สาวพิจิตร ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ 1 งาน สร้างรายได้เกือบ 2.5 หมื่น ต่อเดือน

นอกจากใบผักที่สวยแล้ว รากก็จะต้องสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

คุณวรรณนิภา เรืองทัพ บ้านเลขที่ 70/7 หมู่ที่ 4 บ้านหนองสะเดา ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร โทร. (086) 1106387, (084) 868-8474 เจ้าของ “สุดใจ Hydroponics จ.พิจิตร” 

การปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์เบื้องต้น โดยทั่วไปผักสลัดจะมีอายุการปลูกประมาณ 6 สัปดาห์ (42 วัน สามารถกินได้ ผักมีน้ำหนักได้ที่ มีรสชาติอร่อย หากเกิน 50 วัน ผักจะแก่ทำให้มีรสชาติขม ไม่อร่อย) เริ่มจาก

คุณวรรณนิภา เรืองทัพ เจ้าของสวนผัก สุดใจ Hydroponics

การเพาะเมล็ดสลัด

นำฟองน้ำสำเร็จรูปที่จะเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าตรงกลางฟองน้ำจะถูกกรีดเป็นกากบาทเพื่อนำเมล็ดมาวางใส่ลงไป ปลูกวางเรียงบนถาดรอง รดน้ำฟองน้ำปลูกให้ชุ่ม พร้อมกับใช้มือกดฟองน้ำให้ซับน้ำให้อิ่มตัว นำไม้ปลายแหลมหรือไม้จิ้มฟันจุ่มน้ำแล้วแต้มแตะไปที่เมล็ดพันธุ์ผักสลัด แล้วนำเมล็ดสลัดที่ติดที่ปลายไม้มาใส่ลงไปในกลางฟองน้ำที่ผ่าไว้ 1 เมล็ด ต่อฟองน้ำ 1 อัน นำแผ่นโฟมเพาะเมล็ดไปไว้ในโต๊ะอนุบาลที่ 1 ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือกล้าผักสลัดมี 2 ใบ ช่วงนี้ต้องหมั่นฉีดน้ำด้วยฟ็อกกี้หรือกระบอกฉีดน้ำเพื่อลดความร้อนให้ต้นกล้าทุกๆ วัน วันละ 2-5 ครั้ง ตามสภาพอากาศ

ช่วงเพาะเมล็ด (สัปดาห์ที่ 1) ใช้เวลา 7 วัน นำเมล็ดใส่ลงไปในวัสดุยึดราก เช่น ฟองน้ำ เพอร์ไลท์ โฟม ความลึกประมาณ 5 มิลลิเมตร ใส่ไว้ในถาดเพาะที่มีน้ำอยู่ด้านล่าง พรมน้ำให้ชุ่ม เช้า-เย็น ควรเลือกพื้นที่ร่มในการวางถาดเพาะ เพื่อรักษาความชื้น ถ้าเมล็ดสมบูรณ์แข็งแรง จะงอกเป็นใบให้เห็นใน 3-4 วัน เมื่อเริ่มเห็นใบให้ย้ายไปเจอแดด (ใช้ซาแรนช่วยกรองแสงด้วย) เพราะถ้าอยู่ในที่ร่มไม่เจอแสง ผักจะยืดหาแสง ทำให้ผักโตช้า ลำต้นไม่แข็งแรง ฯลฯ (ช่วง 7 วันแรก ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ เพราะพืชจะใช้สารอาหารในเมล็ด)

ย้ายกล้าผัก จากโต๊ะอนุบาลที่ 1 มาไว้ โต๊ะอนุบาลที่ 2 อีก 2 สัปดาห์ ก็เก็บผักขายได้

จากนั้น จึงจะย้ายอนุบาลไปยัง โต๊ะอนุบาลที่ 2 ช่วงอนุบาล (สัปดาห์ที่ 3-4) ช่วงอนุบาล เป็นช่วงที่เริ่มให้อาหาร ให้ใส่ปุ๋ย A และ B อย่างละ 5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ใส่ไตรโคเดอร์มาลงในถังปุ๋ย อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 100 ลิตร เพื่อป้องกันโรครากเน่า คอยตรวจดูหนอน หนอนชอบกินต้นอ่อนมาก ผักสลัดจะกินอาหารได้เมื่อค่า EC ในน้ำอยู่ระหว่าง 1.2-1.8 การเติมปุ๋ย AB อย่างละ 5 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร จะทำให้น้ำมีค่า EC อยู่ในระหว่างนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 เป็นการย้ายแยกต้นกล้าที่อยู่บนแผ่นฟองน้ำแผ่นเดียวกัน ต้องฉีกตามรอยที่มีให้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส

ย้ายต้นกล้าจากโต๊ะอนุบาลที่ 2 มาปลูก อีก 2 สัปดาห์ ก็เก็บผักขายได้

แผ่นฟองน้ำที่มีต้นกล้าต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ต้นกล้าหักเสียหาย กล้าพักจะอยู่บนโต๊ะอนุบาลที่ 2 อีก 2 สัปดาห์ จนต้นกล้ามีใบจริงหลายใบ ต้นสูงราว 5-10 เซนติเมตร และมีรากที่แข็งแรงยาวโผล่พ้นฟองน้ำ จนสังเกตเห็นได้ชัดเจน นำต้นกล้าที่ได้ย้ายลงรางปลูกบนโต๊ะปลูก (ระยะเวลาการอนุบาลในแต่ละฤดูอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นปัจจัย บางฤดูอาจใช้เวลาอนุบาลเพียงไม่นาน ก็สามารถย้ายลงปลูกได้เลย โดยเราจะสังเกตได้จากต้นกล้าเป็นหลัก) และเดินเครื่องปั๊มน้ำที่เป็นระบบน้ำวนตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลต่ออีกประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงของการเติบโต (สัปดาห์ที่ 5-6) เนื่องจากผักจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะกินน้ำมากขึ้น

ต้องคอยตรวจสอบปริมาณน้ำและปุ๋ย ใช้อัตราส่วนการผสมปุ๋ยเหมือนเดิม ก็เริ่มทยอยเก็บผักสลัดจำหน่ายได้ ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวโดยเฉลี่ยของผักสลัดจะใกล้เคียงกัน คือประมาณ 45 วัน นับหลังจากการเริ่มเพาะเมล็ด

การปฏิบัติดูแลผักประจำวัน

คุณวรรณนิภา เล่าว่า กิจวัตรที่ต้องทำทุกวันคือ การเติมน้ำสะอาดลงในถังดำหน้าโต๊ะปลูก วันละ 2 ครั้ง คือในช่วงเวลา 11.00 น. และ 14.00 น. ในทุกๆ วัน
การเติมน้ำนั้นจะเป็นการเติมที่สูญเสียหายไปจากถังน้ำวนในแต่ละโต๊ะ ซึ่งพืชผักนำไปใช้ ระเหยไปกับอากาศ

กิจวัตรประจำคือ การเติมน้ำทุกวัน วันละ 2 เวลา

ส่วนการเติมปุ๋ย A B และธาตุอาหารเสริม จะเติมในช่วงเวลาเย็นของทุกวัน เพราะปุ๋ยที่ผสมลงไปจะเกิดการตกตะกอนถ้าน้ำในถังมีความร้อนสูง เนื่องจากถ้าน้ำปุ๋ยในถังร้อนจะส่งผลให้น้ำปุ๋ยซึ่งเป็นสารละลายที่เติมลงไปจะตกตะกอน ส่วนหนึ่งก็ต้องไม่ให้ถังน้ำปุ๋ยที่ทุกโต๊ะปลูกจะต้องมี ไม่ร้อน ความร้อนของน้ำที่หมุนเวียนในรางมันจะส่งผลต่อผัก ทำให้ผักไม่โต เกิดโรครากเน่า อย่างการเติมน้ำปุ๋ยจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมประกอบ อย่างหน้าร้อน ที่ต้นผักจะคายน้ำมาก ซึ่งทำให้น้ำปุ๋ยในถังถูกพืชใช้ไปและระเหยหายจากถังดำไป ราวๆ 10–15 เซนติเมตร เลย

ดังนั้น ในแต่ละวันต้องเติมน้ำลงไปทดแทนในถัง อีกอย่างเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อระดับน้ำในรางปลูกที่จะหมุนเวียนผ่านรากผักไม่ให้ลดต่ำลงจากระดับที่เหมาะสม ในเรื่องของการช่วยลดความร้อนภายในโรงเรือนนั้น นอกจากมีการใช้ซาแรนช่วยพรางแสงและที่สำคัญคือ ระบบน้ำแบบพ่นหมอก ซึ่งเป็นการช่วยลดความร้อนในโรงเรือนและช่วยลดการคายน้ำของผักสลัดได้เป็นอย่างดี

 

การควบคุม ค่า EC

โดยทั่วไป ในระบบ Hydroponics การวัดความเข้มข้นของสารละลายในถังสารละลาย จะวัดเป็นค่า EC (Electrical Conductivity) โดยมีหน่วยเป็น mS/cm ซึ่งค่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 1-4 mS/cm การตอบสนองของผลผลิต ต่อค่า EC คือ เมื่อค่า EC ต่ำ ผลผลิตก็จะต่ำ และเมื่อเพิ่มค่า EC ถึงระดับหนึ่ง จะได้ค่าผลผลิตสูงสุด และเมื่อเพิ่มค่า EC ต่อไป ผลผลิตจะไม่เพิ่ม หลังจากนั้น ถ้าเพิ่มค่า EC ต่อไปอีก ผลผลิตจะลดลง ดังนั้น โจทย์ของพวกเราคือ การหาค่า EC ที่เหมาะสมกับพืชที่เราปลูกให้ได้

คุณวรรณนิภา อธิบายว่า สำหรับการปลูกผักสลัดจะคอยตรวจวัดค่า EC ให้อยู่ระหว่าง 1-1.8 mS/cm โดยเครื่อง EC meter ปรับลดโดยการเพิ่มน้ำ และปรับค่า EC เพิ่มโดยการเพิ่มปุ๋ย กรณีไม่มีเครื่องวัดสามารถประมาณการเติมสารอาหาร A และ B ควบคุมค่า pH อยู่ระหว่าง 5.2-6.8 โดยเครื่อง pH meter หรือ pH Drop test ปรับลดโดยการใช้กรดฟอสฟอริก หรือกรดไนตริก (pH down) และปรับค่า pH เพิ่มโดยการเติมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (pH up) ปริมาณ 2-3 หยด ถ้าค่า EC สูงมากเกินไป จะทำให้ผักสลัดมีรสขมได้ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมให้เข้าใจ ซึ่งหาความรู้เพิ่มได้จากโลกออนไลน์

 

โรคและแมลงศัตรู

ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามช่วงจังหวะหรือฤดูกาล เช่น หน้าหนาว ก็จะเจอหนอนกินใบมากกว่าปกติ ก็ต้องหมั่นเดินตรวจแปลงทุกวัน จับทำลายทิ้งไป ส่วนหน้าฝน ก็ต้องดูเรื่องโรคเชื้อราและเพลี้ยไฟ โดยที่สวนจะใช้สารชีวภาพ ชีวภัณฑ์ ที่ช่วยป้องกันกำจัดโรคและแมลง เนื่องจากผักสลัดเป็นพืชอายุค่อนข้างสั้น เพียง 45 วัน หลังการเริ่มเพาะเมล็ดก็สามารถเก็บจำหน่ายได้แล้ว จึงไม่มีการใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเลย เช่น เรื่องโรคเชื้อราก็จะใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา ที่ขอรับได้จากกรมพัฒนาที่ดิน จากนั้นก็นำมาขยายเชื้อเพื่อให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง

หมั่นตรวจดูโรคและแมลงศัตรูทุกวัน

แมลงศัตรูใช้สารชีวภัณฑ์

เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซีส สามารถป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ หนอนใยผัก หนอนคืบกะหล่ำ หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนผีเสื้อขาว หนอนคืบละหุ่ง หนอนประกบใบส้ม หนอนกินใบชมพู่ หนอนร่าน หนอนแก้วส้ม หนอนไหมป่า หนอนกระทู้หอม (หนอนหนังเหนียว) ฯลฯหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก หนอนกินใบ หนอนแปะใบองุ่น หนอนกอข้าว หนอนบุ้งเล็ก กินใบมะพร้าวและปาล์มน้ำมันหนอนคืบต่างๆ

เชื้อราบิวเวอเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ได้แก่แมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ ด้วง และแมลงวัน หรือยุง เชื้อราบิวเวอเรียสามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น แมลงศัตรูพืชเป้าหมายในข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว หนอนห่อใบ ในมะม่วง ได้แก่ เพลี้ยจักจั่น ที่ทำลายช่อมะม่วง แมลงค่อมทอง ในพืชตระกูลส้ม ได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง ในพืชผัก ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว หนอน เป็นต้น

ข้อห้ามโดยเด็ดขาด ในการใช้เชื้อราบิวเวอเรียคือ ห้ามผสมกับสารเคมีกำจัดโรคพืช เช่น โรคเชื้อรา หรือสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช และเนื่องจากเชื้อชีวภัณฑ์ค่อนข้างอ่อนแอต่อแสงแดดและอุณหภูมิสูง จึงควรใช้ในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ อีกวิธีที่ช่วยได้ดี คือปลูกแปลงผักทั่วไป เช่น คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง เพื่อล่อหลอกให้แมลงหรือหนอนไปกินที่เราปลูกลงดินไว้ใกล้ๆ ซึ่งที่ปฏิบัติมาค่อนข้างได้ผลดี

 

การเก็บเกี่ยวผักสลัด

หลังจากผักสลัดอายุได้ 45 วัน หลังจากเพาะเมล็ด ก็จะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวขายได้ หรือเก็บออกขายทั้งหมดหรือชะลอการขายเลี้ยงต่อบนโต๊ะปลูกได้นานนับสัปดาห์ (น้ำหนักผักก็ดีตาม) การเก็บผักออกจากโต๊ะปลูกก็จะดึงขึ้นมาพร้อมราก โดยไม่ตัดรากออก แต่ตอนแพ็กใส่ถุงจะต้องม้วนรากขดเป็นวงกลมให้เรียบร้อย ต้องระมัดระวังไม่ให้ใบผักหักช้ำ

ผักสลัดคอส ที่อายุครบ 45 วัน สามารถเก็บขายได้แล้ว

ความนิยมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

คุณวรรณนิภา เล่าว่า โดยเฉพาะผักสดปลอดสารพิษ ทำให้ผักเป็นสินค้าที่ขายดีมาก มีมูลค่าตลาดสูง ซึ่งการปลูกพืชผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกไม่ต้องเสียเวลารดน้ำ พรวนดินในแปลงผักให้เหนื่อย เพราะแปลงปลูกผักไร้ดินได้ถูกติดตั้งอุปกรณ์ดูแลแปลงผักแบบอัตโนมัติ เช่น ทุกๆ 1 ชั่วโมง (หรือปรับตามสภาพอากาศ) ระบบสปริงเกลอร์แบบพ่นหมอกจะฉีดพ่นละอองน้ำในแปลงผัก เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนในแปลงผัก ลดการคายน้ำ

เนื่องจากผักไฮโดรโปนิกส์เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และให้ผลผลิตสม่ำเสมอ ซึ่งเกษตรกรสามารถวางแผนการปลูก กำหนดปริมาณสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดได้ตลอดเวลา หากประสงค์จะลงทุนทำแปลงปลูกผักไร้ดินขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินทุนหลักแสนขึ้นไป ก็สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันไม่นานนัก อุปกรณ์ต่างๆ ก็มีอายุการใช้งานค่อนข้างนานหลายปี

 

ราคากลางผักสลัด ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศหรือฤดูกาล

คุณวรรณนิภา อธิบายว่า ผักสลัดเหล่านี้ชอบอากาศเย็นหรืออุณหภูมิที่ไม่สูงมากจนเกินไป หากเป็นช่วงปลายปีจะมีผลผลิตเยอะ ผักจะเจริญเติบโตดี น้ำหนักผักดี ซึ่งน้ำหนักผักอาจจะเพิ่มขึ้นมาถึงหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว ต่อ 1 โต๊ะปลูก ราคาอาจจะตกลงมานิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่มีผักออกสู่ตลาดมาก แต่หากเป็นช่วงหน้าร้อน ผักสลัดเหล่านี้จะโตช้า มีออกตลาดน้อย ราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น

“หน้าร้อนแพง หน้าฝนกลางๆ หน้าหนาวถูก”

นอกจากใบผักที่สวยแล้ว รากก็จะต้องสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน

แต่ส่วนหนึ่งที่เราไม่ได้เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ก็จะเน้นวางแผนขายให้กับพ่อค้าที่มารับประจำ และขายปลีกให้กับลูกค้าในพื้นที่ ทำให้ราคายังคงยืนพื้น ประมาณกิโลกรัมละ 80-100 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอย่างตนเองก็สามารถอยู่ได้ มีรายได้หมุนเวียนต่อเดือน 20,000-25,000 บาท ใช้แรงงานเพียงคนในครอบครัว มีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว เป็นเจ้านายตัวเอง และที่สำคัญตลาดค่อนข้างขยายตัวเนื่องจากมีคนเริ่มรู้จักสวนผักไฮโดรโปนิกส์เรามากขึ้น

รากผักสลัดที่ม้วนขดเป็นวงกลมเรียบร้อยแล้ว จึงนำไปเรียงบรรจุลงถุง
จัดเรียงผักเรียบร้อย โดยถุงหนึ่งจะบรรจุผักได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับน้ำหนักผัก
มัดปากถุงให้เรียบร้อย วางไว้ในที่ร่ม รอลูกค้ามารับ

ฝากถึงผู้ที่สนใจการปลูกผักสลัดแบบไฮโดรโปรนิกส์ก็สามารถหาความรู้เบื้องต้นได้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่นเดียวกับตนเอง ซึ่งไม่ยากและก็ไม่ง่ายนัก ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ตอนนี้ก็มีชุดทดลองแบบสำเร็จรูป หรือแบบที่ซื้อนำมาประกอบเอง ในราคาที่ไม่สูงนัก พร้อมทั้งปัจจุบัน ปุ๋ยสูตร A ปุ๋ยสูตร B และธาตุอาหารเสริม มีจำหน่ายแบบสำเร็จรูปเช่นกัน