กยท. จัดงานมหกรรมยางพารา โชว์นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายางสู่ความยั่งยืน

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทำหน้าที่องค์กรกลางดูแลบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน บทบาทหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนางานวิจัยด้านยางพาราให้เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการยาง รวมทั้งส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ยางพาราในเชิงพาณิชย์ สร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

สวนยางพารา

 

มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรม

กยท. มีเป้าหมายการพัฒนาสู่ “องค์กรชั้นนำระดับสากลในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ” โดยบูรณาการทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ กว่า 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ ประกอบด้วย เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาด้านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิชาการให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่มาตรฐานสากล ได้แก่ GMP/GAP, FSC เป็นต้น

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กยท. วางแผนจัดงาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรม” ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้น

การจัดงานมหกรรมยางพาราครั้งนี้ กยท. มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ มาตรฐาน การวิจัย และแนวคิดการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความหลากหลายในการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางพารามีช่องทางการจำหน่าย และแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราระดับนานาชาติ

ระบบกรีดหน้าสั้น หรือการเจาะ ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนเอทธิลีน

การจัดงานในครั้งนี้ กยท.ใช้รูปแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราของไทย ได้แก่ เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสได้รับรู้ศักยภาพความเป็นผู้นำของไทยในฐานะผู้ผลิตยางคุณภาพและธุรกิจการส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ขณะเดียวกันเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเรียนรู้และเข้าใจประโยชน์ของยางพารามากขึ้น

การจัดงานมหกรรมยางพาราที่ผ่านมา ต้องยกเครดิตให้กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านพินิจ จารุสมบัติ และ บมจ.มติชน ที่สนับสนุนการจัดงานมหกรรมยางพารามาอย่างต่อเนื่อง กยท.มีส่วนร่วมในการจัดงานมหกรรมยางพาราทุกปี ในรูปแบบนิทรรศการกระบวนการผลิตและนวัตกรรมทางด้านยางพารา ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางพาราให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สำหรับปีนี้ ท่านพินิจ เสนอให้เปลี่ยนสถานที่จัดงานจากภาคอีสานไปยังจังหวัดอื่น เพราะยางพาราสามารถปลูกได้ทั่วประเทศ สาเหตุที่เลือกพื้นที่จัดงานที่ภาคใต้ เพราะเป็นต้นกำเนิดการปลูกยางพาราในประเทศไทยและจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญในพื้นที่ภาคใต้” นายณกรณ์ กล่าว

การผลิตน้ำยางข้น

 

โชว์นวัตกรรมสระน้ำยางพารา

เก็บกักน้ำสู้ภัยแล้ง น้ำท่วม

เนื่องจากภาครัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น กยท.จึงมีนโยบายการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านแนวคิด การสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างความหลากหลายของสินค้า เน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศและขยายตลาดส่งออก

กยท.ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมการแปรรูปจากยางพารารูปแบบใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบที่ใช้ได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องในงานมหกรรมยางพารามาอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น บล็อกปูพื้นจากยางพารา กรวยจราจรยางพารา หุ่นยางพาราฝึกช่วยชีวิต (CPR) ที่นอนและหมอนยางพารา ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ฯลฯ ผลงานนวัตกรรมดังกล่าว สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ รวมทั้งสร้างเพิ่มมูลค่ายางพารา ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมั่นคง

บล็อกปูพื้นจากยางพารา

“สำหรับการจัดงานในปีนี้ กยท.มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์จากน้ำยางและผลิตภัณฑ์จากยางแห้ง เช่น เทคโนโลยีการผลิตน้ำยางคอมพาวนด์สำหรับนำไปเคลือบบนแผ่นใยสังเคราะห์ และเทคโนโลยีการเคลือบน้ำยางคอมพาวนด์บนแผ่นใยสังเคราะห์ ที่สามารถรับน้ำแรงสูง ทนทานต่อการใช้งาน เหมาะสำหรับการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำดิบสำหรับช่วงฤดูฝนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบัน กยท.ได้ถ่ายทอดนวัตกรรมดังกล่าวให้กับกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน นำไปใช้ในการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ สร้างแหล่งน้ำ หรือแนวฝายกั้นน้ำ สำหรับระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทานได้มากขึ้น” นายณกรณ์ กล่าว

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา

 

เปิดตลาดขายยางล่วงหน้า แบบส่งมอบจริง

นอกจากนำเสนอนวัตกรรมยางพาราในการจัดงานครั้งนี้แล้ว กยท.ยังเปิดให้บริการตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า แบบส่งมอบจริง และเปิดเวทีเจรจาธุรกิจให้แก่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปพร้อมๆ กัน คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจและเจรจาการค้า จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ราย

ในปีนี้รูปแบบการจัดงานเป็นแบบ New Normal พิธีการเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการเว้นระยะสำหรับผู้เข้าร่วมงาน นอกจากนี้ กยท.เปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในงาน เช่น ปุ๋ย ปัจจัยการผลิต อุปกรณ์การกรีดยาง ฯลฯ รวมทั้งประกวดแข่งขันการกรีดยาง คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงาน ไม่น้อยกว่า 10,000 คน

การแข่งขันกรีดยาง

โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาเที่ยวชมงาน และร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรม ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช