สวนผักบ้านคุณตา สู่โมเดลเกษตรคนเมือง ที่ “นิเวศสันติวนา”

หากพูดถึง “สวนผักบ้านคุณตา” ที่สุขุมวิท 62 กรุงเทพมหานคร ในสายกรีนจะรู้จักว่าเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรคนเมือง ซึ่งวันนี้เราพาท่านผู้อ่านไปรู้จักเจ้าของสวนผักบ้านคุณตาซึ่งก้าวสู่ความเป็นเจ้าของพื้นที่เกษตรคนเมืองใจกลางเมืองหลวงของไทย นั่นคือ คุณกรชชนก หุตะแพทย์ หรือ “น้องฝ้าย” ซึ่งคลุกคลีกับวิถีชีวิตความพอเพียงตั้งแต่วัยเยาว์ จนมาถึงวัย 36 ปี ที่เปรียบชีวิตของเธอได้กับเป็น “ต้นไม้” ที่เติบโตด้วยการมีต้นแบบที่ดีให้เรียนรู้ถึงความพอเพียง ต้นแบบนั้น คือ คุณพ่อคมสัน หุตะแพทย์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา (Media Center for Development Foundation : MCDF) ซึ่งมีบทบาทขับเคลื่อนงานด้านเกษตรกรรมธรรมชาติมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี โดยเน้นงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการอบรม เพื่อส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์ และเกษตรยั่งยืน

ซึมซับต้นแบบที่ดี ตามรอยพ่อสู่เกษตรพอเพียง

การซึมซับต้นแบบที่ดี ทำให้คุณกรชชนกเรียนต่อปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไปต่อยอดเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สาขาสิ่งแวดล้อม โดยตรง เรียกว่า เอาจริงเอาจังกับงานด้านสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะมีกระแสบนโลกโซเชียลอย่างในทุกวันนี้

คุณกรชชนกจบปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มาเมื่อ 10 ปีกว่าแล้ว และนำความรู้และพื้นฐานที่ได้รับจากพ่อ มาคลุกฝุ่นอยู่บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร บนพื้นที่ซอยสุขุมวิท 62 ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านของคุณตาที่ชื่อ คุณตาสุทธิ โอมุเณ เป็นพี่ชายของคุณตาของเธออีกที  

“การที่ไปเรียนต่อที่เนเธอร์แลนด์ ทำให้สร้างความมั่นใจในสิ่งที่ที่บ้านทำ จริงๆ ฝ้ายจบมา 10 กว่าปีแล้ว แต่ตอนนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้เป็นประเด็นในโซเชียลที่ถูกพูดถึง เราก็ทำสวนผักบ้านคุณตา หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจ หรือสิ่งที่เราพูดกับเพื่อนๆ หลายคนก็อาจไม่เข้าใจ แต่ที่เนเธอร์แลนด์ก็เป็นเรื่องปกติของทุกคน เพราะชีวิตประจำวันของเขา เช่น เอาถุงผ้าไปช้อปปิ้ง และขี่จักรยานไปทำงาน เราก็เลยรู้สึกว่า เข้าใจและมั่นใจว่า เราต้องไปในแนวทางนี้ถูกต้องแล้ว เรื่องนวัตกรรมต่างๆ เนเธอร์แลนด์เขาก็ส่งเสริม หรือผลักดันให้เป็นจริง เทศบาลต่างๆ ให้พื้นที่คนรุ่นใหม่มาสร้างโปรเจ็กต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และให้เราได้ดูงานเยอะ ซึ่งบ้านเราตามเนเธอร์แลนด์ประมาณ 10 ปี

Advertisement

โมเดลสวนผักบ้านคุณตา สู่โมเดลนิเวศสันติวนา

คุณกรชชนก เล่าว่า สวนผักบ้านคุณตาเป็นอีกศูนย์อบรม ซึ่งทำมาก่อน เพราะคุณพ่อเป็นผู้อำนวยการศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนาฯ ก็อยากจะเอาความรู้ที่เคยเผยแพร่ไป มาทำให้เป็นจริง โดยนำบ้านส่วนตัวของครอบครัวมาทำก่อน เราเริ่มมาจากตรงนั้น เป็นพื้นที่เล็กๆ 100 กว่าตารางวา แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องการขยายของเมือง เพราะบ้านเป็นของคุณตา ตัวบ้านอายุ 50-60 ปี ก็จะเห็นความเป็นจริงของสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ไม่มีทางด่วน ไม่มีตึกใหญ่ พอวันนี้เราก็ถือว่าเป็นบ้านเล็กๆ กลางเมือง ที่สุขุมวิท 62 สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางจาก ซึ่งบ้านสวนคุณตาทำเรื่องการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด มีเรื่องผัก ข้าว เห็ด เลี้ยงไก่ และติดตั้งโซลาร์เซลล์ รวมทั้งการพึ่งพาตนเองเรื่องการใช้น้ำหมุนเวียนภายในบ้าน ทำให้เห็นว่า 100 ตารางวา ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้

Advertisement

วันนี้คุณกรชชนกนำความรู้ทั้งจากการศึกษาที่เนเธอร์แลนด์ และจากการสั่งสมด้วยประสบการณ์ที่ได้รับการปลูกฝังจากคุณพ่อมาตั้งแต่วัยเยาว์ มาเนรมิต “ชุมชนนิเวศสันติวนา” บนพื้นที่ 33 ไร่ บนถนนสรงประภา เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การทำเกษตรในเมือง เพื่อสร้างเป็น “แหล่งอาหาร” สำหรับคนเมือง

“พื้นที่ตรงนี้ ทำโครงการขึ้นมาในนาม 2 มูลนิธิ ร่วมมือกันคือ มูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ซึ่งทำมากว่า 30 ปี ทำงานด้านการอบรมและเผยแพร่ความรู้ ได้มารู้จักกับเจ้าของพื้นที่ ชื่อว่า มูลนิธิครูสุรินทร์เพื่อการศึกษา เขาจะเป็นมูลนิธิด้านโรงเรียนและการศึกษาต่างๆ เดิมเป็นพื้นที่เข้าเงียบของศาสนาคริสต์ คนที่ดูพื้นที่ตรงนี้คือ บาทหลวงวิชัย โภคทวี ไม่มีคนมาดูแลต่อ ทางมูลนิธิศูนย์สื่อพัฒนาก็ได้มาทำตรงนี้ พื้นที่มีทั้งหมด 33 ไร่ โดยเจ้าของเป็นของมูลนิธิครูสุรินทร์ฯ ทางมูลนิธิศูนย์สื่อมาสร้างพื้นที่่เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เราต้องการรักษาพื้นที่ป่า และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ในหน้าฝนใช้ในการรองรับน้ำเยอะมาก ในทุ่งสีกัน เป็นพื้นที่รับปริมาณน้ำ ช่วงหน้าฝนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ช่วงหน้าแล้ง เป็นพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งก็ทำที่สันติวนาเข้ามาปีที่ 4 ปีแรกเป็นช่วงของการบุกเบิก ปีที่ 2-3 ก็มาเจอสถานการณ์โควิด-19 และเนื่องจากทีมงานของเราน้อย ก็ทำเรื่องอาสาสมัคร ซึ่งทำมา 3 รุ่นแล้ว อย่างหลายๆ คนที่มาใช้ชีวิตอยู่กับเราก็ได้ความรู้ และทางเราก็ได้แรงงานมาเกื้อกูล โดยอาสาสมัครก็มีหลายๆ รูปแบบ บางคนก็อาจเช้าไปเย็นกลับ หรือบางคนก็มาสัปดาห์ละ 2-3 วัน ซึ่งก็มีจะมีตารางการทำงานในแต่ละวัน และมีมาสรุปกันว่าใครทำอะไรไป” คุณกรชชนก เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการทำชุมชนนิเวศสันติวนา เพื่อคนเมืองได้เรียนรู้การทำเกษตร จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

ต่อยอดเกษตรคนเมือง จากเล็กไปใหญ่

แต่การทำศูนย์เรียนรู้ที่ชุมชนนิเวศสันติวนาก็ต้องหยุดไปในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเธอเล่าว่า ช่วงโควิดทำให้หยุดการจัดกิจกรรมอบรมหลักๆ และโครงการระดมทุน และนำผลผลิตที่ได้ไปแจกจ่ายให้กับมูลนิธิต่างๆ โดยตอนนั้นก็มี 2 โครงการหลัก คือ โครงการฟู้ด แชร์ริ่ง ปลูกผัก และนำไปแจกจ่ายให้องค์กรที่ประสบปัญหา เช่น ฟู้ดไฟว์เตอร์ และเอสโอเอส ใครที่จะมาเป็นอาสาสมัครก็มาได้ และมีโครงการฝึกอาชีพ ก็ประสานกับมูลนิธิ โฮมเน็ต มีการนำหมอนวดมาฝึกงานเรื่องของเกษตร และการทำของใช้ในครัวเรือน เช่น ทำแชมพู ยาสีฟัน พอสถานการณ์ดีขึ้น ก็มีความรู้ติดตัว

ส่วนช่วงสถานการณ์ปกติ “ชุมชนนิเวศสันติวนา” เปิดฝึกอบรมตามปกติ โดยคุณกรชชนก เล่าว่า คนที่มาเรียนรู้ทำเกษตรในเมืองกับชุมชนนิเวศสันติวนาเน้นคนที่มีพื้นที่อยู่แล้ว และจะไปต่อยอดทำเกษตรขนาดใหญ่ เช่น การทำเกษตรในโรงเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการต่อยอดจาก สวทช. (NSTDA) เช่น การปลูกผักในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การปลูกผักที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานด้วย และการปลูกผักที่ใช้ในครัวเรือน และการเกษตร

“เราพยายามเอาความหลากหลายเข้ามาเพื่อให้คนมาเรียนรู้ได้ประโยชน์ แต่เราไม่ได้เน้นปลูกผักขาย เพราะเน้นให้ความรู้ ส่วนผลผลิตเราก็แบ่งปันให้คนในชุมชน คนรอบข้าง และอาสาสมัคร ส่วนหนึ่งก็ขายออนไลน์บ้าง แต่ถ้ามีเยอะ เราก็นำไปบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ” คุณกรชชนกเล่าให้ฟังถึงเป้าหมายที่แท้จริงของการทำชุมชนนิเวศสันติวนาเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรคนเมือง

คุณกรชชนก หุตะแพทย์ หรือ “น้องฝ้าย”

เธอทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า การทำสวนผักบ้านคุณตาเป็นไปในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นคุณพ่อทำมากว่า 30 กว่าปี และเห็นการเติบโตของผู้คน โดยนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันก็ต้องทำความเข้าใจกับคนส่วนใหญ่ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องเกษตรเมือง และเกษตรอินทรีย์ เพราะมีอีกหลายมิติที่ต้องให้ความรู้ เนื่องจากคนสนใจกินผักมากขึ้นก็จริง แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องการปลอดสารเคมี

ส่วนการทำชุมชนนิเวศสันติวนาที่ถนนสรงประภานั้น เธอบอกว่า มีเป้าหมายให้คนเมืองมาเรียนรู้การทำเกษตร เพื่อการพออยู่พอกิน “อยู่ในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก” ทำหลักการของผสมผสาน ทำสลับสับเปลี่ยนกันไปในฤดูกาลต่างๆ พยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมให้ได้ อย่างเช่น ในช่วงหน้าฝน ปลูกผักไม่ได้ ก็ปล่อยให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และไม่ค่อยทำเรื่องเพาะปลูกผักมาก แต่อาจทำเรื่องปลูกพืชที่ทนน้ำ ทนฝน ได้ดี ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกก็ต้องทำใจว่า ให้เป็นพื้นที่รับน้ำไป พอน้ำลดก็ค่อยมาเป็นแปลงปลูกผักใหม่ ซึ่งก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่ โดยที่ผ่านมาผลตอบรับ เราเองยังไม่ค่อยได้ทำการประชาสัมพันธ์ ให้เป็นที่รับรู้มาก

แต่คนที่อยู่ในละแวกนนทบุรี ปทุมธานี และดอนเมือง ก็รับรู้ว่า เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาหารให้กับคนในชุมชน ก็ตรงกับเป้าหมายในช่วง 2-3 ปีแรกที่ทำ

สามารถติดตามรายละเอียดการทำเกษตรคนเมืองของคุณฝ้าย ได้ที่ https://www.facebook.com/grandpaurbanfarmTH/