เกษตรกรฉะเชิงเทรา เพาะพันธุ์ปลาบู่ ส่งออกตลาดต่างประเทศ

ปลาบู่เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง นิยมจับหรือเลี้ยงสำหรับประกอบอาหาร เนื้อด้านในสีขาว เนื้อนุ่ม มีก้างน้อย เป็นที่ต้องการทั้งตลาดในเมืองไทยและตลาดต่างประเทศ ซึ่ง 1 กิโลกรัม มีราคาสูงถึง 500 บาท หรือมากกว่า และส่งออกได้ราคาที่สูงหลายเท่า ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกได้มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

ปลาบู่มีลักษณะเป็นปลามีเกล็ด ลำตัวมีรูปร่างทรงกระบอก มีส่วนหัวขนาดใหญ่เท่าลำตัว ปากมีขนาดใหญ่ มุมปากยาว ทำให้อ้าได้กว้าง ภายในปากบนขากรรไกรมีฟันซี่เล็กๆ ค่อนข้างยาวจำนวนมาก ตามี 2 ข้าง มีลักษณะโปนขึ้น ลักษณะของปลาบู่ มี 2 ลักษณะ คือ 1. เกล็ดกลมและขอบเรียบ ซึ่งจะพบได้เพียงบริเวณส่วนหัว 2. เกล็ดแหลมและขอบเกล็ดเป็นหนาม ซึ่งจะพบบริเวณลำตัว ส่วนครีบประกอบด้วย ครีบหลัง 2 ตอน แยกกันอย่างชัดเจน

คุณธงชัย ศีลอุดม

เพศของปลาบู่ค่อนข้างแยกยาก เพราะทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีรูปร่างคล้ายกัน แต่จะแยกเพศได้ชัดเจนเมื่อจับหงายท้อง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันที่อวัยวะเพศ โดยตัวผู้จะมีอวัยวะเพศเป็นติ่งขนาดเล็กและปลายแหลมยื่นออกมาบริเวณท้องค่อนไปทางโคนหาง ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อที่ใหญ่กว่า ไม่มีติ่งยื่น ตรงกลางเป็นรูขนาดใหญ่สำหรับเป็นทางออกของไข่

แหล่งอาศัยของปลาบู่ สามารถพบเจอได้ในทุกประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในไทยพบกระจายทั่วไปในทุกภาค ทั้งแหล่งน้ำไหลที่เป็นแม่น้ำหลักและสาขาในทุกภาค และพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่เป็นเขื่อน บึง และบ่อเก็บน้ำขนาดเล็ก ปลาบู่เป็นปลาที่รักสงบ ชอบอาศัยอยู่นิ่งตามเกาะแก่งของแม่น้ำหรือตามอ่างเก็บน้ำ มักหลบอาศัยและหากินตามชายน้ำที่มีโขดหินหรือตอไม้ กลางวันชอบหลบช่อนตัว ส่วนกลางคืนจะออกหาอาหาร

บ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงปลาบู่

ปลาบู่ถือเป็นปลาที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน จนเกิดการหยิบยกปลาบู่มาทำนิทานพื้นบ้านของไทย อย่างเรื่อง ปลาบู่ทอง ที่ใครๆ ก็ต่างรู้จัก เกษตรกรเลี้ยงปลาบู่มักนิยมเลี้ยงในกระชังแถบลุ่มแม่น้ำและลำน้ำภาคกลาง เป็นปลาที่สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในหลายประเทศ ถึงแม้ปลาบู่จะสามารถพบเจอได้ง่ายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ในส่วนของการเพาะเลี้ยงปลาบู่กับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหันไปเพาะเลี้ยงปลาสายพันธุ์อื่นแทน

คุณธงชัย ศีลอุดม อายุ 69 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 67/8 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาบู่ในบ่อปูนซีเมนต์ คุณธงชัย กล่าวว่า เพาะเลี้ยงปลาบู่มากว่า 10 ปีแล้ว แรงบันดาลใจในการเพาะเลี้ยงปลาบู่เกิดจากข้อสงสัยของคุณธงชัยที่ได้ยินเกษตรกรหลายท่านพูดกันว่า ปลาบู่มันเพาะเลี้ยงยาก ทำให้ไม่เหมาะแก่การลงทุน

คุณธงชัยจึงอยากลองเพาะเลี้ยงดูว่ามันยากจริงอย่างที่เกษตรกรท่านอื่นพูดไหม แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าพอใจเกินกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะนอกจากจะพิสูจน์ว่าปลาบู่ก็สามารถเพาะเลี้ยงได้ ยังสร้างอาชีพให้กับคุณธงชัย และมีรายได้เพิ่มเข้ามาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วย

คุณธงชัย กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงปลาบู่ในช่วงแรกจำเป็นต้องซื้อลูกพันธุ์มาเพาะเลี้ยงเอง ก็ถือว่ามีต้นทุนเข้ามาพอสมควร แต่ก็ไม่ได้มากมายนัก ด้วยที่คุณธงชัยเคยเพาะเลี้ยงปลากะพงมาก่อน ทำให้มีพื้นที่บ่อพร้อมสำหรับการเพาะปลาบู่ แต่หลังจากการขายปลาบู่ในรอบแรกได้แล้ว คุณธงชัยก็ลองเพาะพันธุ์เองเพื่อลดต้นทุน ค้นพบว่าการเพาะพันธุ์ปลาบู่ด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ พ่อแม่พันธุ์ต้องมีน้ำหนัก 400 กรัมขึ้นไป หากพ่อแม่พันธุ์มีน้ำหนักต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ลูกปลาโตช้า

ลูกปลาบู่

ขนาดบ่อเพาะเลี้ยงมีขนาดยาว 2.5 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ความลึก 80 เซนติเมตร ปริมาณน้ำในบ่อจะอยู่ที่ 70 เซนติเมตร โดย 1 บ่อ จะปล่อยปลาบู่จำนวน 80 ตัว การเลี้ยงปลาบู่ในบ่อปูนซีเมนต์ที่มีน้ำใสอาจทำให้ปลาบู่ตกใจได้ง่าย และหากในบ่อมีปลาบู่ที่ตัวใหญ่กว่าก็อาจทำให้ปลาบู่ที่ตัวเล็กกว่าไม่กล้าที่จะกินอาหาร จึงจำเป็นต้องนำซาแรนมากางไว้เหนือบ่อ เพื่อให้เกิดความทึบ และลดการมองเห็นในน้ำของปลาบู่ พร้อมกับต้องมีการใช้เครื่องปั๊มอากาศในบ่อตลอดเวลา เพื่อเลียนแบบธรรมชาติที่อยู่อาศัยของปลาบู่ และเพิ่มอากาศในน้ำเพื่อลดความเน่าเสียในน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีการนำถังดักตะกอนที่ทำง่ายๆ จากอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว อย่างกะละมังมาไว้ใต้ผิวน้ำภายในบ่อเพื่อเป็นการบำบัดน้ำเสีย เพราะตะกอนที่ลอยอยู่บริเวณผิวน้ำจะถูกแรงดันน้ำที่เกิดจากการปั๊มอากาศ ดันให้ตกลงไปในถังดักตะกอน โดยไม่ให้ตกลงไปด้านล่างพื้นบ่อ การให้อาหารปลาบู่จะให้เป็นเนื้อปลาสด ค่อยๆ หย่อนชิ้นเนื้อลงบ่อให้ปลาบู่กิน โดยจะให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ช่วงเย็น

ปลาบู่จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่มากในช่วงต้นฤดูฝน คือช่วงเดือนพฤษภาคม จะผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดในช่วงฤดูฝนจนถึงเดือนตุลาคม แต่ก็สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ปีละประมาณ 3 ครั้ง การผสมพันธุ์มักเป็นตัวผู้ที่คอยหารังสำหรับวางไข่ ซึ่งจะเลือกบริเวณที่มีขอนไม้ โพรงไม้ รากไม้สำหรับวางไข่ คุณธงชัยจึงใช้กระเบื้องปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยม หันด้านที่ขรุขระไว้ข้างใน โดยวางด้านกว้างไว้ที่พื้นก้นบ่อ เพื่อเลียนแบบโพรงวางไว้ตามแหล่งธรรมชาติ

เมื่อปลาบู่คุ้นเคยกับกระโจมกระเบื้องที่ปักไว้ ก็จะเริ่มวางไข่ผสมพันธุ์ที่กระเบื้องแผ่นเรียบ ส่วนใหญ่ปลาบู่จะวางไข่ติดด้านในของกระโจมกระเบื้อง จากนั้นช่วงเช้าหรือเย็นของทุกวันให้ทำการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องและนำกระเบื้องที่มีรังไข่ปลาบู่ติดไปฟักทันที การฟักไข่จะถูกนำแยกออกมาฟักในตู้กระจก และมีการให้อากาศตลอดเวลา ลูกปลาจะฟักออกมาเป็นตัวประมาณ 3-5 วัน

ปลาบู่

จากนั้นจึงสามารถย้ายลงบ่ออนุบาลได้ ยังคงต้องมีการให้อากาศตลอด แต่จะเป็นการให้อากาศที่ช้าลงเพราะลูกปลายังคงบอบบางและไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำได้ ในช่วงแรกจะเป็นการให้อาหารด้วยไรแดง วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น เมื่อลูกปลามีอายุได้ 1 เดือน จะต้องทำการคัดขนาดลูกปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่นๆ ไว้อีกบ่อ เนื่องจากปลาบู่เป็นปลากินเนื้อทำให้มีนิสัยก้าวร้าว ปลาตัวที่เล็กกว่าจะไม่กล้ามากินอาหาร ทำให้ปลาโตไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องคัดขนาดปลาแยกบ่อเพื่อการเจริญเติบโตที่เท่ากัน

ปลาบู่ใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี ก็สามารถขายได้แล้ว ปลาบู่ที่ขายได้ต้องมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ราคาต่อกิโลกรัมไม่ต่ำกว่า 500 บาท ตลาดปลาบู่ขายง่ายมีความต้องการอยู่เสมอ ทำให้การเพาะเลี้ยงมีตลาดรองรับอยู่ตลอด ตลาดของเราจะเน้นส่งออก มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน ต้องยอมรับเลยว่าเพาะเลี้ยงไม่ทันส่งลูกค้า เพราะเกษตรกรเพาะพันธุ์ปลาบู่มีค่อนข้างน้อยมาก

สำหรับท่านใดที่สนใจปลาบู่ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธงชัย ศีลอุดม อายุ 69 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 67/8 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 082-551-3136

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565