สรรพ์ บุญเจริญ คนเกษตรก้าวหน้า กับงานที่ยิ่งใหญ่ พัฒนาข้าวในระดับสากล

ปลายปี 2564 อากาศเย็นสบายอย่างไม่น่าเชื่อ ออกจากตัวเมืองสุพรรณบุรี มุ่งสู่อำเภอดอนเจดีย์ ไปไม่นานนัก ขวามือเป็นที่ตั้งของ บริษัท ซิตโต้ อินเตอร์เทรด จำกัด อยู่เลขที่ 272 หมู่ที่ 5 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี สังเกตุง่ายๆ คือหลังคาสีเขียว

เป้าหมายของการเดินทางคือ การสัมภาษณ์ คุณสรรพ์ บุญเจริญ ผู้จัดการขาย บริษัท ซิตโต้ อินเตอร์เทรด จำกัด เมื่อเอ่ยถึง ซิตโต้ ท่านผู้อ่านไม่น้อยจะคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ที่มีปุ๋ย และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรคุณภาพ ถือว่าเป็นผู้มีอุปการคุณกับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านอย่างมาก

 

วิจัย และพัฒนาพันธุ์ข้าว
ส่งเสริมปลูก ซื้อคืน ส่งออก

คุณสรรพ์ เริ่มให้สัมภาษณ์ว่า งานปุ๋ยและปัจจัยการผลิตยังทำอยู่ ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบไฮโดรโปนิกส์ อยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาการเจริญเติบโตของพืช

สำหรับที่สุพรรณบุรี เป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยมีที่นา 83 ไร่ครึ่ง ทำการทดสอบร่วมกับมหาวิทยาลัย เรื่องของการเก็บพันธุกรรม มีอาจารย์เป็นผู้ดูแล ทางบริษัทดูแลปัจจัยการผลิต จัดการเรื่องปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เพื่อทำอาหารคุณภาพและปลอดภัย มีความนุ่ม เวลาผ่านไป 6 เดือนแล้วก็ยังอร่อยตรงกับความต้องการของตลาด

งานวิจัยข้าวใช้เวลาไม่น้อย เมื่อได้พันธุ์ที่เหมาะสม รูปแบบการดำเนินงานของบริษัทคือทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง กับเกษตรกร คือ

หนึ่ง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ส่วนนี้ใช้ความละเอียดในการดูแล ทางบริษัทจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนราคาสูงกว่าท้องตลาด ตันละ 2,000 บาท ในกรณีที่ผลิตเมล็ดพันธุ์แล้วมีการปลอมปนใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ไม่ได้ ทางบริษัทจะซื้อคืนเพื่อสีเป็นข้าวทั่วไป ให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด ตันละ 500 บาท พันธุ์ที่เป็นของบริษัทและได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันคือ ซิตโต้เจ้าแปด และ หอมซิตโต้ นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่ตลาดต้องการ

สอง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวในท้องถิ่นต่างๆ โดยติดต่อเกษตรกรแปลงใหญ่ สหกรณ์การเกษตร แล้วซื้อผลผลิตเข้ามาแปรรูปเป็นข้าวสารในโรงสีของบริษัท ซึ่งมีกำลังการผลิต 300 เกวียน ต่อวัน ข้าวสารที่ได้ส่งจำหน่ายทั่วไป และส่งออกไปต่างประเทศ

กรณีของการส่งออกไปต่างประเทศ มีหลายประเทศสั่งซื้อ และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำไมต้องวิจัยเอง

คุณสรรพ์ อธิบายว่า ข้าวในบ้านเรามีข้าวนุ่ม ข้าวหอมนุ่ม ข้าวหอมแข็ง ข้าวแข็ง

“ข้าวหอมแข็ง ตลาดไม่ยอมรับเลยไม่มีการผลิต…ทีนี้มาดูข้าวหอมนุ่ม ตัวหลักคือขาวดอกมะลิ 105 ผลิตได้ปีละครั้ง ราคาสูง…แต่ผู้บริโภคต้องการข้าวราคาย่อมเยา ตัวรองหอมมะลิลงมาคือหอมปทุมธานี…แต่บริษัทต้องการความหลากหลาย เราต้องการผลิตข้าวหอมนุ่มราคาไม่แพง อดีตที่ผ่านมาคนกินข้าวนุ่มอย่างข้าวเจ๊กเชย เคี้ยวอร่อย ไม่กระด้าง…เราจะพบว่า ข้าวหอมนุ่มบางพันธุ์ระยะปลูกนานเกินไป ต้านทานต่อโรคและแมลงต่ำ…เรามีฟาร์มจึงต้องวิจัยเอง โดยใช้องค์ความรู้ มีตารางงาน เราตั้งเป้าก่อน ต้องการข้าวหอมนุ่ม อายุสั้น ผลผลิตสูง จึงจะตอบโจทย์ เกษตรกรอยากปลูก เราอยากส่งเสริม ผู้บริโภคชอบ งานวิจัยใช้พื้นที่ไม่มาก ปลูกในท้องร่องสวนมะม่วง นำเกสรมาผสมไขว้ ทำหลายรอบ ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องมีตารางงานชัดเจน”

คุณสรรพ์บอก และอธิบายอีกว่า

“พันธุ์ของบริษัทที่ได้มา มีซิตโต้เจ้าแปด หอมซิตโต้…แต่ก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้หอมซิตโต้เป็นพ่อ ใช้แม่เป็นหอมปทุมธานี…ความหอมของข้าวนอกจากพันธุกรรม ดินที่ปลูกแล้ว เรื่องของปุ๋ย แร่ธาตุที่ใส่ให้กับนาข้าวก็มีส่วนสำคัญ…องค์ความรู้งานวิจัยได้จากที่เราเรียนเกษตรมา และที่สำคัญมากนั้นคนที่ทำงานร่วมกับเรามีความชอบในการปรับปรุงพันธุ์ เขาใส่ใจรายละเอียดในการผสมและคัดเลือก ที่สำคัญมากนั้นเขาเคยร่วมงานกับ อาจารย์วรวิทย์ พาณิชพัฒน์ อดีตนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว”

 

ซื้อขาย ต่างจากโรงสีทั่วไป

คุณสรรพ์บอกว่า ข้าวพันธุ์ทั่วไป มีการรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริม

สำหรับพันธุ์ใหม่ๆ จะผลิตแล้วบรรจุถุงส่งให้ลูกค้าชิม เมื่อผลตอบรับว่าอร่อยก็จะขยายพันธุ์ปลูก ทำให้มีข้อแตกต่างจากโรงสีทั่วไป

แตกต่างอย่างไร

“โรงสีทั่วไปซื้อในฤดูกาล ของเรามีความหลากหลาย แทนที่จะซื้อมะลิอย่างเดียว ของเรามีมะลิทนแล้ง มะลิทนน้ำท่วม กลายเป็นข้าวนุ่มราคาย่อมเยา ตอบโจทย์พื้นที่แล้งจัด พื้นที่น้ำท่วม อย่างมะลิน้ำท่วมมีแถวพิจิตร บางระกำ ถึงเวลามีข้าวใหม่เข้าสู่โรงสีตลอด เกษตรกรปลูกข้าวไม่พร้อมกัน…เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จำหน่าย ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว อย่างซิตโต้เจ้าแปด กข 41 กข 47 กข 49 หอมซิตโต้ นอกจากนี้ยังมีผลิตข้าวเปลือกสำหรับเป็นอาหารไก่และนก เมล็ดสั้นไก่จิกกินง่าย โปรตีนสูง ชื่อพันธุ์ไข่มุก ปีหนึ่งผลิตราวหมื่นตัน” คุณสรรพ์ อธิบายและบอกต่ออีกว่า

“การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกตามต่างจังหวัด เราไปคัดเลือกพื้นที่ จากนั้นเอาเคมีภัณฑ์ไปให้ใช้ ข้าวที่ออกมารสชาติจึงแตกต่าง ดูอย่างทุเรียนระยอง จันทบุรี ลับแล ชุมพร เบตง ทั้งๆ ที่พันธุ์เดียวกันรสชาติต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นผมรู้แล้วว่า ลูกค้าของผมต้องการข้าวประมาณไหน มีความเหนียวนุ่ม จะต้องใส่ปัจจัยการผลิตอย่างไร”

คุณสรรพ์ บอกว่า แนวคิดหนึ่งที่สนใจทำมากนั้นคือ หาพันธุ์ข้าวสำหรับบดและผสมลงในกาแฟโบราณ เพื่อให้ได้รสชาติดี กลิ่นหอม

 

ฝากถึงผู้เรียนเกษตร

ในแวดวงเกษตร ถือว่าคุณสรรพ์ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำธุรกิจเกษตร

ในฐานะที่เรียนจบมาทางด้านการเกษตร จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คุณสรรพ์ฝากถึงน้องๆ ลูกๆ หลานๆ ที่เรียนเกษตรว่า หลักสูตรพื้นฐานทางการเกษตรจำเป็นต้องเรียน แต่ขณะที่เรียนต้องตั้งคำถาม หรือมีจินตนาการให้กับตัวเอง

เช่นตั้งคำถามว่า จะผลิตข้าวหอมมะลิให้ได้ผลผลิตสูง ถ้ามีคำถามหรือมีจินตนาการที่ดีก็จะมีคำตอบ มีเป้าหมาย คนที่เรียนเกษตรต้องดูท้องถิ่น อย่างอยู่ยะลา จะผลิตทุเรียนอย่างไร อยู่ปักษ์ใต้ปลูกพริกไทยดีไหมเพราะมีความชื้น อยู่อีสานนำข้าวหอมมะลิที่ป่นและหักมาทำแป้งเพื่อส่งขายดีไหม เพราะเป็นแป้งที่อร่อย หรือคนจีนกินหมั่นโถว ใช้หอมมะลิทำหมั่นโถวจะดีกว่าไหม

 

ไม่เคยหยุดนิ่ง
พัฒนาอย่างต่อเนื่อง

คุณสรรพ์ประสบความสำเร็จในงานที่ทำอย่างน่าชื่นชม แต่เขาบอกว่า มีเรื่องให้คิดและทำต่ออยู่เสมอ

เขายกตัวอย่างโรงสี

“เรื่องของโรงสี อยากให้เกษตรกลวิธาน แผนกช่าง ในสถาบันที่เปิดสอนทางการเกษตร มาศึกษากับเราก็ได้ มาดูว่าสีข้าวอย่างไรให้ดีให้สวย จากการสำรวจแรงงานดูแลโรงสี ส่วนใหญ่เป็นพม่า ทำให้เสียโอกาส…ข้าวเป็นวัตถุดิบที่นำมาสี โดยที่แต่ละล็อตไม่เหมือนกัน การปรับ การขัดสี การกะเทาะ จะได้ข้าวคุณภาพดีอยู่ที่การเซ็ต เราเอาข้าวเมล็ดอ้วนมาสี หากเซ็ตแคบไปการแตกหักมีมาก หากข้าวล็อตที่ผอม ผลออกมาไม่มีคุณภาพ การดูแลโรงสีไม่ต่างจากกุ๊กในร้านอาหาร วัตถุดิบเหมือนกัน แต่กุ๊กต่างกัน คนจะเข้าร้านที่กุ๊กฝีมือดี อยากให้วิทยาลัยเกษตรกรรม หรือสถาบันที่สอนทางด้านการเกษตรมาฝึกงาน อาจจะหลักสูตร 2-3 เดือน…ปีหนึ่งมีข้าว 20 ล้านตัน หากสีข้าวโดยคนมีฝีมือดี จะได้ข้าวคุณภาพเพิ่มขึ้น

ข้าว ถือว่าเป็นอาหารสำคัญของคนไทย

งานของ บริษัท ซิตโต้ อินเตอร์เทรด จำกัด ถือว่ามีความสำคัญต่อคนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่เป็นชาวนา รวมทั้งผู้บริโภค คุณสรรพ์ บุญเจริญ คือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ข้างต้น หรือโทรศัพท์ 092-268-0550 และ 035-446-506 หรือ www.chaaorice.com

 ข้าวซิตโต้เจ้าแปด

 

ต้น

เตี้ย (สูง 93 เซนติเมตร) ทรงกอตั้ง ปล้องสีเหลืองอ่อน ลำต้นแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 6.2 มิลลิเมตร

ใบ

สีเขียว ใบแก่ช้า มีขนบนแผ่นใบเล็กน้อย ลิ้นใบมี 2 ยอด กาบใบสีเขียว มุมของธงใบปานกลาง

ดอก/ช่อดอก

กลีบรองดอกสีฟาง ยอดเกสรเพศเมียสีขาว ยอดดอกสีขาว รวงแน่นปานกลาง ระแง้ค่อนข้างถี่ คอรวงสั้น จำนวนรวงใน 1 กอ 17 รวง จำนวนเมล็ดต่อรวง เฉลี่ย 140 เมล็ด การโผล่พ้นของรวงค่อนข้างมาก 4

เมล็ด

เมล็ดเรียวยาว เปลือกเมล็ดสีฟาง ยอดเมล็ดสีขาว ขนาดเมล็ดข้าวเปลือก ยาว-กว้าง-หนา = 11.24 – 2.73 – 2.16 มิลลิเมตร ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว-กว้าง-หนา = 8.32 – 2.34 – 1.94 มิลลิเมตร น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 34.42 กรัม (ความชื้น 14%) ข้าวกล้องสีน้ำตาลมัน การร่วงของเมล็ด ปานกลาง (6-25%) ลักษณะรวงจับกันแน่นปานกลาง ความยาวของรวง 24.85 เซนติเมตร

ลักษณะอื่นๆ

ก. ระยะพักตัวของเมล็ด 5 สัปดาห์

ข. จำนวนวันตกกล้าถึงออกดอก 50% เท่ากับ 58 วัน

ค. ผลผลิตเฉลี่ย 920 กิโลกรัม ต่อไร่ ในฤดูนาปี และ 1,030 กิโลกรัม ต่อไร่ ในฤดูนาปรัง

ง. อายุเก็บเกี่ยว 86-92 วันหลังงอก

จ. ปริมาณอมิโลส 26.58%

ฉ. ปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ระดับปานกลาง

ช. พื้นที่แนะนำ พื้นที่นาชลประทาน

ลักษณะเด่นพิเศษ

  1. อายุเก็บเกี่ยวสั้น (สั้นกว่า 100 วัน) ผลผลิตต่อไร่สูง
  2. 2. เมล็ดโต เรียว ยาว (น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 34.42 กรัม ที่ความชื้น 14%)
  3. 3. เมล็ดข้าวสารใส มีท้องไข่น้อย สีเป็นข้าว 100% ได้
  4. 4. มีปริมาณอมิโลสสูง อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ (650c) ข้าวสุกร่วน ความคงตัวของแป้งสุก ปานกลาง (42 มิลลิเมตร) ค่อนข้างนุ่ม ไม่มีกลิ่น

ข้าวหอมซิตโต้

ต้น

 สูงปานกลาง (ประมาณ 95 เซนติเมตร) ทรงกอตั้ง ปล้องและข้อต่อใบสีเขียว ลำต้นแข็ง

 ใบ

สีเขียว ใบแก่ช้า

ดอก/ช่อดอก

กลีบรองดอกสีฟาง ยอดเกสรเพศเมียสีขาว ยอดดอกสีฟาง รวงแน่นปานกลาง ระแง้ค่อนข้างถี่ คอรวงสั้น จำนวนเมล็ดต่อรวง เฉลี่ย 205±15 เมล็ด เปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดเฉลี่ย 85±2.16

เมล็ด

เรียว ยาว เปลือกเมล็ดสีฟาง มีขนสั้น ขนาดเมล็ดข้าวเปลือก ยาว-กว้าง-หนา = 10.42±0.10 – 2.57±0.10 – 2.02±0.04 มิลลิเมตร ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว-กว้าง-หนา = 7.66±0.15 – 2.24±0.07 – 1.78±0.05 มิลลิเมตร ขนาดเมล็ดข้าวสาร ยาว-กว้าง-หนา = 7.50±0.18 – 2.12±0.06 – 1.73±0.05 มิลลิเมตร น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 26.31±0.02 กรัม (ความชื้น 14%)

ลักษณะอื่นๆ

ก. ระยะพักตัวของเมล็ด 5 สัปดาห์

ข. ผลผลิตสูง ในฤดูนาปี เฉลี่ย 980 และ 950 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยการปักดำและหว่านน้ำตมตามลำดับ ส่วน

ในฤดูนาปรังได้ผลผลิตเฉลี่ย 900 และ 890 กิโลกรัม ต่อไร่

ค. อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 110 วันหลังงอก

ง. ปริมาณอมิโลส 15.25-16.58%

จ. พื้นที่แนะนำ ให้ปลูกในพื้นที่นาชลประทาน

ลักษณะเด่นพิเศษ

  1. 1. เป็นข้าวหอม ข้าวสุกนุ่ม
  2. 2. เมล็ดข้าวสารใส มีท้องไข่น้อย สีเป็นข้าว 100% ได้