หนุ่มปริญญาโท ปากพนัง ปลูกทุเรียนเทศ ใช้นวัตกรรมสกัดสาร ต่อยอดทำผลิตภัณฑ์

พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา รวมพื้นที่กว่า 1.9 ล้านไร่ ซึ่งลุ่มน้ำปากพนัง จัดเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มากแหล่งหนึ่งของภาคใต้

คุณทวี ศรีเกตุ เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้มีดีกรีในระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ชาวตำบลคลองกระบือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และทำการเกษตรในรูปแบบของการเกษตรผสมผสาน รวมถึงการเพาะพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิมและปลาดุก มาตลอดชีวิตของการเป็นเกษตรกร ซึ่งเมื่อถูกจุดประกายด้วยพืชพื้นถิ่นของปากพนัง คือ “ทุเรียนน้ำ หรือ ทุเรียนเทศ” ก็เริ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง

“ผมเห็นคนซื้อทุเรียนเทศมา ในราคาลูกละ 60 บาท ผมรู้สึกว่ามันแพงมาก เพราะบริเวณชุมชนที่ผมอยู่อาศัยมีหลายต้น เป็นพืชพื้นถิ่น ผลก็หล่นแตกเละเยอะมาก แต่พอได้คุยกับคนแก่ก็ทราบว่า เนื้อทุเรียนเทศมีสรรพคุณช่วยรักษาโรครำมะนาด เพราะเนื้อมีวิตามินซีสูงมาก ช่วยเรียกน้ำนมในผู้หญิงหลังคลอด ใบใช้รักษาเหาและอาการไอเรื้อรัง หลังจากนั้นไม่นาน ผมไปเจอที่ตลาดอตก. ราคาทุเรียนเทศ กิโลกรัมละ 300 บาท หลังจากนั้นผมตั้งใจว่า จะทำสวนทุเรียนเทศจริงจัง”

คุณทวี เก็บเมล็ดทุเรียนเทศมาเพาะกล้าเอง ก่อนลงปลูกครั้งแรก จำนวน 600 ต้น และเดินเข้าหาสถาบันการศึกษาที่มีนักวิจัยศึกษาสารในทุเรียนเทศ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จากทุเรียนเทศ เป็นการต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมานาน

เหตุที่ต้องเดินหน้าเข้าหานักวิจัย เนื่องจากคุณทวี ทราบว่าคุณประโยชน์จากผลและใบทุเรียนเทศมีมากก็จริง แต่ผลต่อเนื่องจากสารบางชนิดที่อยู่ในใบทุเรียนเทศ สามารถทำลายอวัยวะภายในร่างกายได้ จึงตัดสินใจปรึกษากับนักวิจัย เพื่อศึกษาวิจัยให้การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทุเรียนเทศนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

ทุเรียนเทศ เป็นพืชพื้นถิ่นของภาคใต้ เมื่อมีการปลูกจริงจัง โดยการเพาะเมล็ด คุณทวี ลงปลูกครั้งแรกจำนวน 600 ต้น เหตุที่ต้องเพาะจากเมล็ด เพราะต้องการพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเดิมเป็นทะเล ดินที่อยู่ลึกลงไปประมาณ 2 เมตร เป็นดินเค็ม คุณทวีต้องการให้รากลึกลงไปกินแร่ธาตุที่มีอยู่ เพื่อให้มีผลต่อใบทุเรียน ซึ่งจะเป็นแหล่งเก็บสารหลายชนิด ที่สามารถนำมาสกัดใช้ประโยชน์ได้

ระยะเวลาเพาะกล้า 5 เดือน จากนั้นนำลงปลูก ระยะห่างที่เหมาะสม คือ 3×3 เมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้เกือบ 100 ต้น ช่วงลงแปลงใหม่ๆ ควรรดน้ำให้พอชุ่ม 2-3 วันต่อครั้ง หากน้ำไม่ถึงจะทำให้ต้นทุเรียนเทศแห้งตาย จากนั้นให้ปุ๋ยเคมีในการเร่งโต แต่การให้ปุ๋ยเคมีจะให้จนถึงช่วงอายุของต้นทุเรียน 2 ปี จากนั้นงดให้สารเคมีเด็ดขาด

ต้นทุเรียนเทศ อายุ 2 ปีขึ้นไป รดน้ำสัปดาห์ละครั้งหรือมากกว่า ไม่เกิดอันตรายกับต้นทุเรียนเทศ เพราะทุเรียนเทศเป็นพืชชอบน้ำ ให้ผลดีในฤดูฝน

เมื่อต้นทุเรียนเทศ อายุ 2 ปีครึ่ง-3 ปี เริ่มเก็บใบได้ ซึ่งการเก็บใบให้สังเกตอายุใบกลางๆ สีไม่เข้มเกินไป หากใบอ่อนหรือแก่เกินไป สารที่อยู่ในใบทุเรียนเทศจะลดลง ไม่เหมาะสำหรับการนำไปใช้

การเก็บใบทุเรียนเทศ ใช้แรงงานคนในการเก็บโดยการใช้กรรไกรตัด มีแผ่นรองบริเวณรอบโคนต้นรับใบที่ตัดออก ในการตัดใบแต่ละครั้งตัดเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของต้น และตัดทุก 3-4 วัน ได้ใบทุเรียนเทศครั้งละประมาณ 3-4 กิโลกรัม ควรเหลือใบเลี้ยงลำต้นไว้ เพราะเราต้องการผลทุเรียนเทศด้วย ภายหลังตัดใบแล้วเสร็จ นำใบไปล้าง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำไปหั่นโดยใช้เครื่องหั่น ซึ่งการใช้เครื่องหั่นใบเป็นการนวดใบทุเรียนเทศไปในตัว เช่นเดียวกับหลักการทำชาที่ต้องนวดใบชา และเมื่อถูกความร้อนจะทำให้สารที่อยู่ในใบสกัดออกมาได้ง่าย

ใบทุเรียนเทศสด น้ำหนัก 4 กิโลกรัม เมื่ออบแห้งแล้วเหลือเพียงใบทุเรียนเทศอบ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม

เมื่อทุเรียนเทศโตเต็มที่จะสูงประมาณ 6-7 เมตร และเริ่มให้ผลเมื่ออายุประมาณ 3 ปีครึ่ง แต่ควรบำรุงรักษาต้นด้วยการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นไม่สูงมาก การเก็บใบจะทำได้สะดวก โดยการตัดแต่งกิ่งทำควรหลังจากเก็บผลแล้ว

ทุเรียนเทศ ก็เหมือนพืชทั่วไปที่มีโรคและแมลง คุณทวี บอกว่า ที่พบมีเพียง 2 ชนิด คือ หนอนผีเสื้อกินใบอ่อน หากพบจะจับออกแล้วทิ้งลงคูน้ำให้ปลากิน ส่วนหนอนไชลำต้น ต้องใช้น้ำหมักจากเมล็ดทุเรียน ซึ่งหมักจากกากน้ำตาล อีเอ็ม เมล็ดทุเรียน และยาเส้น ฉีดเข้าลำต้น จะทำให้หนอนไชลำต้นตาย

“ใบทุเรียนเทศ สามารถขายใบสดได้ในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท แต่เราไม่ได้ขาย เพราะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากทุเรียนเทศ เช่น ใบทุเรียนเทศอบแห้งพร้อมชง น้ำทุเรียนเทศเข้มข้น สบู่ครีมทุเรียนเทศ แชมพูสารสกัดจากใบทุเรียนเทศ ทั้งหมดได้มาตรฐาน GAP GMP และ อย. ซึ่งทำให้ผมมีรายได้แต่ละปีมากกว่า 1 ล้านบาท”

แม้จะมีข้อกังวลว่า การบริโภคทุเรียนเทศทั้งใบและเนื้ออาจมีสารบางชนิดที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะในร่างกาย แต่คุณทวี การันตีด้วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการนำนวัตกรรมมาใช้ทำลายสารที่มีผลต่ออวัยวะในร่างกายให้หมดไป แต่ยังคงเหลือสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายไว้ครบถ้วน

“มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการทำเครื่องอบไมโครเวฟพลาสม่า ซึ่งเครื่องอบดังกล่าว เมื่อนำใบทุเรียนเทศเข้าอบแล้ว พบว่า สารในกลุ่มที่มีผลต่อร่างกายหายไป แต่สารตัวอื่นที่มีคุณประโยชน์อยู่ครบ ซึ่งเป็นเรื่องดี และทำให้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดออกมา”

ปัจจุบัน สวนทุเรียนเทศที่คุณทวีปลูกไว้ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทุเรียนเทศ สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และเครือข่าย Young Smart Farmer จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้และศึกษาดูงานเรื่องทุเรียนเทศ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณทวี ศรีเกตุ โทรศัพท์ 087-885-5670 และ 084-423-7418