การป้องกันกำจัดศัตรูพืช มะพร้าวอ่อน-มะพร้าวแกง อย่างยั่งยืน

ประเด็นร้อนในวงการมะพร้าว ตอนนี้คงหนีไม่พ้น ปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูจำนวน 4 ชนิด คือ หนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว ลองมาทำความรู้จักแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ ว่ามีหน้าตา อุปนิสัย และลักษณะการทำลายเป็นอย่างไร รวมทั้งแนวทางป้องกันและการกำจัดแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิด 

 

หนอนหัวดำมะพร้าว 

ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท นักกีฏวิทยาชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-5583 ต่อ 249 ได้บรรยายในหัวข้อ “การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวแกงอย่างยั่งยืน” ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง เดินหน้าอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยจากฐานชีวภาพ จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)

หนอนหัวดำมะพร้าวเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญในแถบเอเชียใต้ เช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย หนอนหัวดำมะพร้าวเป็นแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นที่เข้ามาระบาดในประเทศไทย โดยพบครั้งแรกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2550 ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว 29 จังหวัด เนื้อที่ 78,954 ไร่ โดยพบการแพร่ระบาดมากในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา

หนอนหัวดำมะพร้าว เมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก่อนที่จะย้ายไปกินใบมะพร้าว เมื่อหนอนหัวดำโตเต็มที่จะถักใยหุ้มลำตัวและเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์และกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัว วัดจากหัวถึงปลายท้องยาว 1-1.2 เซนติเมตร ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่งแบบตัวติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว เพศเมีย 1 ตัว วางไข่เป็น กลุ่มครั้งละ 49-490 ฟอง จากนั้นผีเสื้อกลางคืนบินวางไข่บริเวณใบล่างของต้นมะพร้าว

พืชอาหารของหนอนหัวดำมะพร้าว ได้แก่ มะพร้าว ตาลโตนด หมาก อินทผลัม ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับต่างๆ เช่น ตาลฟ้า หมากเขียว หมากแดง ปาล์มหางกระรอก จั๋ง นอกจากนี้ ยังพบทำลายต้นกล้วยที่ปลูกใต้ต้นมะพร้าว หนอนหัวดำจะเข้าทำลายใบเฉพาะระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยกัดกินผิวใบแก่ ใบมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแห้งเป็นสีน้ำตาล ใบย่อยถูกดึงเรียงกันเป็นแพ บางครั้งพบการทำลายรุนแรง โดยหนอนจะกัดกินก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะมีใบแห้ง มีสีน้ำตาล เมื่อทำลายรุนแรงขึ้น อาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

แนวทางป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ควรใช้วิธีผสมผสาน สำหรับสวนมะพร้าวทั่วไป

 

กรณีเริ่มพบการระบาด 

  1. ตัดทางใบล่างที่หนอนหัวดำกัดกิน ไปเผาทำลาย
  2. พ่นเชื้อบีทีทันที โดยเลือกใช้สารบีที ที่ขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรแล้วเท่านั้น โดยใช้เชื้อบีที อัตรา 100 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 5 มิลลิลิตร พ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบ โดยฉีดพ่นในช่วงเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดที่จะทำลายเชื้อบีที โดยใช้เครื่องพ่นที่ปรับระดับได้ไม่น้อยกว่า 30 บาร์ และพ่นติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน
  3. ใช้วิธีปล่อยแตนเบียน โกนีโอซัส นีแฟนติดิส หรือปล่อยแตนเบียน บราคอน ฮีปีเตอร์ ในช่วงเย็น ในอัตรา 200 ตัว ต่อไร่ ต่อครั้ง ให้กระจายทั่วแปลง แตนเบียนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูธรรมชาติ หลักการปล่อยแตนเบียนต้องปล่อยแบบท่วมท้น ปล่อยให้มากที่สุดเท่าที่จะปล่อยได้ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่และปล่อยอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งช่วงฤดูฝนที่หนอนหัวดำลดการแพร่ระบาดก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรหนอนหัวดำเพิ่มจำนวนมากขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้การกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

พื้นที่ที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวระบาดรุนแรง ก่อนจะปล่อยแตนเบียน 2 สัปดาห์ เกษตรกรควรใช้สารเคมีให้ครอบคลุมพื้นที่ก่อน โดยวิธีฉีดสารเข้าต้นควบคู่ไปกับการพ่นสารทางใบ แต่ต้องเป็นสารที่กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยและได้แนะนำให้ใช้ หากดำเนินการไม่ครอบคลุมพื้นที่ เช่น ฉีดเฉพาะต้นสูง แมลงจะอพยพลงมาขยายพันธุ์บนมะพร้าวต้นเตี้ย ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด

กรณีพบหนอนหัวดำแพร่ระบาดรุนแรงในสวนมะพร้าว ทำให้ต้นมะพร้าวเหลือทางใบที่มีสีเขียวน้อยกว่า 13 ทางใบ ซึ่งจะทำให้มะพร้าวเริ่มสูญเสียผลผลิต ควรใช้สารเคมีกำจัดแมลง โดยฉีดพ่นทางใบหรือยอด และฉีดสารเคมีเข้าลำต้น

การพ่นทางใบ        

พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงของหนอนหัวดำรุนแรงและไม่มีการปล่อยแตนเบียน กรณีต้นมะพร้าวต่ำกว่า 12 เมตร ควรฉีดพ่นทางใบ ด้วยสารกำจัดแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น สารฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม หรือคลอแรน ทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมสารอัตราที่กำหนดผสมน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง โดยพ่นสารเคมีให้ทั่วทรงพุ่ม จะสามารถป้องกันหนอนหัวดำได้ประมาณ 2 สัปดาห์ สารเคมีทั้ง 4 ตัวนี้ มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนผีเสื้อโดยเฉพาะ ขณะเดียวกัน สารเคมีกลุ่มนี้ไม่มีสารตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว

“การเลือกใช้สารเคมีประเภทพ่นทางใบ ควรเลือกใช้ ฟลูเบนไดเอไมด์ หรือคลอเรนทรานิลิโพรล เป็นลำดับแรก เนื่องจากมีพิษต่ำต่อผึ้ง ส่วนสปินโนแสด มีพิษสูงต่อผึ้ง ไม่ควรใช้ในแหล่งเลี้ยงผึ้ง หรือช่วงมะพร้าวดอกบาน และลูเฟนนูรอน ไม่ควรใช้ในแหล่งที่มีการเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากมีพิษสูงต่อกุ้ง อาจมีผลทำให้กุ้งไม่ลอกคราบ” ดร.พฤทธิชาติ กล่าว

วิธีฉีดสารเข้าต้น

กรณีต้นมะพร้าวที่สูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป แนะนำให้ฉีดสารเข้าต้นโดยใช้สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้น ไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าว (trunk injection) อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อต้น การเจาะรูต้นมะพร้าว แนะนำให้เกษตรกรใช้สว่านที่ดัดแปลงจากเครื่องตัดหญ้า โดยส่วนปลายตัดใบพัดออก แล้วดัดแปลงใส่ดอกสว่านแทน

ใช้สว่านเจาะรูต้นมะพร้าว ให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้ตรงกันข้ามและต่างระดับกันเล็กน้อย เจาะรูให้ลึก 10 เซนติเมตร ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้นานมากกว่า 3 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดได้ทั้งด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว และหนอนหัวดำมะพร้าว) และไม่มีปัญหาสารเคมีตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว

กรมวิชาการเกษตร ไม่แนะนำให้ใช้วิธีฉีดสารเคมีเข้าลำต้นกับต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร ประเภทมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล เพราะอาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมเป็นที่นิยมบริโภคสดทั้งน้ำและเนื้อ มักมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 8-10 เมตร หรือสูงไม่เกิน 15 เมตร

 

แมลงดำหนามมะพร้าว

แมลงดำหนามมะพร้าว มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี เป็นศัตรูพืชต่างถิ่นที่เข้ามา ระบาดในประเทศไทย เมื่อปี 2547 พบการแพร่ระบาดรุนแรงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช

ลักษณะการทำลาย แมลงดำหนามมะพร้าวทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัย จะกัดกินยอดอ่อนที่สุดของใบมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ใบ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อมีการทำลายรุนแรง ใบมะพร้าวแห้งเป็นสีน้ำตาล จะมองเห็นยอดมะพร้าวเป็นสีขาวโพลนชัดเจน เรียกว่า “โรคหัวหงอก” พบการระบาดทำลายได้ทั้งมะพร้าวต้นเล็กและต้นสูงที่ให้ผลผลิตแล้ว

แมลงดำหนามมะพร้าว สามารถควบคุมโดยใช้ชีววิธี โดยอาศัยศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน แมลงหางหนีบ เชื้อราเขียว และเชื้อราบิวเวอร์เรีย รวมทั้งการใช้สารเคมี กรณีมะพร้าวที่สูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป ให้ฉีดสารเข้าต้นด้วย สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้น ไม่ต้องผสมน้ำ อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อต้น วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้กับมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร ประเภทมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล

 

ด้วงแรดมะพร้าว

ด้วงแรดมะพร้าว มักพบในแหล่งปลูกมะพร้าว พืชตระกูลปาล์ม มี 2 ชนิด คือ ด้วงแรดมะพร้าวชนิดเล็ก พบได้บ่อยทั่วทุกภาคของประเทศไทย และด้วงแรดมะพร้าวชนิดใหญ่ พบในเขตภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมา

ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยจะเจาะใบมะพร้าวที่บริเวณโคนทางใบที่ 2 หรือใบที่ 3 ทะลุเข้าไปถึงยอดอ่อน ตรงกลางหรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบมะพร้าวที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่ง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ มะพร้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป

การป้องกันกำจัด 1. ใช้วิธีเขตกรรม กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยเผาหรือฝังซากตอหรือลำต้นของมะพร้าว และเกลี่ยกองซากพืช หรือกองมูลสัตว์ ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร 2. ใช้ชีววิธี โดยใช้เชื้อราเขียว (Metarไhizium anisopliae) สร้างกับดักราเขียวโดยใช้ขุยมะพร้าว ที่หมักแล้วผสมกับหัวเชื้อราเขียว เพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด 3. การใช้สารเคมี กรณีมะพร้าวที่สูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป ให้ฉีดสารเข้าต้นด้วยสารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อต้น วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล

 

ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงไฟ 

ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงไฟ ที่พบในแหล่งปลูกมะพร้าว พืชตระกูลปาล์ม มี 2 ชนิด คือ ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก พบทำลายบริเวณลำต้น และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ พบทำลายมะพร้าวบริเวณยอดอ่อน

ลักษณะการทำลาย ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอมะพร้าวและพบบ้างที่โคนลำต้น ทำให้ต้นตาย อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงมะพร้าวทำลายคือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้ง ใบเหลือง การป้องกันกำจัดคือ อย่าให้ด้วงแรดทำลายมะพร้าว เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้ แนะนำให้ดูแลทำความสะอาดแปลงมะพร้าว

การใช้สารเคมี กรณีมะพร้าวที่สูงตั้งแต่ 12 เมตรขึ้นไป ให้ฉีดสารเข้าต้นด้วยสารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อต้น วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาล

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้เสนอแนะให้เกษตรกรใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายในการปฏิบัติงานเจาะต้น เช่น สวมอุปกรณ์ป้องกันเสียง ถุงมือนิรภัย หมวกนิรภัย แว่นนิรภัย หน้ากากป้องกันฝุ่นและสารเคมีที่ได้มาตรฐาน ถุงมือยางกันสารเคมี