เกษตรจังหวัดกระบี่ แนะเพาะเห็ดร่างแหจากทางปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้กว่าหมื่นบาททุกเดือน

เห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่ มีเขตกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มักขึ้นเป็นดอกเดี่ยวบนพื้นดินที่มีใบไม้เน่าเปื่อยผุพัง พบมากในช่วงฤดูฝน ลักษณะเด่นอันเป็นที่มาของชื่อคือ ที่ใต้หมวกดอกเห็ดมีเยื่อบางๆ คล้ายร่างแหกางห้อยลงมาคลุมก้านดอก ดูคล้ายสุ่มร่างแห ยามที่โดนลม สุ่มนี้จะพัดแกว่งไกวราวกับสตรีใส่กระโปรงลูกไม้เต้นระบำอยู่ เป็นที่มาของชื่อ Dancing mushroom

ในส่วนของภาคใต้จังหวัดกระบี่ถือเป็นจังหวัดแรกๆ ที่นำเห็ดเยื่อไผ่มาเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้เสริม เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก ทำให้การดูแลเห็ดชนิดนี้มีความยุ่งยากขึ้น แต่ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ นายอาบีดีน จิเหลา หรือ อาจารย์ดีน ที่ปรึกษาด้านการเพาะเห็ดร่างแห ก็ได้คิดค้นวิธีการเพาะให้เหมาะสมกับพื้นที่และสภาพอากาศของทางภาคใต้ ทำให้เห็ดร่างแหเจริญเติบโตได้ดี และเพาะปลูกกันเป็นที่แพร่หลายในอำเภอลำทับ อำเภอเหนือคลอง และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ เข้ามาส่งเสริมการเพาะเห็ดร่างแห ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน ปี 2565 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด โครงการพัฒนาและขยายผลการพัฒนาเกษตรฐานรากด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ตามรูปแบบกระบี่โมเดล กิจกรรมส่งเสริมการเพาะเห็ดร่างแห ได้อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มีความสนใจในการเพาะเห็ดร่างแห เพื่อสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 80 ราย มีการศึกษาดูงานสถานที่เพาะเห็ดร่างแห และฝึกเพาะด้วยตนเอง รวมถึงสอนวิธีการผลิตก้อนเชื้อ การเขี่ยเชื้อ ปรับปรุงพัฒนาการเพาะให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของภาคใต้ ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 1 ปี และมีการติดตามให้คำแนะนำ ประเมินผลทุกๆ เดือน จนทำให้การเพาะเห็ดร่างแหประสบความสำเร็จและสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรได้จริง สายพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงคือ สายพันธุ์จากประเทศจีน เนื่องจากมีดอกที่มีขนาดใหญ่ มีเมือกปริมาณมาก สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า

ดอกเห็ด เมื่อยังอ่อนมีเยื่อหุ้มรูปไข่สีเหลืองอ่อน เมื่อเจริญขึ้นจะปริแตกเห็นก้านและฐานดอกรูประฆังสีเหลือง คงเหลือเยื่อหุ้ม ฐานดอกกว้าง 4 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร ปลายเป็นแป้นกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ผิวฐานดอกแบ่งเป็นห้องๆ ภายในมีน้ำเมือกสีน้ำตาลอมเขียวหม่น รสหวานและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ซึ่งส่งกลิ่นไปได้ไกล เป็นสื่อล่อแมลงมาดูดกิน ใต้ฐานดอกมีเยื่อบางๆ คล้ายร่างแห แขวนกางห้อยลงมา คล้ายสุ่มรอบก้านดอก ก้านสีขาว เนื้อเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ยาว 10-15 เซนติเมตร ปลายเรียวเล็กกว่าโคนเล็กน้อย ภายในก้านกลวง ด้านล่างของเยื่อหุ้มมีเส้นใยหยาบสีขาวคล้ายเส้นด้าย อยู่ติดกับดิน

ลักษณะดอกตูม

คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดร่างแห

สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้ส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดร่างแห พบว่าในส่วนประกอบของเห็ดร่างแห มีกรดอะมิโนที่ร่างกายจำเป็นมากกว่า 17 ชนิด จากทั้งหมด 20 ชนิด ดังตารางที่ 2

และยังมีโปรตีนและแร่ธาตุที่ร่างกายจำเป็น ร้อยละ 30 ได้แก่ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม สังกะสี และเหล็ก ดังตารางที่ 1

สรรพคุณของเห็ดร่างแห มีสารสำคัญและฤทธิ์ทางชีวภาพที่แตกต่างกันไปโดยในส่วนปลอกหุ้มดอกและหมวกดอกจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูง สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นได้หลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้อย่างหลากหลาย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง เป็นต้น ส่วนเมือกหุ้มดอกเห็ด มีลักษณะเป็นเจลเข้มข้นที่อุดมไปด้วยกรดไฮยาลูรอนิก (Hyaluronic Acid) และอัลลันโทอิน (Allantoin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว เพิ่มความชุ่มชื้น ฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ

ลักษณะดอกบาน

และยังพบกรดกลูโคนิก (Gluconic Acid) ที่สามารถเร่งการผลัดเซลล์ผิวที่ชั้นผิวหนังกำพร้า จะเสริมการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น นุ่มนวล มีความยืดหยุ่นดี ลดริ้วรอยและช่วยเติมเต็มผิวที่หย่อนคล้อยโดยสารอัลลันโทอินจากเห็ดเยื่อไผ่นี้เป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในเมือกหอยทาก แต่จะมีความบริสุทธิ์และสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า ส่วนลำต้นและกระโปรงนั้น อุดมไปด้วยสารพอลิแซคคาไรด์พวกเบต้ากลูแคน (β-glucan) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ทั้งกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนลำต้นนี้ยังพบสารดิกทิโอฟอรีน เอ และบี (Dictyophorines A and B) ซึ่งเป็นสารที่พบยากมากในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ยับยั้งมะเร็ง และยังเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทและป้องกันโรคสมองเสื่อม นอกจากนั้น สปอร์เชื้อรา สีน้ำตาลเขียวขี้ม้า ที่มีกลิ่นค่อนข้างเหม็น ทีมวิจัยพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูงและพบสารสำคัญที่สามารถนำไปทำยาโด๊ปได้ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต บำรุงร่างกาย บรรเทาโรคที่เกี่ยวกับไต ตา ปอด ตับอักเสบ หวัด ช่วยระบบขับลม ลดความอ้วน จากการศึกษารวมทั้งมีรายงานระบุว่า นำมาเป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์และรูมาติซึมได้ ส่วนประเทศแถบเอเชียนิยมกินเห็ดที่ตากแห้ง โดยเติมน้ำร้อนและสามารถดื่มได้ทันที สำหรับประเทศไทยนิยมนำมาประกอบเป็นอาหาร เช่น ซุปเยื่อไผ่ แกงจืดเยื่อไผ่

ตารางที่ 2 ผลการวิเคราะห์กรดอะมิโน 17 เรซิดิวส์ในตัวอย่างเห็ดร่างแหส่วนต่างๆ

วิธีการเพาะเห็ดร่างแห มีวิธีการเพาะดังนี้

ใช้ตะกร้าผลไม้โดยใช้ใบปาล์มหรือใบไผ่รองก้นตะกร้าหลังจากนั้นนำขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบดโรยเป็นชั้นที่ 2 ชั้นถัดไปโรยด้วยมูลวัวแห้ง วางก้อนเชื้อ โรยน้ำตาลทราย และกลบด้วยขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบด การเพาะเห็ดร่างแหในตะกร้า วัสดุเพาะ ประกอบด้วย ใบปาล์มหรือใบไผ่ ขี้เลื่อย ทางปาล์มบด มูลวัว น้ำตาลทราย

วิธีการเพาะเห็ดร่างแห จัดแบ่งการเพาะออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 นำใบปาล์มหรือใบไผ่รองก้นตะกร้า

ชั้นที่ 2 นำขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบดโรยให้มีความหนา 5-10 เซนติเมตร

ชั้นที่ 3 นำมูลวัวแห้งโรยให้มีความหนา 5-10 เซนติเมตร

ชั้นที่ 4 นำก้อนเชื้อเห็ดร่างแหมาวาง แล้วโรยด้วยน้ำตาลทราย

ชั้นที่ 5 กลบหน้าด้วยขี้เลื่อยผสมทางปาล์มบด รดน้ำพอชุ่ม ใช้ระยะเวลา 1 เดือนในการเพาะลงตะกร้า ก่อนย้ายไปลงแปลงดินเพื่อให้เห็ดเจริญเติบโตตามธรรมชาติ หลังจากลงแปลงจะใช้ระยะเวลา 45 วัน เห็ดจะเจริญเติบโตสามารถเก็บเกี่ยวได้ รวมระยะเวลาการเพาะ 1 เดือน 45 วัน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ ผลผลิตที่ได้ก้อนเชื้อ 12 ก้อน ให้ผลผลิตประมาณ 8 กิโลกรัม ราคาขายเห็ดสดกิโลกรัมละ 600 บาท

ด้านการแปรรูปเห็ดร่างแห วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิต ขยาย แปรรูปเห็ดและเห็ดร่างแห ได้รวมตัวกันแปรรูปผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากเห็ดร่างแห รวมถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เข้ามาส่งเสริมการแปรรูปเป็นแคปซูลเห็ดร่างแห ซึ่งได้รับซื้อเห็ดร่างแหจากกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกในจังหวัดกระบี่ ผู้ที่สนใจต้องการศึกษาวิธีการเพาะเห็ดร่างแหหรือสั่งซื้อผลผลิต สามารถติดต่อได้ที่ คุณชนม์นิภา สามนารี โทร. 063-079-6559