เกษตรกรอินดี้ เนรมิตพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกผักตามใจตัวเอง ทำรายได้วันละครึ่งหมื่น

“ทุกวันนี้โอ๋ภูมิใจกับอาชีพเกษตรของโอ๋มาก เพราะเราเลือกที่จะทำ เลือกในสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่แรก เราไม่ได้ทำเพราะว่าเราไม่มีอะไรจะทำ แต่เราทำเพราะเราอยากทำ มันเลยมีความสุขในระหว่างทางอยู่แล้ว ถามว่าตรงนี้สำเร็จหรือไม่อย่างไร โอ๋ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเราทำสำเร็จไปแค่ไหน แต่เรารู้ว่าระหว่างทางที่เราเดิน หรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เรามีความสุขมาก หากวันข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่เสียดายแล้ว เพราะเราได้ทำเต็มที่กับที่สมองเราคิดแล้ว” ความในใจของคุณโอ๋ที่มีต่ออาชีพเกษตร ซึ่งผู้เขียนเชื่ออย่างเต็มร้อยว่าสิ่งที่คุณโอ๋สื่อสารออกมาน่าจะโดนใจใครหลายๆ คน

คุณพรนภา เจริญถิ่น หรือ คุณโอ๋ เจ้าของบ้านเฉลี่ยสุขฟาร์ม อยู่บ้านเลขที่ 46/2 หมู่ที่ 3 ตำบลย่านซื่อ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง อดีตพนักงานการเงิน ผันตัวเป็นเกษตรกรอินดี้ ปลูกผักตามใจตัวเอง เน้นผลิตสินค้าคุณภาพ แม้มีพื้นที่ไม่มาก แต่ทำรายได้ครึ่งหมื่นต่อวัน

คุณพรนภา เจริญถิ่น หรือ คุณโอ๋

คุณโอ๋ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกร เคยทำงานประจำในตำแหน่งพนักงานการเงินมาก่อน ทำมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี จนมาถึงจุดเปลี่ยนในวัยที่อายุครบ 27 ปี ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะด้วยนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบทำงานอยู่ในกรอบ รู้สึกว่างานประจำที่ทำอยู่ไม่ใช่ชีวิตที่ต้องการ และคิดว่าด้วยวัย 27 ปี ถ้าตัดสินใจช้ากว่านี้คงไม่มีเวลาสำหรับการล้มลุกคลุกคลานกับสิ่งที่อยากทำ และหากสิ่งนั้นไม่ประสบความสำเร็จยังพอหาทางออกไปทำอย่างอื่นได้

โดยในช่วงเริ่มต้นหลังจากที่ลาออกจากงานประจำ ตนเองกลับมายึดอาชีพขายเสื้อผ้าวินเทจออนไลน์ก่อน ซึ่งเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่กับงานประจำอยู่แล้ว แต่การขายเสื้อผ้าออนไลน์จะมีช่วงเวลาว่าง จึงคิดอยากหาอย่างอื่นทำเพิ่มเติม แล้วนึกขึ้นได้ว่าที่บ้านพ่อกับแม่ปลูกกล้วยน้ำว้าไว้ 1 ไร่ ด้วยเป็นคนชอบค้าขายอยู่แล้ว จึงอาศัยทักษะด้านนี้มาปรับใช้ด้วยการทดลองนำกล้วยน้ำว้าของที่บ้านมาแปรรูปทำกล้วยตาก แล้วสร้างแบรนด์ของตัวเอง พร้อมกับสร้างบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สะดวกกับผู้บริโภค พร้อมกับการพัฒนาสูตรเรื่อยๆ จนกล้วยตากที่ทำเริ่มติดตลาด ใช้เวลา 1 ปี การทำกล้วยตากกลายเป็นรายได้หลัก ผลผลิตที่มีอยู่ไม่เพียงพอนำไปสู่การสร้างรายได้สู่ชุมชนด้วยการรับซื้อกล้วยจากสมาชิกในเครือข่ายพร้อมกับทำประกันราคาตลอดทั้งปี

คุณโอ๋ เกษตรกรอินดี้

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน คือเริ่มจากตัวเรา พอความต้องการของตลาดมีมากขึ้น เราก็เริ่มวิ่งหาเกษตรกรเพื่อที่จะมาเป็นเครือข่ายของเรา เราก็รับซื้อผลผลิตอีกทีหนึ่ง โดยที่เราจะมีการประกันราคาผลผลิต รับราคาเดียวตลอดทั้งปี ต่อให้ในช่วงนั้นกล้วยจะราคาถูกเหลือกิโลกรัมละ 4 บาท เราก็รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แต่มีข้อแม้ว่าเกษตรกรจะต้องตัดกล้วยแก่ให้เรา” คุณโอ๋ กล่าวถึงช่วงเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกร

นิยามการทำเกษตร
เดินทีละก้าว อย่างมั่นคง

หลังจากที่เริ่มต้นสเต็ปแรกอย่างมั่นคงแล้ว คุณโอ๋ บอกว่า การก้าวเดินในสเต็ปที่สองก็ยังคงเดินช้าๆ อย่างมั่นคง เหมือนเดิม คือเมื่อกล้วยตากอยู่ตัวมีระบบการจัดการที่ดีแล้ว ก็มีการขยับขยายมาปลูกผักสลัด ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากที่มองไปพื้นที่หน้าบ้านแล้วรู้สึกว่าพื้นที่ยังว่าง ไอเดียการปลูกสลัดจึงผุดขึ้นมาในหัว และเริ่มลงมือปลูกจากแปลงเล็กๆ ไว้กินเองก่อน ปลูกทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลยด้วยซ้ำ อาศัยขอความรู้จากพี่ๆ ที่รู้จักกันในเฟซบุ๊ก คอยช่วยสอนเทคนิคต่างๆ ก็ทำตามมาเรื่อยๆ จนปลูกผักได้สำเร็จ และด้วยความที่เป็นคนติดโซเชียลอยู่แล้ว ก็ใช้โอกาสตรงนี้ถ่ายรูปผักสลัดที่ปลูกเองลงอวดเพื่อนในเฟซบุ๊ก แล้วปรากฏว่ามีหลายคนสนใจทักเข้ามาสอบถามซื้อผักสลัดที่เราปลูก ก็เริ่มจากจุดนี้ จุดที่เราชอบ แล้วทำรายได้ให้เราด้วย แถมยังได้ความสวยงามจากสีสันที่หลากหลายของผักสลัดอีกด้วย ถือเป็นการแต่งบ้านไปในตัว จึงเริ่มมองเห็นโอกาสสร้างรายได้ในสเต็ปที่สองคือการขยายแปลงปลูกจาก 1 แปลง เป็น 9 แปลง และปลูกเป็นผักอินทรีย์เท่านั้น

“ผักคอส” ปลูกระบบอินทรีย์ พร้อมส่งถึงมือลูกค้า

“พอเริ่มปลูกผักสลัด ตอนนี้ปลูกอยู่ 9 แปลง บนพื้นที่ 1 งาน ด้วยความที่เราทำเองไม่ได้จ้างลูกน้อง แล้วทำเป็นอินทรีย์ด้วย หากทำมากกว่านี้มันก็จะเกินกำลังเรา เราก็เปลี่ยนทัศนคติว่าไม่จำเป็นต้องทำเยอะแต่มาเน้นการผลิตของให้มีคุณภาพดีกว่า เพราะเมื่อสินค้าเรามีคุณภาพแล้ว เราก็สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยที่ไม่ต้องปลูกเยอะๆ อย่างผักสลัดของที่อื่นในอ่างทองจะขายผักสลัดกิโลกรัมละ 80-100 บาท แต่สวนเราขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท ถึงแม้ว่ากำลังการผลิตเราน้อยแต่เราขายได้ราคาสูง เพราะผักของเราคุณภาพดีจริงๆ”

จากนั้นสเต็ปถัดมาคือการเปิดคาเฟ่ คือช่วงหลังจากปลูกผักสลัดได้ 3 ปี ขายทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ในส่วนของอาหารจะใช้ผักสลัดที่ปลูกเองมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร และเสิร์ฟเป็นผักเคียง ส่วนเครื่องดื่มเน้นน้ำสมุนไพรและน้ำผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงเปิดพื้นที่ให้พี่น้องเกษตรกรนำสินค้าเกษตรมาฝากขายที่ร้านได้ด้วย

พื้นที่ 1 ไร่ ทำเงินครึ่งหมื่นต่อวัน
ทำได้ ไม่เกินจริง

คุณโอ๋ อธิบายว่า ปัจจุบันทำเกษตรบนพื้นที่ 1 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับสร้างบ้าน 1 งาน พื้นที่สำหรับแปรรูปกล้วยตาก 1 งาน พื้นที่สำหรับทำคาเฟ่ 1 งาน และพื้นที่สำหรับปลูกผักสลัด 1 งาน รวมเป็น 1 ไร่พอดี

ขั้นตอนการหมักดิน

โดยส่วนของพื้นที่ปลูกผักสลัด 1 งาน ปลูกผักได้ทั้งหมด 9 แปลง แบ่งเป็นแปลงใหญ่ขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 9 เมตร จำนวน 6 แปลง และแปลงเล็กขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 3 เมตร อีกจำนวน 3 แปลง

เลือกปลูกผักตามฤดูกาลที่เหมาะสม ไม่ฝืนธรรมชาติ ผักสลัดจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม เพราะหลังจากนั้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน การปลูกผักสลัดจะยากขึ้น และใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเลือกที่จะเอาประโยชน์ของฤดูร้อนมาใช้ในการทำกล้วยตากแทน ซึ่งถือเป็นการพักปรับปรุงดินไปในตัวด้วย เนื่องจากผักสลัดไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมหลายครั้ง จะทำให้ดินเสื่อมสภาพและเกิดโรคง่าย จึงใช้โอกาสช่วงพักแปลงปลูกปอเทืองเพื่อบำรุงดินให้พร้อมสำหรับการปลูกในฤดูถัดไป

เทคนิคการปลูกผักสลัด เน้นฟอร์มสวย ผักกรอบ ไม่ขม เริ่มต้นจากการเตรียมดิน เน้นใช้วัตถุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น อย่างอ่างทองเป็นเมืองข้าว ก็จะมีวัตถุดิบ เช่น แกลบ รำ ฟาง และมูลสัตว์เยอะ ทางสวนก็นำเอาวัตถุอินทรีย์เหล่านี้มาเป็นส่วนผสมในการปรุงดินทั้งหมดดังนี้ 1. แกลบดิบ 2. แกลบดำ 3. รำละเอียด 4. ใบก้ามปู 5. มูลวัว มาผสมคลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน เสร็จแล้วรดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงกับน้ำหมักมะพร้าวเทียมที่สามารถทำใช้ได้เอง เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถหาน้ำมะพร้าวได้ในจำนวนมากๆ จึงต้องมีการทำน้ำมะพร้าวเทียมขึ้นมือ ดังนี้ 1. รำละเอียด 2. น้ำตาลทราย และน้ำเปล่า ผสมในอัตรา น้ำเปล่า 3 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน น้ำตาลทราย 1 ส่วน หมักทิ้งไว้ 7 วัน จะได้ออกมาเป็นน้ำมะพร้าวเทียม เอามาผสมใช้กับน้ำเปล่า ราดลงไปในแปลง เพื่อให้กระบวนการย่อยสลายเร็วขึ้น

คลุมฟางเก็บรักษาความชื้น

ถัดมาหลังจากผสมดิน รดด้วยน้ำอีกรอบพอชุ่มๆ ทำการขึ้นแปลงปลูกเป็นหลังเต่า แล้วใช้ฟางคลุม เพื่อเก็บความชื้นได้ดีจุลินทรีย์จะได้อยู่รอด จากนั้นเจาะรูหยอดน้ำใส่ในแปลงที่หมักดินไว้ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง จนครบ 1 เดือน สามารถปลูกผักได้แล้ว

การเพาะเมล็ด เป็นการเพาะด้วยวิธีควบแน่น ใช้พีทมอสเป็นวัสดุปลูก จากนั้นโรยเมล็ดพันธุ์ลงไปในกล่องปิดฝา แล้วแช่ตู้เย็นทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดแตกตัว วันที่ 2 เมล็ดเริ่มแตกคล้ายกับสปอร์สีขาว วันที่ 3 เปิดฝาออกเพื่อให้พืชรับแสงตอนเช้าได้เร็วที่สุด เพราะว่าผักสลัดต้องการแสงมาก ถ้ารับแสงไม่ทันต้นจะยื่นทำให้อ่อนแอ แล้วพรมน้ำตามปกติ อย่าให้ชุ่มหรือแห้งไป วันที่ 4 ย้ายกล้าลงถาดหลุม โดยกระบวนการย้ายกล้าลงถาดหลุมควรทำให้เสร็จภายใน 7 วัน นับจากวันหว่านเมล็ด หลังจากย้ายกล้าลงถาดหลุมเสร็จ นับไปอีก 2 อาทิตย์ รดน้ำเช้า-เย็น หรือถ้าวันไหนอากาศร้อนจัดต้องรดตอนกลางวันด้วย

เพาะเมล็ดโดยการควบแน่น

หลังจากวันที่หว่านเมล็ดครั้งแรกนับไปอีก 18 วัน จะทำการเช็กรากว่ารากเดินเต็มหลุมแล้วหรือยัง ถ้ารากเดินดีแล้วไม่มีปัญหาอะไร จะเริ่มย้ายกล้าลงแปลงปลูกตั้งแต่อายุ 18 วัน แต่ไม่เกิน 21 วัน หลังจากย้ายกล้าลงแปลงปลูกนับไปอีก 30 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ต้นกล้าผักสลัดอายุครบ 18 วัน พร้อมย้ายลงแปลงปลูก

การดูแล หลังวันย้ายกล้า 3 วัน เริ่มบำรุงฉีดพ่นปุ๋ยหมักปลาน้ำจืด และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเป็นหลัก ฉีดพ่นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เน้นฉีดพ่นในช่วงเย็น เท่านั้นเนื่องจากจุลินทรีย์จะไม่ค่อยชอบแสง ยกเว้นจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ชอบแดด ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 10 วัน งดการบำรุงทุกชนิด รดแค่น้ำอย่างเดียว

ระบบน้ำ สปริงเกลอร์หัวหมอกควบคุมด้วยระบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งสั่งการจากมือถือ เปิดรดน้ำทุกวัน เช้า-กลางวัน-เย็น อย่าให้ขาดเพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผักหวาน กรอบ ไม่มีรสขม

ย้ายกล้าลงแปลงปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร

การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ด้วยวิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหลัก คือการนำเอาพริกแกง ที่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด หาซื้อได้ตามตลาดทั่วไปมาละลายผสมกับน้ำ แล้วนำมากรองเอาน้ำที่ได้ไปผสมกับน้ำเปล่าอีกที เนื่องจากต้องการแค่กลิ่นของพริกแกงในการไล่แมลง ใช้ฉีดพ่นตอนเย็น เพราะโดยนิสัยของแมลงศัตรูพืชส่วนใหญ่จะออกมาหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน และมีการสลับใช้กับวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสูตรเหล้าขาวผสมกับน้ำเปล่า หรือน้ำใช้น้ำส้มสายชู เพื่อไม่ให้แมลงดื้อยา ระยะเวลาในการฉีดพ่นหากเป็นหน้าหนาวจะไม่ค่อยมีแมลงจะฉีดพ่น 2 วันครั้ง หรือดูตามสถานการณ์ แต่ถ้าช่วงไหนระบาดหนักๆ สมุนไพรเอาไม่อยู่ก็จะใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกัน

ปริมาณผลผลิต 120-150 กิโลกรัมต่อฤดูกาล ในกรณีที่ไม่ประสบปัญหาฝนฟ้าอากาศ โดยจะมีวิธีการจัดการว่าใน 1 วัน จะเก็บผักไม่เกิน 20 กิโลกรัม เนื่องจากทำคนเดียวเป็นหลัก ทั้งปลูกเอง แพ็กเอง ล้างผักเองทุกต้น จะเสียเวลาไปกับขั้นตอนนี้เยอะ หลังจากนั้นเมื่อแพ็กสินค้าเสร็จจะมีลูกค้าเข้ามารับสินค้าเองถึงสวน โดยจะมีการจัดคิวลูกค้า ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องสั่งจองล่วงหน้าข้ามวัน หรือบางครั้งข้ามเดือนก็มี และมีกติกาว่าลูกค้าจะสั่งผักได้ไม่เกินคนละ 3 แพ็ก เพราะทำไม่ทัน จึงเป็นที่มาของชื่อฟาร์มว่า “บ้านเฉลี่ยสุข” คือให้เฉลี่ยผลผลิตให้ได้กินกันทุกคน

ผักสดๆ เสิร์ฟจากฟาร์ม

และพยายามจำกัดไม่ให้น้ำหนักเกินต้นละ 1-1.30 ขีดต่อต้น เทคนิคนี้สามารถทำได้จากการกำหนดระยะการปลูกที่เหมาะสมไม่ห่างหรือชิดกันจนเกินไป โดยสาเหตุที่ทำไมต้องจำกัดน้ำหนักของผักแต่ละต้น เนื่องจาก 1. ผักสลัดถ้าต้นใหญ่เกินไปจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด 2. หากขายผัก 1 กิโลกรัมแบบคละชนิด ถ้าน้ำหนักของผักต้นละ 2 ขีด แปลว่าผัก 1 กิโลกรัม ลูกค้าจะได้ผักแค่ 5 ต้น ซึ่งดูน้อยมาก แต่ถ้าเราจำกัดน้ำหนักผักให้ไม่เกินนี้ ที่สวนเรามีผักเกือบ 10 ชนิด ลูกค้าก็จะได้ผักครบเกือบ 10 ชนิด ในถุงเดียว และเป็นน้ำหนักที่กำลังดี ฟอร์มกำลังสวย 3. ผักที่ฟาร์มหวาน กรอบ ไม่ขม เก็บได้นาน หลังตัดผักจากแปลงใส่ถุงแช่ตู้เย็นโดยปิดปากถุงไว้ ผักของเราจะเก็บได้นานถึง 1 เดือน โดยที่ยังคงความสดเหมือนวันแรกที่เก็บ

กะหล่ำปลี สวยงามตามการดูแลเอาใจใส่

การตลาดแบบปากต่อปาก สืบเนื่องจากเรามีฐานลูกค้าเดิมจากกล้วยตาก และการขายเสื้อผ้าออนไลน์อยู่แล้ว พอเรามาปลูกผัก และผักเป็นสินค้าที่เข้าถึงคนได้ง่ายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่เคยซื้อกล้วยตาก หรือลูกค้าเสื้อผ้าวินเทจ ก็ต้องมีคนที่ชอบกินผักอยู่แล้ว ถือเป็นการต่อยอดการตลาดพอลูกค้าเห็นเราปลูกผัก ขายผัก ก็ทดลองซื้อไปกิน บางคนกินแล้วรีวิวให้ด้วยว่าผักของที่ฟาร์มเรารสชาติดียังไง ทีนี้พอลูกค้าคนอื่นเห็นก็กลับมาซื้อบ้าง ติดต่อมาจากสติ๊กเกอร์ที่แปะไว้บนถุงบ้าง ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ที่พึงพอใจมากๆ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า “เราขายผักกิโลกรัมละ 150 บาท วันหนึ่งขายผักได้วันละ 20 กิโลกรัม ตีเป็นตัวเลขกลมๆ 3,000 บาท บวกกับการเปิดคาเฟ่ ขายอาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นรายได้ต่อวันไม่น้อย และภูมิใจมากๆ เนื่องจากเราอยู่ต่างจังหวัดเราแทบไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพก็ไม่สูง ทำให้เรามีเงินเหลือเก็บได้ไม่ยาก”

เกษตรสร้างคน สร้างชาติ

เกษตรคือพื้นฐานสร้างชาติอยู่แล้ว ในความคิดของเรา อย่างสำหรับเราการทำเกษตรทำให้เราได้อยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้เรารู้จักธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เรารู้จักการรอคอย ทำให้เรามีสติในการทำงานหลายๆ อย่าง เพราะเมื่อก่อนตอนเราทำงานประจำเราทำงานตามวงล้อของสังคม ตื่นมาทำงานชีวิตเร่งรีบ แต่พอมาทำเกษตร มันรีบไม่ได้ เราต้องมานั่งดึงสติตัวเองว่ารีบไม่ได้นะ ถ้ารีบแล้วทุกอย่างจะพัง ก็เลยรู้สึกว่าการทำเกษตร ทำให้เราเรียนรู้การใช้ชีวิต การปรับอารมณ์ ปรับทัศนคติที่ดีขึ้น รู้จักการรอคอย และรู้จักที่จะวางแผนชีวิตในแต่ละเดือน เข้าใจธรรมชาติที่มีอยู่ทุกวันนี้ เมื่อชีวิตเราดี เป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ ก็กลับไปสู่คำว่า เกษตรสร้างคน สร้างชาติ นั่นเอง” คุณพรนภา กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 085-422-2959 หรือติดต่อได้ที่เพจ : บ้านเฉลี่ยสุขฟาร์ม the farm house sharing happiness

แพ็กเกจจิ้งสวยงาม
ผักสลัดรวม ต้องการมากน้อย สั่งแม่ค้าได้
“DOODEE BANANA” กล้วยตากของคนรุ่นใหม่
บรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ