นักธุรกิจเกษตรกรรายย่อย ต้องมองไกลให้ขาด ดอนดีฟาร์ม ทิ้งธุรกิจเดิม กระโจนสู่ธุรกิจไม้ด่าง

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย

กล้วยแดงอินโดใบด่าง (Musa siam Ruby) และกล้วยฟลอริด้า (Musa (Florida strain) Variegated Banana)

โดยปกติของชีวิตนักเขียนกว่า 20 ปีของผม ผมจะไม่เขียนเรื่องที่กำลังโด่งดังหรือเรื่องที่กำลังเป็นกระแสในสังคมและเลือกที่จะเขียนเรื่องนอกกระแสเพื่อสร้างเรื่องนั้นให้เป็นกระแส (อย่าเพิ่งงงนะ 555) แต่ผมเขียนเรื่องไม้ด่างติดต่อกันเป็นเรื่องที่ 2 นั่นก็เพราะมีข้อคิดที่ดี มีจุดน่าสังเกตที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างให้กับพี่น้องเกษตรกรรายย่อยได้เป็นอย่างดี ฉบับนี้พาท่านไปพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจเกษตรกรรายย่อยที่อ่านธุรกิจแบบมองไกล ตัดสินใจแบบเด็ดขาด ทิ้งธุรกิจเดิมที่ทำไว้หลากหลาย หอบประสบการณ์มากมายมาเริ่มใหม่กับธุรกิจไม้ด่างสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงที่โควิดกำลังฟาดระบาดไปทั่ว ตามไปดูแนวคิดการทำธุรกิจเกษตรในยุคที่ไม้ด่างมาแรงกันครับ

โอกินาว่า (Alocasia Okinawa Silver Variegated)

 

ประสบการณ์ในธุรกิจเกษตร

พาท่านมารู้จักกับ คุณสง่า มีปลอด และ คุณฉันทนา หอมจันทร์ ที่บ้านเลขที่ 89/1 หมู่ที่ 4 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ผมเคยเขียนถึงทั้ง 2 ท่านเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เมื่อคุณสง่าและคุณฉันทนาตัดสินใจทิ้งธุรกิจเสื้อผ้าที่กรุงเทพฯ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักในแวดวงเสื้อผ้าขายส่ง มาเริ่มต้นทำดอนดีฟาร์มเลี้ยงแพะ แกะ เป็นหลัก เพราะมองว่าแพะ แกะไปได้หลายทาง มีหลายตลาด ตอนนั้นที่ดอนดีฟาร์มมีแพะทั้งหมด 300 กว่าตัว แกะอีก 400 กว่าตัว แล้วขยายธุรกิจไปยังฝูงวัวลูกผสมชาโรเล่ส์ ยังไม่พอขยายธุรกิจให้ครบวงจรมีร้านอาหารและร้านกาแฟ มีม้าอีกหลายตัวเอาไว้ให้ลูกค้าขี่ มีผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ มีบ่อปลา เลี้ยงกบเพื่อเอามาทำเป็นอาหารสำหรับลูกค้า เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ มีมะนาว มะละกอ เด็ดมาสดๆ ใช้ทำอาหารเสิร์ฟลูกค้า

มอนสเตอร่าไทยคอน (Monstera thai constellation) และบอนกระดาดด่าง (Alocasia Macrorrhizos Albo Variegated)

 

ปรับเปลี่ยน

ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรและฟาร์มแพะ แกะที่คุณสง่าและคุณฉันทนาลงทุนไปไม่น้อยเริ่มมีปัญหาหลากหลายและหนักหนาขึ้นเมื่อโควิดมาเยือน

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีโรคระบาดของสัตว์เยอะ ตั้งแต่โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness, AHS) การระบาดของโรคลัมปี สกินในวัว ที่เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งมาเกิดในประเทศเรา รวมไปจนถึงความอิ่มตัวในธุรกิจแพะ แกะ ที่เราอาจจะขายแพะ แกะได้เยอะ มีลูกค้ามากมาย แต่ความยุ่งยากตั้งแต่เรื่องการเลี้ยง การจัดการที่ต้องใช้คนที่มีความชำนาญ ใช้คนเยอะ การขนส่งแพะ แกะมีชีวิตที่ต้องมีใบอนุญาต หลายสิ่งหลายอย่างทำให้เราต้องกลับมาทวบทวนถึงอนาคตกันบ่อยๆ และจุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ร้านอาหารของเราต้องปิดเพราะโควิดระบาด เราก็ต้องทำตามมาตรการของรัฐที่ห้ามนั่งกินในร้านอาหาร”

 

เริ่มก่อนรวยก่อน จริงหรือ

คุณสง่าและคุณฉันทนา เล่าต่อว่า ตอนดีฟาร์มเราเริ่มสนใจไม้ด่าง รวมถึงเริ่มซื้อพันธุ์ไม้ด่างเข้ามาสะสมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเริ่มต้นจากพันธุ์กล้วยแปลกๆ เช่น กล้วยงาช้าง กล้วยมาฮอย หรือกล้วยที่ออกพร้อมกัน 2 เครือ กล้วยน้ำว้ายักษ์ กล้วยด่างฟลอริด้า เราจะตระเวนซื้อจากงานออกร้านต่างๆ เช่น เกษตรแฟร์กำแพงแสน ซื้อพันธุ์ไม้ในราคาหลักพันบาทเอามาปลูกไว้ในพื้นที่ฟาร์ม ช่วงแรกๆ ต้นไม้อาจจะโดนวัวกินไปบ้าง แพะ แกะกินไปบ้าง จนในระยะนั้นมีข่าวว่ากล้วยด่างและไม้ด่างเริ่มมีราคาดีขึ้นเราจึงขุดต้นไม้ของเราที่ปลูกลงดินไว้เอามาใส่กระถางใส่ภาชนะและดูแลอย่างดี รวมทั้งเช็กข้อมูลราคาทุกวันโดยดูจากในอินเตอร์เน็ต จากราคาในเพจ Facebook ต่างๆ จนนำมาซึ่งการเข้าสู่ตลาดไม้ด่างอย่างเต็มตัว

หลังจากเริ่มสะสมพันธุ์ไม้ต่างๆ จนถึงพันธุ์ไม้ด่าง คุณสง่าและคุณฉันทนา พบว่า การขายไม้ด่างนั้นซื้อง่ายขายง่าย ขนส่งทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ จึงมองเห็นช่องทางว่าธุรกิจไม้ด่างน่าจะเป็นช่องทางทำเงิน จึงค่อยๆ ทยอยเก็บต้นแม่พันธุ์ไม้ด่างไว้แล้วเริ่มขยายพันธุ์ด้วยการเพาะกล้า หลังจากทำสะสมพันธุ์ไม้ด่างและขยายพันธุ์ไม้ด่างได้สักพักถึงเริ่มเป็นที่รู้จักเริ่มมีตลาดขายได้ มีลูกค้าเข้ามาดูวันละ 50-60 คน มากกว่าลูกค้าร้านอาหารเสียอีก

ต้นเงินไหลมาด่างชมพู (Syngonium Pink spot) กับฟิโลมรกตใบด่าง (Philodendron Burle Marx)

 

เข้าสู่ธุรกิจไม้ด่างเต็มตัว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนรอบข้าง

คุณสง่า บอกว่า จากเดิมที่ทำธุรกิจร้านอาหารฟาร์มแพะ แกะ วัวเนื้อ รวมทั้งขายอาหารสัตว์และยาสัตว์ ผมเลิกทั้งหมดมาขายไม้ด่างเพราะผมคิดว่าธุรกิจเดิมต้องใช้คนดูแลเยอะ มีรายละเอียดมากมาย ต้องจัดการทุกวัน พอมาขายไม้ด่างต้นทุนต่ำ การจัดการทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้คนเยอะทำให้มีกำไรมาก พอคิดได้แล้วผมก็ขายวัว แพะ แกะ ออกหมดและนำเงินที่ได้หลักหลายแสนบาทมาลงทุนไม้ด่าง ตอนแรกคนรอบข้างไม่มีใครเห็นด้วยเพราะลงทุนธุรกิจร้านอาหารฟาร์มแพะ แกะ วัวเนื้อ รวมทั้งขายอาหารสัตว์และยาสัตว์ไปเยอะแล้ว แต่ผมก็ทำให้เห็นว่าไม่นานธุรกิจไม้ด่างก็สามารถได้ทุนคืนกลับมาและเริ่มมีกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ มีลูกค้าจากทั่วประเทศ

คุณสง่าและคุณฉันทนา เล่าอีกว่า ลูกค้าเริ่มมาจองพันธุ์ไม้ด่างถึงที่ฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นราคา 20,000-30,000 บาท ลูกค้าก็มาจองเอาไว้ ลูกค้าบางคนจ่ายเงินล่วงหน้า 2-3 เดือนค่อยมาจ่ายทั้งหมดแล้วนำต้นไม้ไป ลูกค้าบางคนซื้อตั้งแต่ต้นเล็กๆ แล้วฝากเลี้ยงเอาไว้ก่อน ในช่วงแรกตลาดของเราเริ่มดีจากต้นพันธุ์กล้วยฟลอริด้า กล้วยตานีด่าง เรามองเห็นช่องทางจึงเริ่มลงทุนซื้อแม่พันธุ์ไม้ด่างเอามาเก็บไว้แล้วขยายพันธุ์ออกไป นอกจากนั้น ยังรวบรวมพันธุ์กล้วยแปลกๆ เพิ่มมากขึ้น ในช่วงนั้นไม้ด่างเริ่มเป็นที่นิยม ตลาดคึกคักมาก ที่ดอนดีฟาร์มช่วงนั้นเราขายกล้วยตานีด่างได้ราคาต้นละ 50,000 บาท

ลูกค้าที่มาซื้อไม้ด่างของดอนดีฟาร์มส่วนใหญ่เป็นคนที่มีตลาดของตัวเองอยู่แล้ว ซื้อแล้วก็เอาพันธุ์ไม้ด่างไปขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายต่อไป อย่างเช่น ต้นหูช้างด่างขาว เคยมีพ่อค้ามาซื้อไปในราคา 500,000 บาท เพื่อเอาไปขายต่อ

โอกินาว่า (Alocasia Okinawa Silver Variegated) กับหูช้างด่างขาว (Alocasia Gageana Albo Variegated)

 

ทำตลาดออนไลน์

สร้างหลายช่องทางการตลาด

คุณฉันทนา บอกว่า “เรื่องการทำการตลาดต้องเข้าไปทำตลาดในเพจใน Facebook กลุ่มต่างๆ เพื่ออัพเดทตัวเอง และ Pages ของตัวเองเรื่อยๆ อัพเดทสินค้าเรื่อยๆ ใช้เวลาไม่นานก็มีคนรู้จักเรามากขึ้น มีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์ม มาซื้อต้นไม้ของเราทุกวัน” นอกจากนั้น คุณสง่าและคุณฉันทนายังใช้เทคนิคการขายผ่อนมาใช้ในธุรกิจไม้ด่าง “เราทำตลาดขายผ่อนสำหรับลูกค้าบางกลุ่มและรับฝากพันธุ์ไม้เพื่อเลี้ยงต่อให้ในกรณีที่คนซื้อยังไม่พร้อมจะนำไปเลี้ยง นอกจากนั้น เรายังขายพันธุ์ไม้ราคาถูกสำหรับคนที่จะรับพันธุ์ไม้ของเราไปขายต่อเพราะเราเห็นใจที่เขาก็ต้องการกำไรบ้าง”

 

หลากหลายพันธุ์ไม้ด่าง

คุณสง่าและคุณฉันทนา เล่าต่อว่า ตอนนี้ที่ดอนดีฟาร์มมีไม้พันธุ์หลักๆ ได้แก่ พันธุ์กล้วยแปลก กล้วยฟลอริด้าด่าง กล้วยมาฮอย กล้วยแดงอินโด กล้วยน้ำว้าไอศกรีม (พันธุ์กล้วยชวาสีน้ำเงิน) ยังมีโอกินาวา มีหลายราคาตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน หูช้างด่างเหลือง หูช้างด่างขาวที่ฟาร์มของเรามีราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน บางต้นราคาแพงที่สุดหลักล้านบาท ต้นเงินไหลมาด่างขาว เงินไหลมาด่างเหลือง อะโลคาเซีย มิลกี้เวย์ ฟาโรห์ โมจิโต้ ไวท์ลาวา นอกจากนั้น ก็มีพวกฟิโลด่าง มอนสเตอร่าด่าง เบอร์เบิ้นด่าง ออมชมพูด่าง เสน่ห์จันทร์ด่าง บอนโหราด่าง ก้ามกุ้งด่าง แต่บอนสีไม่จับมาเล่นเพราะดูยาก ใช้เวลานาน

ส่วนการดูแลพันธุ์ไม้ด่างที่มีหลากหลาย คุณฉันทนา บอกว่า การดูแลไม้ด่างก็ปกติเหมือนไม้ใบทั่วไป ต้องดูแลเรื่องการตัดแต่งกิ่ง ใบ ใส่ปุ๋ย ดูแลให้น้ำตามปกติ แต่ต้องคอยสังเกตสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แสงแดดที่เหมาะสมกับพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ปริมาณน้ำ พันธุ์ไม้ต่างกันก็ต้องการน้ำในปริมาณต่างกัน เราต้องสังเกตและจำไว้

ตอนนี้ที่ดอนดีฟาร์มยังได้ทำแปลงเพาะชำและจัดโชว์พันธุ์ไม้ด่างเป็นแปลงขนาดใหญ่โดยรื้อคอกแพะ แกะออกไป แล้วทำเป็นแปลงจัดโชว์เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินเลือกชมพันธุ์ไม้ได้สะดวกขึ้น

คุณสง่า มีปลอด คุณฉันทนา หอมจันทร์ และลูกสาว ที่ดอนดีฟาร์ม กาญจนบุรี

จะเห็นได้ว่าดอนดีฟาร์มปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจเกษตร เมื่อทางเดิมที่เดินมาเริ่มประสบปัญหามากมาย การจะเดินต่อในทางเดิมอาจจะต้องเผชิญอีกหลายขวากหนาม หนามบางอย่างเราอาจจะแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง แต่หนามบางอย่างเกินกำลังที่เราจะจัดการเองได้ การเลือกทางสายใหม่ที่เต็มไปด้วยคำถามจึงเกิดขึ้น แต่การที่ดอนดีฟาร์มสามารถเดินไปบนทางสายใหม่ได้อย่างสบายไม่เจ็บตัว แถมยังไปได้ดีกว่าทางสายเดิมก็เพราะหลายปัจจัย เช่น การจับตามองธุรกิจที่เห็นว่าเป็นไปได้และเริ่มต้นก่อนใคร ความพร้อมของทุน สามารถพยายาม ความสามารถด้านการตลาด ที่นำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ก็ยังมีหนทางที่ยาวไกลในธุรกิจไม้ด่างที่เราต้องจับตามองกันต่อไปครับ

ใครอยากคุย สอบถามเพิ่มเติมกับคุณฉันทนา ติดต่อไปได้ที่เบอร์โทร. 087-509-9745 ฉบับนี้หมดพื้นที่ของคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผม ธนากร เที่ยงน้อย แล้วต้องขอลากันไปก่อน ขอให้โชคดี ไม่มีโรคกันทุกท่านทั่วหน้า สวัสดีครับ