นิสิตไทย ม.เกษตรฯ คว้ารางวัลบรรจุภัณฑ์ระดับโลก

การมีโอกาสนำความรู้ที่เรียนมาใช้ปฏิบัติจริงถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ซึ่งนิสิตนักศึกษาควรเก็บเกี่ยวโอกาสนั้นเพื่อสะสมทักษะเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่สนใจเรียนด้านเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ การมีเวทีให้ได้ทดลองออกแบบบรรจุภัณฑ์ ทำต้นแบบ และผลิตผลงานบรรจุภัณฑ์จริง นับเป็นการบ่มเพาะทักษะลับฝีมือให้พวกเขาสามารถต่อยอดสู่การเป็นมืออาชีพได้ในวันหน้า

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชื่นชมที่นิสิตจากประเทศไทยได้เข้าร่วมการประกวดแข่งขันออกแบบบรรจุภัณฑ์ในเวทีนานาชาติ Worldstar Global Packaging Awards Student 2024 จัดโดย World Packaging Organisation (WPO) และ Asia Star Packaging Awards 2023 จัดโดย Asian Packaging Federation (APF) ผลปรากฏว่า นิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คว้า 3 รางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก Worldstar Global Packaging Awards Student 2024 และ 7 รางวัลระดับเอเชียจาก Asia Star 2023 Awards For Excellence in Packaging

โดยการประกวด Worldstar Global Packaging Awards Student ปี 2024 มีนักศึกษาส่งผลงานประกวดจำนวนทั้งหมด 253 คน จากมากกว่า 25 ประเทศ และการประกวด Asia Star Packaging Awards ปี 2023 มีผลงานส่งเข้าประกวดประเภทนักศึกษา จำนวน 45 ผลงาน มีผลงานรับรางวัล 27 ผลงาน ในจำนวนนี้เป็นผลงานจากประเทศไทย 12 ผลงาน โดยเป็นผลงานของนิสิตภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7 ผลงาน

รายละเอียดผลงานที่ได้รับรางวัล มีดังนี้

Worldstar Global Packaging Awards Student 2024

รางวัล Finalist Certificate ได้แก่

  1. ผลงาน Well done โดยนางสาวภัทราพร หลงสมบูรณ์ และนางสาวจีรวรรณ ภาษี
  2. ผลงาน LAIAT (Khrokmai Tonluk) โดยนายภูมิพิรัชย์ วงศาสิริโรจน์ และนางสาวสิริรัตนา พุทธา
  3. ผลงาน Kangaroo โดยนางสาวศินาธาร ตราจินดา และนางสาวมณฑาทิพย์ มงคลเสถียร

Asia Star Packaging Awards 2023
รางวัล The Winner ได้แก่

  1. ผลงาน Well done โดยนางสาวภัทราพร หลงสมบูรณ์ และนางสาวจีรวรรณ ภาษี

2. ผลงาน Kangaroo โดยนางสาวศินาธาร ตราจินดา และนางสาวมณฑาทิพย์ มงคลเสถียร

3. ผลงาน Top Charge โดยนางสาวพิชามณ ทัศนพงษ์ และนางสาวธัญพิชชา เลิศลักขณาวงษ์

4.ผลงาน Rux โดยนางสาวอาภิสรา กรีสูงเนิน และนางสาวเพชรดา กำลังศร

5.ผลงาน Cactus Packaging โดยนางสาวณัฐมน เลี้ยงทรัพย์ และนายเจริญทรัพย์ หมัดอะดัม

6. ผลงาน Grand Trophy for Winner โดยนายนวพล ลอยบัณดิษฐ และนายชานนท์ บัวขม

7.ผลงาน Ramayana โดยนางสาวอลิสา เกยุราพันธุ์ และนายชยุต อู่ทรัพย์เจริญชัย

โดยผลงานของนิสิตทั้งหมด เป็นตัวอย่างการแสดงทักษะความสามารถของนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับความคิดใหม่ นวัตกรรมและการคิดในสาขาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มความรอบรู้ในเรื่องการเรียนการสอนรายวิชา การออกแบบโครงสร้างทางการบรรจุ และการออกแบบกราฟิกทางการบรรจุ โดยมี ดร.เจนณัช สดไสย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการออกแบบผลงานเพื่อส่งประกวด

สำรวจดูผลงานเหล่านี้กันว่ามีจุดเริ่มต้นและแนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความงดงามแห่งสีสัน ลวดลายการออกแบบ และที่สำคัญเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานเข้ามาจนทำให้ได้รับรางวัลการประกวดจากเวทีทั้งสองนี้

Well done  ผลงานบรรจุภัณฑ์สำหรับกระทะ 2 ใบ

โดย นางสาวภัทราพร หลงสมบูรณ์ และนางสาวจีรวรรณ ภาษี

“เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับกระทะ 2 ใบ ใช้เพียงกระดาษลูกฟูกแผ่นเดียวขึ้นรูป ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนเสื้อ เจาะรูด้านข้างสองด้านจึงมองเห็นกระทะด้านใน ตัวกล่องเป็นเส้นโค้งสอดติดกัน มีกราฟิกกระดุมให้เหมือนเป็นเสื้อเชิ้ต ด้านหน้าเป็นวงกลมมีลักษณะเหมือนเตา ด้านบนเจาะเป็นรูสำหรับด้ามกระทะหยิบจับสะดวก

“ได้ประสบการณ์และความคิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่ครอบคลุมการใช้งานและความยั่งยืนทางบรรจุภัณฑ์ และประสบการณ์การแข่งขันเพิ่มขึ้น ได้ connection มากขึ้นจากการแข่งขัน ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจการออกแบบ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ”

LAIAT ผลงานบรรจุภัณฑ์สำหรับครกไม้

โดย นายภูมิพิรัชย์ วงศาสิริโรจน์ และนางสาวสิริรัตนา พุทธา

“เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปกป้องครกไม้ ของคู่ครัวไทยให้กลายเป็นสินค้าเสริมอาชีพให้ชุมชน โดยขึ้นรูปจากกระดาษ 1 แผ่น ไร้กาว และมีหูหิ้วง่ายต่อการถือเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค ซื้อเป็นของฝากได้ทันที

จุดเริ่มต้นการออกแบบ “มาจากการนึกถึงสินค้าที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นไทย มีใช้ในชีวิตประจำวันของทุกบ้าน จึงนำครกไม้ อุปกรณ์คู่ครัวไทยที่ใช้ประกอบอาหารตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ครกไม้แสดงออกถึงสัญลักษณ์ความเป็นไทยได้ดี ผลิตจากวัสดุที่หาได้จากชุมชน เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน

“ออกแบบตัวกล่องให้ประกอบโดยไม่ใช้กาวและถือหิ้วได้ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระดาษลูกฟูกเพียง 1 แผ่นพับประกบติดกัน ลดความสิ้นเปลืองของกระดาษ และมีตัวล็อกฐานครกไม้เพื่อลดการขยับของสินค้า

“เริ่มต้นหาดีไซน์ต่าง ๆ วิธีการขึ้นรูป วิธีการพับจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันแล้วนำมาปรับให้เข้ารูปทรงสินค้า รวมถึงออกแบบลวดลายที่แสดงออกถึงความเป็นไทย

“ได้ประสบการณ์ทำงานการออกแบบให้ตรงวัตถุประสงค์การประกวด การวางแผน การจัดการงานและแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้น และได้เพิ่มทักษะเทคนิคที่ใช้กับโปรแกรมออกแบบ”

Kangaroo ผลงานบรรจุภัณฑ์สำหรับหม้ออเนกประสงค์

โดย นางสาวศินาธาร ตราจินดา และนางสาวมณฑาทิพย์ มงคลเสถียร

“เน้น Universal Design ที่ง่ายต่อการผลิตและใช้งานและบรรจุภัณฑ์มีความแข็งแรงมาก มีคุชชั่นช่วยรองรับแรงกระแทก เปิดปิดบรรจุภัณฑ์ได้ง่ายแต่สามารถปิดล็อกได้แน่นหนา ตัวกล่องและคุชชั่นทำจากกระดาษลูกฟูกไม่ใช้กาวขึ้นรูป สามารถนำไปรีไซเคิลใช้ซ้ำได้ ง่ายต่อการจัดเรียงและขนส่งแบบ e –commerce

จุดเริ่มต้นบรรจุภัณฑ์มาจาก “ตอนอยู่หอพักหาสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวแล้วคิดว่าจะเอาอะไรเป็นผลิตภัณฑ์ได้บ้าง หันไปเห็นหม้อที่ใช้ต้มมาม่า จึงหยิบมาเป็นตัวตั้งต้นออกแบบ จากนั้นก็เริ่มออกแบบเพราะใกล้เดทไลน์แล้ว

“คิดว่าเราอยากได้กล่องแบบไหน แบบใดที่มาห่อหุ้มสิ่งที่จะซื้อ ขนส่งแล้วไม่เสียหาย ออกแบบยังไงถึงจะสื่อถึงความยั่งยืน พยายามหากล่องใส่หม้ออเนกประสงค์เยอะมาก ส่วนมากเป็นกล่องเหมือน ๆ กัน จึงออกแบบให้ต่างจากในตลาดและตรงโจทย์ที่อาจารย์ให้ ลองตัดเป็นกล่องเล็ก ๆ เป็น mockup แล้วเอาไปเสนอให้อาจารย์ตรวจแบบ แล้วเกิดผ่านในครั้งเดียว จึงลงมือทำจริงเลย”

สิ่งที่โดดเด่นคือ กล่องใส่หม้ออเนกประสงค์เป็นกล่องที่ไม่ใช้กาว สามารถล็อกกล่องได้ ด้านฟังก์ชันมีคุชชั่นกันกระแทก ตัวกล่องทำจากกระดาษลูกฟูก ส่วนการพิมพ์ใส่หมึกแค่ 2 สีทำให้ไม่เปลืองหมึกพิมพ์

สิ่งที่ได้รับคือความภูมิใจและประหลาดใจ ไม่คิดว่ากล่องกระดาษที่ส่งให้ทันเดทไลน์จะมาไกลขนาดนี้

Top Charge  ผลงานบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉาย

โดย นางสาวพิชามณ ทัศนพงษ์ และนางสาวธัญพิชชา เลิศลักขณาวงษ์

“เป็นบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉายที่เปิดใช้งานสะดวก ช่วยแยกถ่านก้อนที่ใช้แล้วและยังไม่ได้ใช้ เพื่อป้องกันความสับสนของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังช่วยให้ตระหนักถึงการทิ้งขยะที่ถูกต้องเพื่อลดการปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม เป็นการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่า 1 ฟังก์ชัน

จุดเริ่มต้นบรรจุภัณฑ์มาจาก “การตระหนักถึงอุปสรรคการใช้งานบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉายแบบเดิม ซึ่งมักสร้างความยุ่งยากในการเปิด เนื่องจากผู้บริโภคต้องออกแรงมากจนบรรจุภัณฑ์ฉีกขาด ส่งผลต่อความปลอดภัยของถ่านไฟฉายก้อนอื่นที่ยังไม่ได้ใช้ และเล็งเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้องนำไปสู่การปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นแนวคิดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉายที่คำนึงถึงทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

“ทางทีมได้ศึกษาการออกแบบบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต จากนั้นนำมาปรับใช้ออกแบบผลงานบรรจุภัณฑ์ถ่านไฟฉายที่สร้างสรรค์และอำนวยความสะดวกการใช้งานแก่ผู้บริโภค ทั้งเปิดใช้งานได้ง่าย ป้องกันความสับสน ตอบโจทย์การใช้งานที่คุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแยกถ่านที่ใช้แล้วออกจากถ่านที่ยังไม่ได้ใช้โดยผู้บริโภคพลิกด้านเพื่อแยกการใช้งาน ซึ่งกราฟิกอีกด้านปรากฏสัญลักษณ์ “ขยะอันตราย” ทำให้ตระหนักว่าเป็นถ่านที่ใช้แล้ว และต้องมีวิธีการทิ้งที่ถูกต้อง ช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม”

การประกวดครั้งนี้ ทีมได้พัฒนาทักษะการออกแบบและเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ จากคำแนะนำและความผิดพลาด ได้รับประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาความสามารถด้านนี้ต่อไป

Rux  ผลงานบรรจุภัณฑ์สำหรับถุงขยะ

โดย นางสาวอาภิสรา กรีสูงเนิน และนางสาวเพชรดา กำลังศร

“ออกแบบให้มี 4 ช่อง 4 สีสำหรับแยกขยะแต่ละประเภท มีการใช้กราฟิกแสดงตัวอย่างขยะชนิดต่าง ๆ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ผู้คนรู้จักแยกขยะ บรรจุภัณฑ์แบบรวมหน่วยมีช่องให้ดึงถุงขยะออกมาอย่างสะดวก เมื่อใช้ถุงขยะหมดซื้อถุงขยะมาเติมได้ เป็นการยืดอายุการใช้งาน โดยบรรจุภัณฑ์ใช้กับครัวเรือนหรือตามองค์กรได้เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นการออกแบบ “เราต้องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เข้ากับเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainable) บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ถุงขยะ ได้แนวคิดจากถังขยะสี่สี ซึ่งคัดแยกขยะออกเป็น ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะเปียก และขยะอันตราย โดยต้องการให้ตัวบรรจุภัณฑ์สื่อสารกับลูกค้าและผู้ใช้งาน เป็นการช่วยรณรงค์ กระตุ้นและปลูกฝังให้คนรู้จักการคัดแยกขยะมากขึ้น คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

“จากความจริงพื้นฐานที่ว่า เวลาซื้อของเห็นบรรจุภัณฑ์ที่ดูดีสวย จะรู้สึกว่าสินค้านั้นดูพรีเมียมขึ้น เราจึงทำบรรจุภัณฑ์ให้มีลูกเล่นมากขึ้น เพื่อให้สินค้าดูมีราคามากขึ้น  เราคำนึงถึงความเป็นจริงว่า เราอยากใช้สินค้ามีบรรจุภัณฑ์แบบนี้ไหมและมันสามารถทำขึ้นมาใช้ได้จริงไหม

“นอกจากนี้เราคำนึงถึงการใช้งานที่สะดวก มีหลายฟังก์ชัน  โดยถุงแต่ละสีมีตัวหนังสือกำกับว่าสำหรับขยะชนิดใด สามารถใช้ได้ทั้งในครัวเรือน สำนักงาน สถานศึกษา อีกทั้งผลงานออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่เป็นถุงขยะ เพื่อทำให้แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ทั่วไป เพิ่มความแปลกใหม่ ความน่าสนใจ ดึงดูดใจผู้บริโภคด้วย

“ฝากถึงน้อง ๆ ให้หาแรงบันดาลใจเยอะ ๆ เพราะเราต้องการรูปแบบที่แปลกใหม่ ค้นคว้ารูปแบบบรรจุภัณฑ์จากหลาย ๆ แหล่งแล้วนำมาปรับใช้กับงานของเรา และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการออกแบบของเรา…การคิดไอเดียในเวลานั้น ๆ ค่อนข้างลำบาก การทำงานร่วมกันระหว่างคนสองคนที่มีไอเดีย ต้องยอมรับและฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สุดท้ายก็จะได้ผลงานที่พึงพอใจทั้งคู่”

การประกวดครั้งนี้ ทางทีมได้ประสบการณ์การทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้และนำความสำเร็จครั้งนี้ออกไปใช้ตอนทำงานได้

Cactus Packaging ผลงานบรรจุภัณฑ์กระบองเพชร

โดย นางสาวณัฐมน เลี้ยงทรัพย์ และนายเจริญทรัพย์ หมัดอะดัม

“เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่กระถางต้นไม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุกระดาษ ถือหิ้วได้สะดวก พับเก็บกางและตั้งได้ง่าย โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าดึงดูดใจ จำหน่ายเป็นเซต 3 ต้น เพื่อให้บรรจุภัณฑ์เรียงต่อกันเป็นรูปกราฟิกที่สวยงามสมบูรณ์  สามารถตั้งโชว์วาง ณ จุดขายอย่างสวยงาม

จุดเริ่มต้นการออกแบบ “เนื่องจากพวกหนูชอบสะสมต้นไม้เล็ก ๆ จึงเอาความชอบตรงนี้มาเป็นแรงบันดาลใจทำผลงาน สำหรับบรรจุภัณฑ์ใส่กระถางต้นไม้ปัจจุบันยังใช้กระดาษหนังสือพิมพ์และถุงพลาสติก จึงอยากพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความน่ารัก เพื่อให้ผู้ใช้อยากซื้อและเป็นแบบ eco-friendly ลดการใช้พลาสติก มีการออกแบบกราฟิกให้มีความสวยงาม เมื่อผลิตภัณฑ์เราคือต้นกระบองเพชร จึงทำลวดลายเป็นทะเลทรายที่มีลูกเล่นสีสันสวยงาม เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายวัยและช่วงอายุ

“ค้นคว้าเรื่องรูปแบบจากหนังสือแล้วนำมาดัดแปลงให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ เลือกใช้เพียงกระดาษเป็นวัสดุ ทำให้มีความรักเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รียูสได้ ตั้งโชว์ได้ ตอบโจทย์สินค้าต้นไม้ที่ต้องการการระบายอากาศ และป้องกันเศษดินที่ก้นกระถางหล่น

“เมื่อได้รางวัล รู้สึกว่าผลงานเรามีดี ก็รู้สึกภาคภูมิใจ เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นรางวัลที่เราตั้งใจทำผลงานชิ้นนี้มาตลอดค่ะ”

Grand Trophy for Winner ผลงานบรรจุภัณฑ์ถ้วยรางวัล

โดย นายนวพล ลอยบัณดิษฐ และนายชานนท์ บัวขม

“เป็นบรรจุภัณฑ์ขึ้นรูปจากกระดาษแผ่นเดียวไม่ใช้กาว ป้องกันการกระแทกของถ้วยรางวัล มีตัวล็อคถ้วยรางวัลที่ฐานป้องกันไม่ให้เคลื่อนที่  สไตล์ออกแบบกราฟิกแนว Art Deco สะท้อนความหรูหราช่วยแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของถ้วยรางวัลนี้

“การออกแบบกล่องใส่ถ้วยรางวัล เป็นการออกแบบที่เพิ่มคุณสมบัติให้กับกล่อง  ไม่ได้เป็นแค่กล่องใส่ถ้วยรางวัลที่มักถูกทิ้งหลังนำถ้วยรางวัลออกมา แต่ออกแบบกล่องที่สามารถตั้งโชว์ได้ ไม่เพียงช่วยยกระดับความสวยงามของกล่อง แต่ยังช่วยเพิ่มความยิ่งใหญ่ คลาสสิก และสง่างามให้กับถ้วยรางวัลอันทรงเกียรติด้วย

“การออกแบบรูปทรงกล่องที่มีเอกลักษณ์ ประกอบได้โดยไม่ต้องใช้กาว ต้องมีการปรับขนาดอัตราส่วนของแผ่นคลี่กล่องให้มีความเหมาะสม เพื่อให้กล่องปิดได้สนิท ลดการใช้วัสดุเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบให้กล่องมีฟังก์ชันในตัวเองมากขึ้น ทั้งปกป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและนำไปดัดแปลงเป็นที่ตั้งโชว์รางวัลได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังผสมผสานลวดลายกราฟิกโดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปะแนว Art Deco ที่มีลวดลายเส้นสายประณีตกับการเลือกใช้สี โดยเฉพาะสีแดงกับสีทอง สะท้อนความคลาสสิกหรูหรา อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะ Art Deco

“ขอฝากน้อง ๆ ว่า การมีโอกาสลองทำและแสดงผลงานให้คนอื่นเห็นนับเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความกล้าเข้าประกวดงานในอนาคต เพราะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะมากขึ้น การเข้าประกวดงานต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ช่วยให้พัฒนาตนเอง อีกทั้งอาจเป็นจุดเริ่มต้นสู่การสร้างชื่อเสียงและความสำเร็จในอนาคต”

 

คมสัน วิเศษธร / งานสื่อสารองค์กร มก.