ทุเรียนนนท์ ใช้นวัตกรรม RRE แก้วิกฤตน้ำเค็ม สู้โรครากเน่า

จังหวัดนนทบุรี เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมานานกว่าร้อยปี “ทุเรียนนนท์” เป็นเลื่องลือในเรื่องความหลากหลายสายพันธุ์และมีรสชาติอร่อย เพราะสภาพดินเมืองนนทบุรีเป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารพืชบริบูรณ์ ทำให้ทุเรียนนนท์มีเนื้อหนา ละเอียด รสชาติดี ขายได้ราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง สร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นปีละหลายร้อยล้านบาท

ทุกวันนี้ ทุเรียนนนท์เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้เพราะเผชิญกับปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงแล้ว ยังเจอปัญหาน้ำเสียจากชุมชนที่อยู่รอบสวน ทำให้ต้นทุเรียนยืนต้นตาย แม้ปลูกซ่อมแล้ว แต่ก็ยังประสบปัญหาเดิมๆ แถมเจอผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ แมลงศัตรูพืช และโรครากเน่าโคนเน่า ทำให้เกษตรกรหลายรายท้อใจจนเลิกอาชีพทำสวนทุเรียนไปในที่สุด สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรีระบุว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกทุเรียนในอำเภอเมือง จำนวน 1,168 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว 100 กว่าไร่ ในปี 2565 มีทุเรียนนนท์เข้าสู่ตลาดประมาณ 5,000 ลูก

ต้นทุเรียนหมอนทอง ในสวนอลิษา      

อนุรักษ์วิถีทุเรียนนนท์

สวนทุเรียนอลิษา ตั้งอยู่ในตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ที่นี่เป็นสวนเก่าแก่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2490 บุกเบิกสร้างสวนโดยคุณแม่ของ พ.ต.อ. ดำรงพงษ์ เพ็ชรสุวรรณ เจ้าของสวนในยุคปัจจุบัน พ.ต.อ. ดำรงพงษ์ และภรรยา “คุณศิวนาถ เพ็ชรสุวรรณ” ตั้งใจดูแลรักษาสวนทุเรียน ที่ดินมรดกของคุณแม่ให้ดีที่สุด

สวนทุเรียนอลิษาผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายขวบปี จนต้นทุเรียนล้มตายไปบางส่วน สวนทุเรียนอลิษาในปัจจุบันได้รับฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2558 ปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ เช่น หมอนทอง ก้านยาว ชะนี กบแม่เฒ่า กบเล็บเหยี่ยว พานพระศรี ฯลฯ ต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ให้ผลผลิตใน 5 ปีต่อมา ต้นทุเรียนมีสภาพดีให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา สภาพแวดล้อมและสภาพอากาศเปลี่ยนไป น้ำที่ใช้รดทุเรียนมีความเค็มเข้มสูงมาก 560-800 ppt ทำให้ต้นทุเรียนเกิดปัญหาใบไหม้ เมื่อแตกยอดใหม่มา ต้นทุเรียนมีใบเล็กและร่วงหล่นไป ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้น้ำเสียซึมผ่านใต้ดิน ทำให้ต้นทุเรียนทยอยทรุดโทรม

สวนทุเรียนถูกล้อมรอบด้วยอาคารบ้านเรือน 

ใช้นวัตกรรมสู้น้ำเค็ม

ปลายปี 2564 จังหวัดนนทบุรีได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูสวนทุเรียนนนท์ คุณศิวนาถได้การติดต่อจากทีมวิจัยทุเรียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ และทีมงานนักศึกษาปริญญาโท คุณธนวัฒน์ โชติวรรณ เพื่อเข้ามาฟื้นฟูสภาพสวนทุเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2565

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้นวัตกรรมชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem) และปรับปรุงการให้น้ำด้วยนวัตกรรม Basin Fertigation มาใช้กับสวนอลิษา ปรากฏว่า ต้นทุเรียนฟื้นจากอิทธิพลน้ำเค็มหนุนและน้ำเสียจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ต้นทุเรียนติดดอกออกผลได้ปกติเหมือนในอดีต แถมให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนทุกแปลงในจังหวัดนนทบุรี และสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและสารเคมีไปได้อย่างมาก

คุณศิวนาถ เพ็ชรสุวรรณ เจ้าของสวนอลิษา 

วช. สนับสนุนทุนวิจัย

นวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย เป็นนวัตกรรมคิดค้นขึ้นมาใหม่โดยการปรับสภาพ ecology ของต้นทุเรียนโดยการชักนำรากใหม่ (Reborn Root Ecosystem : RRE) ทดแทนรากที่เสียหายจากการเข้าทำลายเชื้อ Phytophthora ทำให้ต้นทุเรียนที่เป็นโรครากเน่าโคนเน่าจาก Phytophthora spp. มีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์และแตกใบใหม่อย่างต่อเนื่อง หากมีดอกบนต้น ดอกไม่ร่วง ติดผลได้ตามปกติ เมื่อนำดินที่ผิวดินและใต้ดินลึก 15 เซนติเมตรโดยประมาณ และรากที่เป็นโรค ถูกเข้าทำลาย มาตรวจเชื้อพบว่า ไม่พบเชื้อ Phytophthora spp. ในทุกตัวอย่าง ขณะที่ต้นทุเรียนที่ไม่ได้ใช้นวัตกรรมดังกล่าว ยังคงพบเชื้อ Phytophthora spp

สวนทุเรียนที่ใช้นวัตกรรมนี้ กิ่งทุเรียนไม่แห้งแม้ติดผลแล้วไม่มีใบ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับแตกใบออกมาใหม่ ผลทุเรียนไม่ร่วงหล่น ผลทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม เนื้อแห้งรสชาติดี แม้ว่าจะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนประมาณ 60,000-95,000 บาทต่อไร่ เนื่องจากไม่ต้องฉีดปุ๋ยทางใบและลดการใช้ปุ๋ยทางดินหรือปุ๋ยทางน้ำ

ทุเรียนลูกนี้ราคา 2,000 กว่าบาท

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยดังกล่าว จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อการส่งออก) ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยคณะนักวิจัยได้ถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงจากการวิจัยและพัฒนาการชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem : RRE) เป็นนวัตกรรมที่สร้างระบบนิเวศให้มีฮิวมัสและสารคีเลตเพื่อให้รากฝอย (fine root) หาน้ำและแร่ธาตุร่วมกับระบบจุลินทรีย์ในดินอย่างสมดุล และนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม ที่ให้น้ำตามการปิดเปิดปากใบของทุเรียน และสภาพน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อชักนำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมและรสชาติดีตามเอกลักษณ์ดั้งเดิมของสวนผลไม้ในเขตราบลุ่มแม่น้ำของจังหวัดนนทบุรี

รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ 

ขยายผลไปทั่วประเทศ

ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem : RRE) สามารถแก้ไขปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนแบบถาวร” ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านนวัตกรรมการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานและคุณค่าแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนทั่วประเทศเข้ามารับการอบรมความรู้เรื่องระบบชักนำรากลอย ด้วยการผสมผสานการใช้อินทรียวัตถุ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และการเติมอากาศเข้าสู่ระบบรากทุเรียน สามารถแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าได้อย่างถาวร โดยนวัตกรรมการชักนำรากลอยจากในดินมาอยู่ในชั้นกองอินทรียวัตถุ ทำให้รากตะขาบหรือรากขนอ่อนของทุเรียนมีจุลินทรีย์ในระบบรากเพื่อเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารของทุเรียนเพิ่มขึ้นและต้นทุเรียนที่ผ่านการดูแลในระบบดังกล่าว เมื่อมีฝนตกในช่วงการเก็บเกี่ยวพบว่า ผลทุเรียนไม่เกิดอาการไส้ซึมในเนื้ออีกด้วย

ใช้อินทรียวัตถุ+เชื้อจุลินทรีย์+เติมอากาศเข้าสู่ระบบรากทุเรียน

ขณะเดียวกัน เกษตรกรได้เรียนรู้นวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation ตามรอบการปิดเปิดปากใบในรอบวัน ส่งผลต่อการสะสมธาตุอาหารเข้าสู่ใบและส่งไปยังลูกทุเรียนได้ดีกว่าระบบเดิม ทำให้ทุเรียนหมอนทองที่อายุ 90 วันมีร้อยละของน้ำหนักแห้งประมาณ 35 เมื่อเก็บที่ 115 วันมีร้อยละน้ำหนักแห้งของเนื้อประมาณ 39 เนื้อเหนียวเนียนละเอียด มีกลิ่นหอมดอกไม้ เส้นใยอ่อนนุ่ม เมื่อนำนวัตกรรมทั้งสองระบบไปใช้งานในสวนทุเรียน ช่วยให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดีขึ้น ทั้งด้านรสชาติและกลิ่นหอมกว่าทุเรียนที่ผลิตได้ในระบบปกติ เพิ่มยกระดับราคาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในตลาดในประเทศและตลาดส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมความรู้จากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปลูกดูแลและข้อมูลการตลาดทุเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการรวมกลุ่มในนาม “วิถีทุเรียนอร่อย” โดยมี คุณชวกร เตโชธรรมสถิต สวนยายช่วยห้วยตาชุ้น อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแกนนำในการติดต่อประสานงานเพื่อนสมาชิก 100 กว่าคนในกลุ่ม วิถีทุเรียนอร่อย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น สวนเสรี คุณอนุสรณ์ กลอยดี ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี สวนเกษตรไฮเปอร์ จังหวัดปราจีนบุรี ของ คุณสุชาติ วงษ์สุเทพ  สวน คุณชัยนรินทร์ ธีรเดชไชยนันท์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสวน ลุงเจ๊ก จังหวัดศรีสะเกษ ฯลฯ

รากขนอ่อนต้นทุเรียนดูดซับธาตุอาหารเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับไม้ผลเมืองร้อนได้ทุกชนิด หากใครสนใจอยากเข้าอบรมนวัตกรรมดังกล่าวกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถติดต่อไปได้ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ และ คุณปิยะพงษ์ สอนแก้ว เบอร์โทร. 081-822-2801 ในวันและเวลาราชการ