาชนิด ไว้สร้างความร่มรื่น คืนธรรมชาติสู่ป่าอีกทางหนึ่ง

 

กล้วยพืชสร้างรายได้หลัก
ปลูกง่าย ขายคล่อง ราคาดี

กล้วยหอมคุณภาพจากสวน

สำหรับเหตุผลในการเลือกปลูกกล้วยเป็นพืชสร้างรายได้หลัก พี่ยุ้ย บอกว่า เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขายคล่อง สร้างรายได้ดี และโดยส่วนตัวจะชื่นชอบปลูกกล้วยไข่และกล้วยเล็บมือนางเป็นพิเศษ เนื่องด้วยกล้วยไข่และกล้วยเล็บมือนางจะไม่ค่อยประสบปัญหาเรื่องโรค ไม่ต้องใช้ไม้ค้ำยันในการปลูก มีวิธีการปลูกดูแลไม่ยุ่งยาก แต่ถ้าหากเป็นกล้วยน้ำว้าจะมีปัญหาเรื่องโรคตายพราย จึงปลูกไม่เยอะ ส่วนกล้วยหอมทองอาจจะต้องมีความพิถีพิถันในการดูแล รวมถึงการต้องหาไม้ค้ำยันมาช่วย ทำให้เพิ่มขั้นตอนในการจัดการ  

พันธุ์ฮอลแลนด์ ศรีสะเกษ กินสุก เนื้อแน่น หวานอร่อย

 

เทคนิคการปลูก

เน้นปลูกกล้วยในระยะห่าง 4×4 เมตร ข้อดีคือเหมาะสำหรับคนทุนน้อย ปลูกกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงไปก่อน แล้วปลูกทุเรียน เงาะ ลำไย ผลไม้ตามฤดูที่เราชอบ ตามร่องที่ว่างระยะ 8×8 เมตร ระหว่างรอให้ต้นไม้โต ก็จะมีรายได้ตลอดยาวไปอีก 2-3 ปี กลายเป็นว่าพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ ที่สวนสามารถจัดสรรการใช้สอยประโยชน์ได้เต็มพื้นที่

กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต

การเตรียมดิน สำหรับปลูกกล้วยไข่การเตรียมดินไม่มีขั้นตอนอะไรมากมาย เริ่มต้นจากการไถตากดินฆ่าเชื้อทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นขุดหลุมปลูกได้เลย โดยขุดหลุมลึกแค่พอลงหน่อปลูกได้ และไม่ต้องใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก เพราะว่ามูลสัตว์จะทำให้เกิดความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อราก แต่ถ้าหากเป็นกล้วยน้ำว้าที่มีปัญหาหลักคือโรคตายพราย เพราะฉะนั้น ในขั้นตอนการปลูกจำเป็นต้องใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์ รองก้นหลุมก่อนปลูกด้วย

ผลผลิตจากสวนเตรียมส่งแม่ค้า

การดูแลรักษา
ให้น้ำอาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนการบำรุงใส่ปุ๋ยในระยะ 1-3 เดือนแรก เริ่มใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมี 6-3-3 เดือนละ 1 ครั้ง อัตราการใส่ต้นละ 1 กำมือ หลังจากนั้น เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 4-6 จะเริ่มผสมปุ๋ยใช้เองตามตารางอัตราส่วนของกรมวิชาการเกษตร เพื่อลดต้นทุน ได้ปุ๋ยเต็มสูตร ไม่เสี่ยงกับปุ๋ยปลอม โดยใช้แม่ปุ๋ย ยูเรีย 46-0-0, 18-46-0, 0-0-60 และการผสมปุ๋ยแต่ละครั้ง จะใช้โดโลไมท์มาผสมด้วยเพื่อช่วยปรับปรุงดิน เพราะการใส่แต่เคมีอย่างเดียวไปนานๆ ดินของเราจะเสื่อมได้ ถึงต้องเติมขี้ไก่ ขี้วัวทุกๆ 3-4 เดือน กล้วยและมะละกอระยะติดผล จะผสม 15-9-20 หรือ 20-8-20 ใช้ตลอดทั้งปี

เทคนิคการห่อกล้วยด้วยถุงฟอยล์

“ห่อผลกล้วย” เทคนิคช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า

สำหรับการห่อผลกล้วยถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพราะหากให้ย้อนไปช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ตอนนั้นราคากล้วยไข่ค่อนข้างถูก เหลือกิโลกรัมละ 5-6 บาท แต่ในขณะเดียวกัน กล้วยไข่ของที่สวนสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 12 บาท จากเทคนิคการห่อผลทำให้กล้วยออกมาสวยสมบูรณ์กว่าของที่อื่น แม่ค้าเห็นแล้วถูกใจ ทำที่สวนสามารถตั้งราคาเองได้ ถือเป็นวิธีที่ดีมาก แต่เกษตรกรในพื้นที่ยังไม่ค่อยนิยมทำกันแพร่หลายเพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เปลืองต้นทุน แต่จริงๆ แล้วการห่อผลกล้วยนั้นถือเป็นขั้นตอนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าแบบง่ายๆ ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้นาน อย่างของที่สวนมีการนำถุงฟอยล์มาห่อผลกล้วย โดยถุงฟอยล์ที่นำมาห่อราคาถุงละ 10 บาท สามารถใช้ได้นานเป็นปี และอีกข้อดีของการห่อฟอยล์คือสามารถทำให้กล้วยสามารถตัดได้เร็วขึ้นประมาณ 30 วัน

 

ทำอย่างไรให้ตลาดวิ่งเข้าหา

พี่ยุ้ย บอกว่า สำหรับตลาดกล้วยของที่สวนนั้นเรื่องการตลาดหายห่วงเพราะมีพ่อค้าแม่ค้าประจำเข้ามารับซื้อถึงสวน ซึ่งเทคนิคเกิดจากการใช้ความรู้ทางด้านออนไลน์ที่มีอยู่เข้ามาใช้ทำการตลาด สื่อออนไลน์คือช่องทางการแสดงตัวตนที่สำคัญ นำเสนอวิธีการที่พิเศษกว่าที่อื่น หรือเป็นช่องทางการแบ่งปันก็ได้ มีอะไรให้แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการปลูกไม้ผลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อคนในโซเชียลเห็นก็เกิดการแชร์ทำให้สวนของเรากลายเป็นที่รู้จักไปในตัว

โดยราคากล้วยไข่ของที่สวนตอนนี้ขายในราคาคงที่กิโลกรัมละ 12 บาท ไม่ขึ้นไม่ลง 1 เครือน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ส่วนกล้วยน้ำว้าขายเป็นลูก ลูกละ 1.50 บาท ผลผลิตกล้วยทุกชนิดของที่สวนออกมาได้คุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด มีสินค้าเท่าไหร่แม่ค้ารับไปหมด สามารถสร้างรายได้จากกล้วยกับมะละกอได้เดือนละ 2-3 หมื่นบาท ยังไม่รวมกับรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ผักที่สร้างรายได้เป็นรายวันอีกด้วย

คุณชัยธวัช คำแสงดี หรือ พี่ยุ้ย

 

มุมมองเกษตรสร้างชาติ

กล้วยไข่ในห่อในถุงฝอย

“การทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จข้อแรกเลยคือให้ดูที่ความชอบของตัวเองก่อน อย่างของผมเริ่มทำเกษตรจากการปลูกพืชผักสวนครัวง่ายๆ แล้วเกิดเป็นความชอบ จากนั้นข้อที่สองตามมาคือ ควรจะมีการวางแผนที่ดี ที่สวนของผมจะมีการเขียนแผนผังเพื่อการจัดสรรพื้นที่ในการปลูกพืชให้เป็นระบบก่อนปลูก ข้อที่สาม คือเราต้องศึกษาพื้นที่ ศึกษาเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย และพืชที่จะปลูกให้รู้แจ้ง และข้อที่สี่คือการลงมือทำ ลองผิดลองถูก และจับจุดให้ได้ว่าตลาดต้องการอะไรแล้วทำสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น หากทำได้ครบทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ คุณจะทำเกษตรอย่างไรก็ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญเมื่อประสบความสำเร็จแล้วอย่าลืมเรื่องของการแบ่งปัน อย่างที่บ้านผมจะทำซุ้มเล็กๆ ไว้ขายพืชผักผลไม้จากสวน หากวันไหนขายไม่หมดเราก็จะนำส่วนตรงนี้วางไว้ให้พี่น้องบริเวณใกล้เคียงมาหยิบนำไปกินได้เลย ก็เปรียบเสมือนกับตู้ปันสุข ปันอิ่มให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นเกษตรปันสุขไปในตัว” พี่ยุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

ปลูกพืชอย่างอื่นแซม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 093-325-5342 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : เกษตรผสมผสาน ดินแดนภูเขาไฟ-สวนยายหนูอินเตอร์

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2564