ชาวบ้านเกาะยอ สงขลา ฟันธง “จำปาดะขนุน” ที่นี่ อร่อยที่สุด

“เกาะยอ” เป็นชื่อตำบลของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลา มี “สะพานติณสูลานนท์” เชื่อมติดต่อการสัญจรไป-มา ระหว่างตัวเมือง นับเป็นสะพานที่ยาวที่สุดของประเทศไทย มีความสวยงาม ตลอดจนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา

ชาวบ้านที่อาศัยบนเกาะยอมีอาชีพประมงพื้นบ้านขนาดเล็กในทะเลสาบ ปลูกยางพารา เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง เลี้ยงไก่ ทอผ้า รวมถึงยังปลูกไม้ผลหลายชนิดสร้างรายได้

“จำปาดะขนุน” เป็นชื่อของผลไม้อีกชนิดหนึ่งของตำบลเกาะยอ ที่เป็นที่รู้จักและนิยมรับประทานกัน เป็นไม้ผลที่กลายพันธุ์จากการปลูกตั้งแต่สมัยเจ้าพระยาวิเชียรศรี (ชม ณ สงขลา) อดีตเจ้าเมืองสงขลา ที่นำเมล็ดจำปาดะไปปลูกในสวนแล้วกลายพันธุ์ให้ผลมีรูปร่างคล้ายขนุน แต่รสชาติและเนื้อคล้ายจำปาดะ อีกทั้งยังมีลักษณะการเจริญเติบโตที่พิเศษคือ ต้นจะแตกแขนงออกด้านข้างเป็นพุ่มมากกว่าขนุน ผลที่เกิดขึ้นชิดกับโคนต้นมีขนาดใหญ่

รสหวาน กลิ่นหอมเหมือนจำปาดะ เนื้อหนา ยวงไม่หลุดจากไส้เมื่อดึงออกจากเปลือก

จึงมีการขยายพันธุ์นำมาปลูกกันอย่างแพร่หลายบนเกาะยอ แล้วกลับกลายมาเป็นไม้ผลที่ได้รับความสนใจมากในขณะนี้ กระทั่งมีการยกระดับจำปาดะขนุนให้เป็นไม้ผลอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศความสวยงามบนเกาะยอ

รต. ทวี ชาตะวิทยากูล รองประธานกลุ่มไม้ผลเกาะยอ/รองประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะยอ แล้วยังมีอาชีพเป็นชาวสวนผลไม้ เปิดเผยว่า ที่สวนมีพื้นที่ทั้งหมด 3 ไร่ ปลูกจำปาดะขนุน 50 กว่าต้น มีอายุต้นตั้งแต่ 50, 20 และ 4 ปี พร้อมกับบอกว่าจำปาดะที่มีอายุมาก ยิ่งได้ผลผลิตดกมาก ซึ่งจะมีผลห่อได้ จำนวน 50 ผล ต่อต้น แต่ถ้าอายุต้นสัก 7 ปีขึ้นไป มีผลห่อได้ 20 ผล ต่อต้น ทั้งนี้ จำปาดะ ปลูกด้วยต้นที่มาจากกิ่งทาบ เหตุผลที่ไม่ใช้เมล็ดปลูกเพราะจะทำให้ต้นกลายพันธุ์

(ซ้าย) คุณอรุณ หนูผุด หัวหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และ รต. ทวี ชาตะวิทยากูล กับจำปาดะขนุน อายุ 40 ปี

เขาให้รายละเอียดการปลูกจำปาดะว่า ควรจะขุดหลุมให้ลึก กว้าง ยาว ประมาณ 1 เมตร ด้วยเหตุผลเพราะต้องการตัดรากไม้ยืนต้นชนิดอื่นออกไป เพื่อให้จำปาดะหาอาหารได้เต็มที่ จากนั้นรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก แล้วกลบดินให้ท่วมสูงเป็นเนินเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขัง

ต้นตอจากการเพาะเมล็ด ที่จะนำไปทาบกิ่ง ถ้านำไปปลูกจะกลายพันธุ์

เมื่อลงดินสัก 2 สัปดาห์ เริ่มแตกใบอ่อน พออายุต้นได้ 3 ปี จึงให้ผลผลิต ทั้งนี้ต้องเลือกเฉพาะผลผลิตที่ติดกับต้น มีกิ่งขนาดใหญ่และแกนใหญ่ เพราะมีความสมบูรณ์มาก อย่างไรก็ตาม จะไม่เก็บผลไว้ทั้งหมด แต่จะเลือกเฉพาะผลที่สมบูรณ์ไว้เท่านั้น เพื่อจะได้ปล่อยให้ผลที่เก็บไว้มีความสมบูรณ์เต็มที่

กิ่งทาบ

จำปาดะรุ่นแรกจะมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อผล แล้วจะมีน้ำหนักผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น รวมถึงการดูแลบำรุงรักษาอย่างเต็มที่ด้วย ทั้งนี้ ตลาดผู้บริโภคชอบจำปาดะที่มีผลขนาดน้ำหนัก 7 กิโลกรัม

คุณทวี บอกว่า เมื่อจำปาดะขนุนออกดอกไม่จำเป็นต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากดอกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอันมาจากความสมบูรณ์ของดิน แต่จะเริ่มใส่ปุ๋ยเมื่อมีผลอ่อน อีกทั้งเมื่อมีขนาดกำปั้นต้องรีบห่อด้วย “โคระ” (เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่นำทางมะพร้าว จำนวน 4 เส้น มาสานไขว้กัน ใช้ห่อผลจำปาดะเพื่อป้องกันแมลงวันทองเข้ามาทำลาย เพราะเมื่อโคระมีสีน้ำตาล แมลงวันทองจะไม่เข้าใกล้ ปัจจุบันจำนวนต้นมะพร้าวลดลงจึงปรับมาใช้ถุงตาข่ายสีชมพูแทน)

นอกจากนั้น ยังบอกวิธีสังเกตผลจำปาดะขนุนที่พร้อมเก็บจากต้นด้วยการนับวันตั้งแต่เริ่มเป็นผล ประมาณ 120 วัน เมื่อตัดเก็บมาบ่มจะมีความสุกพอดี หรือให้ใช้วิธีสังเกตจากภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการดูหนามที่เปลือกว่าแบนทู่หรือยัง ถ้าหนามยังแหลมแสดงว่ายังใช้ไม่ได้

“หลังเก็บผลผลิตแล้วต้องตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยคอก พร้อมกับปุ๋ย สูตร 15-15-15 โดยปุ๋ยคอกใส่ทุก 6 เดือน ประมาณ 2-3 กระสอบ ต่อต้น พร้อมกับปุ๋ยน้ำหมัก ส่วนปุ๋ยสูตรใส่เฉพาะตอนให้ผล”

ต้นนี้อายุราว 7 ปี

คุณทวี ชี้ให้เห็นถึงความนิยมจำปาดะขนุนที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นเพราะมีผลใหญ่ ก้านและขั้วผลแข็งแรง มีรสหวานอันเป็นผลมาจากความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของเกาะยอทั้งดินและน้ำ (มีน้ำเค็ม จืด กร่อย) จนทำให้มีรสหวาน เนื้อแน่น กรอบ จนเปรียบได้ว่าหากได้รับประทานจำปาดะเกาะยอแล้ว เมื่อไปแข่งวิ่งมาราธอนต้องชนะแน่ เพราะมีพลังงานมาก

“โคระ” ภูมิปัญญาชาวบ้านสานทางมะพร้าวไว้ห่อผลจำปาดะขนุนเพื่อป้องกันแมลง

สำหรับการบริโภคจำปาดะขนุนนั้น คุณทวี บอกว่า สามารถบริโภคได้ทั้งสดและแปรรูป (เป็นไอศกรีม หรือข้าวเหนียว รวมถึงน้ำปั่น) นอกจากนั้น เมล็ดยังนำไปใส่ในแกงไตปลา ส่วนเปลือกกำลังอยู่ระหว่างทดลองนำมาเผาใช้เป็นถ่าน อีกทั้งเปลือกยังนำไปใช้ทำปุ๋ยหมักด้วย

ใช้ถุงตาข่ายห่อผลแทนโคระ

ด้านการตลาดทางกลุ่มฯ ส่งจำปาดะขนุนขายตามสถานที่ต่างๆ และแหล่งท่องเที่ยวในตำบลเกาะยอ นอกจากนั้นยังส่งให้พ่อค้า ในราคาหน้าสวน กิโลกรัมละ 30-35 บาท ขณะเดียวกันยังทำการตลาดผ่านสื่อโซเชี่ยลด้วยการเชิญชวนนักท่องเที่ยว คนดัง มาชิมจำปาดะในสวนพร้อมถ่ายรูปลงในเฟซบุ๊กเพื่อประชาสัมพันธ์และทำการตลาดไปพร้อมกัน อีกทั้งยังมีกิ่งพันธุ์จำหน่าย ในราคา กิ่งละ 120 บาท แต่ต้องสั่งจองล่วงหน้า

ขณะที่ คุณสมโมท สหกะโร ประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะยอ กับ คุณเกียรติวัฒน์ ไชยเหมวงศ์ รองประธานกลุ่มผลไม้เกาะยอร่วมกันให้ข้อมูลด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า ทางชมรมการท่องเที่ยวเกาะยอได้จับมือกับกลุ่มผลไม้เกาะยอเพื่อสร้างจำปาดะและละมุด ซึ่งเป็นไม้ผลอัตลักษณ์โดยจะทำกิจกรรมควบคู่กัน พร้อมกับสร้างจุดเด่นด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า จำปาดะขนุนที่เกาะยอมีรสหวานกว่าแหล่งอื่น อันเป็นผลมาจากทรัพยากรทางธรรมชาติบริเวณรอบเกาะที่สะสมจนทำให้มีความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีความแปลกตรงที่มียวง

คุณลุงประจวบ อายุ 77 ปี เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เผยว่าคลุกคลีกับจำปาดะขนุนมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย มีรสอร่อยกว่าที่อื่น เพราะปลูกในดินที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ แต่ไม่ชอบน้ำมาก คุณลุงเผยว่าในขณะนี้จำปาดะได้รับความนิยมมาก เนื่องจากคนมาเที่ยวบนเกาะยอได้ชิมแล้วติดใจ มักซื้อไปเป็นของฝาก จึงทำให้มีราคาดีขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นชาวบ้านบางแห่งจึงตัดเก็บผลมาก่อนสุกเต็มที่เพื่อรีบขาย จึงเท่ากับเป็นการทำให้เสียชื่อ ให้ผลไม้บนเกาะยอได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนการดูแลบำรุงต้นควรใช้ปุ๋ยคอกกับน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น

ทางด้านสวนเก่าแก่อย่าง คุณลุงเถิดฉ้วน ศรีสุวรรณ เจ้าของสวนจำปาดะ หมู่ที่ 2 เกาะยอ ให้ข้อมูลว่า จำปาดะขนุนมีถิ่นกำเนิดในตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา จำปาดะให้ผลผลิตได้ทั้งปี ตั้งแต่ช่วงที่ 1 ออกดอกติดผลในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะเก็บผลได้เดือนกรกฎาคม มีอายุผลประมาณ 4 เดือน

ช่วงที่ 2 ออกดอกเดือนกรกฎาคม แล้วจะติดผลห่อเดือนสิงหาคม และเก็บผลผลิตได้เดือนตุลาคม เมื่อสุกแล้วเนื้อจะนิ่ม เหลว ยวงสีเหลืองเข้ม มีรสหวานมาก แล้วยังมีกลิ่นฉุนมากด้วย จึงได้รับความนิยมทั้งชาวบ้านเกาะยอและคนต่างถิ่น แล้วมีการขยายพันธุ์ปลูกในตำบลเกาะยอมาจนทุกวันนี้

คุณอรุณ หนูผุด หัวหน้าสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บอกว่า ชาวบ้านบนเกาะยอรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มชมรมไม้ผล สืบเนื่องมาจากทุกคนเห็นพ้องกันว่าบนเกาะยอมีผลไม้ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญที่โดดเด่นคือ จำปาดะขนุน

ชาวบ้านผู้ปลูกจำปาดะขนุนและผู้เกี่ยวข้อง

คุณอรุณ บอกว่า อาชีพหลักของชาวบ้านบนเกาะยอยังคงทำสวนยางพารากัน ขณะเดียวกันรายได้สำคัญของชาวบ้านอีกอย่างคือ จำปาดะขนุนและละมุด เพราะถือเป็นผลไม้อัตลักษณ์ประจำจังหวัดสงขลา ดังนั้น เมื่อใดถ้าใครมาที่สงขลาจะต้องแวะเวียนมารับประทานผลไม้ทั้งสองชนิดนี้

“จำปาดะขนุนบนเกาะยอมีลักษณะต่างจากจำปาดะแหล่งอื่น เพราะมีลักษณะยวงใหญ่และหนา มีรสหวานฉ่ำกว่าที่อื่นมาก โดยความพิเศษและแตกต่างเช่นนี้เกิดจากความได้เปรียบเชิงกายภาพที่มีดิน อากาศ และแร่ธาตุ ที่มีความสมบูรณ์จึงถือเป็นจุดแข็งของเกาะยอที่มีส่วนสำคัญทำให้พืชไม้ผลทุกชนิดมีคุณภาพสูง”

น้ำปั่นจำปาดะขนุน

สำหรับพื้นที่ปลูกจำปาดะบนเกาะยอ มีจำนวน 400 กว่าไร่ ทั้งนี้ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนใช้พื้นที่ปลูกกันเฉลี่ยรายละ 2 ไร่ สำหรับชาวบ้านที่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มจะได้รับการส่งเสริมความรู้ อุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิตอื่นๆ

หัวหน้าสำนักงานเกษตรเผยว่า ได้จัดทำแผนไว้ว่าจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะยอ เพราะมีกิจกรรมทางการเกษตรหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแปรรูป สิ่งทอ ประมง ผัก ผลไม้ รวมถึงวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยแผนแรกจะคัดเลือกสวนต้นแบบเพื่อนำร่องให้แก่ชาวสวนที่อื่นเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาและปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ดังนั้นแผนการตลาดจึงใช้แนวทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นตัวนำ

สำหรับท่านที่มีโอกาสเดินทางไปสงขลา อย่าลืมแวะท่องเที่ยวบนเกาะยอที่เพียบพร้อมทั้งบรรยากาศ อาหาร และผลไม้อร่อย และที่สำคัญอย่าลืมแวะรับประทานจำปาดะขนุนเกาะยอ เพราะชาวบ้านได้ฟันธงแล้วว่าอร่อยมาก

สอบถามรายละเอียด หรือสั่งซื้อจำปาดะ หรือต้นพันธุ์ได้ที่ ชมรมท่องเที่ยวเกาะยอ รต. ทวี ชาตะวิทยากูล โทรศัพท์ (093) 580-5789 คุณสมโมท สหกะโร โทรศัพท์ (081) 853-3447 และ คุณเกียรติวัฒน์ ไชยเหมวงศ์ โทรศัพท์ (086) 579-5112

ขอขอบคุณ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา