หนุ่มราชบุรี เพาะพันธุ์ชันโรงขาย ลงทุนน้อย สร้างกำไรต่อรังไม่ธรรมดา

“ชันโรง” เป็นแมลงขนาดเล็กที่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก มีอุปนิสัยชอบเก็บน้ำหวานและละอองเกสรดอกไม้เป็นอาหารคล้ายๆ กับผึ้ง ซึ่งชันโรงจะไม่เหมือนกับผึ้งตรงที่ไม่มีเหล็กในจึงไม่สามารถต่อยได้ หลายภูมิภาคของประเทศไทยสามารถพบชันโรงได้และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ภาคใต้เรียกชันโรงขนาดเล็กว่า อุงหรือแมลงโลม และชันโรงขนาดใหญ่ว่า อุงหมี ส่วนทางภาคตะวันตกเรียกว่า ตัวตุ้งติ้งหรือตัวติ้ง ภาคเหนือเรียกชันโรงที่มีขนาดเล็กว่า แมลงขี้ตึงหรือตัวขี้ตังนี แต่ถ้าเป็นชันโรงที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า ขี้ย้าด้าหรือขี้ย้าแดง เรียกตามสีของลำตัว

คุณอานนท์ ชูโชติ หรือ คุณกัน

โครงสร้างภายในรังของชันโรงจะประกอบไปด้วย ปากทางเข้ารังที่หลายลักษณะ เช่น เป็นหลอดหรือปล่อง รูปปากแตรหรือมีรูเล็กๆ และมียางเหนียวๆ อยู่บริเวณปากทางเข้าออกรัง ชันโรงสามารถสร้างรังได้หลากหลายที่ ตั้งแต่โพรงลำต้นไม้ใหญ่ ในดินจอมปลวกหรือแม้แต่รอยแยกของบ้าน ซอกตึก กล่องไม้ต่างๆ ก็สามารถทำรังได้ด้วยเช่นกัน ภายในรังมีการสร้างห้องหรือที่เรียกอีกอย่างว่ากระเปาะ แบ่งแยกกันตามประโยชน์ใช้สอยคือ การสร้างกระเปาะเก็บเกสร กระเปาะสำหรับวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน กระเปาะเก็บน้ำหวาน ซึ่งการสร้างในลักษณะนี้จะแตกต่างกันไปของแต่ละชนิดชันโรง

ส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในรัง

ชันโรงถือเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรได้ดีอีกด้วย จึงทำให้เกษตรกรที่ทำสวนไม้ผล เห็นถึงความสำคัญและนำรังมาวางไว้ภายในสวน ช่วยให้ไม้ผลติดผลผลิตดีขึ้นหรือเรียกง่ายๆ ว่า มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการผสมเกสรที่ดีนั้นเอง คุณอานนท์ ชูโชติ หรือ คุณกัน ได้เห็นถึงความสำคัญในการเลี้ยงชันโรงเพื่อมาไว้ในสวนลิ้นจี่ จากที่มีเพียงไม่กี่รังไว้ภายในสวน เขาไม่คาดคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับเขาได้ดีไม่น้อยทีเดียว

ส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในรัง

เริ่มเลี้ยงชันโรงครั้งแรก คนมองว่าเขา “บ้า”

คุณกัน เล่าว่า รู้จักกับชันโรงเป็นครั้งแรกเพราะแมลงชนิดนี้มาเกาะอยู่ที่ประตูบ้าน เมื่อเกิดความสงสัยจึงทำให้ได้ศึกษาว่าคืออะไร จากการได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ชันโรงในหลายพื้นที่มีการเลี้ยงกันมาก และสามารถผลิตรังและเก็บน้ำหวานจำหน่ายได้ เขาจึงได้หารังชันโรงจากธรรมชาติมาเลี้ยงก่อน แต่จำนวนก็ไม่ได้มากเท่าที่ควร จึงได้มีการซื้อรังจากฟาร์มอื่นๆ เข้ามาเลี้ยงด้วย ทำจนเกิดความชำนาญและผลิตรังชันโรงส่งจำหน่ายในเวลาต่อมา

ส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในรัง

“ช่วงแรกผมจะซื้อเป็นสายพันธุ์ตัวใหญ่มาเลี้ยงก่อน ก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก จากที่ผมศึกษาอาจจะเป็นเพราะว่าน่าจะอยู่ได้เฉพาะถิ่นทางภาคใต้ พอมาอยู่แถวบ้านผมที่ราชบุรีก็จะตาย ช่วงนั้นหมดไปหลายหมื่น จนคนบอกว่าผมบ้ามาเลี้ยงชันโรง จากนั้นผมก็ไม่ย่อท้อ กลับมาศึกษาชันโรงตัวเล็กที่ผมมีอยู่ เป็นชันโรงขนเงิน ซึ่งสายพันธุ์นี้มีข้อดีคือ เขาเป็นชันโรงบ้าน สามารถอยู่ได้ทุกที่ และยิ่งตัวมีขนาดที่เล็ก จึงทำให้สามารถเข้าไปผสมเกสรในดอกไม้ที่มีขนาดเล็กๆ ได้ดี หากินเก่ง”

วางไว้ได้ทุกที่

ชันโรง เลี้ยงง่าย หาอาหารกินเอง

คุณกัน เล่าว่า การเลี้ยงชันโรงถือว่าประหยัดต้นทุนอาหารเป็นอย่างมาก โดยที่ผู้เลี้ยงไม่มีต้นทุนเหล่านี้เลย เพราะรังของชันโรงที่นำไปวางตามที่ต่างๆ แมลงเหล่านี้จะออกหาอาหารกินเอง โดยบินไปเก็บน้ำหวานในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ไกลจากรังมากนัก ยิ่งนำรังไปไว้ในสวนไม้ผลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตัวช่วยผสมเกสรชั้นดี โดยทุก 1 ปี จะแยกรังชันโรง 2 ครั้ง หรือถ้ามองว่าในรังมีขนาดที่แคบเกินไป สามารถแยกรังไปใส่ในกล่องใหม่ได้ทันที เป็นการขยายรังจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ช่วงที่เวลาที่เหมาะต่อการแยกรังจะเป็นช่วงฤดูร้อน เพราะค่อนข้างที่จะมีดอกไม้ออกมาจำนวนมาก เพียงพอที่จะเป็นอาหารให้กับชันโรง

“ชันโรงหาอาหารกินตามเวลา อย่างช่วงหน้าฝนจะไม่ค่อยออกมาหาอาหารมากนัก จะหลบอยู่แต่ในรัง แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาว แดดออกเมื่อไหร่ถึงจะออกจากรังมาช่วงสายๆ แต่หน้าร้อนนี่ถือว่ากลางวันยาว ชันโรงก็จะออกมาแต่เช้า ตั้งแต่เลี้ยงมา ชันโรงนี่ถือว่าไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย โดยเฉพาะแหล่งอาหาร เขาจะออกไปหากินเองตามธรรมชาติ เราก็จะประหยัดต้นทุนในเรื่องนี้ แต่จะต้องลงทุนในเรื่องของกล่องไม้ที่เลี้ยง ต้องซื้อไม้มาทำ ขนาดของกล่องรังเลี้ยงชันโรง ผมจะให้มีขนาดเท่ากระดาษ A 4 ความกว้าง 21 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร และความสูงของกล่องไม้อยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนศัตรูที่ต้องป้องกันไม่ให้มากินตัวชันโรง จะมีตั้งแต่จิ้งจก มด และหากเจอใยแมงมุมบริเวณรัง ให้เอาออกทันที”

การแยกรังชันโรงเคล็ดลับคือ ต้องตรวจดูปริมาณไข่ ดักแด้ ตัวเต็มวัย และอาหาร ภายในรังต้องมากพอ ซึ่งการแยกรังไปใส่ในกล่องไม้ใหม่ จะต้องแยกไข่ ดักแด้ ตัวเต็มวัย จะต้องมีชันโรงพี่เลี้ยงติดมาด้วย เพื่อให้ช่วยกัดหลอดดักแด้ให้ตัวเต็มวัยออกจากหลอด ถ้วยอาหารใส่ลงในรังโดยวางใกล้ปากทางเข้าออก

จากนั้นนำขี้ชันจากรังเดิมมาแปะทางเข้าของรังใหม่ เพื่อล่อตัวเต็มวัยให้กลับเข้ารังใหม่ที่แยกไว้ พร้อมกับปิดทางเข้ารังเดิมและนำออกจากจุดเดิม เพื่อให้ตัวชันโรงกลับเข้ารังใหม่ที่แยก ดูแลต่อไปอีก 2-3 เดือน รังใหม่เหล่านี้ก็จะสามารถส่งจำหน่ายได้

ไข่ตัวอ่อน

ราคาจำหน่ายต่อรัง อยู่ที่หลักร้อยจนถึงพันบาท

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายรังชันโรงนั้น คุณกัน บอกว่า เมื่อสำรวจดูภายในรังใหม่ที่แยกไว้เห็นว่ามีความสมบูรณ์แล้ว หากมีลูกค้าสนใจก็สามารถจำหน่ายได้ แต่ถ้าต้องการจำหน่ายแบบให้รังมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จะดูแลต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ภายในรังมีขนาดใหญ่ เมื่อลูกค้าซื้อไปก็สามารถนำไปแยกต่อไป จะทำให้มีจำนวนรังชันโรงที่เพิ่มขึ้น แต่สำหรับมือใหม่ควรเริ่มเลี้ยงจากรังเล็กๆ ก่อน เพื่อเรียนรู้อุปนิสัยของชันโรง หากเกิดความผิดพลาดจะได้ทดลองเลี้ยงใหม่ได้แบบไม่ต้องเสียต้นทุนมาก

โดยราคารังชันโรงที่เป็นรังใหม่หลังจากแยกแล้ว 2 เดือน ราคาต่อรังจำหน่ายอยู่ที่รังละหลักร้อยบาท ส่วนรังที่เลี้ยงให้ใหญ่หลังแยกรังดูแลมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ราคาจำหน่ายจะอยู่ที่หลักพันบาท ตั้งแต่ที่จำหน่ายมาลูกค้าชื่นชอบขนาดของรังเล็กรังใหญ่แตกต่างกันไป และการทำตลาดหลักๆ จะเน้นช่องทางออนไลน์มีลูกค้าจากจังหวัดอื่นๆ ให้ส่งทางไปรษณีย์ หรือหากต้องการเรียนรู้การเลี้ยงก็จะเข้ามาซื้อถึงภายในสวน

ชันโรงนางพญา ตัวใหญ่สุด

“ผมจะเน้นขายเป็นรังแม่พันธุ์เป็นส่วนใหญ่ จะไม่เน้นขายน้ำหวาน เพราะปริมาณสวนผลไม้ที่ผมทำยังไม่มากพอ จึงยังไม่เหมาะสมกับการผลิตน้ำหวานขาย การเลี้ยงชันโรงถือว่าสร้างรายได้ให้ผมดีมากๆ จากคนมองว่าผมบ้า ตอนนี้เขาเริ่มเปลี่ยนความคิดกันแล้วว่า ชันโรงสามารถสร้างรายได้จริง การเลี้ยงก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก ชันโรงหาอาหารกินเองได้ ตอนนี้รายได้หลักแสนต่อปีที่ได้จากการเลี้ยงชันโรง ก็ถือว่าตอบโจทย์สามารถมีรายได้เสริมอีกหนึ่งช่องทาง คนที่อยากเลี้ยงก็อยากให้ทดลองดูครับ หากมีไม้ผลอยู่จะนำไปช่วยผสมเกสรก็ได้ พออนาคตแยกรังได้เยอะๆ ชันโรงพวกนี้ก็จะทำเงินให้อีกหลายช่องทางแน่นอน”

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงชันโรงขนเงิน และต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณอานนท์ ชูโชติ หรือ คุณกัน อยู่บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 6 ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 065-395-6799

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 13 มีนาคม 2023